กระดาษประกาศความเก่ง


การทำงานในสมัยก่อน มักนิยมพิจารณาจากคะแนนเฉลี่ยหรือที่เรียกว่าค่า GPA ว่าสนใจศึกษาเล่าเรียนมากน้อยเพียงใด ก่อนที่จะนัดสอบสัมภาษณ์หรือเปิดโอกาสให้ทำงาน

“คนเรียนเก่งอาจจะทำงานไม่เป็นเลยก็ได้”

 
            เป็นค่านิยมที่เกิดขึ้นแทบทั่วโลก ผู้ที่เรียนเก่ง เรียนดี จะได้รับการเลือกหรือได้รับโอกาสเป็นอันดับต้นๆ เป็นไปได้ว่าผู้คนจำนวนมาก ยึดติดกับค่านิยมของความเฉลียวฉลาดทางปัญญา (Intelligence Quotient: IQ) มากกว่าด้านอื่นๆ ซึ่งกลายเป็นปัญหาให้ต้องตามแก้ไขอยู่เสมอ
 
            การทำงานในสมัยก่อน มักนิยมพิจารณาจากคะแนนเฉลี่ยหรือที่เรียกว่าค่า GPA ว่าสนใจศึกษาเล่าเรียนมากน้อยเพียงใด ก่อนที่จะนัดสอบสัมภาษณ์หรือเปิดโอกาสให้ทำงาน
 
            จึงกลายเป็นปัญหาของสังคมในระยะยาว โดยเฉพาะคนเก่งแต่เรียนไม่ดี ทำให้หลุดโผจากตำแหน่งการงานดีๆ เพียงเพราะ “ผลการเรียนไม่เป็นไปตามเกณฑ์คาดหวังของสังคม”
 
            วัฒนธรรมสังคมและการเข้าทำงาน เป็นวัฒนธรรมที่ตีค่าบุคคลอย่างอคติเพียงเพราะให้ความสำคัญกับเรื่องตัวเลขเท่านั้น ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ค่าเฉลี่ยของแต่ละสถาบันก็แตกต่างกัน ไม่เห็นมีข้อสอบส่วนกลางจากกระทรวงศึกษาธิการ ออกสู่สถาบันการศึกษาทั้งประเทศ เรียกว่า “มาตรฐานของการทดสอบยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริง”
 
            แน่นอนว่าการเรียนการสอนในแบบเดิมนั้น ยังคงเน้นเรื่องของคะแนนเฉลี่ย ผู้ที่คะแนนต่ำกลายเป็นเด็กไม่ตั้งใจเรียน เด็กมีปัญหา เข้ากับใครๆ ไม่ได้ ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป
 
            บางคนอาจจะชื่นชอบกิจกรรม แต่บางคนอาจจะนำวิชาการ เมื่อจบการศึกษา องค์กรไม่ควรใช้เกณฑ์ค่าเฉลี่ยในการตัดสินมากจนเกินไป แต่ควรต้องพิจารณาเรื่องอื่นๆ ประกอบ โดยเฉพาะเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก จิตสำนึกและความร่วมมือ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในการทำงาน เพราะต้องทำงานร่วมกับผู้คนต่างสถาบันและความคิด
 
            ปัจจุบันองค์กรเริ่มหูตาสว่าง หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของความประพฤติ กิจกรรม ความสามารถพิเศษ มากกว่าวิชาการเพียงอย่างเดียว เพราะผู้ที่เรียนเก่งอาจจะแก้ไขปัญหาไม่เก่ง เท่าผู้ที่เรียนน้อยแต่มากประสบการณ์
 
            คุณอาจจะเห็นนักธุรกิจหน้าใหม่อายุน้อยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หรืออาจจะเป็นนักธุรกิจร้อยล้านพันล้านที่การศึกษาไม่สูง เรียนไม่เอาไหน บางคนถึงขนาดถูกไล่ออกจากโรงเรียนก็ยังมี!!
 
            แสดงว่าความเก่งกล้าด้านทฤษฎี หรือการเรียนเก่งเพียงอย่างเดียว ไม่อาจวัดความสำเร็จในชีวิตได้เท่ากับว่า “ปัจจุบันคุณสุขสบายเพียงใด?”
 
            บางองค์กรเลิกนิยม “กระดาษประกาศความเก่ง แต่หันมาเพ่งเล็งความเจ๋งและความสามารถ” บางครั้งถึงขนาดย้ำชัดว่า ไม่รับผู้ที่จบจากสถาบันการศึกษาอับดับต้นๆ ของประเทศ” เพราะ “ทำงานไม่เป็นเน้นแต่ความเก่งตอนเรียน”
 
            กระดาษประกาศความเก่ง อาจจะทำให้ผู้ที่ได้ทราบประวัติครั้งแรก เกิดความรู้สึก อึ้ง ทึ่ง เก่ง ประทับใจในความสามารถ แต่เมื่อเวลาทำงานผ่านไปเพียงไม่ถึงสัปดาห์ เชื่อเถอะว่าจะไร้คุณค่าและความสำคัญทันที เพราะ “เก่งเวลาเรียนไม่มีผลต่อความพากเพียรในการทำงาน”
 
            องค์กรต่างๆ ให้เข้ามาทำงานเพื่อพัฒนาและสร้างผลกำไรให้องค์กร โดยมีเงินเดือนเป็นสิ่งตอบแทนความสามารถ หากคุณยังมัวคิดว่า มีแค่กระดาษประกาศความเก่ง จะทำให้คุณรอดพ้นจากการถูกพิจารณาละก็คิดผิดแล้วล่ะครับ เพราะเนื้องานที่สำเร็จตามเป้าหมายที่คุณได้ทำ จะเป็นตัวตัดสินความเก่งอย่างแท้จริง
 
            กระดาษประกาศความเก่ง เป็นเรื่องราวในอดีตที่เจ้าของต้องจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ แต่อย่านำมาตัดสินหรือรวมเข้ากับการทำงานอย่างเด็ดขาด
 
            หากคุณปรารถนาความเบิกบาน และความภาคภูมิใจในเรื่องการเรียน ก็จงใช้เวลา “ว่างงาน” ให้นานที่สุด เมื่อคุณเต็มอิ่มแล้วก็กรุณากลับมาสู่โลกความจริง ประสบการณ์แห่งการทำงาน โดยละทิ้ง “กระดาษประกาศความเก่ง” ไปเสีย
 
            กระดาษประกาศความเก่งเป็นตัวช่วยในการขออัตราเงินเดือนได้สูงกว่าคนอื่นๆ แต่คุณก็ต้องอยู่ในความเสี่ยงที่สูงกว่าคนอื่นด้วยเช่นกัน เพราะ “เมื่อองค์กรจ่ายสูงย่อมคาดหวังความสามารถสูงตามไปด้วย” เมื่อการตั้งเป้าสูงและคุณไม่สามารถไปแตะเพดานได้ตามที่ต้องการ รับรองว่างานนี้ต้อง Say Goodbye โดยปริยาย
หมายเลขบันทึก: 453286เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2011 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท