มัลเบอร์รี่...ของดีภาคเหนือ ตอนที่ 2


ผลหม่อน...ผลไม้จิ๋วแต่แจ๋ว

วิโรจน์  แก้วเรือง

         คณะของเราได้มาเยือนภูพยัคฆ์ในช่วงฤดูร้อน ปลายเดือนมีนาคม 2553 และอยู่ในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวผลหม่อนสด แต่ก็ยังเห็นผลหม่อนที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ สีม่วงดำอยู่กับต้นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเจ้าหน้าที่ได้เก็บผลใส่ตะกร้ามาเก็บไว้ในตู้เย็นรอการแปรรูปเป็นน้ำผลหม่อนเข้มข้น คุณวิทยา ไพศาลศักดิ์ หัวหน้าสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริภูพยัคฆ์ ได้ให้เกียรติมาต้อนรับด้วยตนเอง พาชมโรงงานแปรรูปหม่อนผลสดเป็นน้ำหม่อนเข้มข้น และน้ำหม่อนพร้อมดื่ม เป็นโรงงานขนาดเล็ก แต่มีความสะอาดและผลิตได้ถูกสุขลักษณะ ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะส่งลงมาจำหน่ายที่ร้านภูพยัคฆ์ ในตัวเมืองจังหวัดน่าน และร้านโกลเด้นเพลสในกรุงเทพ

          พวกเราเพลิดเพลินกับการเก็บผลหม่อนสดจากต้นเก็บไปกินไปพร้อมบันทึกภาพอย่างไม่รู้เบื่อ อาหารค่ำและอาหารเช้าที่สถานีฯ ก็อร่อยไม่แพ้ภัตตาคารชั้นหนึ่งในเมืองน่าน ยิ่งได้บรรยากาศขุนเขา อากาศหนาวเย็นแม้จะเป็นฤดูร้อน ยิ่งจะทำให้ทุกคนเข็มขัดสั้นกันเป็นแถว สถานที่พักก็มีหลายรูปแบบให้เลือก จะมาเป็นคี่มาเป็นคู่ เป็นหมู่คณะก็ไม่มีปัญหา ที่สำคัญคือต้องติดต่อเจ้าหน้าที่สถานีฯ จองที่พักและอาหารล่วงหน้า ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 054-730330-1, 054-731717 หรือติดต่อผ่านศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ น่าน ก็ยินดีประสานให้โดยไม่คิดค่านายหน้า เราเองก็สัญญาว่าจะกลับมาอีกในปีหน้า

         นอกจากเรื่องสินค้าและอาหารที่ปลอดภัยแล้ว ที่นี่ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ ซึ่งด้านหลังเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ชนชาติลั้วและม้ง และยังมีสำนัก708 ซึ่งในอดีตเป็นที่ตั้งศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันยังมีสิ่งปลูกสร้างที่ยังคงสภาพดี ไม่ว่าจะเป็นกระท่อมลุงคำตันซึ่งจำลองมาจากกระท่อมจริงของลุงคำตัน หรือ พันโทโพยม จุลานนท์ อดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ฝ่ายทหาร เป็นบิดาของพลเอกสรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี และกระท่อมของเหล่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ หรือจะเป็นอุโมงค์ใต้ดินซึ่งใช้เป็นที่หลบภัยในการสู้รบในสมัยนั้น และเตาหุงหาอาหาร เมื่อเหตุการณ์สงบลง สำนัก708 จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเรียนรู้สำหรับผู้สนใจ

        ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริภูพยัคฆ์ ที่เหลือยังรอให้ท่านมาพิสูจน์ด้วยตาของท่านเอง

        สะจุก-สะเกี้ยง วันรุ่งขึ้นเราเดินทางจากภูพยัคฆ์ไปสะจุก-สะเกี้ยง อันเป็นที่ตั้งของบ้านสะจุก-สะเกี้ยง เป็นพื้นที่เขาหัวโล้นที่มีการแพ้วถางและเผาป่าจนเกลี้ยงดอย เช่นเดียวกันมีการปลูกหม่อนผลสดส่งไปแปรรูปที่โรงงานของภูพยัคฆ์และจะมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เอง ในอนาคตอันใกล้นี้ 

         หมู่บ้านสะจุกและหมู่บ้านสะเกี้ยง  ตั้งมาประมาณ  55 ปี  เริ่มแรกมีประมาณ 3หลังคาเรือนอยู่รวมกัน จำนวน5-6 ครอบครัว ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านที่อยู่ในปัจจุบันและได้มีการขยายจำนวนครัวเรือนมากขึ้น ทั้งจากคนในหมู่บ้านเองและบางส่วนอพยพมาจากที่อื่น ต่อมาได้เกิดโรคระบาดในหมู่บ้านมีหลายคนตายโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงมีการอพยพลงมาตั้งถิ่นฐานทางตอนใต้ของหมู่บ้านเดิม แต่ก็ยังมีคนล้มตายอีกจึงอพยพกลับมาตั้งถิ่นฐานที่เดิมอีกครั้ง และได้อาศัยอยู่จนถึงปัจจุบันนี้

        หมู่บ้านสะเกี้ยงซึ่งตั้งอยู่บนสันเขามีพื้นที่จำกัดแต่มีจำนวนประชากรหนาแน่น ส่วนหมู่บ้านสะจุกเป็นชุมชนตอนล่าง เส้นทางคมนาคมสะดวกกว่าแต่ประชากรน้อยกว่า มีประชากรทั้งสองหมู่บ้าน 214 ครัวเรือน จำนวน 957 คน ส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นชาวเขาเผ่าลั๊วะ นับถือผี และมีประเพณีการไหว้ผีเป็นประจำหลายครั้งต่อปี  เช่น  การไหว้ผีบวก  เพื่อแสดงความเคารพพื้นที่ต้นน้ำ ที่ราษฎรเรียกว่า “บวกหล่ม” จำนวน 2 ครั้งต่อปี ในเดือนพฤษภาคมและตุลาคมของทุกปี โดยสร้างศาลเล็กๆใต้ต้นไม้บริเวณบวกหล่มแล้ววางเครื่องเซ่น นอกจากนี้ยังมีการไหว้ผีไร่  2  ครั้ง  ในช่วงต้นข้าวไร่โตสูงได้ประมาณ  20  เซนติเมตร เพื่อให้ข้าวที่ปลูกเติบโตดี  และมีการไหว้ผีไร่อีกครั้งหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จ เพื่อเป็นการขอบคุณผีไร่ที่ทำให้ได้ข้าว มากินในครัวเรือน  การไหว้ผีไร่จะใช้ ไก่ หมู เป็ด อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ จำนวน1 ตัว เหล้า 1 ขวดและธูป เทียน มีการปักเสา 3-4  ต้น คล้ายกระโจมแล้ววางไม้ไผ่สานไว้ด้านบนเพื่อวางเครื่องเซ่นขณะทำพิธี จากวิถีชีวิตของราษฎรในพื้นที่ จะพบว่าความเชื่อของชุมชนเกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์พื้นที่ในชุมชนเอง เช่น การทำการเกษตร  การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ เพียงแต่พื้นที่ป่าต้นน้ำ ที่อนุรักษ์มีขนาดเล็ก เกินไปจนไม่สามารถ ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้

       ภูฟ้า เป็นที่ตั้งของโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2542 เพื่อสร้างต้นแบบการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนและบูรณาการทั้งการประกอบอาชีพด้านการเกษตรและการแปรรูป ตั้งอยู่ที่บ้านผาสุก ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เป็นแห่งที่ 3 ที่เรามาเยือน ปัจจุบันมีการส่งเสริมการปลูกหม่อนผลสด ส่งผลผลิตจำหน่ายให้ศูนย์ภูฟ้า เพื่อแปรรูปเป็นแยมหม่อนขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอเครื่องหมาย อย.เกษตรกรที่ภูฟ้าเริ่มเก็บผลหม่อนส่งโรงงานแปรูปได้แล้ว ในราคากิโลกรัมละ 30 บาท คาดว่าแต่ละรายจะมีรายได้จากการปลูกหม่อนผลสด ปีละประมาณ 20,000บาทต่อราย

        เดอยม่อนล้าน เป็นที่ตั้งโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ดอยม่อนล้าน แหล่งผลิตน้ำมัลเบอร์รี่พร้อมดื่ม ด้วยเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2547 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  เสด็จฯ ทอดพระเนตรพื้นที่บริเวณดอยม่อนล้าน บ้านอาแย หมู่ที่ 3 ตำบลไหน่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่  ทรงพบว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีล้านนา  ถูกบุกรุกแผ้วถางทำไร่หมุนเวียนเป็นบริเวณกว้างประมาณ  11,000 ไร่  ทรงหวังใยว่าถ้าไม่มีการบริหารจัดการในการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม  พื้นที่ป่าต้นน้ำก็จะถูกบุกรุกเกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อเขตอุทยานแห่งชาติศรีล้านนา ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของลุ่มน้ำแม่งัด  สาขาแม่น้ำปิงตอนบนทำให้ประมาณน้ำในเขื่อนแม่งัดลดลงส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวเชียงใหม่  

        สมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยม่อนล้าน ดูแลราษฎรจำนวน 3หมู่บ้าน 567 ครัวเรือนโดยมีพระราชดำริแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พัฒนาความเป็นอยู่และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎร ให้สถานีเป็นแหล่งจ้างงานแก่ราษฎรในพื้นที่  อีกทั้งเป็นแหล่งการเรียนรู้  ด้านการเกษตรป่าไม้  ปศุสัตว์  การฝึกอบรมอาชีพ รวมทั้งการอนุรักษ์สภาพป่าและสิ่งแวดล้อมแหล่งต้นน้ำลำธารให้กลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์ดังเดิม

       ปัจจุบัน ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯเชียงใหม่ ได้ส่งเสริมการปลูกหม่อนผลสด และตั้งโรงงานแปรรูปผลหม่อนเป็นน้ำมัลเบอร์รี่ สร้างรายได้มากกว่า ปีละ 200,000 บาท นับว่าเป็นรายได้ที่ไม่น้อยเลย

       ดังนั้นท่านที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร รับรองไม่ผิดหวัง ที่จะหาโอกาสไปเยือนภูพยัคฆ์ และภูสะจุก-สะเกี้ยง อ.เฉลิมพระเกียรติฯ จ.น่าน ซึ่งที่ภูพยัคฆ์จะมีซึ่งพักที่ตั้งอยู่บนเนินเขา มองเห็นวิวทิวทัศน์ที่เป็นพื้นที่การเกษตรเขียวขจี ส่วนที่ภูสะจุก-สะเกี้ยง มีเพียงพื้นที่ซึ่งเป็นลานให้ท่านได้กางเต็นท์ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

       ส่วนท่านที่สนใจไปแอ่วดอยม่อนล้าน จะได้รับประทานน้ำมัลเบอร์รี่สดๆ รสอร่อยบนดอยสูง ซึ่งมีบ้านพักรับรองนักท่องเที่ยวไว้หลายหลัง การเดินทางควรใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ เนื่องจากเป็นเขาสูงชัน และบางช่วงยังเป็นถนนลูกรัง สำหรับรายละเอียดข้อมูลการเดินทางและติดต่อที่พัก สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ โทรศัพท์ 053-114097

 

หมายเลขบันทึก: 451385เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2011 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อยากทราบอัตราผลตอบแทนต่อไรหน่อยครับ

ขอบคุณล่วงหน้า

หม่อนเบอรี่ มีประโยชน์มากค่ะ จากการวิจัยพบว่า ช่วยในเรื่อง memory ด้วยค่ะ

คุณโสภณ เปียสนิท

การปลูกหม่อนผลสดพันธุ์เชียงใหม่ หลังการปลูกในปีแรกจะยังให้ผลผลิตต่ำ ในปีที่ 2 จะเริ่มให้ผลผลิตสูง ในปีที่3 มากกว่า 1,000 กิโลกรัม/ไร่/ปี ปัจจุบันราคาส่งกิโลกรัมละ 50-100 บาท แต่ผลหม่อนเปลือกบาง เน่าเสียง่าย ต้องอยู่ใกล้ตลาด หรือมีห้องเย็นเก็บไว้แปรรูป เป็นเครื่องดื่มและอาหาร

การลงทุนปลูกประมาณไร่ละ 5,000 บาท และต้องสามารถให้น้ำได้ในฤดูติดดอกออกผล (กุมภาพันธ์-เมษายน)

ขอบคุณมากครับที่สนใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท