ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง
นาย ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง (เอ) หลักเมือง

ถึงค่าแรง 300 บาท ยังไงคนในชนบทก็ยังยากจนต่อไป (กศน.เพื่อนรัก เพื่อนเรียนรู้ : ๕๖)


ถึงค่าแรง 300 บาท ยังไงคนในชนบทก็ยังยากจนต่อไป (กศน.เพื่อนรัก เพื่อนเรียนรู้ : ๕๖)

ถึงค่าแรง 300 บาท ยังไงคนในชนบทก็ยังยากจนต่อไป (กศน.เพื่อนรัก เพื่อนเรียนรู้ : ๕๖)

ศุภัชณัฏฐ์  หลักเมือง

เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ผู้อำนวยการ (เชี่ยวชาญ) กศน.อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์

E-mail : [email protected]

-----------------------------

        แม้รัฐบาลใหม่แกะกล่องจะมีนโยบายในการเพิ่มค่าแรง 300 บาท ต่อวัน    ทั่วประเทศรวมทั้งนโยบายในการเพิ่มเงินเดือนระดับปริญญาตรีไว้ที่ 15,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งสร้างความหวังสร้างความดีใจ และชื่นชมยินดี อย่างมากต่อนโยบาย ดังกล่าว ประมาณกันว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้ผู้ใช้แรงงาน และคนที่กินเงินเดือนจะมีเงินเพิ่มขึ้นในกระเป๋าแต่ละคนอีกร้อยละ  40 – 50 เลยทีเดียวนี่ไม่รวมถึงการปรับฐานและเงินเพิ่มสำหรับแรงงานคุณภาพ รวมถึง มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายก็คงต้องปรับตามกันขึ้นไป แต่จะเชื่อหรือไม่ก็ตามคนในชนบทก็ยังต้องยากจนอีกต่อไป แม้จะมีนโยบายโดนใจชาวนาที่จะมีบัตรเครดิต ในการนำไปใช้จ่ายปัจจัยการผลิตมาเป็นนโยบายอีกหนึ่งนโยบายก็ตามที

          คนในสังคมโดยทั่วไปมักมองว่าสาเหตุแห่งความยากจนในชนบทนั้น     เป็นผลมาจากราคาพืชผลผลผลิตตกต่ำ เกิดภัยธรรมชาติ ขาดอำนาจการต่อรองจากพ่อค้าคนกลาง ขาดการรวมกลุ่ม ขาดการศึกษา หรือมองว่าเป็นความเกียจ  ของเกษตรกร สาเหตุดังกล่าวนี้จะเป็นสาเหตุที่แท้จริงหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด และทบทวนดู ปัจจุบันลองสังเกตดูซิว่าแม้หมู่บ้านที่ห่างไกลและทุรกันดารเพียงใดก็ตามก็จะมีรถเร่ขายของไปถึงในหมู่บ้าน ในรถก็จะอัดแน่นไปหมดทั้งของกิน    ของใช้ เรียกว่าเป็นตลาดเคลื่อนที่เลยทีเดียว เงินจะไหลออกจากหมู่บ้านจากรถเร่เหล่านี้วันละเท่าไร ถัดมาเรื่องปัจจัย    การผลิต ได้แก่ ปุ๋ยเคมี ย่าฆ่าแมลง      เมล็ดพันธ์ ฮอร์โมน และยาฆ่าหญ้า แต่ละฤดูของการผลิตพืชผลทางการเกษตร   ต่าง ๆ  คนในชนบทต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้เท่าไร และส่วนมากผลิตภัณฑ์ เหล่านี้ล้วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น ตัวอย่างจากการเก็บข้อมูลของเกษตรกรที่ตำบลประดู่ยืน อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ที่เก็บข้อมูลการทำนาข้าว พบว่า มีค่าใช้จ่ายที่เป็นปัจจัยการผลิต ประเภทย่าฆ่าแมลง ฮอร์โมน และ     ยาฆ่าหญ้า สูงถึง  24 ล้านบาท จึงไม่แปลกที่เมื่อมีผลผลิตข้าวออกมาก็ต้องนำไปจ่ายให้      พ่อค้าเกือบหมด ซ้ำยังต้องซื้อข้าวสารกินอีก

           เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง ลองพิจารณาดูจะเห็นว่าปีไหนที่พืชผล      ทางการเกษตรราคาสูง ก็จะเป็นผลทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์ และรถกระบะ  สูงตามไปด้วย นั่นคือ การขนเงินไปให้คนในเมือง และบริษัทผลิตรถจักรยานยนต์ และรถกระบะที่เป็นบริษัทต่างชาติ นั่นคือ เงินก็ไหลออกนอกประเทศ เมื่อซื้อรถจักรยานยนต์ รถกระบะก็จะมีค่าใช้จ่ายที่ตามมาทันทีนั่นคือ น้ำมันเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศแถบตะวันออกกลางเป็นหลัก มีข้อมูลการใช้น้ำมันของคนไทยในระดับประเทศว่า คนไทยใช้น้ำมันเบนซิน วันละ 20 ล้านลิตร และน้ำมันดีเซล วันละ 50 ล้านลิตร และแต่ละปีคนไทยต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเงินกว่า 700,000 ล้านบาท  หันมามองด้านการศึกษาบ้าง ที่หลายคนบอกว่าการศึกษาคือการลงทุนอย่างหนึ่ง โดยหวังว่าการศึกษาจะช่วยพลิกฟื้นฐานะและความเป็นอยู่ของตนเอง เมื่อผู้ปกครองมองว่าโรงเรียนในชนบทไม่มีคุณภาพ ไม่สามารถสอนให้เด็กเก่ง ซึ่งไม่สามารถมีหลักประกันว่าลูกหลานของตนเองจะสามารถสอบเข้าเรียนในวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยได้หรือไม่ ผู้ปกครองก็ส่งลุกหลานเข้าไปเรียนในเมืองบางรายส่งไปเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล ซึ่งนั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายทั้งค่ารถรับ-ส่ง ค่าอาหาร รวมทั้ง ค่าเรียนพิเศษ และกวดวิชา ซึ่งสถานที่เหล่านี้ก็ตั้งอยู่ในเมืองทั้งสิ้น

                    
              หากแม้นับรวมถึง สิ่งที่เราทุกคนเห็นว่ามีความทันสมัย และทุกคนต้องมีคู่กาย หากว่าลืมนำไปด้วยเสมือนหนึ่งว่าวันนั้นแทบจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย นั่นคือ โทรศัพท์มือถือ ปัจจุบันทุกหมู่บ้านและเกือบทุกคนจะมีโทรศัพท์มือถือ    บางคนมีมากกว่าหนึ่งเครื่อง หมู่บ้านในชนบทแม้จะห่างไกลก็จะมีหมู่บ้านละ   หลายสิบเครื่อง เมื่อซื้อเครื่องโทรศัพท์มือถือมาแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือค่าใช้จ่าย   ไม่ว่าเป็นแบบเติมเงิน หรือแบบจ่ายรายเดือนก็ต้องจ่ายทั้งนั้น และเจ้าของร้านโทรศัพท์มือถือและบริษัทผู้ได้รับสัมปทานก็ล้วนแต่อยู่ในเมือง ลองดูตัวเลขแล้ว  คิดตามว่าบริษัทผู้ได้รับสัมปทานจะรวยแล้วรวยอีกไปเรื่อย ๆ ตัวอย่างบริษัทโทรศัพท์รายหนึ่ง เมื่อปี 2553 มีรายได้มากกว่า 70,000 ล้านบาท และมีกำไรกว่า 10,000 ล้านบาท

          เห็นหรือยังว่าเงินไหลออกจากหมู่บ้านในชนบททุกนาที ทุกชั่วโมง และ  ทุกวัน อยู่ที่ว่าคนในหมู่บ้านชนบทจะต้องการแก้ไขปัญหา ต้องการลดค่าใช้จ่าย และต้องการแก้ไขหนี้สินเหล่านี้หรือไม่ทางออกยังพอมีอยู่บ้าง แต่ทุกคนต้องช่วยกันและร่วมมือกัน โดยการสำรวจข้อมูลรายครัวเรือน แล้วนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล จัดทำแผนชุมชนของหมู่บ้าน แล้วช่วยกันแก้ไขปัญหาไปทีละเรื่อง สองเรื่อง โดยเฉพาะต้องมีแกนนำหมู่บ้านที่เข็มแข็ง อดทน เสียสละ
เป็นนักประสานงาน หาผู้รู้ และพี่เลี้ยง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน  มาช่วยระดมความคิดเห็นเพื่อยกร่างแผนลดปลดหนี้ของชุมชนขึ้นมา โดยตัวแทนของทุกครัวเรือน แล้วขอมติจากคนในหมู่บ้านในการจัดทำโครงการ หรือกิจกรรมลดปลดหนี้ของชุมชน เป็นแผนปฏิบัติการลดปลดหนี้ของชุมชน ไม่นาน คนในชุมชนนั้นก็จะสามารถลดปลดหนี้ได้ อย่าใจร้อนครับกระบวนการนี้ต้องใช้เวลา ใช้การหล่อหลอมความรัก ความสามัคคี และความเอื้ออาทรของคนทุกคนในชุมชนนั้น ๆ ซึ่งมีตัวอย่างในหลายชุมชนในประเทศไทยที่ได้ทำแล้วและประสบผลสำเร็จ เช่น บ้านหนองกลางดง หมู่ที่ 7 ตำบลศิลาลอย อำเภอ  สามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ครับ.
หมายเลขบันทึก: 453295เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2011 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2012 12:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

คงต้องใช้เวลา นาน ทีเดียวนะคะ

ใช่ครับคุณชาดา ถ้าเศรษฐกิจระดับครัวเรือนไม่เข้มแข็ง ยากที่เศรษฐกิจโดยรวมของระดับชุมชนและประเทศก็ไม่มีวันเข้มแข็ง(อย่างแท้จริง)ครับ การกระจายรายได้ก็ยังกระจุกตัวอยู่กับเศรษฐีไม่กี่คนครับ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท