๑๕๙.ถึงเวลาที่ชนชั้นนำหยุดชี้นิ้วสั่งการได้แล้ว


จากกระบวนทัศน์เมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว กับปัจจุบัน เหตุปัจจัยย่อมต่างกัน กระบวนทัศน์ใหม่ ว่า "นี้เป็นท้องถิ่นเรา ป่าไม้ ภูเขา เป็นของท้องถิ่น รัฐเมื่อจะให้สัมปทาน ทำไมไม่ถามชุมชนก่อน ทรัพยากรที่รัฐส่วนกลางเอาไปครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่เคยกลับมาพัฒนาสังคมชุมชนนี้เลย ค่าสัมปทานท้องถิ่นก็ไม่ได้รับ " เพียงเท่านี้ เรื่องที่จะระเบิดหินของนายทุน กลับเป็นว่าต้องการเป็นระเบิดชุมชน จนทำให้เกิดการตื่นตัวของชาวบ้านเหมือนผึ้งแตกรังครั้งใหญ่ยิ่ง

  

    "ท้องที่ใดมีปัญหาจนกระทบกับวิถีชีวิตชาวบ้าน หรือว่าชาวบ้านเห็นว่าปัญหานั้น มีความเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง  เมื่อนั้น ชาวบ้านมักจะรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหา จัดการกับอุปสรรค์นั้น ๆ พร้อมกับการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้เกิดขึ้น ณ ท้องที่ของตนเอง"  ประโยคนี้ผู้เขียนเอ่ยขึ้นกับพระครูใบฎีกาเฉลิมพล ขณะนั่งรถไปร่วมกิจกรรมในวันเปิดที่ทำการของหน่วยเฝ้าระวังป่าไม้ ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมป่าต้นน้ำกว่า ๖,๐๐๐ ไร่  (๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔)      

 

     ที่ทำการหน่วยเฝ้าระวังป่าไม้ ซึ่งดำเนินการโดยชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลบ้านถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา เป็นการสร้างขึ้นใหม่แทนหลังเดิม ที่ทำเป็นเพิงพักชั่วคราวเอาไว้  ณ บริเวณเขตการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ-น้ำบ่อทราย

 

     อดีตกำนันบุญฝาง อัมพุธ เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙  ทางกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้ามาในพื้นที่พร้อมกับผู้สัมปทานจากภายในจังหวัดพะเยาและจากพิษณุโลก  เพื่อมาวัดพื้นที่ ตรวจรังวัด และทำแนวเขต ที่ได้รับสัมปทานจากหน่วยงานราชการ โดยกลุ่มคนดังกล่าวมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะดำเนินการตามแผนที่ได้วางเอาไว้ เนื่องจากเรื่องเหล่านี้ได้ผ่านการอนุมัติมาจากกระทรวง-ทบวง-กรม ผ่านมาทางจังหวัดพะเยา สู่อำเภอดอกคำใต้ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

     ดังนั้น ผู้ได้รับสัมปทานจึงมั่นใจเต็มร้อย  ได้ส่งคนงานมาทำที่พักแรมในบริเวณเขตป่าอนุรักษ์อย่างไม่เกรงกลัวผู้ใด-แบบไม่เกรงใจชาวบ้านเลย  ส่วนคนงานระดับหัวหน้าก็เช่าบ้านเป็นหลังในเขตเทศบาลตำบลบ้านถ้ำอยู่อย่างสบาย โดยชาวบ้านไม่รู้ว่าเขามาทำอะไร? ทำไม? ที่ไหนและอย่างไร?

 

     ในอดีต เมื่อชาวบ้านรู้เหตุผลของการเข้ามาของกลุ่มคนดังกล่าวแล้ว ก็เพิกเฉยอาจมองว่าธุระไม่ใช่  หรือเป็นเรื่องของภาครัฐจะดำเนินการให้ อย่างไรก็ช่างเขา เพราะเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว เขตป่าอนุรักษ์แถบนี้ นายทุนมาสัมปทานป่าไม้ ชาวบ้านเห็นก็ทำอะไรไม่ได้ นั่งทำตาปริบ ๆ แล้วแต่เจ้านายภาครัฐสั่งอย่างไร  ชาวบ้านก็เชื่อไปตามนั้น เพียงแต่นั่งมองทรัพยากรบ้านเกิดที่นายทุนมาตัดแล้วบรรทุกรถขนไปลำแล้วลำเล่า อย่างน่าเวทนายิ่ง

 

     แต่ปัจจุบัน กระบวนทัศน์ดังกล่าวเปลี่ยนไป ชาวบ้านเมื่อรู้ว่า รัฐบาลส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้อนุมัติให้นายทุนสัมปทานภูเขาในเขตป่าอนุรักษ์เพื่อทำธุรกิจระเบิดหินขาย และตั้งโรงงานโม่หินในชุมชน

 

     จากกระบวนทัศน์เมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว กับปัจจุบัน เหตุปัจจัยย่อมต่างกัน กระบวนทัศน์เก่าหายไป กระบวนทัศน์ใหม่ที่ ว่า "นี้เป็นท้องถิ่นเรา ป่าไม้ ภูเขา เป็นของท้องถิ่น รัฐเมื่อจะให้สัมปทาน ทำไมไม่ถามชุมชนก่อน ทรัพยากรที่รัฐส่วนกลางเอาไปครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่เคยกลับมาพัฒนาสังคมชุมชนนี้เลย ค่าสัมปทานท้องถิ่นก็ไม่ได้รับ " เพียงเท่านี้ เรื่องที่จะระเบิดหินของนายทุน กลับกลายเป็นว่าต้องกลายเป็นระเบิดชุมชน จนทำให้เกิดการตื่นตัวของชาวบ้านเหมือนผึ้งแตกรังครั้งใหญ่ยิ่ง 

 

     การเคลื่อนไหวครั้งนั้น ชาวบ้านได้หวังพึ่งทางอำเภอเนื่องจากเป็นหน่วยรัฐที่อยู่ในส่วนภูมิภาค  ท่านนายอำเภอก็ใจดีส่งปลัดอำเภอพร้อมฝ่ายป้องกัน (อส.) จำนวนหลายนายเข้าสำรวจพื้นที่และสืบหาข้อเท็จจริง ในที่สุดก็เงียบหายไปเนื่องจากไปเจอตอเข้าอย่างจัง ส่วนภูมิภาคขนาดเล็กหรือจะสู้ส่วนภูมิภาคขนาดใหญ่กว่าได้ เนื่องจากข้าราชการเหล่านี้มีสิทธิ์โดนย้ายได้ตราบเท่าที่ยังยึดโยงกับอำนาจนักการเมือง และระบบราชการส่วนภูมิภาค จึงไม่น่าแปลกใจที่คณะกรรมการปฏิรูป (คปร) ว่าด้วยแนวทางปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐเสนอให้ยุบทิ้งเสียเพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นได้

 

     ชาวบ้านจึงไม่ทราบว่าจะไปพึ่งใคร จึงได้เข้าพบท่าน สส.ลัดดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์ (ในขณะนั้น) จึงเกิดกิจกรรมการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำขึ้น โดยความร่วมมือของชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ชมรมผู้สูงอายุ ชมรมกลุ่มอนุรักษ์น้ำบ่อทราย และได้รับการสนับสนุนผ้าเพื่อทำการบวชป่าจากคณะสงฆ์ตำบลบ้านถ้ำ

 

     จากการอนุรักษ์ภูเขาที่รัฐให้สัมปทานเพื่อสร้างโรงโม่หิน เมื่อเรื่องดังกล่าวเงียบไป ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้นอีกคือ มีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ทางชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านพร้อมกับตำรวจบ้านต้องออกตรวจพื้นที่เพื่อเฝ้าระวัง โจรก็คือโจรวันยังค่ำ รู้การเคลื่อนไหวของหน่วยเฝ้าระวังเป็นอย่างดี ว่าควรมาช่วงไหน ไม่ควรมาช่วงเวลาใดบ้าง ปัญหาที่มีอยู่จึงค้างคาอยู่ต่อไป

 

     จวบจนปี พ.ศ.๒๕๔๗ ชาวบ้านพร้อมกับชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านเห็นว่า ถ้าไป ๆ มา ๆ คนลักลอบก็แอบมาเอาตอนเผลอ จึงมีมติตั้งจุดเฝ้าระวังโดยการปรับเปลี่ยนเวรกัน เมื่อนั้น จึงสามารถควบคุมปัญหาเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าได้บ้าง

 

     ในวันที่  ๒๘  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เข้าไปจัดกิจกรรมในพื้นที่โดยให้ชื่อว่า "โครงการบวชต้นไม้ สืบชาตาป่าต้นน้ำ" ณ บริเวณน้ำบ่อทรายขึ้น โดยความร่วมมือของหลายหน่วยงานตั้งแต่ คณะสงฆ์ตำบลบ้านถ้ำ, ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลบ้านถ้ำ, เทศบาลตำบลบ้านถ้ำ, โรงเรียนถ้ำปินวิทยาคม, โรงเรียนบ้านถ้ำประชานุเคราะห์, โรงเรียนบ้านถ้ำประชาบำรุง, โรงพยายบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนบ้านถ้ำเจริญราษฎร์, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนบ้านถ้ำอนามัย, ศูนย์ ๓ วัยสายใยรักฯ พร้อมด้วยพ่อค้าประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมกัน ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนโครงการโดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา และทุนจันทร์ตองไชยะวุฑฒิกุล

 

     กิจกรรมดังกล่าว นอกจากการบวชต้นไม้-สืบชาตาป่าต้นน้ำแล้ว ชาวบ้านยังทำผ้าป่าถวายผู้เขียนจำนวน ๕๖,๐๐๐ บาท เมื่อเสร็จพิธีแล้วผู้เขียนจึงมอบให้กับชมรมผู้ใหญ่บ้านเพื่อเป็นทุนรอนในการทำกิจกรรมที่ดีงามต่อไป อันเป็นที่มาของการเปิดที่ทำการหน่วยเฝ้าระวังในวันนี้

 

    

หมายเลขบันทึก: 448290เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2011 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการครับ

I see this "โครงการบวชต้นไม้ สืบชาตาป่าต้นน้ำ" as a strong way forward for "local administration/governance" -- by the local people for the local people".

สาธุ

เจริญพรขอบคุณ ที่ได้ร่วมแสดงทัศนะ

ผู้เขียนเห็นว่าแนวคิดชาวบ้านที่มีต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี

และสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่เป้าหมายของการปกครองแบบมีส่วนร่วมในอนาคต อย่างที่คุณโยมได้เสนอมาคือรัฐบาลท้องถิ่นเข้มแข็ง เพราะการมีส่วนร่วมโดยประชาชนท้องถิ่นนั้นเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท