เด็กจชต. IQ ต่ำ : ข้อคิดที่อยากให้คิด 360 องศา


การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

           จากกรณีผลสำรวจเด็กไทยทั่วประเทศ 'ไอคิว' ต่ำสำหรับคนไอคิวสูงอยู่ใน กทม.ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสานตามลำดับ สูงสุดอยู่ที่ “นนทบุรี” ไอคิว 108.91 จากค่ากลางมาตรฐานสากลเท่ากับ 100 ส่วน“นราธิวาส” ต่ำสุด 88.07 อธิบดีกรมสุขภาพจิตระบุเด็กจะมีไอคิวดีหรือไม่ มีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย ทั้งอาหารเสริม-สารไอโอดีน และการเลี้ยงดูเหมาะสมในครอบครัวที่อบอุ่น

           เมื่อวันที่ 7 ก.ค. นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงผลสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา (ไอคิว) เด็กนักเรียนไทยทั่วประเทศ ว่า จากการสำรวจนักเรียนอายุ 6–15 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ป.1-6 และ ม.1–3 ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สาธิตและราชภัฏ) และสังกัดกรุงเทพฯ ทั้ง 76 จังหวัด จำนวน 72,780 คน ซึ่งเป็นการสำรวจไอคิวครั้งใหญ่ที่สุดในโลกตามวิธีมาตรฐานสากล ในช่วงเดือนธ.ค.53–ม.ค. 54 พบว่าเด็กนักเรียนไทยมีไอคิวเฉลี่ยเท่ากับ 98.59 ถือว่าเป็นค่าระดับสติปัญญาที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ค่อนไปทางต่ำ โดยค่ากลางของมาตรฐานสากลในปัจจุบันไอคิวเท่ากับ 100

          เมื่อดูลักษณะภาพรวมของประเทศพบว่า มีเด็กเกือบครึ่งหนึ่ง 48.5% มีปัญหาไอคิวอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่า 100 ทั้งนี้มีเด็กที่มี
ไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ คือ ต่ำกว่า 90 ประมาณ 28.4% และมีนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาต่ำกว่า 70 ถึง 6.5% เมื่อเทียบกับมาตรฐานสากลไม่ควรเกิน 2% สรุปได้ว่าโดยภาพรวมไอคิวของเด็กนักเรียนไทยมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่ามาตรฐานสากลและมีการกระจายตัวในลักษณะเด็กนักเรียนที่มีไอคิวต่ำกว่าค่าปกติมากกว่ามาตรฐานสากล และพบว่าเด็กที่มีไอคิวต่ำก็จะต่ำมาก ขณะเดียวกันเด็กนักเรียนที่มีไอคิวสูงก็จะมีแนวโน้มสูงมาก

             ส่วนค่าเฉลี่ยระดับสติปัญญา เมื่อเทียบตามภาค เรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ กรุงเทพมหานครไอคิว เฉลี่ย 104.5 ภาคกลางไอคิวเฉลี่ย 101.29 ภาคเหนือไอคิวเฉลี่ย 100.11 ภาคใต้ไอคิวเฉลี่ย 96.85 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือไอคิว เฉลี่ย 95.99

             อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวด้วยว่า เมื่อพิจารณารายจังหวัด พบว่า จังหวัดที่มีไอคิวสูงกว่า 100 มีจำนวน 18 จังหวัด คือ นนทบุรีไอคิวเฉลี่ย 108.91 ระยอง 107.52 ลำปาง 106.62 กรุงเทพฯ 104.50 ชลบุรี 103.92 สมุทรสาคร 103.73 ตราด 103.51 ปทุมธานี 103.34 พะเยา 103.32 ประจวบคีรีขันธ์ 103.17 นครปฐม 103.09 ราชบุรี 102.72 สิงห์บุรี 102.67 ภูเก็ต 102.66 สมุทรสงคราม 102.48 นครสวรรค์ 102.29 แพร่ 101.83 เชียงใหม่ 101.35 สำหรับจ.นนทบุรีที่เด็กนักเรียนมีไอคิวเฉลี่ยสูงสุด
น่าจะมาจากระบบการศึกษาในพื้นที่นนทบุรี ซึ่งมีการทุ่มเทเรื่องนี้มากและองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย

            ส่วนจังหวัดที่มีไอคิวเฉลี่ยเท่ากับ 100 มี 20 จังหวัด คือ เพชรบุรี ตรัง สมุทรปราการ น่าน พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก พิจิตร ตาก แม่ฮ่องสอน ชุมพร จันทบุรี ลพบุรี บุรีรัมย์ สุโขทัย เชียงราย อุทัยธานี ลำพูน ชัยนาท ปราจีนบุรี และหนองคาย

            สำหรับจังหวัดที่มีไอคิวเฉลี่ยต่ำกว่า 100 มีจำนวน 38 จังหวัด คือ อ่างทอง สุราษฎร์ธานี สงขลา สุพรรณบุรี นครนายก นครศรีธรรมราช พัทลุง เพชรบูรณ์ พังงา อุดรธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ กาญจนบุรี อุตรดิตถ์ เลย ยโสธร ฉะเชิงเทรา สระบุรี มุกดาหาร สตูล ระนอง ยะลา อำนาจเจริญ ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา นครพนม สระแก้ว มหาสารคาม กำแพงเพชร หนองบัวลำภู กระบี่ กาฬสินธุ์ สกลนคร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ปัตตานี และนราธิวาส โดยจ.นราธิวาสมีไอคิวเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ 88.07% โดยส่วนหนึ่งอาจมาจากปัญหาการขาดไอโอดีน แม้จะมีพื้นที่ติดทะเลแต่อาจจะละเลยการรับประทานอาหารที่มีไอโอดีน นอกจากนี้พ่อแม่ของเด็กไปทำงานนอกพื้นที่ทำให้ไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ลูกอย่างใกล้ชิด

           “เด็กจะมีระดับสติปัญญาดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งที่เป็นปัจจัยส่งเสริมและปัจจัยขัดขวางต่อการพัฒนาระดับสติปัญญา ซึ่ง 1 ในปัจจัยสำคัญนั้น คือ การได้รับอาหารเสริมตามวัย ได้รับสารไอโอดีนที่เหมาะสม ที่จำเป็นต่อการเจริญและพัฒนาการของสมอง ซึ่งผลการศึกษาในหลายประเทศ พบว่า ผู้ที่รับประทานเกลือไม่มีไอโอดีนและดื่มนมน้อยกว่า 1 ครั้งต่อวัน มีโอกาสที่ไอคิวจะอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ การเสริมไอโอดีนให้มารดาตั้งแต่ก่อนและขณะตั้งครรภ์ และเสริมไอโอดีนให้เด็กหลังคลอด เด็กจะมีโอกาสที่ระดับไอคิวจะมากกว่าเด็กที่ไม่ได้รับเสริมเลย รวมทั้งการเลี้ยงดูที่เหมาะสมจากครอบครัว เช่น ความอบอุ่นในครอบครัว” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

 ที่มา เดลินิวส์ วันศุกร์ ที่ 08 กรกฎาคม 2554            

            สำหรับ จากกรณีที่กรมสุขภาพจิตมอบให้อาจารย์ประจำภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจไอคิว (IQ) นักเรียนไทยทั่วประเทศ พบนักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีค่าเฉลี่ยไอคิวสูงสุด 113.70 โรงเรียนเอกชน 106.35 กทม. 101.96 และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) น้อยสุดที่ 97.59 นั้น

           เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ที่กรมสุขภาพจิตสำรวจสถานการณ์สติปัญญาเด็กนักเรียนไทย พบว่านักเรียนโรงเรียนสังกัด สพฐ.มีไอคิวต่ำสุด และนักเรียนสังกัด สกอ.มีไอคิวสูงสุดนั้น การนำเสนอข้อมูลส่วนนี้ต้องดูกลุ่มตัวอย่าง ถ้าเอากลุ่มตัวอย่างของโรงเรียนสาธิต กับโรงเรียนของ สพฐ.มาเปรียบเทียบกัน ถือเป็นคนละกลุ่มกัน เพราะนักเรียนของโรงเรียนสาธิตเป็นเด็กครีม (ฉลาด) ที่ได้รับคัดเลือกมา มีความพร้อมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และครอบครัว ขณะที่นักเรียนของ สพฐ.เป็นเด็กที่คละกันทั้งเด็กในเมือง เด็กชนบท เด็กขาดแคลน และเด็กด้อยโอกาส ดังนั้น การความพร้อมจะต่างกัน

           "ถ้าจะเปรียบเทียบให้เกิดความเป็นธรรม นักเรียนโรงเรียนสาธิตต้องเปรียบเทียบกับนักเรียนโรงเรียนระดับพรีเมียมของ สพฐ. เพราะจากผลการทดสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ปีการศึกษา 2553 ที่ออกมา เห็นได้ว่านักเรียนของ สพฐ.ทั้งชั้น ป.6, ม.3 และ ม.6 ได้คะแนนโอเน็ตมาเป็นอันดับ 1 ขณะที่อันดับ 2 เป็นของโรงเรียนสาธิต ดังนั้น ขอให้ดูข้อมูลด้วยความเป็นธรรม เพื่อ สพฐ.จะได้มีกำลังใจในการทำงานต่อไป" นายชินภัทรกล่าว

           ด้าน นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ที่นักเรียนโรงเรียนสาธิตมีค่าเฉลี่ยไอคิวสูงเกิดจากหลายปัจจัย เช่น โรงเรียนสาธิตส่วนใหญ่คัดเลือกนักเรียนโดยวิธีสอบเข้า ซึ่งมีอัตราการแข่งขันสูงประมาณ 1 : 30 คน ถือเป็นตัวกรองตัวหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนสาธิตได้นักเรียนที่มีความพร้อมเข้าเรียน และส่วนใหญ่จะเป็นลูกคนมีฐานะ และครอบครัวให้การดูแลอย่างใกล้ชิด อีกทั้งการเรียนการสอนก็แตกต่างจาก สพฐ. เพราะไม่ได้สอนในชั้นเรียนเท่านั้น แต่เน้นการทำกิจกรรมนอกชั้นเรียนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่รวดเร็ว และเป็นส่วนที่ทำให้เด็กกล้าคิด กล้าแสดงออก 
ที่มา - มติชนออนไลน์ 

           อยากให้มอง 360 องศา และแก้ปัญหากันที่ต้นเหตุ ปลายเหตุอยู่ที่ผลการสำรวจโดยเครื่องมือ  หากเครื่องมือวัดได้ถูกต้อง แม่นยำ และเชื่อถือได้ ก็จะเป็นข้อมูลในการพัฒนาคนของประเทศร่วมกันทุกภาคส่วน

 

คำสำคัญ (Tags): #iq ต่ำ
หมายเลขบันทึก: 448300เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2011 19:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เมื่อกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาแก้ปัญหาด้วยการเสริมไอโอดีน

ก็ถือเป็นการ "Take Action" ในส่วนที่ตนรับผิดชอบได้สมบูรณ์ ?

แล้วอีก 18 กระทรวงกับ หนึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีล่ะครับ ?

หรือว่าเราได้แบ่งสมองเด็กเป็นยี่สิบส่วนให้แต่ละคนเข้าไปรับผิดชอบ

วันนี้เราเลยได้เห็นในภาพรวมว่า การแก้ปัญหาเด็กไอคิวต่ำก็คือ..

.."การให้กินไอโอดีน ! "

เมื่อไหร่เราจะได้เห็นการพัฒนาเด็กเป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกันเสียที ?

ขอบคุณท่าน ผ.อ. ที่มีเรื่องดีๆมาให้อ่านเป็นประจำครับ

ไม่น่าเชื่อเลยเด็กเรากินน้ำบูดูทุกวันนะคะอิอิ

...ขอเอาใจช่วยทุกท่านครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท