จากห้องประชุมกรรมาธิการ วุฒิสภา ถึงเกาะเต่า


ในรอบเดือนกรกฎาคม 2554 ผู้เขียนมีโอกาสทำงานสำคัญเป็นกรณีพิเศษ 2 – 3 เรื่อง เรื่องแรกเกิดขึ้นในวันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2554 ผู้เขียนได้รับหนังสือเชิญจากคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา ให้เข้าร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่จังหวัดและผู้ประกอบการ SMEs เพื่อร่วมปรึกษาหารือและให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงสู่จังหวัดชุมพร เพื่อเพิ่มผลผลิตและสร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนสภาพปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไข

งานนี้ว่าไปแล้วคือการ “ฉายซ้ำ” เรื่องราวที่ผู้เขียนได้ปฏิบัติใน โครงการพัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีชีวภาพจ.ชุมพร ปี 2551 (ติดตามอ่านได้ที่ www.gotoknow.org/blog/buildchumphon/229889) และ โครงการนำร่องการบูรณาการทางวิทยาศาสตร์ จ.ชุมพร ปี 2553 รายงานสรุปผลการประชุมในครั้งนี้ท่านที่สนใจให้เข้าไปที่เว็บไซต์ของวุฒิสภา www.senate.go.th เลือกหัวข้อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาและคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ ฯ จะมีหน้าเว็บเพจแสดงสรุปผลการประชุมให้ได้ติดตามอ่านกัน

ผู้เขียนมั่นใจว่าผลจากการเข้าร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการฯ ในครั้งนี้จะมีกิจกรรมตามมาอีกหลายเรื่องโดยเฉพาะในจังหวัดชุมพรบ้านของเรา เอาไว้ถึงจังหวะนั้นผู้เขียนจะมานำเสนออีกครั้งหนึ่ง

อีกเรื่องหนึ่งเป็นกิจกรรมที่ เกาะเต่า ซึ่งผู้เขียนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาตั้งแต่กลางปี 2552 โดยการประสานงานของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ หรือ IUCN ให้เข้ามาทำงานร่วมกับทีมวิจัยของ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (START) จากนั้นผู้เขียนก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ชมรมรักษ์เกาะเต่า” ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสังคมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

มาเยี่ยมเยือนเกาะเต่าในครั้งนี้ (9 – 11 กรกฎาคม 2554) ในสายตาของผู้เขียนสถานที่แต่ละแห่งที่ผ่านไปโดยเฉพาะบริเวณท่าเรือ ยังเต็มไปด้วยชาวต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝรั่งจากทวีปยุโรป แต่ได้รับการบอกเล่าจากผู้นำชุมชนที่นี่ว่า ปริมาณนักท่องเที่ยวโดยเฉลี่ยลดลงเหลือ 40% ของปีก่อน ๆ สาเหตุน่าจะมีอยู่หลายประการนับตั้งแต่ เหตุการณ์แผ่นดินไหว และเกิดสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม 2554 จนนำไปสู่การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวที่วางแผนจะเดินทางมาทวีปเอเชียรวมทั้งประเทศไทยต้องยกเลิกกำหนดการเพราะหวาดเกรงต่อสภาพความปลอดภัย

จากนั้นภาคใต้ของประเทศไทยก็ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ฝนตกหนักในช่วงเดือนเมษายน 2554 ทำให้การเดินทางติดต่อถูกตัดขาด บนเกาะเต่าซึ่งพึ่งพิงอาหาร เครื่องอุปโภค-บริโภคจากแผ่นดินใหญ่เกือบทั้ง 100% ต้องเผชิญกับสภาวะขาดแคลนอย่างหนัก จนในที่สุดรัฐบาลต้องส่งเรือหลวงจักรีนฤเบศรมาให้ความช่วยเหลือและนำนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งทยอยเดินทางกลับ

นอกจากนั้นสภาวะเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปโดยเฉพาะประเทศกรีซ โปรตุเกส อิตาลี สเปน ต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำกระทบไปยังประเทศอื่น ๆ เป็นวงกว้าง ทำให้ประชาชนต้องประหยัดโดยงดการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นลำดับแรก

ปริมาณนักท่องเที่ยวที่เหลือเพียง 40% จึงส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจบนเกาะเต่าค่อนข้างรุนแรง “แต่ก็ยังจะพออยู่กันได้ถู ๆ ไถ ๆ กันไป แต่ถ้าลดลงเหลือ 10% ทีนี้แหละวิกฤตแน่นอน ผู้ประกอบการหลายคนคงเอาไม่อยู่ต้องปิดตัว ขายกิจการทิ้ง ซึ่งก็พอจะมีนายทุนใหญ่จากข้างนอกรอโอกาสเข้ามาช้อนซื้อไปเป็นของตัวเอง...” เป็นคำตอบที่บอกให้รู้ความจริงบางอย่างของเศรษฐกิจไทยที่ถูกไล่ล่าโดยทุนใหญ่จากทั้งในและนอกประเทศ

การประชุมในวันที่ 10 กรกฎาคม 2554 จัดขึ้นที่ห้องประชุมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกาะเต่า (เดิมคือสถานีอนามัยที่ได้รับการยกระดับ ปรับปรุงใหม่) เป็นเวทีชุมชนภายใต้หัวข้อ “รายงานผลการศึกษาวิจัยและกำหนดทิศทางการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเกาะเต่า (ฉบับชุมชน) อย่างยั่งยืน” ในช่วงเช้าจึงเป็นรายการของนักวิชาการที่มีบทบาทกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ได้แก่ อ.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง จากสถาบันวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย ม.สงขลานครินทร์, ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี จากสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.อรพรรณ ณ บางช้าง จากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช, รศ.ดร.สุวลักษณ์ สุมนัสพันธุ์ จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล

ในช่วงบ่ายกำหนดให้เป็นการสนทนาเปิดโลกสภากาแฟ (The World Café) ในหัวข้อ “เรียนรู้จากปัญหาสร้างคุณค่าเพื่อพัฒนาเกาะเต่าบ้านเรา น่าอยู่น่าเที่ยว” โดยผู้เขียนทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการ

ผลที่ได้รับจากการเปิดเวทีชุมชนครั้งนี้มีอยู่มากมาย ผู้เขียนจะนำมาถ่ายทอดให้ได้อ่านกันในโอกาสต่อไป...โปรดติดตาม.

คำสำคัญ (Tags): #เกาะเต่า
หมายเลขบันทึก: 449149เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2011 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท