สัมมัปปธาน 4 กับอิทธิบาท 4


สัมมัปปธาน อิทธิบาท

สัมมัปปธาน ๔

        สัมมัปปธาน ๔ หรือในบางสูตรเรียกว่า ปธาน ๔  คือมีความเพียร ๔ ประการ มีเนื้อความในสุตันตปิฏกอยู่ ๒ สูตร คือ ปธานสูตร และสังวรสูตร มีความย่อว่า

        สัมมัปธาน ๔ ประการ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตมั่น เพื่อไม่ให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น ๑ (สังวรปธาน) ...พยายาม  ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตมั่น เพื่อไม่ให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น ๑ ความเพียร ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตมั่น เพื่อละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๑ (ปหานปธาน)...พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตมั่น เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ๑ (ภาวนาปธาน)...พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตมั่น เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่หลงลืม เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อให้บริบูรณ์แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว  ๑ (อนุรักขนาปธาน)

        ข้อพิจารณา

        สัมมัปปธาน ๔ เป็นหมวดธรรมที่กล่าวถึงความเพียร ๔ ประการข้างต้น เปรียบเหมือนการวางหลักการในการปฏิบัติไว้เป็นหลักใหญ่ ๆ ๔ ประการ เพียงแต่ผู้ปฏิบัติเข้าใจในหลักการแล้วก็สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักการที่วางไว้ อะไรที่นอกไปจากหลักการเหล่านี้ก็ไม่ทำ ทำไปตามหลักการอย่างเคร่งครัดก็จะบรรลุจุดประสงคือคือมรรคผลนิพพานได้ ส่วนรายละเอียดมิได้วางไว้เพราะเป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้ว อะไรคือความชั่วที่ต้องละเว้น สังวรระวัง อะไรคือความดีที่ต้องหมั่นประกอบอยู่เนื่อง ๆ พร้อมระวังรักษาไว้ให้พอกพูนยิ่งขึ้น

        สัมมัปปธาน ๔ ซึ่งหมายถึงความเพียร ๔ ประการนั้น เป็นหมวดธรรมหนึ่งที่มีอยู่ในมรรคมีองค์ ๘ คือสัมมาวายมะ เป็นความเพียรที่ผู้ปฏิบัติต้องพยายามปฏิบัติอยู่อย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว ความเพียรเป็นตบะที่คอยแผดเผากิเลสให้เหือดแห้งไป ดุจเปลวไฟย่อมทำลายทุกสิ่งแม้กระทั่งน้ำให้เหือดแห้งไปได้ฉันนั้น

 อิทธิบาท ๔

        อิทธิบาท ๔ คุณธรรมเครื่องให้ถึงความสำเร็จ คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่ปรารถนา

        คำว่า อิทธิ ได้แก่ ความสำเร็จ ความได้ ความถึง ความถูกต้อง ความกระทำให้แจ้ง ความเข้าถึง ซึ่งธรรมเหล่านั้น

        บุคคลใดที่ต้องการความสำเร็จในชีวิต ต้องใช้คุณธรรมข้อนี้ในการดำเนินชีวิต ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนเรื่องใหญ่โต แม้กระทั่งเรื่องการมรรคผลนิพพานก็ต้องใช้คุณธรรมข้อนี้เช่นเดียวกัน

        อิทธิบาท ๔ ได้แก่

        ๑.ฉันทะ ความพอใจ คือ ความต้องการที่จะทำ ใฝ่ใจรักที่จะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ และปรารถนาที่จะทำให้ได้ผลดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

        ๒.วิริยะ ความเพียร คือ ขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระไม่ท้อถอย

        ๓.จิตตะ ความคิด คือ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำและทำสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน เลื่อนลอยไป

        ๔.วิมังสา ความไตร่ตรอง หรือทดลอง คือหมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญ ตรวจตราหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุงเป็นต้น

        สำหรับอิทธิบาท ๔ ที่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฏกเป็นข้อความที่มุ่งสู่มรรคผลนิพพานเป็นสำคัญนั้นดังนี้

        อิทธิบาท ๔ คือ

        ๑.ภิกษุในศาสนานี้ เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร

        ๒.เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิริยสมาธิปธานสังขาร

        ๓.เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยจิตตสมาธิปธานสังขาร

        ๔.เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิมังสาสมาธิปธานสังขาร

ซึ่งหมายถึงอิทธิบาทในสัมมัปปทาน นั่นเอง

        ข้อพิจารณา

        การปฏิบัติตามหลักอิทธิบาท ๔ เพื่อการบรรลุธรรมนั้น ต้องดำเนินไปตามแนวข้างต้น คือ การใช้อิทธิบาท ๔ ประกอบเข้ากับสัมมัปธาน ๔ เป็นการใช้อิทธิบาทในการละความชั่วและทำความดีให้ถึงพร้อม ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรม คือการบรรลุมรรคผลนิพพาน แต่องค์ธรรมของอิทธิบาท ๔ นั้น เป็นองค์ธรรมที่สามารถใช้ไปได้อย่างกว้างขวางสำหรับผู้ที่ต้องการผลสำเร็จในทุก ๆ สิ่งที่พึงประสงค์ เพียงแต่นำองค์ธรรมนี้ไปปฏิบัติให้ตรงตามเหตุปัจจัยของความต้องการสำเร็จนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น อยากประสบผลสำเร็จในการเป็นนักร้อง ก็ต้องอยากเป็นนักร้อง (ฉันทะ) เมื่ออยากแล้วก็ต้องมีความเพียรในการฝึกฝนร้องเพลง โดยอาจเริ่มจากการเข้าโรงเรียนร้องเพลง หัดร้องตามต้นฉบับ ฝึกการออกเสียง (วิริยะ) เอาใจใส่ไม่ทอดธุระ คือใส่ใจคอยติดตาม สนใจติดตาม (จิตตะ) และรู้จักศึกษาแก้ไขข้อบกพร่องและปรับปรุงเทคนิคต่าง ๆ ในการร้องเพลงอยู่เสมอ รับฟังคำแนะนำ คำติชม (วิมังสา) เมื่อทำได้อย่างนี้บุคคลนั้นก็ประสบผลสำเร็จในการร้องเพลงให้ไพเราะ ส่วนถ้าต้องการให้มีชื่อเสียงโด่งดังในอาชีพนักร้องก็จะต้องมีองค์ประกอบเพื่อความสำเร็จในการเป็นนักร้องอาชีพอีกซึ่งก็มีปัจจัยต้องนำมาพิจารณาและปฏิบัติตามกระบวนการนั้น ๆ อย่างนี้เรียกว่าสามารถนำเอาอิทธิบาท ๔ แม้ในเรื่องอื่น เช่น การเรียน การประกอบอาชีพ การเป็นนักกีฬา ฯลฯ

หมายเลขบันทึก: 448395เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2011 11:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท