ชีวิตที่พอเพียง : ๑๓๐๓. ทำหน้าที่เป็นผู้ยืนยัน



          ผมเกิดแรงบันดาลใจ ในการเขียนบันทึกนี้ระหว่างนั่งร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อจัดทำคู่มือ R2R ที่โรงแรมบางกอก กอล์ฟ สปา รีสอร์ท เช้าวันที่ ๓๐ มิ.ย. ๕๔

 

 

          ที่จริงผมรู้สึกมานานหลายปีแล้ว ว่าชีวิตของผมตอนนี้สนุกมาก   และประเทืองปัญญามาก   เพราะจะมีคนเอาเรื่องดีๆ มาให้รับรู้และเรียนรู้   ในนามของการประชุมโครงการ  การนำเสนอผลงาน  workshop  การประชุมคณะกรรมการต่างๆ  หนังสือ  เอกสาร  รวมทั้งต้นฉบับหนังสือ ส่งมาให้เพื่อขอให้เขียนคำนำหรือคำนิยม

 

          ผมอาศัยกิจกรรมเหล่านี้ให้ความสุข ความสนุก และบันเทิงใจ ให้แก่ตนเอง   และสังเกตความเปลี่ยนแปลงของตนเอง ว่าจริงๆ แล้วตอนนี้ผมมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร   ผู้คนรอบข้างคาดหวังอะไร   ได้คำตอบที่ผมคิดเอง (ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือไม่)   ว่าเวลานี้ผมทำหน้าที่ “ผู้ยืนยัน” ให้แก่สังคม

 

          แปลกมาก ที่ในสังคมของเรามีคนริเริ่มทำงานสร้างสรรค์มากมาย   ได้ผลดีต่อสังคม เป็นประโยชน์มาก   ทั้งประโยชน์ส่วนที่เห็นชัดเจน และที่เห็นไม่ชัด หรือเห็นต่างกัน   ผมเป็นคนชอบสนุกอยู่กับสิ่งที่ไม่ชัด   จึงลองทำหน้าที่ตีความปรากฏการณ์หรือผลส่วนที่ไม่ชัดเจน   ทำให้คนทำงานเกิดความภาคภูมิใจ เกิดความมั่นใจ และเห็นคุณค่าของงานที่ทำ คุณค่าของตนเอง ในส่วนที่ตนนึกไม่ถึง

 

          ใช่แล้วครับ เวลานี้ผมใช้ชีวิตทำหน้าที่ผู้ยืนยันคุณค่า ผ่านการตีความในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง   หรือทำหน้าที่ทำนายคุณค่า หากมีการทำงานบางด้านเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย หรือปรับวิธีการอีกบางส่วน จะเกิดผลดีทวีคูณ   เท่ากับเป็นการทำงานเหยาะน้ำปลาหรือผงชูรสให้แก่กิจการหรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง   หรือในภาษานักเคมี ผมทำหน้าที่ตัวเร่งปฏิกิริยา (catalyst)   หรือในภาษาธรรมดา ผมทำหน้าที่กองเชียร์นั่นเอง

 

          แต่เป็นการทำหน้าที่เชียร์แบบแยกแยะ  หยิบยกเอามาเฉพาะส่วนที่ดี ที่ได้ผล ที่น่าชื่นชม เอามายืนยันว่าดี เหมาะสม ถูกต้อง เป็นของแท้  คล้ายๆ ทำหน้าที่เชลล์ชวนชิมต่อกิจกรรมสร้างสรรค์   หรือทำหน้าที่ชื่นชมคุณค่า

 

          เป็นการเข้าไปเสริมส่วนที่ขาดของกิจกรรมสร้างสรรค์ คือการยืนยันผลสำเร็จ ยืนยันแนวทางหรือวิธีการที่ถูกต้อง   เนื่องจากกิจกรรมสร้างสรรค์มีธรรมชาติไม่ชัดเจน   คนที่ริเริ่มดำเนินการมีความไม่มั่นใจอยู่ในระดับหนึ่ง   แม้จะเห็นผลดีที่เกิด ก็ยังไม่มั่นใจว่าวิธีการที่ใช้ถูกต้องหรือไม่ เพราะทำแตกต่างจากความคุ้นเคย   เมื่อมีคนแก่หรือผู้อาวุโสที่น่าเชื่อถือ เข้าไปช่วยยืนยัน ก็จะเกิดความมั่นใจ   ยิ่งยืนยันเจือความชื่นชม ผู้ปฏิบัติก็เกิดความสุข เกิดปิติสุข 

 

          เท่ากับผมทำหน้าที่ appreciator นั่นเอง   สิ่งที่ผมต้องระวังคือ ต้องไม่เข้าไปชื่นชมผิดๆ   ซึ่งแม้ระวังอย่างยิ่งแล้ว ก็ยังมีผิดพลาดอยู่บ้าง   แต่เดาว่าคงมีไม่มาก ผมจึงยังได้รับการยอมรับให้ทำหน้าที่นี้   และงานยังไหลมาเทมา

 

          ขอบันทึกว่า การทำหน้าที่ชื่นชมคุณค่านี้สนุกมาก  เพราะต้องคิดนอกกรอบ คิดหลุดโลก ในเรื่องคุณค่าของงานสร้างสรรค์  และจึงคิดให้พอดีพอเหมาะกับสถานการณ์   เท่ากับได้ฝึกคิดแบบหมวก ๖ ใบ ในชีวิตประจำวัน

 

 

วิจารณ์ พานิช
๓๐ มิ.ย. ๕๔

         
       
      

หมายเลขบันทึก: 452305เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2011 09:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

โอโฮ สุดยอดจริงๆ บันทึกนี้น่ะครับ ชอบมากครับ

appreciator

ชอบมากค่ะ คำนี้

กว่าจะเป็นได้ ไม่ง่ายนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท