คุยกันวันหยุด


เกาะ นี้มีความหมาย

     สวัสดีค่ะ...เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ขณะที่กำลังนั่งตรวจงานของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ก็มีนักเรียนหญิงเดินเกาะกลุ่มกันเข้ามาพูดว่า "คุณครูขามีนักเรียนชายชอบมาเกาะแกะพวกหนูค่ะ" ครูก็ยิ้มแล้วบอกว่า "ไม่เป็นไรลูกก็บอกเขาไปว่าขอให้พบกันเป็นเพื่อนกันไปก่อน  พอกลับถึงบ้านก็เลยมาทบทวนคำพูดของนักเรียน ก็เลยเกิดความคิดอยากจะหาความหมายของคำว่าเกาะมีความหมายว่าอย่างไร ก็เลยเข้าไปสืบค้นในอินเตอร์เน็ต ได้เจอบทความของคุณจันทร์เพ็ญ    ธนัครสิทธิ์สกุล ก็เลยขออนุญาตนำมาฝากไว้เพื่อให้ได้ศึกษากันค่ะ 

เกาะ   นี้มีมากหลากความหมาย

   ถ้าจะพูดถึงคำในภาษาไทยนั้นจะพิจารณาเห็นว่าคำคำเดียวมีความหมายหลายอย่างเช่น  คำว่า  เกาะ  ซึ่งเป็นทั้งคำนาม  คำกริยา  และคำวิเศษณ์

                เกาะ  ที่เป็นคำนาม  หมายถึง  ส่วนของแผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบโดยตลอดและขนาดเล็กกว่าแผ่นดินที่เป็นทวีป

                ส่วน  เกาะ  ที่เป็นคำกริยา มีความหมายว่า   จับหรือยึดสิ่งใดไว้เพื่อทรงอยู่  เช่น  คนเกาะเก้าอี้  นกเกาะดิ่งไม้  แมงมุมเกาะฝา  หรือหมายถึง  เอาสิ่งมีขอมาเกี่ยวเข้ากับสิ่งอื่นเพื่อให้ติดอยู่  เช่น เอาขอเกาะต้นไม้  โดยปริยายหมายถึง  อาการที่เข้าไปติดแน่นอยู่หรือเข้าเป็นหมู่หรือกลุ่มเดียวกัน  เช่น  ปลิงเกาะ  ดินเกาะเป็นก้อน  บินเกาะหมู่  วิ่งเกาะกลุ่ม  หรือไปเอาตัวมาโดยอำนาจศาลใช้ว่า  ไปเกาะตัวมา

                คำว่า  เกาะ  หากไปประสมกับคำอื่นจะทำให้เกิดคำใหม่ที่สามารถนำไปใช้ได้อย่างหลากหลายเช่น คำว่า

                เกาะกลุ่ม  หมายถึง  ลักษณะอาการที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มอย่างใกล้ชิด  เช่น  “กษมาพยายามเกาะกลุ่มกับกลุ่มของกลุ่มศิริพร

                เกาะกุม  หมายถึง  ลักษณะอาการที่สัมผัสร่างกาย เช่น “เขานั่งเกาะกุมมือเธอมาตลอด

                เกาะเกี่ยว  หมายถึง  ลักษณะอาการที่ผูกพันกันอย่างใกล้ชิด  เช่น  “ต้นกาฝากเกาะเกี่ยวอยู่กับต้นมะม่วง

                เกาะแกะ  หมายถึง  พูดพาดพิงเชิงชู้สาว  พูดเชิงเกี้ยวพาราสี  เช่น  “ชาญโรจน์แสดงท่าทางเกาะแกะกรองแก้วอยู่ตลอดเวลา

               เกาะติด  หมายถึง  ติดตามอย่างใกล้ชิด  เช่น  “นักข่าวเดลินิวส์เกาะติดสถานการณ์การเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง

                คำว่า  เกาะ  มีใช้ในความหมายต่างๆ รวมทั้งลูกคำ  ซึ่งนำคำอื่นๆ มาประสมแล้วกลายเป็นคำที่มีความหมายแปลกแตกต่างกันไป  หากได้ศึกษาและทำความเข้าใจก็สามารถนำไปใช้ในโอกาสต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางทั้งการฟัง  การพูด  การอ่านและการเขียน

 จันทร์เพ็ญ    ธนัครสิทธิ์สกุล 

คำสำคัญ (Tags): #คุยกันวันหยุด
หมายเลขบันทึก: 448466เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2011 20:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 19:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท