แนวทางการสร้างความสำเร็จและความสุขในการทำงาน


ความสำเร็จและความสุขในการทำงานอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

“ผู้ที่จะสร้างความสำเร็จในการงานและมีชีวิตที่แน่นอนนั้น
ควรมีคุณสมบัติประกอบพร้อมกันอย่างน้อย 5 ประการ ประการแรก ควรจะต้องมีความสุจริต ความมีใจจริง ความอุตสาหะอดทน  และความเสียสละเมตตาเป็นพื้นฐานของจิตใจ  ประการที่สอง ควรจะต้องมีวิชาการความรู้ที่ถูกต้อง แม่นยำ ชำนาญ พร้อมทั้งมีฝีมือหรือความสามารถในเชิงปฏิบัติ เป็นเครื่องมือสำหรับประกอบการ  ประการที่สาม ควรจะต้องมีสติ  ความยั้งคิด และวิจารณญาณอันถี่ถ้วนรอบคอบเป็นเครื่องควบคุมกำกับให้ดำเนินไปได้โดยถูกต้องเที่ยงตรงตามทิศทาง ประการที่สี่จะต้องมีความรอบรู้
มีความสามารถประสานงานประสานประโยชน์กับผู้อื่นอย่างกว้างขวาง
เป็นเครื่องส่งเสริมให้ทำงานได้คล่องตัวและก้าวหน้า และประการที่ห้าซึ่งสำคัญที่สุดจะต้องมีความฉลาดรู้ในเหตุในผลในความผิดถูกชั่วดี
ในความพอเหมาะพอสม ซึ่งเป็นเครื่องตัดสินและสั่งการปฏิบัติงานทั้งมวลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในวันที่ 6 กรกฎาคม  2531

     จากการรวบรวมวิธีการสร้างความสุขและความสำเร็จในการทำงาน ต้องขออัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแนวทางการปฏิบัติงานให้สามารถสร้างความสำเร็จในการทำงานและชีวิตได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนนั้น อาจกล่าวได้ว่าหากผู้ใดสามารถปฏิบัติได้แล้วย่อมนำมาซึ่งความสุขในการทำงานและการดำเนินชีวิตนั่นเอง และพอจะสรุปได้ว่าแนวทางการทำงานให้ประสบความสำเร็จและมีความสุข เป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินความสามารถของคนเราที่จะทำได้ ดังต่อไปนี้

1. วิธีสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อตนเองต่อผู้อื่น และต่องาน 

     โดยมีพื้นฐานของการมีทัศนคติ เชิงบวก  ดังนี้

            1.1  มีความเป็นตัวของตัวเอง หาข้อดีของตนเองให้ได้ไม่พยายามเลียนแบบใคร หรือเป็นอย่างที่ใครๆ เป็นเพราะจะเป็นการสร้างความกอดันและความทุกข์ต่อตนเองและไม่สามารถนำสมรรถภาพอันโดดเด่นของตนเองออกมาได้

            1.2  คิดต่อผู้อื่นในทางที่ดี  คนทุกคนมีความแตกต่างกัน  ค้นหาสิ่งที่ดีในตัวของคนอื่นที่คุณใช้ชีวิตอยู่ด้วยให้พบ คุณจะใช้ชีวิตอยู่กับเขาได้อย่างที่ทั้งคุณและเขามีความรู้สึกที่ดีต่อกัน

             1.3 คิดเชิงบวกต่องานว่างานเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของคุณมีคุณค่า
งานเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถ แม้งานจะยากหรือเป็นงานใหม่เพราะการทำงานที่ยากเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์การบริหารจัดการการแก้ไขปัญหาให้กับตัวคุณ หรืออาจจะคิดว่า “คุณทำ คุณได้ - คุณทำ คุณรู้ - คุณยิ่งทำ คุณยิ่งเก่ง” หากคิดได้เช่นนั้นคุณจะสนุกกับการทำงาน

            2. วิธีสร้างนิสัยอันดีงามในการทำงาน 

              2.1  ความมีระเบียบ - ความมีระเบียบในการทำงานจะช่วยลดขั้นตอนการค้นหาสิ่งของ  ลดความหงุดหงิด  เสียเวลา สับสน  ลืม  หรือละเลยงานบางชิ้นงานไป ความมีระเบียบจะเป็นรากฐานของการทำงานอย่างเป็นระบบ 

              2.2  จงปฏิบัติงานตามลำดับความสำคัญ วิธีการที่ดีที่สุด คือการจัดลำดับความสำคัญของงานว่างานไหนต้องทำก่อนหรือหลัง หลังจากนั้นเตรียมวางแผนงานที่ต้องทำก่อนปฏิบัติและประเมินผลตามแผนจึงจะเริ่มวางแผนงานชิ้นต่อไป ยกเว้นว่างานทั้งสองชิ้นสามารถเชื่อมโยงหรือมีความเกี่ยวข้องกันอาจนำมาวางแผนไว้ด้วยกันได้  

              2.3  เมื่อเผชิญหน้ากับปัญหาใดก็ตาม ถ้าคุณมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหานั้นอยู่อย่างครบถ้วนจงตัดสินใจทันที โดยไม่ลังเลใจ ฉะนั้นคุณไม่ควรตัดสินใจเมื่อข้อมูลหรือข้อเท็จจริงยังไม่กระจ่างชัด เพราะอาจนำมาซึ่งความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงได้

              2.4 แบ่งงานให้ผู้อื่นทำแทนและมีวิธีการควบคุมดูแล การมีแนวคิดที่ว่า ไม่มีใครทำงานได้ดีเท่าคุณทำเองเป็นการขุดหลุมฝังตนเอ งเพราะการทำงานทุกอย่างด้วยตัวเอง ย่อมแสดงถึงว่าคุณขาดความเชื่อใจและไว้วางใจผู้อื่น คุณมีความเป็นคนยึดติดสูง จงผ่อนคลายกระจายงานให้กับคนอื่น เลือกกคนให้เหมาะสมกับงานชื่นชมความสามารถของเขา ให้เขาตระหนักว่าเขาเป็นคนสำคัญของคุณ
เขาเป็นความสำเร็จของการทำงานชิ้นนี้ เพราะเขาจะทุ่มเทความสามารถในการทำงานให้คุณอย่างสุดความสามารถและคุณควรมีวิธีการควบคุมหรือกำกับดูแลให้เหมาะสมไม่ทำให้ผู้ปฏิบัติรู้สึกอึดอัดถูกจับตามองหรือประเมินการทำงานอยู่ตลอดเวลา

              3. วิธีขจัดความเบื่อหน่ายและความอ่อนล้า

             ความเบื่อหน่ายและความอ่อนล้าส่วนใหญ่เกิดจากความผันแปรของอารมณ์และจิตใจ เพราะการที่คุณทุ่มเททำงานกำลังกายและกำลังสติปัญญาในการทำงานย่อมทำให้ประสาทตึงเครียดวิตกกังวลและเกิดอาการอ่อนเพลีย อ่อนล้า
เบื่อหน่ายและท้อถอยได้ ฉะนั้นจงพักผ่อนและถนอมพลังไว้สำหรับภารกิจที่สำคัญและยาวนาน การพักผ่อนที่ทำให้อารมณ์และจิตใจเบิกบานทำได้หลายวิธี เช่น

              3.1 สังสรรค์กับเพื่อนที่รู้ใจ 

              3.2 ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น อ่านหนังสือ ชมภาพยนต์ ร้องเพลงคาราโอเกะ เล่นกีฬา ท่องเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ  ฯลฯ

              3.3 พูดคุยปรึกษากับคนที่ไว้วางใจ

               4. เพิ่มคุณค่าของชีวิต เมื่อยามที่คุณท้อแท้การทำให้ชีวิตของคุณดูมีคุณค่าให้มองคนที่แย่กว่าคุณ เมื่อคุณต้องการที่จะพัฒนาและก้าวเดินต่อไปให้มองคนที่มีความสามารถมากกว่าคุณ ควรให้พลังใจกับชีวิตและการทำงานเพื่อที่คุณจะสามารถยืนหยัดต่อไปอย่างมั่นคงมีตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น บางครั้งคุณรู้สึกเหนื่อยหน่าย ท้อแท้กับการเดินทาง เมื่อคุณพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานบางคน บ้านไกลกว่าคุณเสียอีก ต้องเดินทางหลายต่อ ทั้งเดิน ขึ้นรถเมล์ ลงเรือด่วน ต่อรถมอเตอร์ไซด์ เป็นต้น เมื่อมองย้อนกลับมาคุณดีกว่าตั้งเยอะเพราะแค่ขึ้นรถเมล์ต้นสายถึงปลายสายต่อเดียวเท่านั้น แต่หากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น
เช่น ต้องการมีความสามารถทางภาษาหรือคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น สอบถามคนที่มีความสามารถว่าเขาทำอย่างไร  คำตอบที่ได้คือ การเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ เมื่อมองย้อนกลับมาคุณยังไม่เคยทำเช่นนั้นเลยเริ่มลงมือปฏิบัติได้แล้ว แต่ควรเป็นความคิดที่ว่าคุณต้องการรู้  ต้องการเป็น ต้องการทำ ไม่ใช่ต้องการเหมือนใคร

            5. วิธีการจัดการกับการใส่ร้ายป้ายสี จงจำไว้ว่าคำกล่าวร้ายป้ายสีที่ปราศจากความจริง มักแปรเปลี่ยนมาจากความรู้สึกอิจฉา ริษยา จึงเป็นการกล่าวโทษที่ไม่เป็นธรรมจงตั้งสติ เข้าใจและเห็นใจเขาและประพฤติตนตามที่เป็นจริงต่อไปเพราะจะทำให้คุณกลายเป็นบุคลากรที่สำคัญขององค์กรในอนาคต

            6.ใจเขา-ใจเรา หลายอาชีพที่ให้บริการรู้สึกว่าถูกเรียกร้องบริการเป็นเลิศจากผู้รับบริการเป็นอย่างมากหากแม้คุณคิดกลับกันคุณเป็นผู้ใช้บริการก็ย่อมต้องการบริการที่เป็นเลิศเช่นกัน ฉะนั้นในการให้บริการใดๆ จึงควรตระหนักว่า ถ้าคุณเป็นเขา คุณจะมีต้องการอย่างไร เพื่อลดความขัดแย้งในจิตใจของคุณที่มีต่อการให้บริการ

            7. วิธีสร้างความชื่นชอบ 
จงปฏิบัติต่อผู้อื่นให้เหมือนกับที่คุณต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อคุณ เช่น คุณต้องการเป็นคนสำคัญ คุณต้องการการดูแลที่อบอ่น นุมนวล คุณต้องการคำพูดที่สุภาพอ่อนหวาน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ของให้คุณปฏิบัติกับทุกคนที่ใกล้ชิดหรือติดต่อกับคุณ เพราะนั่นคือวิธีการที่คุณจะได้รับสิ่งดีดีและความชื่นชมในตัวคุณกลับมา

หมายเลขบันทึก: 450909เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2011 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท