จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

เขียนงานไม่ให้เป็นวิชาเกิน


สืบเนื่องจากบันทึกที่แล้วครับ วันนั้นผมถูกเชิญไปนำกระบวนการเพื่อพัฒนาทักษะการเขียนรายงานวิจัย ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เคยผ่านการอบรมมาแล้วครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นผมเน้นกระบวนการที่เรียกว่าเล่าเรื่อง แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นรายงาน แต่รอบนี้ทีมผู้จัดฝากประเด็นว่า ให้เป็นการต่อยอดจากคราวที่แล้ว ทำให้นักวิจัยทีมนี้สามารถเขียนรายงานวิจัยได้อย่างมืออาชีพ

ผมก็ตอบไปเบื้องต้นครับว่า โจทย์ยากไปนิดหนึ่ง เพราะความสำเร็จของการเขียนงานวิชาการส่วนสำคัญคือทักษะการใช้ภาษาที่เกิดจากการฝึกบ่อยๆ แต่ส่วนที่น่าจะฝึกแล้วเห็นผลในระยะเวลา 1 วัน น่าจะเป็นเทคนิคเพื่อให้งานน่าสนใจ น่าอ่านและมี"ความครบถ้วน" ในเนื้อหาสาระของมัน

ขออนุญาตเน้นคำว่า "ความครบถ้วน" อันเนื่องจากทีมวิจัยในชุดนี้มีโครงการวิจัยแบบปฏิบัติการ ซึ่งโดยมากเวลาเราเอาผลมาเขียนงาน ด้วยความเป็นนักวิชาการมักจะทำให้ความครบถ้วนของการวิจัยแบบปฏิบัติการหายไป ซึ่งมีคนบางคนเคยพูดกับผมว่า อ่านงานแล้วไม่เห็นเหงื่อของนักวิจัย เพราะงานแบบนี้คุณค่าสำคัญมันนอกจากองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นแล้ว เหงื่อของนักวิจัยเป็นอีกส่วนสำคัญทีเดียว และนักวิจัยที่จะวิจัยแนวนี้ผมว่าหาไม่ได้ง่ายมากนักหรอกครับ อาจารย์มหาวิทยาลัยบางท่านเจองานแบบนี้มักจะให้คำตอบว่า ไม่มีเวลาทำ

ด้วยเวลาเพียงหนึ่งวัน ผมสร้างประเด็นตั้งแต่การวางโครงสำหรับรายงานในส่วนของผลการวิจัย ซึ่งถ้ามองจากโจทย์ที่ว่าให้เห็นเหงื่อนักวิจัย หลายคนจะนึกว่าคงต้องเล่าเรื่องไปตามลำดับกิจกรรมของการวิจัย แต่ความจริงถ้าเขียนอย่างนั้นการสรุปประเด็นยากมาก แล้วก็บางทีอ่านจบก็ต้องกับมาตั้งคำถามว่า สรุปว่างานวิจัยตอบครบทุกวัตถุประสงค์การวิจัยหรือเปล่า

ดังนั้นยังไงนักวิจัยก็ต้องเขียนรายงานโดยยึดวัตถุประสงค์การวิจัยเป็นหลักครับ เพียงแต่ก่อนจะเข้าสู่ผล อาจจะต้องโยงไปยังกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำไปในขั้นตอนการแสวงหาคำตอบ แล้วที่สำคัญคือ ในระหว่างนำเสนอผลควรอ้างอิงไปยังสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินการวิจัย ซึ่งการถ่ายทอดสถานการณ์บางสถานการณ์ให้ได้อรรถรสนั้น ความเป็นคนช่างสังเกต ช่างมอง ช่างแสวงหา ช่างจำของนักวิจัย (แนวปฏิบัติการ) เป็นสิ่งสำคัญมากเลย

โดยส่วนตัวเวลาเขียนรายงานวิจัยแนวนี้ ผมจะเปิดรูปถ่ายไปทีละรูป พร้อมๆ กับนั่งคุยกับทีมวิจัยที่ลงสนามไปด้วยกัน แล้วตั้งประเด็นเพื่อให้สังเคราะห์ให้เกิดผลการวิจัย ที่สำคัญที่ในรายงานจะต้องไม่หายไปคือ มุมมองที่แตกต่าง ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงส่วนน้อยนิด แต่มันก็จะเป็นเครื่องยืนยันสำคัญว่านักวิจัยเป็นคนละเอียดอ่อนพอในการเก็บข้อมูลภาคสนาม และไม่ได้มีเพียงมุมมองเดียวในระหว่างการวิจัย

อีกหลักสำคัญในการเขียนรายงานวิจัยคือ ต้องพยายามเปลี่ยนการเขียนผลจากการเริ่มด้วยหลักการหรือผลที่ได้ แล้วเชื่อมโยงไปยังหลักฐานหรือข้อมูลยืนยัน เป็นการพยายามเล่าสภาพจริงหลายๆ ภาพที่เกิดขึ้น แล้วสรุปประเด็นในตอนท้าย ซึ่งผมว่ามันทำให้งานเขียนน่าอ่านขึ้นครับ

ต้องขออภัยที่เขียนเล่าไม่หมดทุกประเด็น ขออนุญาตจบเพียงเท่าที่เวลาเอื้ออำนวยครับ ขอบคุณครับ

หมายเลขบันทึก: 448629เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2011 22:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท