ภาวะผู้นำกับการบริหารงานท้องถิ่น


ภาวะผู้นำตามสถานการณ์

วารสาร ก.ถ.สัมพันธ์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 3 เดือนเมษายน – มิถุนายน 2554

ภาวะผู้นำกับการบริหารงานท้องถิ่น

                                                                                                                                              ดร.สุดถนอม ตันเจริญ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์

การบริหารที่ดีคือความสามารถในการจัดการและปรับตัวยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ ด้วย “ศิลปะ” คือผสมผสานคนและงานให้เข้ากันได้ดีภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ สำคัญมาก ๆ สำหรับการบริหารองค์กรเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารทั้งหลายจำเป็นประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะของตนก่อให้เกิดพลังทางความคิดเหนือกลุ่มบุคคลให้มุ่งมั่นสู่เป้าหมายเดียวกัน ในความหมายของภาวะผู้นำของ Jago (1982)[1] ด้วยการเป็นผู้นำที่มีความมุ่งมั่นต่อเป้าหมายและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง โดยพัฒนาความรู้ ทักษะ และประสบการณ์อยู่เสมอ ส่วนลักษณะท่าทางที่มองเห็นได้นั้นจะบอกถึงความเชื่อ ค่านิยม จริยธรรม และอุปนิสัยที่เกิดจากสัญชาตญาณ ความรู้สึก อารมณ์ เป็นบุคลิกภาพเฉพาะของผู้นำ ผู้นำที่มีความเชื่อมั่นและเชื่อถือความเป็นผู้นำของตนจะมีแรงบันดาลใจในการทำงาน ระวังเรื่องของความเชื่อมั่นสูงเกินไป ป้องกันได้ด้วยการเปิดรับความคิดเห็นของผู้อื่น ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมอย่างจริงใจ ร่วมคิด ร่วมทำ เริ่มจากบางเรื่อง หลาย ๆ เรื่อง จนกระทั่งเป็นวัฒนธรรมขององค์กร

ภาวะผู้นำที่ดีต้องมีความเฉลียวฉลาดมีไหวพริบดี (Height Intelligence) เอาใจใส่สิ่งรอบตัวอยู่เสมอ (Extroversion) และมีความคล่องแคล่ว (Fluency) อีกส่วนหนึ่งเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ คือ ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น (Interaction) มีผลต่อการสร้างทักษะของผู้นำที่ดี คือความสามารถสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้แก่ทุกคนในองค์กร ด้วยการสื่อสารจูงใจให้ผู้อื่นคล้อยตาม การใฝ่หาความสำเร็จ (Achievement) หมายถึง ความมุ่งมั่น มีความมานะพยายามโดยไม่ท้อถอยต่ออุปสรรค การริเริ่มสร้างสรรค์ (Initiative) คือ ความสามารถในการคิดนอกกรอบ ดังนั้น การพัฒนาผู้นำต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมายที่ชัดเจน ประเด็นสำคัญที่พัฒนาได้ยากแต่จำเป็นต้องทำคือการที่ทำให้ผู้นำได้รู้จักตนเอง และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน.....ท่านเป็นผู้บริหารหรือหัวหน้าที่มีทักษะการเป็นผู้นำที่ดีเพียงใด?

จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เห็นด้วยมั๊ยคะ?? ว่า องค์กรส่วนท้องถิ่นไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ ผู้บริหารและหัวหน้างานทุกระดับต้องเข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาและผลการดำเนินงานที่ยังไม่บรรลุผลตามที่คาดหวัง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการมีภาวะผู้นำที่ควรจะเป็นดังที่กล่าวมาแล้ว โดยไม่ด่วนสรุปว่าปัญหาหรือความผิดพลาดคือผลของการเป็นผู้นำที่ไม่ดีหรือไม่เก่ง ไม่ยุติธรรมเลย! ... แต่ภาวะผู้นำที่ควรจะเป็นของผู้นำที่ดี พัฒนาได้ เพียงแต่อาศัยความพยายามและเวลาเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งแตกต่างกันไปตามภูมิหลัง การศึกษาและประสบการณ์ของบุคคลนั้น ๆ

แน่นอนว่า “การจัดการตนเองและจัดการงานที่รับผิดชอบให้เข้ากันได้ดี” ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ราบรื่นเสมอไป นอกจากนั้นยังต้องดูแลเรื่องของการบริการ แก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่น (มักมีมากมายหลายเรื่อง) ความสำเร็จ ปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ หนีไม่พ้นว่าเกี่ยวข้องกับ “คน” ในที่นี้ ขอให้ท่านผู้อ่านคิดตามเฉพาะมุมของ “คนใน”  คือทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อองค์กรและให้เกียรติกับศักดิ์ศรีของทุกคน โดยเชื่อว่าคนเราพัฒนาความรู้ความสามารถและจิตใจที่ดีได้ สำหรับการบริหารและการทำงานท้องถิ่นเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ปัญหาในการบริหารคนของท้องถิ่นส่วนใหญ่ คือเรื่องความซ้ำซ้อนและล่าช้า ขาดความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคลและระบบราชการครอบงำการบริหารงานบุคคล ตั้งแต่ระดับจังหวัดลงมา ซึ่งระดับ อบต.ต้องการความเป็นอิสระในการตัดสินใจและลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานกำกับดูแลงานบุคคล[2] หากท่านเป็นผู้บริหารหรือหัวหน้า ท่านสามารถทำงานภายใต้สถานการณ์ที่เป็นข้อจำกัดหรืออุปสรรคเหล่านั้นได้หรือไม่? คุณจะฝ่าฟันหรือข้ามผ่าน หากสำเร็จตามเป้าหมาย แสดงว่า คุณมีความสามารถและทักษะของผู้นำที่ดีแล้วล่ะค่ะ อีกกรณีหนึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับภาวะผู้นำของผู้บริหารเทศบาลนคร พบว่า มีความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสูง โดยเฉพาะการมีอิทธิพลเชิงอุดมการณ์และการกระตุ้นการทางปัญญา ส่วนการสร้างแรงบันดาลใจและการคำนึงถึงความเป็นปัจเจกบุคคลค่อนข้างน้อย ข้อเสนอแนะคือการพัฒนาภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารเทศบาล โดยเฉพาะด้านความคิดสร้างสรรค์ เป้าหมายชัดเจน สื่อสารให้เข้าใจตรงกัน พร้อมกับการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ให้กำลังใจ รับฟังปัญหาและชี้แนะ เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และมอบหมายงานให้ชัดเจน[3] จะเห็นได้ว่า ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะล้วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะของผู้นำโดยตรง

ผลการศึกษาข้างต้นเป็นผลงานที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการพัฒนาผู้บริหารและบุคลากรท้องถิ่น ฉบับหน้าจะนำเสนอมุมมองในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในองค์กร คอยติดตามนะคะ ผลของการเรียนรู้และประสบการณ์ตรงในฉบับนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานในทุกระดับได้อย่างมีความสุขมากขึ้นไม่มากก็น้อย อาจจะต้องยอมรับข้อจำกัดหรือข้ามผ่านอุปสรรคหลายด้าน ... เพียงแค่เราเข้าใจ ก็ไม่ต้องอดทน ฝืนทน ... ผู้เขียนเอาใจช่วยค่ะ

เอกสารอ้างอิง



[1] Jago, A. G. (1982). Leadership: Perspectives in theory and research. Management Science, 28(3), 315-316.

[2] วิภัตต์ รุจิปเวสน์. (2544). การบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

[3] เสาวลักษณ์ ตั้งตระกูล และ ดร.เศกสรรค์ ยงวณิชย์. (2551). ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารเทศบาลนครขอนแก่น, การบริหารการพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

 

หมายเลขบันทึก: 453157เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2011 19:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท