เปลี่ยนโลกทัศน์คนไทยผ่านระบบวิจัย



          เรื่องราวของหนังสือบูรพาภิวัตน์ (เขียนโดย ศ. ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์)  ยังก้องอยู่ในสมองของผม   เมื่อผมพบ ศ. นพ. สุทธิพร เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ   และทราบว่าที่ผมแนะนำให้ นพ. ปรีดา มาลาสิทธิ์ และ นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ไปคุยกับท่านเรื่องการสนับสนุนการวิจัยแบบ mega & longterm project เป็นที่ชื่นชอบของท่าน   ผมจึงเสนอว่า ควรหาทางจัดการงานวิจัย ระบบวิจัย เพื่อเปลี่ยนวิธีคิดของคนไทย จากคิดอยู่ในกระลาครอบ ไปเป็นคิดกว้างไกล ออกไปเชื่อมโยงกับโลก

 

          ดังที่ได้เล่าไปแล้วตอนไปเป็นผู้วิพากษ์หนังสือเล่มนี้ ว่าอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วรู้สึกว่าเหมือนตัวเองได้เปิดโลกทัศน์จากกระลาครอบ

 

          ดังนั้นเมื่อไปประชุมในที่ต่างๆ ผมจึงได้แนวทางหรือระบบคิดแบบโลกาภิวัตน์ ไปตรวจสอบ   แล้วผมก็พบว่าร้อยทั้งร้อยคิดแนวสยามาภิวัตน์
  
          ในวันที่ ๑๔ มิ.ย. ๕๔ ดร. เอนกเสนอว่า ไทยเราต้องมองออกไปเชื่อมต่อคบค้าร่วมมือกับนอกประเทศ   โดยเฉพาะพื้นที่หรือเมืองหลักในต่างจังหวัดต้องหันหน้าออกไปพูดคุยเจรจาเพื่อร่วมมือกับประเทศโดยรอบ และประเทศเชิงยุทธศาสตร์ที่อยู่ไกลออกไป   ไม่ใช่เอาแต่หันหน้าเข้าหาศูนย์กลางคือกรุงเทพอย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

 

          ผมจึงเสนอต่อท่านเลขาฯ วช. ว่า เราควรกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารงานวิจัย โดยชวนกันตั้งโจทย์วิจัยที่ไม่เพียงมองภายในประเทศแบบแยกส่วนเท่านั้น   ต้องมองเชื่อมโยงออกไปในภูมิภาคหรือในโลก ให้เห็นว่าส่วนของประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่เชื่อมโยงถึงกัน

 

          กิจกรรมวิจัยหลายขั้นตอนเราทำเองภายในประเทศได้ยาก เพาระเราไม่มีเงินซื้อเครื่องมือราคาแพง   เราก็ร่วมมือกับกลุ่มวิจัยต่างประเทศที่เขามี   นอกจากเลือกคบกับนักวิจัยที่มีเครื่องมือแล้ว เราต้องเลือกคนที่มีปัญญาสูง และมีจิตใจดี   คือมีการเอื้อเฟื้อแบ่งปันผลงานกันอย่างยุติธรรม   โดยจุดสำคัญอยู่ที่การคบกันเป็นภาคีที่เท่าเทียมกัน   ไม่ใช่แบบเราไปขอความช่วยเหลือเขา หรือเราไปร่วมกับเขาแบบเขาคิดเราทำ   ต้องร่วมกันคิดแบ่งงานกันทำ

 

          ความร่วมมือแนวระนาบกับต่างประเทศด้านการวิจัยนี้ เรามีตัวอย่างความสำเร็จที่โครงการ คปก.   ที่ ศาสตราจารย์ Co-advisor ของต่างประเทศ ต่างก็นับถือความสามารถของอาจารย์และ นศ. ปริญญาเอกของไทยในโครงการนี้   และแสดงท่าทีของความร่วมมือแบบเท่าเทียมกัน   ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไม่ได้มุ่งไปขอความช่วยเหลือจากเขา ไม่ว่าจะขอเงินหรือขอความรู้   แต่เป็นความร่วมมือแบบเท่าเทียมกัน

 

          Prince Mahidol Award Conference (PMAC) ก็ทำให้ฝรั่งคบกับเราแบบเท่าเทียมกัน   เพราะเราทำงานให้แก่โลก  และมีทุนของเราสำหรับใช้จัดการประชุม   โดยมีท่าทีของความร่วมมือแบบเท่าเทียมกัน   ในปีแรกๆ เจ้าหน้าที่ขององค์กรต่างประเทศที่เป็นภาคี แสดงท่าทีของนายเหนืออาณานิคมกับเรา เราก็ไม่ยอมลงให้   หลายๆ ปีเข้า เขาก็ยอมรับเราในฐานะภาคีแนวระนาบ     งานนี้ไม่ใช่งานวิจัยโดยตรง แต่ก็มีมิติด้านการวิจัยแฝงอยู่ด้วย   เพราะเราต้องการข้อมูลหลักฐานเชิงระบบ สำหรับเอามาใช้ในการประชุม

 

          PMAC มีการทำงานแบบโลกาภิวัตน์ คือมองการพัฒนาระบบสุขภาพของทั้งโลก   เป็นเวทีฝึกโลกทัศน์แบบมองกว้างเชื่อมโยงระบบไทยกับระบบโลก   ไม่ใช่มองระบบไทยแบบแยกส่วนออกจากโลก

 

          ผมโชคดีจริงๆ ที่ได้มีส่วนทำงานนี้ และอาศัยงานนี้ฝึกโลกทัศน์มองระบบไทยเชื่อมโยงกับระบบโลกให้แก่ตนเอง

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๗ มิ.ย. ๕๔
บนรถแท้กซี่จากสุวรรณภูมิกลับบ้าน

                        
หมายเลขบันทึก: 451923เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2011 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาเรียนรู้ กูรู ทำงานได้ทุกที่ บนรถแท๊กซี่ ยังสามารถ บันทึก G2K ได้ครับ "ครูเพื่อศิษย์ จริงๆ"

ยอดเยี่ยม ยกระัดับความคิดแค่นี้เอง ชาติไทยไปโลด แต่มองหนทางความสำเร็จช่างมืดมน นะครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท