KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๖๒๙. ใช้ KM ในการดำเนินการ LLEN


          LLEN ย่อมาจาก Local Learning Enrichment Network   ริเริ่มและสนับสนุนทุนโดย สกว.  และต่อมา สพฐ. เข้ามาร่วมให้ทุนสนับสนุนด้วย   เป้าหมายของโครงการตรงตามชื่อ คือต้องการดึงเอา “ทรัพยากร” ในพื้นที่เข้ามาสนับสนุนการสร้างคุณภาพการศึกษาในพื้นที่

          “ทรัพยากร” ในพื้นที่ที่สำคัญยิ่งคือ ทรัพยากรปัญญา ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย   ซึ่งเวลานี้เรามี มหาวิทยาลัยเกือบครบทุกจังหวัด   และทรัพยากร “เงิน” มีอยู่ที่ อปท. 

          โครงการ LLEN ต้องการดึงเอา “ทรัพยากรท้องถิ่น” ที่สำคัญ ๒ อย่างนี้เข้ามาร่วมสร้างคุณภาพการศึกษาในพื้นที่   และในการร่วมกันทำงานกับครู โรงเรียน และเขตพื้นที่การศึกษา นั้น   ก็จะดึงเอา “ทรัพยากร” อื่นๆ ในพื้นที่เข้ามาร่วม เช่น ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน เป็นต้น   คือยึดหลัก All for Education. Education for All. นั่นเอง

          LLEN ดำเนินการมาเกือบครบ ๒ ปีตามโครงการ   โดยผมโชคดีได้รับเชิญเป็นประธานกรรมการกำกับทิศทางของโครงการ   ผมจึงได้เป็นนักเรียนร่วมเรียนรู้ไปกับคณะทีมงานของมหาวิทยาลัยต่างๆ   และเห็นว่า ในที่สุดผลลัพธ์อย่างหนึ่งของ LLEN คือกำลังมีการก่อตัวของ PLC ขึ้นในพื้นที่

          PLC (Professional Learning Community) คือการรวมตัวกันของครู เพื่อเรียนรู้ศาสตร์และศิลป์ของการเป็นครูจากการทำงานของตน  ซึ่งในภาษา KM เป็น CoP ของครูนั่นเอง   อุดมการณ์หรือค่านิยมของ PLC คือครูต้องเรียนรู้จากการทำหน้าที่ครู   ซึ่งในภาวการณ์ปัจจุบัน เป็นหน้าที่ที่เหนื่อยยาก   ครูต้องมีวิธีเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส   และวิธีการนั้นคือการรวมตัวกันเป็น PLC  และทางโรงเรียน, เขตพื้นที่, สพฐ., อปท., มหาวิทยาลัย, และอื่นๆ ร่วมกันส่งเสริมสนับสนุน (empower)   ให้ครูรวมตัวกันเพื่อเรียนรู้จากการปฏิบัติ (หน้าที่ครู)   ทำให้หน้าที่ครูเปลี่ยนจากเหนื่อยยากเป็นสนุกและให้ปิติสุข  

          เมื่อวันที่ ๑๑ ก.ค. ๕๔ มีมหาวิทยาลัยในโครงการ LLEN มาเสนอรายงานความก้าวหน้า ๖ แห่ง   ที่มีแววของการใช้ KM เป็นเครื่องมือในการ ลปรร. วิธีจัดการเรียนการสอนที่ดี เอาจริงเอาจังที่สุด   และมีแนวโน้มว่าจะเกิด PLC ของกลุ่มครูในพื้นที่มากที่สุดคือ มหาสารคาม   ดาวน์โหลดไฟล์ ก้าวที่สองของ LEN มหาสารคามได้ที่นี่

          ผมชื่นใจ ที่ KM กำลังเข้าไปเป็นพลังขับเคลื่อน LLEN ให้เกิดพลัง   เกิดการสร้างสรรค์และเรียนรู้อย่างไม่รู้จบ   เหมือนอย่างที่เกิดในขบวนการ R2R  อันจะทำให้ขบวนการ “ครูเพื่อศิษย์” มีความชัดเจนและขยายตัวกว้างขวางขึ้น

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๒ ก.ค. ๕๔
 
         
          
           

หมายเลขบันทึก: 450795เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2011 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท