Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ความคิดของอาจารย์แหววเพื่อสื่อสารต่อวงการนิติศาสตร์ไทยสำหรับวันรพีประจำ


วันนี้ (๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔) เปิดคอมพิวเตอร์ขึ้นมาทำงาน พบว่า คุณเจนจินดามาชวนคนคุยถึง “คำคม” ที่อ.แหววให้ในวันรพี ๒๕๕๔ ใน facebook มีคนมาแสดงความคิดเห็นหลายคน เลยมีความคิดอยากจะเล่าถึงความเป็นมาของโอวาทและคำคมของอาจารย์แหววในปีนี้ (โปรดคลิกดูการสนทนาวงนี้ http://www.facebook.com/jpawadee/posts/10150268870032801 )

เราก็คิดของเราไปเรื่อยๆ ตามประสานักวิชาการ

แต่เมื่อมีคณะกรรมการนักศึกษาที่ทำหนังสือรพีประจำ พ.ศ.๒๕๕๔  ๒ คณะ มาขอโอวาทและคำคมจากอาจารย์แหวว ดังนั้น อาจารย์แหววจึงมีความคิดใน ๒ ประเด็นสำหรับนักศึกษา เพื่อสื่อสารกับวงการนิติศาสตร์ไทยในยุคนี้ ใน ๒ เรื่อง

ในเรื่องแรก อ.แหววอยากจะสื่อสารกับเหล่านักกฎหมายไทยให้ตระหนักว่า "กฎหมายที่แทัจริง" ก็คือ "เหตุผลที่แท้จริง" ซึ่งสร้างความยุติธรรมที่คงที่ท่ามกลางกาลเวลาที่เปลี่ยนไป และคงที่ไม่ว่าเรื่องราวจะเกิดขึ้น ณ สถานที่ใดก็ตาม อีกทั้งจะเป็นเช่นนั้นไม่ว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องจะเป็นใครก็ตามความยุติธรรมจะเสมอหน้าสำหรับมนุษย์ทุกคน และที่สำคัญที่สุด ความยุติธรรมนั้นย่อมเป็นไปตามธรรมชาติของเรื่องในสังคม มิใช่เพียงถูกกฎหมายของรัฐ แต่ถูกกฎหมายธรรมชาติ แนวคิดในลักษณะนี้น่าจะเหมาะสมที่จะฝากไปกับนักศึกษาแห่งนักศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิต สมัยที่ ๖๓ ซึ่งรับใช้ประชาชนในวันนี้และในอนาคต โอวาทนี้มาจากแนวคิดของนักปรัชญากรีกในอดีตที่มีชื่อว่า Cicero ด้วยโอวาทนี้ อาจารย์แหววหวังว่า ความตระหนักรู้ของนักศึกษาที่จะไปทำงานในกระบวนการยุติธรรมจะมองเห็น “กฎหมายที่แท้จริง (True Law)” ซึ่งอาจไม่ได้รับการยอมรับโดยรัฐสภา
หรืออาจถูกบิดเบือนโดยรัฐบาล นักกฎหมายไทยย่อมต้องใช้กฎหมายที่แท้จริง มิใช่ “กฎหมายเทียม” และบังคับใช้กฎหมายที่แท้จริงให้ได้ โดยไม่ยอมอ่อนข้อต่ออำนาจนิยมที่มักมาจากรัฐบาลที่มิได้เอาประโยชน์สุขของประชาชนเป็นเป้าหมายของการทำงาน ดังนั้น โอวาทสั้นๆ ที่ให้แก่คณะกรรมการนักศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิต สมัยที่ ๖๓ ก็คือ "หากเราจะดำรงชีวิตเป็นนักกฎหมายที่แท้จริง
เราจะต้องใช้กฎหมายเพื่อความยุติธรรมซึ่งเป็นไปตามเหตุผลตามธรรมชาติและสอดคล้องกับความต้องการของสังคมโดยรวม"
(ถ้าอยากอ่านโอวาทที่ อ.แหวว ให้แก่นักศึกษาเนติฯ โปรดคลิก Link ดังต่อไปนี้ http://www.gotoknow.org/blog/archanwell/447192 )

ในเรื่องที่สอง อ.แหววอยากจะสื่อสารกับเหล่านักกฎหมายไทยให้ตระหนักว่า ในความเป็นจริงของปัจจุบัน กฎหมายมิได้นำไปสู่ความยุติธรรมทางสังคมในหลายกรณี ดังนั้น หากนักกฎหมายไทยรู้ตัวเสมอในการทำงาน นักกฎหมายนั้นก็จะเยียวยาปัญหาความอยุติธรรมที่เกิดในสังคมได้ ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการนักศึกษานิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ที่ทำหน้าที่บรรณาธิการจัดทำหนังสือรพีประจำปี พ.ศ.๒๕๕๔ มาขอคำคมจากอาจารย์แหวว อาจารย์แหววจึงใช้แนวคิดนี้เพื่อคิดคำคมเพื่อหนังสือรพีประจำปี พ.ศ.๒๕๕๔ ของคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ว่า นักกฎหมายที่ดี คือ นักกฎหมายที่สามารถใช้กฎหมายในการสร้างความยุติธรรมทางสังคม” (ถ้าอยากอ่านคำคมที่ อ.แหวว ให้แก่นักศึกษานิติธรรมศาสตร์ โปรดคลิก Link ดังต่อไปนี้ http://www.gotoknow.org/blog/archanwell/448502

หมายเลขบันทึก: 449454เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2011 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 19:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท