๑๘๑.ถึงเวลาหรือยังที่จะช่วยกันฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง?


ดังนั้น คนไตลื้อในสิบสองปันนาน ที่พยายามอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ เอาไว้ ตลอดจนถึงอาหารการกินและการแต่งกาย หากมองในมุมของคนจีนก็คือ "ชนกลุ่มน้อย" หากมองในมุมมองของวัยรุ่นก็คือคน "หัวโบราณ" อะไรกำลังเกิดขึ้น?

     จากมุมมองของผู้นำพระนิสิตไทยในสิบสองปันนา พระครูวิสุทธิ์ปัญญารัตน์ เจ้าคณะตำบลต๋อม ที่เป็น ๑ ใน ๘ พระนิสิตที่เข้าร่วมโครงการไปปฏิบัติศาสนกิจในครั้งนั้น ได้สะท้อนให้เห็นหลาย ๆ อย่าง เช่น พระภิกษุชาวสิบสองปันนา ๑ รูปสามารถเป็นเจ้าอาวาสได้หลายวัด อันเนื่องมาจากการขาดแคลนศาสนทายาทอย่างหนักนั่นเอง ซึ่งสถานการณ์นี้เกิดขึ้นเฉพาะในชนบทต่าง ๆ เท่านั้น แต่ถ้าเป็นวัดท่องเที่ยวจะมีมากประมาณ ๘-๑๐ รูป สำหรับวัดป่าเจต์ซึ่งเป็นวัดศูนย์กลางอำนาจ เป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษา และเป็นวัดท่องเที่ยวจำนวนพระภิกษุสามเณรมีมากถึง ๘๐ รูป

 

     จากการศึกษาระบบการปกครองของคณะสงฆ์เมืองสิบสองปันนา จะเป็นรูปแบบสายตรงกล่าวคือมีการบริหารอยู่ ๒ ระดับคือ ครูบาจอมเมืองเป็นผู้นำสูงสุด และมีเจ้าอาวาสเป็นผู้บริหารในระดับต้นโดยเป็นสายตรงลงมา ส่วนโครงสร้างที่เป็นทางการทางสมาคมพุทธศาสนากำลังดำเนินการอยู่ ส่วนในทัศนะผู้เขียนคงไม่พ้นรูปแบบของคณะสงฆ์ไทย เนื่องจากผู้นำสูงสุดและพระภิกษุที่มีบทบาทรอง ๆ ลงมาได้รับการศึกษาสมัยใหม่จากประเทศไทยแทบทั้งสิ้น

 

     ในระบบการเมืองที่เป็นคอมมิวนิสต์นั้น การทำกิจกรรมต่าง ๆ ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐก่อนเสมอ ในวัดบ้านถิ่นก็เช่นกัน จะมีป้ายขนาดใหญ่ติดเอาไว้หน้าวัด หรือถ้าเป็นบางวัดก็อาจจะมีติดไว้หน้ากุฏิได้ซึ่งข้อความจะมีลักษณะคล้าย ๆ กันเป็นภาษาจีนว่า "วัดนี้อนุญาตให้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้" นั่นแสดงว่ารัฐได้ครอบงำกิจกรรมทางศาสนาอยู่มิใช่น้อย?

 

     ในส่วนของแบบสวดมนต์มักใช้อักษรไต ซึ่งเหมือนอักษรล้านนาหรือไทเขินเป็นหลัก และที่สำคัญมีการเขียนกำกับไว้คู่กับภาษาจีนตามป้ายชื่อทำการต่าง ๆ เช่น ป้ายวัด ป้ายสำนักงาน ป้ายทางราชการ ฯลฯ แต่ที่แปลกคือเวลาติดป้ายโฆษณาเพื่อเชิญชวนมาร่วมงานมักเป็นอักษรจีน ประเด็นนี้คงจะมุ่งไปที่การท่องเที่ยวมากกว่าอย่างอื่น

 

     ประเด็นดังกล่าวนี้ ทำให้เห็นมุมมองของรัฐบาลจีนว่า วัดถือว่าให้บริการนักท่องเที่ยวเท่านั้น ดังนั้นเรื่องกิจกรรมทางศาสนามักจะมีความสำคัญน้อยมาก เมื่อถามถึงพิธีกรรมทางศาสนาชาวบ้านทำอย่างไร? ได้รับคำตอบว่า เมื่อมีกิจกรรมเช่นวันพระหรือวันธัมมัสวนะ ชาวบ้านจะมาทำพิธีกันเอง เริ่มจากการมารวมตัวกันเพื่อทำความสะอาดพื้นวิหารและประกอบพิธีกรรม

 

     ในประเด็นนี้ทำให้เกิดความรู้สึกคล้าย ๆ กับว่าชาวบ้านจะให้ความสำคัญกับพระพุทธและพระธรรมมากกว่าพระสงฆ์  ส่วนพระสงฆ์หลายกรณีแทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย อาจเป็นเพราะอาจริยวัตรที่ยังไม่เหมาะสมในหลาย ๆ กรณี ณ ส่วนนี้เองทำให้เราเห็นว่า เวลาขึ้นรถโดยสารก็ดี เวลาสนทนากันก็ดี พระกับโยมที่โน้นดูเหมือนว่าศักดิ์ศรีของพระกับโยมจะพอ ๆ กัน

 

     อีกประการหนึ่ง ที่คนส่วนใหญ่ในแผ่นดินจีนถือมากคือ การฉันเนื้อของพระภิกษุสามเณรเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ ชาวบ้านพูดว่าท่านจะฉันกี่มื้อกี่เวลาชาวบ้านไม่ใส่ใจ แต่ถ้าฉันเนื้อเมื่อไหร่แล้วศรัทธาหายทันที เรื่องนี้น่าสนใจยิ่ง แม้ชาวบ้านจะไม่รู้ขนบธรรมเนียมพิธีกรรมทางศาสนาและระเบียบวิธีปฏิบัติต่อศาสนพิธีเท่าใดนัก เช่น กฐิน ผ้าป่า ฯลฯ ก็ตาม!

 

     เมื่อผู้เขียนถามว่าพุทธศาสนามหายานกับเถรวาทเป็นอย่างไร? ได้รับคำตอบว่าพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้นรัฐบาลถือว่าเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ แต่พระพุทธศาสนามหายานนั้น รัฐบาลได้ให้เงินอุดหนุน เป็นค่าก่อสร้าง เป็นค่าปฏิสังขรณ์อยู่มิใช่น้อย ส่วนพระพุทธศาสนาเถรวาทเวลาจะสร้าง หรือจะดำเนินการใดใดต้องลงขันกันทำ สร้างกันเอง

 

     ดังนั้น คนไตลื้อในสิบสองปันนาน ที่พยายามจะอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ เอาไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง ตลอดจนถึงอาหารการกินและการแต่งกายของพื้นบ้าน แต่หากมองในมุมของคนจีนก็ถือว่า คนกลุ่มนี้ "ชนกลุ่มน้อย" หากมองในมุมมองของวัยรุ่นไตลื้อปัจจุบัน คนผู้เฒ่าผู้แก่ก็คือคน "หัวโบราณ" อะไรกำลังเกิดขึ้นในแผ่นดินจีนตอนใต้?

 

     อย่างไรก็ตาม เอกสารต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปั๊บสา ซึ่งเป็นเอกสารที่บันทึกเรื่องราวทางพระพุทธศาสนามีจำนวนมาก จึงฝากให้ผู้ที่มีโอกาสได้เข้าไปศึกษาค้นคว้าเพื่อปริวรรตออกมาให้สังคมได้รับรู้ว่าคนสิบสองปันนาในอดีตเขาคิดและรู้สึกอย่างไรต่อพุทธศาสนา?

 

     ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ ในรอบหนึ่งเดือนผู้ใหญ่บ้านจะเรียกคนมาช่วยกันทำความสะอาดวัดวาอารามไม่น้อยกว่า ๔-๕ ครั้ง เฉลี่ยก็คือ ๗ วันต่อหนึ่งครั้ง

 

     เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกันเป็นพิเศษกล่าวคือ เมื่อถึงวันเนา ชาวบ้านจะช่วยกันหาบทราบจากแม่น้ำมากองไว้ที่ลานวัด ที่สำคัญมีการถวายบั้งไฟ(ขึ้น) ที่กลุ่มต่าง ๆ ก่อนจะมีการแข่งขันกันได้นำไปถวายวัดก่อนเพื่อเป็นสิริมงคลซึ่งปีหนึ่ง ๆ ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ บั้ง

 

     เมื่อถึงวันพญาวัน ชาวบ้านจะพากันมาตั้งแต่ตีสาม เพื่อทำพิธีทางศาสนาจนถึง ๑๐.๐๐ น. จึงจะเสร็จพิธีกรรมต่าง ๆ และที่น่าสังเกตคือชาวบ้านที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่อายุ ๖๐-๘๐ ปี มักจะมีค่านิยมพกโทรศัพท์มือถือที่เอวตลอดเวลา อาจเป็นค่านิยมหนึ่ง ที่ทำให้เห็นว่ากระแสโลกาภิวัตน์เข้ามาสู่สังคมระดับล่างแล้ว

 

     สิ่งที่ต่างจากเมืองไทยก็คือ เมื่อมีพิธีกรรมแล้ว จะทำพิธีกรรมที่วัดก่อน เมื่อถึงเวลาฉันอาหารเจ้าภาพมักจะจองโต๊ะไว้ที่ร้านอาหาร เรียกง่ายๆว่าพิธีกรรมทำในวัด เมื่อถึงเวลาอาหารก็ไปเลี้ยงกันข้างนอกวัด

 

     จากประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้เห็นว่าพระพุทธศาสนา แม้จะเข้ามาสู่เมืองสิบสองปันนามานานมากถึง ๑,๐๐๐ ปี แม้เนื้อหายังคงหลงเหลืออยู่บ้าง แต่รูปแบบหลายอย่าง บ้างครั้งก็จางหายไปตามเหตุและปัจจัยแห่งสังคมและเหตุผลทางการเมือง

     ดังนั้น ถึงเวลาหรือยังที่จะช่วยกันฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศแถบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างจริงจัง?

 

หมายเลขบันทึก: 453137เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2011 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • กราบนมัสการค่ะ
  • อ่านแล้วได้ความรู้เห็นศรัทธาที่ฝังรากลึกมากมาย
  • "ถึงเวลาแล้ว  ต้องมีผู้นำที่เข้มแข็งคงไม่ต้องถึงขนาด ดร.อัมเบดการ์
    ผู้ปลดแอกชนชั้นของอินเดีย...ว่าแต่ว่าใครจะกล้าพอละคะ ท่าน ?
  • กราบขอบพระคุณที่เปิดโลกทัศน์ในเรื่องนี้ค่ะ

เจริญพรคุณโยมธรรมทิพย์ พระพุทธศาสนาในประเทศเพื่อนบ้านมีอีกหลาย ๆ อย่างที่คนไทยยังไม่ทราบ?

ทั้งน่าสนใจและไม่น่าสนใจ ทั้งควรเอาเป็นตัวอย่าง และไม่ควรนำมาเป็นแบบอย่าง!

ชาวบ้านจะพากันมาตั้งแต่ตีสาม เพื่อทำพิธีทางศาสนาจนถึง ๑๐.๐๐ น. จึงจะเสร็จพิธีกรรมต่าง ๆ และที่น่าสังเกตคือชาวบ้านที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่อายุ ๖๐-๘๐ ปี มักจะมีค่านิยมพกโทรศัพท์มือถือที่เอวตลอดเวลา อาจเป็นค่านิยมหนึ่ง ที่ทำให้เห็นว่ากระแสโลกาภิวัตน์เข้ามาสู่สังคมระดับล่างแล้ว

นมัสการคะ

แสดงถึงการอยู่ร่วมกันของศาสนา และ วัตถุนิยม ได้หรือไม่

 

เจริญพรอาจารย์หมอ บ้างครั้งจิตวิญญาณก็ต้องอาศัยวัตถุเช่นกันเพื่ออำนวยความสะดวกต่าง ๆ

แต่ คนระดับต่าง ๆ ในสังคมจะใช้ประโยชน์จากวัตถุนิยมโดยไม่ให้ตกเป็นทาสได้อย่างไร? นี้สิ...เป็นเรื่องที่ต้องตั้งสติ

เพื่อให้อยู่กับโลกสมมุติได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี ขอเอาใจช่วยคนทุกกลุ่มต่อสู้กับโลกธรรมแปดประการต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท