"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

"เก็บมาเล่า"


ของบ่กิ๋นฮู้เน่า ของบ่เล่าฮู้ลืม

๑๕/๐๗/๒๕๕๔

***********

              กำบ่าเก่า คือสุภาษิตเก่าแก่ของภาคเหนือ  คำหนึ่งกล่าวว่า ของบ่กิ๋น ฮู้เน่า  ของบ่เล่าฮู้ลืม หมายถึงว่า ข้าวของที่เรามีอยู่นั้นไม่ว่าอาหารหรือผลไม้รสดีเลิศขนาดไหน ถ้าเราไม่กินมันก็เน่าเสียไปโดยเปล่าประโยชน์  และเรื่องราวความรู้วิชาการต่าง ๆ ที่มีผู้คนรู้เข้าใจแล้ว ไม่ได้รับการถ่ายทอดบอกเล่าให้แก่อนุชนรุ่นหลัง เรื่องราว ความรู้ วิชาการต่าง ๆ มันก็จะถูกลืม หรือหายไปกับคนที่ตายไปแล้ว ผมจึงเก็บเรื่องที่คุ้นเคยกันแล้วเคยรู้กันมาแล้วมาเล่าอีกรอบ กันลืม

              เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า วันนี้เป็นวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ตรงกับวันอาสาฬหบูชา คือการบูชาในวันเพ็ญเดือน ๘ เป็นเทศกาลเข้าพรรษา ชาวพุทธส่วนใหญ่จะไปทำบุญที่วัดกันเป็นกรณีพิเศษ นั่นคือ ไปกันมากกว่าทุกวันพระปกติที่ผ่านมา

              เช้านี้ได้รับฟังการพูดปกิณกะธรรมของ ท่านพระครู ท่านพระครูพูดถึงเรื่องความเป็นมาของวันอาสาฬหบูชา การทำบุญไหว้พระ พอสรุปความได้ว่า

               “วันนี้มีความสำคัญที่กล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ คือ เป็นวันแสดงธรรมกัณฑ์แรกของพระพุทธเจ้าหลังจากที่ได้ตรัสรู้ เป็นวันพระสงฆ์ คือวันที่เกิดพระรูปแรกในพระพุทธศาสนา เป็นวันที่ครบพระรัตนตรัยทั้งสาม  ธรรมกัณฑ์แรกที่แสดงชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  กล่าวถึงทางสายกลาง ๘ ประการ และอริยสัจ ๔ ประการ ที่ชาวพุทธควรถือปฏิบัติตาม และทางที่ไม่ควรปฏิบัติ ๒ ประการ คือ การหมกมุ่นแต่ในเรื่องกามกิเลส และการทรมานร่างกายและจิตใจตนเอง ชาวพุทธควรเว้น

               ได้เสวนากับโยมเมื่อสักครู่นี้(ท่านใช้คำว่าเสวนา)โยมถามว่าเวลาไหว้พระหนะเขามีคำกล่าวอะไรหรือเปล่า  แล้วธูปเทียนและดอกไม้ที่ใช้ไหว้พระหนะ มีความหมายอะไรหรือเปล่า” ท่านกล่าวต่อไปว่า

                “เวลาที่ประนมมือไหว้พระและมีธูปดอกไม้อยู่ในมือแล้วนั้น ตามหลักจริง ๆ ให้กล่วคำว่า อิมินาสักกาเรนะ  พุทธัง  ปูเชมิ  อิมินาสักกาเรนะ  ธัมมัง  ปูเชมิ  อิมินาสักกาเรนะ  สังฆัง  ปูเชมิ  ถ้าว่าไม่ได้ก็ให้กล่าวเป็นภาษาไทยว่า  ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธ ขอบูชาพระธรรม ขอบูชาพระสงฆ์ด้วยเครื่องสักการะเหล่านี้ ก็ได้  

                ความหมายของธูป ๓ ดอก หมายถึง สิ่งของที่ใช้บูชาพระคุณของพระพุทธเจ้า  ดอกแรกหมายถึง บูชาพระปัญญาคุณอันเลิศ ที่พระองค์ได้คิดค้นการตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง  ดอกที่ ๒ หมายถึง บูชาพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้มีความกรุณาต่อมวลมนุษยชาติที่ยังไม่รู้ให้รู้เข้าใจธรรมตามที่พระพุทธองค์ทรงรู้ทรงเข้าใจ  ดอกที่ ๓ หมายถึง บูชาพระบริสุทธิคุณ คือ ความสะอาดหมดจดแห่งจิตที่ทรงหลุดพ้นจากความโลภ ความโกรธและความหลงของพระพุทธองค์ ทำให้เรายอมรับนับถือเกิดความศรัทธาโดยไม่คิดเคลือบแฝง ระแวงสงสัยใด ๆ

                ความหมายของเทียน ๒ เล่ม หมายถึง การบูชาพระธรรมกับพระวินัย พระธรรมคือสิ่งที่พระพุทธองค์ต้องการให้ชาวพุทธปฏิบัติ พระวินัยคือสิ่งที่พระพุทธองค์ต้องการให้ละเว้น เปรียบเหมือนกับกฎหมาย หรือระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ แต่ถ้าสรุปแล้วเป็นหลักการเลยก็คือ  การละเว้นจากความชั่ว   การทำความดี  และการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส

                ความหมายของดอกไม้ หมายถึง การบูชาพระสงฆ์ ดอกไม้หลากสีหมายถึง พระสงฆ์ที่เข้ามาบวชมาจากที่ต่าง ๆ กันรวยก็มี จนก็มี ยาจกขอทานก็มี หนุ่มก็มี สูงอายุก็มี

                นอกจากนี้ท่านยังกล่าวถึงว่า เมื่อวานนี้มีนักเรียนโรงเรียนบ่อทอง ม.ต้น ถึง ม.ปลายจำนวนหนึ่ง พร้อมกับคณะครู มาถวายเทียนพรรษา ครูที่มาด้วยว่าให้เด็กนักเรียนที่ไปถวายของพระว่า  ประเคนของไม่เป็น และอยากให้ท่านไปสอนที่โรงเรียน ท่านได้แนะนำเรื่องการประเคนของว่า

                “แต่เดิมมานั้นกล่าวกันว่า การประเคนของพระนั้น จะต้องยกให้สูงพ้นจากพื้นขนาดเท่าแมวลอดได้  แต่ในระเบียบปฏิบัติของพระอุปัชฌาย์ที่ท่านปฏิบัติอยู่นั้น  ท่านให้ยกขึ้นจนเลยหัวหรือเหนือศีรษะ แล้วก็วางลงให้พระท่านรับ ถ้าเป็นหญิงพระท่านจะใช้ผ้ารับประเคน ผู้หญิงไม่ต้องกลัวสามารถประเคนได้เช่นกัน ของที่เรานำมาถวายมีกี่ชิ้นก็ให้ยกทุกชิ้น ไม่ใช่เสือกไสไปให้ท่านรับพร้อม ๆ กันทุกอย่าง” ท่านกล่าวอย่างนั้น

                นอกจากนี้ท่านยังขออภัยญาติโยมที่บางครั้งไม่ได้ไปกิจนิมนต์งานทำบุญ หรืองานศพบางงาน  เพราะท่านต้องไปเรียนหนังสือในเมือง เรียนที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ ท่านกล่าวว่าอยู่ที่วัดเห็นแต่กำแพงวัด ๔ เหลี่ยมกับต้นไม้ใบหญ้า ถ้าออกไปเรียนในเมืองแล้วได้รู้ได้เห็นอะไรเพิ่มเติมอีกมากมาย  ท่านหมายถึงว่า ไม่มีใครแก่เกิน(จะ)เรียน ตัวท่านอายุ ๕๐ กว่าแล้ว เหลือเวลาอีกเทอมกว่า ๆ ก็จะเรียนจบ  ถ้าเรียนจบปริญญาตรีก็จะหยุดไม่เรียนต่ออีกแล้ว

               วันนี้ขอเล่าเรื่องการทำบุญเข้าพรรษาแค่นี้ก่อนก็แล้วกันครับ

 

หมายเลขบันทึก: 449187เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2011 13:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2013 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

"....ของที่เรานำมาถวายมีกี่ชิ้นก็ให้ยกทุกชิ้น ไม่ใช่เสือกไสไปให้ท่านรับพร้อม ๆ กันทุกอย่าง...."

ได้รับความรู้สู่การปฏิบัติต่อไปค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีครับคุณPoo และคุณลำดวน

ขอบคุณที่เข้ามาให้กำลังและแสดงความคิดเห็น

หากเห็นว่าเกิดประโยชน์ก็ต้องขอบคุณและยินดีมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท