ความฉลาดที่อยู่นอกสมอง


          บทความเรื่อง The Limits of Intelligence เขียนโดย Douglas Fox ลงพิมพ์ใน Scientific American ฉบับเดือน ก.ค. ๕๔ บอกเราว่าสมองใหญ่ หรือจำนวนเซลล์สมองมาก ไม่จำเป็นต้อง ฉลาดเสมอไป   เพราะจะทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทที่อยู่คนละฟากของสมองใช้เวลา นานเป็นข้อจำกัด  

          เขาอธิบายว่าสมองของผึ้งเล็กนิดเดียว   แต่ผึ้งก็ทำสิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้หลายอย่าง   เพราะสมองขนาดเล็กได้เปรียบสมองขนาดใหญ่ตรงที่เซลล์สมองติดต่อกันได้รวดเร็ว   ในขณะที่สมองช้างใหญ่กว่าอย่างมากมาย   และมีเซลล์สมองมากกว่า   แต่การสื่อสารระหว่างกันใช้เวลานาน   ช้างจึงต้องเคลื่อนไหวช้าๆ  

          บทความชี้ให้เห็น (ด้วยเหตุผลทางฟิสิกส์) ว่าสมองของมนุษย์ได้วิวัฒนาการมาสู่ประสิทธิภาพสูงสุด   วิวัฒนาการให้ดีกว่านี้ได้ยากหรือไม่ได้   เช่นอธิบายเปรียบเทียบกับทรานซิสเตอร์ในชิปคอมพิวเตอร์   ว่าหากสมองวิวัฒนาการให้ “เส้นลวดเชื่อมต่อ” ซึ่งก็คือใยประสาทเชื่อมระหว่างเซลล์ประสาท เล็กลง เพื่อจะได้มีการเชื่อมต่อมากขึ้น สมองจะได้ฉลาดมากขึ้น   ก็จะไม่ฉลาดขึ้นจริง เพราะในการสื่อสัญญาณในสมองจะเกิดสัญญาณรบกวน (noise) มากขึ้น 

          อีกทางหนึ่งของการวิวัฒนาการของสมองมนุษย์ คือสมองมีขนาดใหญ่ขึ้น   เขาก็บอกว่าไม่ไหว   เพราะสมองในขนาดปัจจุบันกินจุเหลือเกินอยู่แล้ว   คือในผู้ใหญ่ สมองที่มีน้ำหนักร้อยละ ๒ ของน้ำหนักตัว ใช้พลังงานถึงร้อยละ ๒๐   ยิ่งในเด็กอ่อนสมองใช้พลังงานถึงร้อยละ ๖๕ 

          สมองเดียวมีข้อจำกัด ขยายไม่ได้ในทางธรรมชาติ (nature)   แต่ในชีวิตจริงเราขยายความฉลาดได้โดยใช้หลายสมองร่วมมือกันในวิถีชีวิตที่มนุษย์สร้างขึ้น (culture)  

          และมนุษย์ได้สร้างเครื่องมือ (machine) ช่วยเพิ่มความฉลาดของสมองมนุษย์ (man)   เป็นความฉลาดที่อยู่นอกสมอง   เรายิ่งฝึกฝน man – machine interaction  และฝึกฝน culture of cooperation มากเพียงใด   ความฉลาดก็สามารถเพิ่มพูนได้อย่างไร้ขีดจำกัด

          แต่ควรถามว่า ฉลาดไปทำไม เพื่ออะไร เพื่อใคร   ฉลาดแล้วเห็นแก่ตัว เอาแต่ได้ คือโง่   นี่คือมิติแห่งปัญญา

 

 

วิจารณ์ พานิช
๘ ก.ค. ๕๔
          
           

คำสำคัญ (Tags): #540802#brain#intelligence
หมายเลขบันทึก: 452033เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2011 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ต้องลงจังหวะ ใช่ไหมครับ อาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท