แลกเปลี่ยนเรียนรู้พูดคุยกับอาจารย์ดอกเตอร์รุ่นพี่ TE17 (ครุศาสตร์ไฟฟ้า)


การร่างหลักสูตรจึงต้องใช้ความร่วมมือจากลูกค้า (องค์กร/กิจการต่างๆ) และส่งเสริมการให้ทุนเรียน การเรียนการสอนก็ใช้แบบทวิภาคี คือเรียนไปด้วยทำงาน (ฝึกงานในสถานที่จริง) ไปด้วย

 

หลังจากผมที่เรียนจบมาได้เกือบ 20 ปี แล้ว ก็ไม่ค่อยได้ติดต่อรุ่นพี่อย่างเป็นจริงเป็นจังเป็นงานเป็นการ เพราะส่วนใหญ่ก็พบกันที่งานเลี้ยงรุ่นที่พอเจอหน้ากันก็ชนแก้วเมากันไป ไม่ค่อยได้สาระอะไรมากนัก จนกระทั่งปีนี้รุ่นของผมต้องเป็นเจ้าภาพจัดงานคืนสู่เหย้า จึงได้มีโอกาสพบกันแบบเป็นงานเป็นการหน่อย เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (30 ก.ค. 54) เพื่อนครุศาสตร์ไฟฟ้ารุ่น TE 20 ได้เรียกประชุมเพื่อหารือเรื่องการจัดงานคืนสู่เหย้าที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง วันนั้นก็มีรุ่นพี่ที่เป็นเคยเป็นอาจารย์สอนพวกเราก็ได้มาร่วมประชุมพูดคุยด้วย เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในหลายเรื่อง มีอยู่ 2-3 เรื่องที่ผมอยากจะเล่าแบ่งปันกันดังนี้ครับ

 

 

คณะที่ผมจบมาเป็นคณะลูกครึ่งคือเรียนทั้งวิชาช่างและวิชาครูซึ่งตอนนั้นเราก็มองว่าเป็นจุดแข็งของคณะเรา รุ่นของผมที่จบออกมาส่วนใหญ่ไปทำงานเป็นวิศวกรอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมในสายงานวิศวกรรมทั้งนั้น และงานที่ทำก็ก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าคนที่จบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ อาจจะเป็นเพราะเมื่อก่อนมีคนจบสายนี้มาน้อย หลายสาขาวิชาทางวิศวกรรมศาสตร์จึงขาดแคลน และเมื่อก่อนเราจบมาเราก็สามารถขอใบ ก.ว. ได้ทันที (ใบประกอบอาชีพวิศวกรรม) โดยไม่ต้องไปสอบหรืออบรมเพิ่มเติม แต่มาช่วงหลังหลายสถาบันการศึกษาผลิตคนออกมามาก จนเกือบพูดได้ว่าล้นตลาด คณะของเราจึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่เคยเป็นจุดแข็งก็กลับกลายเป็นจุดอ่อน เพราะเราไม่สามารถขอใบ ก.ว. ได้ จะหันหน้าไปพึ่งใบประกอบวิชาชีพครู (ก.ค.) ก็ไม่ได้ เพราะต้องใช้เวลาเรียนเพิ่มอีก 1 ปี ซึ่งมองแล้วก็ไม่คุ้ม เพราะเรียนอีกปีเดียวก็ได้ปริญญาโทแล้ว รุ่นพี่คนนั้นได้เสนอทางออกที่ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งคือ ทำไมเราไม่ผลิตคนตามความต้องการของตลาดสำหรับแต่ละกิจการล่ะ อย่างที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเคยทำสำเร็จมาแล้ว ดังนั้นการร่างหลักสูตรจึงต้องใช้ความร่วมมือจากลูกค้า (องค์กร/กิจการต่างๆ) และส่งเสริมการให้ทุนเรียน การเรียนการสอนก็ใช้แบบทวิภาคี คือเรียนไปด้วยทำงาน (ฝึกงานในสถานที่จริง) ไปด้วย ผู้สอนก็ใช้ความร่วมมือกันระหว่างวิทยากรขององค์กร/กิจการนั้นๆ และอาจารย์ประจำภาควิชา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไม่ได้สอนเพียงอย่างเดียว ต้องทำตัวเป็นเซลล์แมนขายของ (หลักสูตร/แนวคิด/เนื้อหา) ด้วย หลายองค์กร/กิจการได้ใช้แนวคิดนี้ไปทำอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว แม้กระทั่งตั้งสถานศึกษามาเป็นของตัวเอง เช่น CP 7-11 เป็นต้น นั่นแสดงให้เห็นว่าสถานศึกษาผลิตคนไม่ตรงตามความต้องการของตลาด เรียนวิชาที่นำไปใช้งานจริงไม่ได้

 

 

รุ่นพี่ได้เล่าให้พวกเราฟังว่าการสอนของอาจารย์บางคนยังสอนตามตำราอยู่ในทฤษฎี ไม่ออกไปดูโลกภายนอก หน้างานจริงที่เขาใช้งานจริงๆ หรือบางครั้งก็ยังยึดกับแนวคิดค่านิยมเก่าๆ เกี่ยวกับการวัดและประเมินผล เช่น การสอบต้องต่างคนต่างทำ แบ่งเป็นระดับ A-F รุ่นพี่บอกว่าเขาเคยให้นักศึกษาสอบโดยนำเครื่องทุ่นแรงเข้าไปได้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์สื่อสาร IT คอมพิวเตอร์ต่างๆ แล้วให้สอบตามการวัดผลของวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้อง และการตัดเกรด ไม่จำเป็นต้องมีทุกเกรดก็ได้ ถ้าทุกคนทำได้ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ทุกคนก็มีสิทธิ์ได้ A เรื่องนี้ผมได้เสริมรุ่นพี่ว่าทำไมไม่ให้นักศึกษาเรียนรู้เอง ออกข้อสอบเอง เฉลยเองล่ะ ตามแนวคิดที่อ. วรภัทร์ ภู่เจริญเคยใช้ และผมก็ได้นำไปใช้จริงด้วย โดยเราสามารถต่อยอดให้ชัดเจนขึ้นได้โดยนำเอาทฤษฎี Bloom's Taxonomy (จำ/ใจ/ใช้/วิ/สัง/ประ : http://www.gotoknow.org/blog/attawutc/258428) มาใช้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่กล่าวมาก็เป็นการวัด/ประเมินผลความรู้ความเข้าใจเท่านั้น ผมคิดว่าเราน่าจะให้ความสำคัญกับทักษะและทัศนคติให้มากหน่อย เพราะความรู้ไปหาที่ไหนก็ได้ แต่คนทำเป็นนั้นต้องใช้เวลาสร้างและฝึกให้เชี่ยวชาญ และที่สำคัญการที่จะสร้างคนให้เป็นคนดี มีเจตคติที่พึงประสงค์ยิ่งต้องให้ความสำคัญมากที่สุดซึ่งต้องให้เวลากับตรงนี้

 

 

เรื่องดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดของหนังสือ 30 กึ๋นแห่งศตวรรษใหม่ ที่คุณพงษ์ ผาวิจิตร ได้เขียนไว้ว่าความรู้จะเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายเพราะความเจริญของเทคโนโลยี แต่คนที่มีทักษะปฏิบัติทำได้จริงและมีทัศนคติที่พึงประสงค์จะเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างยิ่งในอนาคต ผมคิดว่าคนในวงการศึกษาต้องเริ่มคิดและทำในสิ่งที่นี้แล้ว

หมายเลขบันทึก: 452051เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2011 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ยอดเยี่ยมครับ เด็ก TE เก่งทุกคน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท