๑๗๗.การเมืองการปกครอง : รูปแบบนะไม่เป็นปัญหา แต่คุณค่าต้องทำเพื่อประชาชน


จากบริบทการสนทนาดังกล่าวทำให้ผู้เขียนทราบว่า คนลื้อในสิบสองปันนาก็คือชนกลุ่มน้อยในเมืองจีน ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ชนกลุ่มน้อยมักจะเป็นพลเมืองชั้นสองของสังคมโดยธรรมชาติ ที่ขาดการเอาใจใส่ดูแลในเรื่องการเรียนการสอน ยิ่งในชนบทแล้วไม่ต้องพูดถึงความเลื่อมล้ำย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในกรณีนี้คงเหมือนพี่น้องตามชายขอบของไทยที่การสื่อสารกับคนส่วนใหญ่ของประเทศย่อมแตกต่างในรายละเอียด

 

    วันนี้ผู้เขียนได้เรียกนิสิตที่เป็นพระจีนรูปหนึ่ง ซึ่งเรียนอยู่ชั้นปีที่ ๓ คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชาการปกครอง เพื่อจะสั่งใบงานและมอบหมายภารกิจในรายวิชาการเมืองการปกครองเปรียบเทียบให้ในวันพรุ่งนี้ โดยให้เหตุผลว่าเผื่อพรุ่งนี้จะมาไม่ทันได้สอน  เนื่องจากผู้เขียนติดภารกิจซึ่งเรียกเสียสวยหรูว่าไปบริการวิชาการแก่สังคม  มีคำถามว่าทำไมไม่มอบหมายให้กับพระนิสิตไทย ก็เนื่องมาจากในชั้นปีที่ ๓ ห้องนี้มีแต่พระจีนเท่านั้นที่พักอยู่วัดศรีโคมคำ ส่วนพระนิสิตไทยในพักวัดอื่นหมด

 

     เมื่อสั่งงานและมอบหมายหน้าที่แล้ว พระนิสิตจีนรูปนี้ถามคำถามที่ต้องทำให้ผู้เขียนต้องมองหน้าและหยุดคิดหลายนาที คือ

   คำถามที่ ๑ "ทำไมประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน จึงเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ทั้ง ๆ ที่มีคำนำหน้าว่าประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน?"

     คำถามที่  ๒  "ระบบการปกครองประชาธิปไตยและระบบคอมมิวนิสต์มันต่างกันอย่างไร?"

     คำถามที่  ๓  "แนวคิดเหมาเจอตุงกับแนวคิดเติ้งเสี่ยวผิงต่างกันอย่างไร?"

 

     แม้ว่าจะเป็นคำถามพื้น ๆ ที่คนเรียนการเมืองการปกครองจะรู้กันทั่วไปแล้ว แต่สิ่งที่ผู้เขียนกำลังลังเลใจอยู่คือพระนิสิตจีนซึ่งอยู่ในระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์มาเกือบตลอดชีวิตโดยการคลุกคลีคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมทางสังคมนิยมแบบนั้นมาตลอด และสิ่งที่สำคัญคือได้รับแนวคิดมาจากประธานเหมาเจอตุงและเติ้งเสี่ยวผิงมาไม่มากก็น้อย...

 

     แต่ทำไมมาถามพระไทย(แม้จะเป็นอาจารย์) ซึ่งอยู่ประเทศไทยมาเกือบตลอดชีวิตเหมือนกัน และยังเป็นประเทศที่ถือว่าเป็นประชาธิปไตยอีกต่างหาก! ทำให้ผู้เขียนคิดว่า คำถามเหล่านี้พระไทยน่าจะเป็นผู้ถามพระจีนมากกว่า? เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับประเทศจีน !

 

     เมื่อถามไปถามมา พระนิสิตรูปดังกล่าวได้สารภาพด้วยความใสซื่อว่า "ผมไม่รู้จะเปรียบเทียบอย่างไรครับอาจารย์?" ซึ่งผู้เขียนได้ลองพูดเทียบเคียงสนทนาไปได้สักระยะว่า ระบบการศึกษาที่โน้นเป็นระบบอย่างไร? ซึ่งผู้เขียนได้สรุปว่าเป็นแบบการสอนตามตำรา และเน้นการท่องจำมากกว่าใช่หรือไม่? นิสิตรูปดังกล่าวได้แต่ก้มหน้า ไม่ตอบและอมยิ้ม 

 

     เพื่อความเข้าใจกระจ่างขึ้น ผู้เขียนบอกว่าในสังคมชีวิตประจำวันหรือตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมทางการเขาไม่สอนหรืออย่างไร? ประเด็นนี้ได้รับคำตอบว่าสอนแต่ไม่เข้าใจ ผู้เขียนจึงให้นิสิตอธิบายวิธีการเรียนในสังคมจีนให้ดู นิสิตได้อธิบายว่าครูจีน(คนไตลื้อเรียกคนจีนแผ่นดินใหญ่ว่าคนจีน แต่ผู้เขียนเรียกนิสิตไตลื้อรูปเมื่อกี้ว่าพระจีน) สอนโดยใช้ภาษาจีน และตำราก็เป็นภาษาจีน เมื่อเรียนต้องพยายามแปลให้เป็นภาษาลื้อจึงจะเข้าใจ

 

     จากบริบทการสนทนาดังกล่าวทำให้ผู้เขียนทราบว่า คนลื้อในสิบสองปันนาก็คือชนกลุ่มน้อยในเมืองจีน ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ชนกลุ่มน้อยมักจะเป็นพลเมืองชั้นสองของสังคมโดยธรรมชาติ ที่ขาดการเอาใจใส่ดูแลในเรื่องการเรียนการสอน ยิ่งในชนบทแล้วไม่ต้องพูดถึงความเลื่อมล้ำย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในกรณีนี้คงเหมือนพี่น้องตามชายขอบของไทยที่การสื่อสารกับคนส่วนใหญ่ของประเทศย่อมแตกต่างในรายละเอียด

 

     เมื่อผู้เขียนถามว่า ขณะที่เรียนหนังสือในห้องเรียนที่ มจร.พะเยา นี้เป็นอย่างไรบ้าง? ได้รับคำตอบว่า เมื่ออาจารย์ไทยมาสอนต้องแปลไทยเป็นภาษาจีนก่อน แล้วจึงแปลเป็นภาษาไทลื้อ จึงจะเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น

     เมื่อผู้เขียนถามต่อว่า ถ้าอย่างนั้นภาษาไทยเป็นอุปสรรค์แค่ไหน? ได้รับคำตอบว่า มีปัญหาทั้งระบบการเขียน ซึ่งพระนิสิตจีนเขียนได้ช้าและตัวหนังสือไม่ค่อยมีระเบียบเท่าใด เหมือนกับการเริ่มต้นฝึกเขียนทั้ง ๆ ที่เรียนขึ้นปีที่สามแล้วก็ตาม แม้แต่ภาษาพูดก็ยังไม่ชัดเจนทั้ง ๆ ที่ผู้เขียนเป็นคนล้านนาโดยกำเนิด และภาษาไตลื้อก็ใกล้เคียงกับภาษาเหนือ(ล้านนา)ก็ตาม

 

     ที่น่าแปลกคือการฟัง พระนิสิตจีนกล่าวว่าถ้าอาจารย์ท่านไหนมาสอนโดยใช้ภาษาไทยกลางแล้วก็จะดีมากฟังรู้เรื่องกว่าอาจารย์ที่สอนเป็นภาษาคำเมือง(ล้านนา) ซึ่งนอกจากฟังไม่ค่อยจะรู้เรื่องแล้ว ยังทำให้ภาษาไทยของเขาอ่อนลงไปด้วย

 

     เมื่อผู้เขียนแน่ใจว่า พระนิสิตจีนถามเพราะความไม่เข้าใจจริง ๆ ไม่ได้มีเจตนาลองภูมิผู้เขียนเป็นแน่ จึงได้อธิบายอย่างคร่าว ๆ ดังนี้

 

     คำถามที่ ๑ ถามว่า "ทำไมประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน จึงเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ทั้ง ๆ ที่มีคำนำหน้าว่าประชาธิปไตย?"

     ในประเด็นนี้ผู้เขียนอธิบายว่า ประเทศต่าง ๆ ในโลกนี้ได้แบ่งระบบการปกครองออกเป็นหลายรูปแบบ แต่ที่นิยมกันมากที่สุดมีอยู่ ๒ รูปแบบ ซึ่งภาษารัฐศาสตร์เรียกว่า ค่ายตะวันตก กับค่ายตะวันออก หรือที่นิยมเรียกกันในปัจจุบันก็คือค่ายโลกเสรี กับค่ายโลกคอมมิวนิสต์

     ในยุคสงครามเย็นประเทศในแต่ละค่ายก็เสนอตัวเองต่อสังคมโลกว่าตนเองคือฝ่ายของประชาชน หรือเรียกว่าฝ่ายที่ประชาชนเป็นใหญ่ ศัพท์ทางรัฐศาสตร์เรียกว่าประชาธิปไตยนั้นเอง

 

     ฝ่ายโลกตะวันตกนำโดยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นต้น ก็เรียกตนเองว่า ประชาธิปไตย กล่าวคือให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการคิด เขียน แสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยให้คำนิยามว่าของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

 

     ฝ่ายโลกตะวันออก นำโดยอดีตสหภาพโซเวียด จีน เป็นต้น ก็บอกว่าแม้ประเทศตนจะมีชื่อเรียกว่าเป็นระบบคอมมิวนิสต์ แต่ก็เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยให้แนวคิดว่าประชาชนทุกคนเท่าเทียมกันหมด ไม่มีการแบ่งชนชั้น นี้คือประชาธิปไตย

     ส่วนคำนำหน้าประเทศที่มีระบบการปกครองในระบบคอมมิวนิสต์ ในทัศนะของผู้เขียนก็คงจะเป็นสัญลักษณะหรือวาทกรรมทางการเมืองเพื่อให้โลกได้รับรู้ว่า ประเทศเหล่านี้คือประเทศที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เช่น ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน  ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 

     ส่วนคำถามที่  ๒  ถามว่า "ระบบการปกครองประชาธิปไตยและระบบคอมมิวนิสต์มันต่างกันอย่างไร?"

     ผู้เขียนตอบว่า เราต้องเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่าโลกถือว่าระบบสังคม ระบบการเมือง และระบบเศรษฐกิจ สำคัญและครอบคลุมที่สุด  ดังนั้น

     ระบบสังคม ในประเทศหนึ่ง ๆ มักจะมีคนหลายเชื้อชาติ ศาสนา ลัทธิความเชื่ออยู่แล้ว จึงไม่เป็นที่สนใจว่าของ ๒ พี่เบิ้มในอดีต(สหรัฐ โซเวียต) แต่

     ระบบการเมือง ค่ายตะวันตกและค่ายตะวันออกต้องแข่งขันกันสูงมาก ทั้งการแสวงหาพรรคพวก การสนับสนุน การแทรกแซง การส่งสายลับ การเข้าไปก่อการร้าย การเข้าไปปกป้อง จึงทำให้โลกทั้งโลกวุ่นวายกันไปหมด และต้องคอยตามก้น ๒ คายพี่ใหญ่จะสั่งหันซ้ายหรือขวา แม้ประเทศไทยก็เคยเป็นกับเข้าด้วยในช่วงเวลาหนึ่ง (แต่นานหลายปี) จนมีกลุ่มประเทศเล็ก ๆ เอือมระอาพฤติกรรมประเทศที่แสดงอำนาจเหล่านั้น โดยมองว่าไร้สาระ และตั้งกลุ่มประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดขึ้นและมีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ยิ่งประเทศใหญ่บอกว่าถ้าไม่เป็นฝ่ายฉัน ก็หมายความว่าเป็นศัตรู ยิ่งตอกย้ำการแบ่งฟักแบ่งฝ่ายกันหนักยิ่งขึ้น แม้ไม่กี่ปีมานี้อดีตประธานาธิบดีสหรัฐท่านหนี่งก็นำคำกล่าวนี้มาใช้อีกครั้งหนึ่ง

     ส่วนที่ต่างกันก็คือ ต่างกันที่ใช้ระบบการปกครองที่ต่างกัน จึงทำให้ระบบเศรษฐกิจแตกต่างกันไปด้วย คือประเทศในโลกฝ่ายตะวันตกใช้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม  แต่ประเทศในโลกฝ่ายตะวันออกใช้ระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ โดยใช้ระบบเศรษฐกิจเป็นแบบสังคมนิยม (ตามทฤษฎีเขาว่ามาอย่างนี้)

  

     คำถามที่  ๓  ถามว่า "แนวคิดเหมาเจอตุงกับแนวคิดเติ้งเสี่ยวผิงต่างกันอย่างไร?"

     ผู้เขียนตอบว่า แนวคิดของเหมาเจอตุง มองในเชิงการเมืองนำเศรษฐกิจ โดยพยายามติดอยู่กับกรอบคิดที่ว่าเมื่อเป็นระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์แล้ว ระบบเศรษฐกิจก็ต้องเป็นแบบสังคมนิยมด้วย แม้จะปรับใช้มาจากทฤษฎีของคาล มากซ์ ก็ตาม  แต่ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปกับโซเวียต(เดิม) ดังนั้น แนวคิดของเหมาจึงยังยึดติดกับระบบการเมืองมากเกินไป

     แต่แนวคิดของติ้งเสี่ยวผิง กลับมองในเชิงเศรษฐกิจการเมืองมากขึ้น จะเห็นได้จากคำพูดที่ว่า "แมวสีอะไรก็ได้ ไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้ก็แล้วกัน" นั้นก็หมายความว่า ประเทศจะมีระบบเศรษฐกิจแบบใดก็ได้ ไม่สำคัญขอให้พัฒนาประเทศได้ก็นำมาใช้ได้

 

     เมื่อเวลาผ่านไปพอสมควร ผู้เขียนจึงสรุปว่า ระบบการเมืองจะเป็นอย่างไร ไม่มีความสำคัญกับโลกปัจจุบันแล้ว แต่ที่โลกกำลังตื่นตาตื่นใจอยู่ขณะนี้คือระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นระบบประชาธิปไตย หรือระบบคอมมิวนิสต์ ก็ล้วนแล้วแต่อ้างประชาชนเป็นใหญ่ทั้งสิ้น แต่ความเป็นจริงไม่แน่ เหมือนกับคนชื่อนายดีอาจเลวก็ได้ คนชื่อนายรวยอาจจนก็มีมากมาย สารัตถะของระบบการปกครองไม่ใช่อยู่ที่รูปแบบ แต่อยู่ที่จิตวิญญาณของผู้บริหารประเทศนั้น ๆ ต่างหาก ที่จะคำนึงถึงประชาชนที่หย่อนบัตรเลือกตั้งเขาเข้ามาเพื่อบริหารประเทศหรือไม่?

 

หมายเลขบันทึก: 452262เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2011 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กราบนมัสการ'ท่านพระครูโสภณปริยัติ สุธี'ค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ ที่ได้อ่านบันทึกที่ดีๆ 'รูปแบบนะไม่เป็นปัญหา แต่คุณค่าต้องทำเพื่อประชาชน'

เจริญพรขอบคุณ-คุณโยม ดร.พจนา ด้วยเช่นกัน

ที่ได้แบ่งปันความรู้สู่สังคม ในมิติต่าง ๆ เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท