SMS เทคโนโลยีเก่าที่อาจสร้างปัญหาใหม่


อย่ามองเพียงปัญหาที่อาจจะเกิดจากเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด จนลืมปัญหาที่อาจเกิดขึ้นใหม่จากเทคโนโลยีของเมื่อวาน

เย็นวันอาทิตย์(ถ้าจำไม่ผิด)นั่งดูรายการเกี่ยวกับ IT ทางช่อง Gang Cartoon ที่จริงก็ไม่ได้ตั้งใจดูอะไรนักหรอกครับเพราะปกติแล้วช่องนี้ผมมักจะดูการ์ตูนกับพวกเด็กๆ ชอบดูอยู่หลายเรื่องเหมือนกันอย่างเจ้ากบบ๊องส์เคโรโระ โคเทนโคะเทวดาป่วนสวรรค์แตก อะไรพวกนี้ จะว่าไปแล้วนอกจากจะได้พักผ่อนสมองแล้วยังได้รู้ว่าพวกเด็กๆเขาดูอะไร คิดอะไรกัน ได้เห็นการนำเสนอข้อมูลของสื่อที่มีต่อเด็กๆและเยาวชนว่ามีรูปแบบเป็นอย่างไร ที่เขาว่าการ์ตูนหรือรายการเด็กมีอันตรายแอบแฝงมาด้วยนั่นมันจริงหรือหรือเป็นแค่ผู้ใหญ่บางคนตาแหกไปเองแล้วพาลร่ำลือบอกต่อให้เชื่อๆกันไปเท่านั้น

การ์ตูนสองเรื่องที่ผมเอ่ยถึงข้างต้นถ้าตั้งใจดูกันอย่างพิจารณาวิเคราะห์กันจริงๆผมว่ามันให้อะไรดีๆกับเด็กมากทีเดียว บางเรื่องให้ข้อคิดเรื่องการอยู่ร่วมกัน ความสามัคคี การรับผิดชอบต่อหน้าที่ การช่วยเหลือซึ่งกันและกันแม้ว่าแต่ละคนจะมีบุคลิกแตกต่างกันมากมายก็ตาม บางเรื่องทำให้รู้ว่าคนเรานั้นมีทั้งความดีและสิ่งชั่วร้ายอยู่ในตัวทั้งนั้นหากเราสามารถสะกดสิ่งชั่วร้ายไม่ให้แสดงออกมาเราก็จะยังคงเป็นคนดีอยู่ตลอดไป การนำเสนอผ่านรูปแบบของการ์ตูนสามารถที่จะทำให้เด็กๆซึมซับสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้ดีกว่าการที่จะจับมานั่งเรียงเป็นพระอันดับแล้วสั่งสอนเรื่องคุณธรรมกันตรงๆแบบครูสอนนักเรียน

พอช่องนี้เอารายการเกี่ยวกับ IT มานำเสนอบ้างผมก็ว่าเป็นเรื่องที่ดี รายการนี้รู้สึกว่าจะออกช่อง Voice TV ด้วยเป็นการให้ความรู้และอัพเดททั้งเรื่องราวของซอฟท์แวร์เช่นโปรแกรมหรือคอนเทนต์ใหม่ๆ เกมต่างๆ อุปกรณ์ไอทีรุ่นล่าสุด ฟีดเจอร์ความสามารถต่างๆ การเปรียบเทียบกับแบรนด์ที่เป็นคู่แข่งกันทั้งด้านราคาและความสามารถ ฯลฯ รวมไปจนถึงคาดการณ์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นของการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ ดูจากรูปแบบของรายการแล้วคิดว่าเด็กๆน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ เพราะนอกจากจะได้รู้เรื่องจริงๆที่ไม่ได้มาจากการบอกเล่ากันเองแล้วยังทำให้เกิดความสามารถในการปรับตัวเพื่อเตรียมรับสิ่งใหม่ๆที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย ผู้ใหญ่อย่างพวกเราก็จะได้รู้จักเทคโนโลยีใหม่ๆและรู้วิธีป้องกันปัญหาที่อาจตามมาไว้ก่อนเป็นการล่วงหน้า



ปกติผมดูทีวีผ่านจานดาวเทียมมีทั้งจานดำ C-Band และจานสี KU-Band (การใช้เสาอากาศเป็นเรื่องอดีตไปแล้ว)และก็ชอบที่จะเปลี่ยนช่องไปเรื่อยๆจนไปสะดุดใจกับช่องรายการที่นำภาพยนตร์(เก่า)จากต่างประเทศมาฉายช่องหนึ่งเพราะเห็นมีตัววิ่งของ SMS ด้านล่างอยู่ตลอดเวลา เป็นข้อความเหมือนกับที่วัยรุ่นใช้สำหรับ chat กันบนอินเตอร์เน็ต ปกติแล้วการส่ง SMS เข้าร่วมในรายการโทรทัศน์ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร มีผู้อยากให้บริการมากมายเพราะถือเป็นรายได้เสริม(ที่ไม่น้อยเลย)สำหรับผู้จัดรายการซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเภทรายการเล่าข่าว หรือรายการสดที่ต้องการให้ผู้ชมมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย หรือเพื่อให้ผู้ชมส่งข่าวสารความเป็นไปต่างๆที่เกิดขึ้นในขณะนั้นให้คนที่อยู่ที่อื่นๆได้รับรู้ด้วย (เช่นลมฟ้าอากาศ สถานการณ์เหตุการณ์สำคัญ ฯลฯ)

การส่ง SMS อีกประเภทหนึ่งไม่ได้ต้องการใช้ข้อความเพื่อแสดงความคิดเห็นแต่เป็นการส่งไปเพื่อ "นับแต้ม" เช่นการโหวตผลโพลต่างๆและที่ฮิตกันมากที่สุดก็คงไม่พ้นการให้บรรดาแม่ยกพ่อยกของผู้ที่อยากเป็นนักร้องอยากเป็นดารามากกว่าเรียนหนังสือเพื่อไปทำมาหากินเรื่องอื่นๆ ส่ง SMS มาโหวตให้กับคนที่ตัวเองเชียร์ในรายการเดอะอะไรทั้งหลายแหล่ที่กำลังฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมืองอยู่ทุกวันนี้ แต่ทั้งหมดก็จะเป็นลักษณะต่างคนต่างส่งมากกว่าที่จะเป็นการสื่อสารกันไปมาแบบ interactive

ดังนั้นการที่ปรากฎข้อความสั้น (Short Message Service) ในรายการภาพยนตร์เก่าซึ่งมองยังไงก็ไม่เห็นว่าน่าจะ interactive กันได้อย่างไรจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย ก็เลยใช้เวลาสังเกตดูเกือบชั่วโมง(พอดีหนังเลิก และได้เข้ามาติดตามดูอีกหลายครั้ง)พอจะจับใจความได้ว่า ช่องทีวีช่องนี้เปิดบริการให้ผู้ชม(ซึ่งสังเกตจากถ้อยคำสนทนาน่าจะเป็นเด็กวัยรุ่น)ส่ง SMS เข้ามาสนทนาถึงกันผ่านทางรายการโทรทัศน์ในบางช่วงเวลาโดยคิดค่าบริการ SMS ครั้งละ 3 บาท MMS ครั้งละ 12 บาท ถ้าเรามองผ่านๆไปคงจะไม่เป็นไรแต่หากมาพิจารณากันลึกๆเราจะพบว่ามีสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้หลายอย่างที่ผู้ใหญ่อย่างพวกเราควรให้ความสนใจ

1. ข้อความที่ถูกส่งเข้ามาถูกเผยแพร่(published)สู่สาธารณะผู้ที่ไม่ประสงค์ดีอาจนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนอันอาจเป็นอันตรายต่อผู้ส่งข้อความได้ เพราะแม้ว่าทางผู้จัดจะสามารถโปรแกรมไม่ให้แสดงตัวเลขสามตัวท้ายของหมายเลขโทรศัพท์ที่ถูกส่งไปกับข้อความ(มันจะเปลี่ยนเป็น xxx เหมือนกันหมด)ก็ตามแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้จะสื่อสารบอกกันถึงหมายเลขโทรศัพท์ของตนเองไม่ได้

2. ข้อความที่ถูกส่งเข้ามามักมีเนื้อหาในการแนะนำตัวและชักชวนกันไปร่วมพูดคุยหรือพบประระหว่างเพศตรงข้าม มีความสุ่มเสี่ยงต่อการชักชวนไปในทางไม่สมควรแก่วัย

3. SMS Chat เป็นการส่งข้อความในรูปแบบเดียวกับการสนทนา (chat) ทางอินเตอร์เน็ตแต่ต้องจ่ายทุกครั้งที่มีการโพสข้อความอย่างน้อยครั้งละ 3 บาทสำหรับข้อความตัวอักษรและ 12 บาทสำหรับมัลติมีเดียนับว่ามีราคาที่สูงมาก เพราะในการสนทนาทางอินเตอร์เน็ตไม่ว่าจะใช้โปรแกรมใด(ICQ, MSN, Skype, Yahoo ! Messenger, Pidgin, Empathy, etc.) นอกจากค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตแล้วเราไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการโพสข้อความอีกไม่ว่าจะโพสจำนวนมากเท่าใดก็ตาม ในการสนทนากันมักจะโพสข้อความสั้นๆครั้งละไม่กี่ประโยคและคงไม่มีใครส่งข้อความเพื่อพูดคุยกันแค่ครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น ยิ่งการสนทนากับคนอื่นๆพร้อมกันหลายๆคนยิ่งต้องมีความถี่ของการส่งข้อความมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว สมมติว่ามีการพูดคุยกัน 5 ครั้งต่อหนึ่งคนที่สนทนาต่อวัน วันหนึ่งคุยกับคนสามคน หากใช้แค่ SMS ธรรมดาก็จะมีค่าใช้จ่าย 45 บาทต่อวันหรือ 1,350 บาทต่อเดือนเข้าไปแล้ว สำหรับคนที่มีเงินเดือนหรือมีรายได้ประจำคงไม่เท่าไหร่ แต่กับเด็กวัยรุ่นซึ่งคาดว่าน่าจะยังอยู่ในวัยเรียนและมีฐานะทางรายได้ของครอบครัวไม่น่าจะสูงมากนัก(ไม่เช่นนั้นคงเลือกใช้การสนทนาทางอินเตอร์เน็ตมากว่า)นับว่าเป็นรายจ่ายที่เป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว และในทางกลับกันสำหรับผู้จัดรายการก็คงเป็นรายได้หลักที่งดงามไม่น้อยเช่นกัน

4. การใช้บริการ SMS Chat ผ่านรายการโทรทัศน์มีความสะดวกกว่าการใช้บริการในร้านเกมหรือร้านอินตอร์เน็ตเพราะสามารถสื่อสารกันได้จากที่บ้านทุกเวลาที่ผู้ให้บริการเปิดรับซึ่งอาจเป็นช่วงที่ร้านอินเตอร์เน็ตปิดให้บริการแล้ว

เชื่อว่าเด็กที่นิยมใช้บริการ SMS Chat นี้น่าจะเป็นกลุ่มที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอาจจะเนื่องมาจากฐานะไม่ดีพอที่จะซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ส่วนตัว หรือมีเครื่องคอมพิวเตอร์แต่บริเวณที่อยู่ไม่มีผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเข้าถึง หรือไม่สามารถจ่ายค่าอินเตอร์เน็ตรายเดือนได้ซึ่งการต้องมาเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากกับเรื่องนี้จึงเป็นการเพิ่มภาระเพิ่มปัญหาค่าใช้จ่ายของครอบครัวขึ้นไปอีก อีกทั้งเยาวชนกลุ่มนี้ก็น่าจะเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากในสังคมของเราหากมีปัญหาเกิดขึ้นย่อมมีผลกระทบต่อสังคมไม่น้อยเหมือนกัน

จริงๆแล้วผมอยากให้เด็กๆกลุ่มนี้มีโอกาสเข้าถึงและสื่อสารกัน สร้างเครือข่ายกันเป็นสังคมออนไลน์ แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์หรือแม้แต่พูดคุยเรื่องส่วนตัวเรื่องความเชื่อความนิยมเหมือนกับเด็กที่มีโอกาสทางสังคมกลุ่มอื่นๆ มีโอกาสเข้าถึงเครือข่ายอินเตอร์เน็ตสามารถใช้วิจารณญาณของตนเองอย่างเสรีโดยไม่ต้องติดกรอบบังคับ แต่สำหรับ SMS Chat ผ่านจอทีวีผมว่ามัน..ไม่ใช่ !

SMS อาจจะเป็นเทคโนโลยีแบบเก่าๆที่เราอาจจะมองข้ามไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถละเลยไม่ใส่ใจเพราะมัวแต่มุ่งให้ความสนใจระมัดระวังปัญหาที่อาจจะเกิดจากเทคโนโลยีรุ่นล่าสุดเพียงเท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 452436เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2011 07:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2013 23:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ช่องทีวีช่องนี้เปิดบริการให้ผู้ชม(ซึ่งสังเกตจากถ้อยคำสนทนาน่าจะเป็นเด็กวัยรุ่น)ส่ง SMS เข้ามาสนทนาถึงกันผ่านทางรายการโทรทัศน์ในบางช่วงเวลาโดยคิดค่าบริการ SMS ครั้งละ 3 บาท MMS ครั้งละ 12 บาท

รายการนี้ จับจุดอ่อนเด็กวัยรุ่นได้ว่า อยาก "cool" เพราะข้อความได้ออกทีวี มีคนเห็นทั่วประเทศ..แต่จริงๆ เพียงเสี้ยววินาที และไม่มีใครจดจำ

เป็นความเห็นที่น่าสนใจมากคะ เราควรมีช่องทางให้เขา cool แบบน่าจดจำ

ปัญหาอยู่ที่"ช่องทาง"ที่ว่ามันอยู่ตรงไหนและใครควรที่จะเข้ามาดูแล

ในเมื่อคนที่จ้องแสวงหาผลประโยชน์เขา"จับจุด"ได้

คนที่ควรจะมีหน้าที่ปกป้องก็น่าจะ"รับมือ"ได้เช่นกัน

 

แต่ก่อนอื่นคงต้อง"รู้จัก"พวกเขาจริงๆให้มากกว่านี้เสียก่อนครับคุณหมอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท