เล่าเรื่องการเดินทาง : ลงพื้นที่จังหวัดลำปาง


     การเริ่มต้นเดินทางของผมได้เริ่มเมื่อคืนวันที่ 7 กรกฎาคม 2554 ซึ่งผมได้ไปขึ้นรถทัวร์จากสถานีที่กทม. ไปถึงลำปางประมาณตี 4 ของวันที่ 8 กรกฎาคม 2554
จากนั้นก็มีรถตู้จากมหาวิทยาลัยเดินทางเข้าพักที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(ศูนย์ลำปาง) จากนั้นประมาณเวลา 9 โมงกว่า ๆ เราจึงเริ่มออกเดินทางจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์ลำปาง) โดยมีอ.โด่ง ผม และนักศึกษาปริญญาตรี 3 คน ได้แก่   น้องตั้ม ปี 3 น้องที ปี
1 และน้องแชมป์ ปี 1 ส่วนคุณกิ่งแก้ว จั๋นติ๊บ เจ้าหน้าที่คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคมแผนกกลุ่มชาติพันธุ์สังฆมณฑลเชียงใหม่ (ประกอบด้วย พื้นที่ จังหวัดน่าน,จังหวัดแพร่, จังหวัดพะเยา, จังหวัดลำปาง, จังหวัดเชียงราย, จังหวัดลำพูน, จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน) ได้ไปรอคณะที่เดินทางไปร่วมลงพื้นที่ระหว่างทาง

     สำหรับการลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริงของปัญหาการพิสูจน์สถานะบุคคลในครั้งนี้
 ได้ลงพื้นที่พบปะตัวแทนชาวบ้านที่ประสบปัญหา ณ ศูนย์คาทอลิกแจ้ห่ม ตำบลวิเชตนคร อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง โดยทางคุณกิ่งแก้ว จั๋นติ๊บ ได้ดำเนินการติดตามช่วยเหลือและประสานงานกับตัวแทนชาวบ้านอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น
จึงได้นัดพบชาวบ้านที่เคยติดตามให้ความช่วยเหลือมาเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย  พร้อมกับประสานคณะทำงานในพื้นที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคมแผนกกลุ่มชาติพันธุ์สังฆมณฑลเชียงใหม่  ได้แก่ บาทหลวงบรูโน โรสซี, ซิสเตอร์วาเลนตินา เกรสซา, ซิสเตอร์อันนาริต้า ลิเชนลี่, นายอุบล ศรีแก้วใส, นางสาวศศินันท์ คงธนแพรธร และนายดาวิ ปลาสิงห์   นอกจากนี้ ยังมี นายอรุณศักดิ์ ปัญญายืน  เจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนองค์การบริหารส่วนตำบลร่องเคาะ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง และชาวบ้านผู้ประสบปัญหาสถานะบุคคลจากพื้นที่ดังกล่าว ร่วม 30 คน ทั้งจาก บ้านห้วยวาด
บ้านสันติสุข และบ้านปางม่วง อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง และบ้านวังใหม่  ตำบลร่องเคาะ  อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง

       ในการลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริงเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับงานวิจัยเรื่อง
“ปัญหาการพิสูจน์สถานะทางกฎหมายของบุคคล : กรณีศึกษาจังหวัดลำปางและพะเยา” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่อ.โด่งทำภายใต้คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์ลำปาง) ในครั้งนี้ทำให้ค้นพบปัญหาเกี่ยวกับการพิสูจน์สถานะบุคคลของชาวบ้าน ดังนี้

     1. ปัญหานายอำเภอไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย

     ในกรณีนี้เป็นกรณีของชาวบ้านในหมู่บ้านห้วยวาด อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง
ที่ได้ให้ข้อเท็จจริงโดยคำบอกเล่าทั้งจากตัวผู้ประสบปัญหาสถานะบุคคลเอง
และผู้สนับสนุน หรือผู้ช่วยเหลือเจ้าของปัญหาว่า ชาวบ้านหลายคนในหมู่บ้านมีข้อเท็จจริง พยานเอกสาร และพยานบุคคลเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 แล้ว และได้ไปดำเนินการยื่นคำร้องเพื่อขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ต่อปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนอำเภอแจ้ห่มแล้ว
แต่ทางนายอำเภอแจ้ห่มมิได้ดำเนินการพิจารณาคำร้องของประชาชนแต่อย่างใด ซึ่งโดยหลักแล้วถ้าหากว่าชาวบ้านผู้ยื่นคำร้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ตามกฎหมายแล้ว ก็ควรที่จะต้องพิจารณาลงนามอนุมัติ หรือถ้าเห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ หรือหากว่ามีข้อโต้แย้งประการใดนายอำเภอก็ควรที่จะปฏิเสธสิทธิมาเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งทางเจ้าของปัญหา (โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่บ้านห้วยวาด และบ้านสันติสุข) และผู้สนับสนุนเจ้าของปัญหาได้ไปติดตามผลการพิจารณาคำร้องกับทางปลัดอำเภอ แต่ก็ได้รับคำตอบมาว่านายอำเภอไม่เซ็น และให้ชาวบ้านผู้ยื่นคำร้องอดทนอีกนิดหนึ่ง รอให้นายอำเภอคนปัจจุบันเกษียนก่อน ซึ่งทั้ง ๆ ที่นายอำเภอแจ้ห่มคนที่ดำรงตำแหน่งก่อนหน้านี้ได้เคยลงนามอนุมัติให้ลงรายการสัญชาติไทยให้กับชาวบ้านมาแล้ว และเมื่อเปรียบเทียบกับอำเภอข้างเคียง อาทิเช่น ที่อำเภองาว หรือที่อำเภอเมืองปาน นายอำเภอได้อนุมัติให้ชาวบ้านได้รับการลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 23  แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ
(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551แล้ว ดังเช่นประชาชนที่อาศัยอยู่ที่บ้านไร่ ตำบลหัวเมือง อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง

     ดังกรณีตัวอย่างของนางสาวบัวลอย

     จากการบอกเล่าในที่ประชุมในวันนี้ทำให้ทราบข้อเท็จจริงของบัวลอยคร่าว
ๆ ดังนี้

     นางสาวบัวลอยเกิดที่ประเทศไทย ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่คาทอลิกแจ้ห่ม  บ้านสันติสุข ตำบลวิเชตนคร อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง กำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษาชั้นปีที่ 2 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง สาขารัฐประศาสนศาสตร์

     นางสาวบัวลอยเป็นคนไร้สัญชาติที่มีคุณสมบัติ และพยานหลักฐานครบตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ได้ยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ในขณะที่ยังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6
จนกระทั่งปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 2 ปีแล้วที่เรื่องของบัวลอยยังมิได้รับการพิจารณาจากนายอำเภอ และการไปติดต่อกับปลัดอำเภอในหลายต่อหลายครั้งก็กลับได้รับคำตอบเหมือนกับชาวบ้านคนอื่น ๆ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่าให้รอนายอำเภอคนปัจจุบันเกษียนก่อน

     2. ปัญหาเจ้าของปัญหามีพยานหลักฐานไม่ครบหรือสูญหาย

     ในหลายกรณีที่ผู้ประสบปัญหาสถานะบุคคลได้กล่าวอ้างว่าตนเองมีข้อเท็จจริงครบตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 แต่พยานหลักฐานยังไม่ครบ หรือเอกสารสูญหาย หรือมิอาจสืบหาพยานบุคคลมารับรองได้ เพราะพยานบุคคลเสียชีวิตแล้ว หรืออาศัยอยู่ต่างจังหวัดและไกลกันมาก จึงยังมิอาจยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ได้

     3. ปัญหาหน่วยงานราชการผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการพิสูจน์สถานะบุคคลไม่ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจปัญหาของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ

     กรณีนี้เป็นกรณีที่นายอำเภอปฏิเสธที่จะลงพื้นที่เพื่อสำรวจปัญหาข้อเท็จจริงของราษฎรที่อาศัยอยู่ภายในพื้นที่ที่อำเภอแจ้ห่มรับผิดชอบโดยตรง จึงยังคงทำให้ปัญหาของประชาชนมิได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด และทันท่วงที

     4. ปัญหาการพิสูจน์ความเป็นบิดามารดาโดยหลักสืบสายโลหิตของบุคคลสัญชาติไทย (ปัญหาการเพิ่มชื่อบุตรคนสัญชาติไทยเข้าสู่ทะเบียนบ้าน)

     กรณีนี้เป็นกรณีของครอบครัว 12 ครอบครัว ที่อาศัยอยู่ที่บ้านห้วยวาด
ซึ่งคนรุ่นบิดามารดามีสัญชาติไทยแล้ว แต่มิอาจเพิ่มชื่อบุตรเข้าสู่ทะเบียนบ้าน
(ท.ร. 14) ได้ ทั้ง ๆ ที่มีเอกสารหลักฐานที่ยืนยันได้แล้ว อาทิ สูติบัตร และผลการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ

     5. ปัญหาพยานเอกสารขัดกัน

     กรณีนี้เป็นกรณีที่เอกสารทางทะเบียนราษฎรฉบับหนึ่งได้บันทึกไว้ว่าตัวเจ้าของปัญหาเกิดในประเทศไทย แต่เอกสารทางทะเบียนราษฎรอีกฉบับหนึ่งบันทึกว่าเกิดในประเทศเพื่อนบ้าน และอพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทยภายหลัง

     ดังกรณีตัวอย่างของนางนาจู ปามือดังต่อไปนี้

     นางนาจูได้บอกเล่าข้อเท็จจริงของตนเองต่อที่ประชุมว่าเกิดในประเทศไทย
เมื่อ พ.ศ. 2505 พร้อมทั้งได้แสดงพยานเอกสารคือ ทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน ที่ได้จัดทำไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 ซึ่งได้ระบุสถานที่เกิดว่าเกิดในประเทศไทย
ที่จังหวัดเชียงราย แต่ต่อมานางนาจูได้รับการสำรวจอีกครั้ง เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2534 ทำให้ได้รับบัตรบุคคลบนพื้นที่สูง (บัตรสีฟ้า) และแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ซึ่งระบุว่านางนาจูเกิดที่ประเทศพม่า เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2503 ซึ่งต่อมาทางผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านได้พาไปขอออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ และเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้าน (ท.ร. 14) ซึ่งประเด็นปัญหาก็คือ ถ้าหากว่านางนาจูต้องการพัฒนาสถานะบุคคลจากคนไร้สัญชาติมาสู่สิทธิในสัญชาติไทย โดยการยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 แล้ว ปัญหาในการพิสูจน์สถานะบุคคลก็คือการขัดกันของพยานเอกสาร ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขเอกสาร และการพิสูจน์พยานบุคคลเพื่อยืนยันการเกิดในประเทศไทย

     6. ปัญหาตัวเจ้าของปัญหาไม่ใส่ใจในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของตนเองและก่อให้เกิดปัญหาสถานะบุคคลมายังคนรุ่นบุตรหลาน

     กรณีนี้เกิดขึ้นส่วนใหญ่ที่บ้านวังใหม่ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง เป็นกรณีที่เจ้าของปัญหาไม่ใส่ใจในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของตนเอง แม้ว่าผู้สนับสนุนเจ้าของปัญหาจะคอยให้ความช่วยเหลือและดำเนินการต่าง ๆ ก็ตาม แต่ตัวเจ้าของปัญหากลับเพิกเฉยต่อปัญหาสถานะบุคคลของตนเอง และได้เดินทางออกไปทำมาหากินในต่างจังหวัด ต่อมาเมื่อมีลูก ก็ไม่ได้ไปแจ้งเกิด แต่กลับกลับนำลูกมาฝากเลี้ยงไว้กับคนรุ่นบิดามารดาซึ่งมีอายุมากแล้ว และเมื่อลูกของเจ้าของปัญหาเติบโตขึ้นก็ประสบปัญหาสถานะบุคคลเช่นเดียวกับตัวเจ้าของปัญหา เมื่อผู้สนับสนุนเจ้าของปัญหาได้ให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาของบุตร
ก็ไม่ยอมกลับมาดำเนินการใด ๆ ส่วนคนรุ่นปู่ย่าตายอยของบุตรก็มีอายุมากแล้ว
และไม่รู้หนังสือจึงมิได้ดำเนินการใด ๆ ในการแก้ไขปัญหาของหลาน ส่งผลให้เด็กในรุ่นลูกมีปัญหาสถานะบุคคลต่อไป

     7. ปัญหาความต่อเนื่องของเจ้าหน้าที่ภาครัฐผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติงาน
    
เนื่องจากว่าที่อำเภอแจ้ห่มได้เปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่ภาครัฐผู้ปฏิบัติหน้าที่แต่มิได้มีการส่งต่อเรื่องที่ชาวบ้านยื่นคำร้องไว้ และองค์ความรู้สำหรับการจัดการประชากร กล่าวคือ เมื่อมีการเปลี่ยนนายอำเภอแจ้ห่มนายอำเภอที่มาดำรงตำแหน่งใหม่มิได้พิจารณาคำร้องเรื่องปัญหาสถานะบุคคลของชาวบ้านในพื้นที่ที่เคยยื่นไว้ตั้งแต่นายอำเภอคนก่อนหน้า และไม่รับเรื่องต่อ ทั้ง ๆ ที่นายอำเภอแจ้ห่มคนเก่านั้นได้เคยพิจารณาอนุมัติคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551

     8. ปัญหาความไม่รู้หนังสือของชาวบ้าน

     ความไม่รู้หนังสือของชาวบ้านได้ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล
และการพิสูจน์สถานะบุคคล เนื่อบงจากไม่เข้าใจเอกสารที่ตนเองมี ไม่ได้เก็บรักษาเอกสารไว้อย่างดี การสื่อสารกับหน่วยงานต่าง ๆ ค่อนข้างเข้าใจยาก และไม่ตระหนักในการแก้ไขปัญหาของตนเอง และ

     9. ปัญหาการอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากอำเภอของเจ้าของปัญหา

     ปัญหาระยะทาง มีชาวบ้านบางส่วนไม่สามรารถลงมาจากดอยได้ทุกครั้ง เพราะระยะทางห่างไกล และเงินมีจำกัดสำหรับการเดินทาง

     10. ปัญหาทางอ้อม คือ ปัญหาคนรุ่นบิดามารดามีความเกี่ยวพันกับยาเสพติด ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐปฏิเสธสิทธิในการพิสูจน์สถานะบุคคล

     กรณีปัญหานี้เป็นปัญหาทางอ้อมที่เป็นอุปสรรคสำหรับการพิสูจน์สถานะบุคคล
กล่าวคือ เมื่อคนในรุ่นบิดามารดาเคยมีประวัติเกี่ยวพันกับยาเสพติด[1]
จึงทำให้นายอำเภอปฏิเสธสิทธิคนรุ่นลูกหลาน ซึ่งแม้ว่าการพิจารณาสถานะบุคคลนั้นจะต้องพิจารณาคุณสมบัติของบุคคลแต่ละบุคคลเป็นรายคนไป ไม่เกี่ยวกับคนรุ่นบิดา มารดาก็ตาม แต่ทางราชการต่างก็ระแวงคนรุ่นลูกหลานจึงทำให้การพิสูจน์สถานะเป็นไปได้อย่างล่าช้า หรือถูกปฏิเสธสิทธิเลย

       เมื่อได้พบปะพูดคุยกับพี่น้องชาวบ้านเรียบร้อยหมดแล้ว ทางคณะเราจึงได้เดินทางกลับที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์ลำปาง) และเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร

      จากประสบการณ์ในครั้งนี้ทำให้ผมได้เห็นแววตาแห่งความหวังครั้งใหม่ของชาวบ้านที่รอคอยการทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคมของเราในครั้งนี้













[1] สำหรับปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่สำคัญมากในพื้นที่นี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านห้วยวาด ซึ่งหน่วยงานภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านนี้เกี่ยวพันกับยาเสพติด เพราะว่าภาครัฐได้ไล่ให้คนบนภูเขาลงมาจากภูเขา และเผาบ้านบนดอยทิ้ง ซึ่งเมื่อลงมาแล้ว ภาครัฐก็ไม่ให้ที่ทำกินตามที่สัญญาไว้ ทำให้ชาวบ้านไม่มีที่ทำกิน ไม่สร้างบ้านให้ ไม่มีงบประมาณดูแลที่ชัดเจน แตกต่างกับการจัดการที่บ้านวังใหม่ ซึ่งมีโครงการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีที่มีรูปแบบการบริหารจัดการ และงบประมาณที่ชัดเจน นอกจากนี้พื้นที่ที่ลงมาในบ้านห้วยวาดนั้นมีสภาพภูมิประเทศเป็นหุบเขา หน้าแล้งก็แล้งน้ำ เมื่อไม่มีแหล่งน้ำ ไม่สามารถทำมาหากินอะไรได้ เนื่องจากวิถีชีวิตของคนเหล่านี้อาศัยน้ำเป็นหลัก ถ้ามีแหล่งน้ำ แม้ไม่มีไฟฟ้าเขาก็สามารถดำรงชีวิตได้ สามารถทำมาหากินได้สะดวกสบาย ชาวบ้านจึงถูกบีบคั้นให้ต้องดำรงชีวิตอยู่ได้ไปวัน ๆ ภายใต้ข้อจำกัดจึงต้องมาค้ายาเสพติด เมื่อคนค้ายาเสพติดแล้วกินดีอยู่ขึ้น ก็ส่งผลให้คนอื่น ๆ หันมาค้ายาเสพติดตาม นอกจากนี้บางกลุ่มมีมูลเหตุชักจูงใจจากว่าเมื่อถูกคนในสังคมเหมารวมว่าเป็นคนค้ายาเสพติดแล้ว ก็เลยค้ายาเสพติดเพื่อประชดชีวิต และบางกลุ่มไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดแต่ถูกเหมารวม และไม่มีโอกาสในการชี้แจงแก้ตัว  

หมายเลขบันทึก: 449201เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2011 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

อย่าลืมอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลนะคะ จะกล่าวอ้างลอยๆ ไม่ได้ค่ะ เราไม่อาจรู้เอง

เวลากล่าวอ้างข้อเท็จจริงของชาวบ้าน ก็ต้องมีการอ้างถึงพยานหลักฐานด้วยนะคะ มิฉะนั้น จะเป็นการฟังจากชาวบ้านฝ่ายเดียว เวลาเขียน ต้องมีการตั้งข้อสงวนในการเล่านะคะ ในช่วงนี้ ถ้าจะช่วย อ.โด่งก็จะต้องช่วยรวบรวมพยานหลักฐานนะคะ การฟังความข้างเดียวทำไม่ได้นะคะ

ชาวบ้านที่ไปเยี่ยมเป็นคนชาติพันธ์อะไรคะ

กรณีนางสาวบัวลอยนั้น ถ้ามีพยานหลักฐานครบจริง และยื่นนานแล้วจริง ก็ผลักดันการแก้ไขปัญหาได้เลยนี่คะ แต่ปัญหาว่า มีการยื่นอย่างถูกต้องจริงหรือไม่คะ

ชาวบ้านเหล่านี้มีทะเบียนบ้านที่ออกโดยอำเภอที่ตนตั้งบ้านเรือนไหมคะ อ.แหววเคยไปเยี่ยมแถวนี้ ปัญหา ก็คือ เขาอพยพมาจากที่อื่น แต่มิได้ย้ายทะเบียนบ้านมาด้วย เพราะยังมีปัญหาข้อโต้แย้งในข้อกฎหมายเรื่องสิทธิในการย้ายชื่อจากทะเบียนบ้านข้ามพื้นที่ของบุคคลที่มีปัญหาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย

เดี๋ยวจะหามาตอบนะครับอาจารย์

ดีค่ะ จัดให้เต็มที่สมเป็นนิติศาสตร์มหาบัณฑิตมาดๆ ค่ะ

ขอตอบในเบื้องต้นก่อนนะครับ

ข้อมูลการสำรวจข้อเท็จจริงในครั้งแรกนี้นะครับ ทางคณะอาจารย์ได้เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ตัวกรณีศึกษาผู้ประสบปัญหาสถานะบุคคลเอง และผู้สนับสนุนตัวเจ้าของปัญหา ซึ่งเป็นองค์ที่ดูแลคนผู้ประสบปัญหาสถานะบุคคลในพื้นที่นี้ครับ ส่วนเอกสารนั้นทางตัวเจ้าของปัญหาได้รับว่าจะหามาเพื่อสนุบสนุนข้อมูลในคราวหน้าครับผม

ขอบคุณโอ๊ตมากครับที่ช่วยสรุปงานให้เป็นอย่างดี ดูจากเอกสารที่มีตอนนี้ (เอกสารส่วนใหญ่ให้นักศึกษาทำระบบอยู่) ชาวบ้านที่นี่ชาติพันธุ์ลาหู่ กับ อาข่า ครับ

ส่วนกรณีของนางสาวบัวลอย ให้ผู้ใหญ่บ้านตรวจสอบว่าเป็นกลุ่มที่ได้ยื่นเอกสารครบแล้วแต่ยังไม่ได้รับคำตอบจากอำเภอ หรือ เป็นกลุ่มที่ยังตกค้างยังไม่ได้ยื่น เพราะนางสาวบัวลอยมาบอกเล่าแต่ยังไม่มีเอกสารมาให้พิจารณา ดูจากบัญชีรายชื่อที่กิ่งให้มาไม่ยังมีชื่อของนางสาวบัวลอยครับ

การลงพื้นที่ครั้งต่อไป กำหนดไว้ประมาณอาทิตย์ที่ ๓ หรือ ๔ เดือนสิงหาคม ครับ

ขอบพระคุณครับอาจารย์ ที่ให้โอกาสครับ

ขอเป็นกำลังใจครับ ผมเข้าใจกระบวนการทำงานด้านสัญชาติมีกระบวนการที่ยากครับพอสมควร และบางประเด็นเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ไม่ดำเนินการ จะคอยติดตามครับ เพราะผมเองก็คนลำปางครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท