งานวิจัย การพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์


การพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์และทักษะการปฏิบัติงาน 

 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวัดบ้านดาบ   

โดยใช้วิธีการเรียนรู้แบบโครงงาน : รายงานการวิจัย

 

วงศ์รวี  มีศิริ : รายงาน

 

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

 

           พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พุทธศักราช 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)พุทธศักราช 2545 มุ่งใช้การศึกษาเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ  สติปัญญาความรู้และคุณธรรมจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่น    ได้อย่างมีความสุข โดยกระบวนการจัดการเรียนรู้ต้องปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมือง   การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิหน้าที่  เสรีภาพ  การเคารพกฎหมาย ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มีความภาคภูมิใจ  ในความเป็นไทยรู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติรวมทั้งส่งเสริมศาสนา     ศิลปะ วัฒนธรรมของชาติ การกีฬา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและความรู้อันเป็นสากลตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  มีความสามารถในการประกอบการ   การอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข  โดยกระบวนการจัดการเรียนรู้ต้องปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาชีพ  รู้จักพึ่งตนเอง  มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง การจัดการศึกษาให้ยึดหลักการศึกษาตลอดชีวิต โดยให้สังคมมีส่วนร่วม    ในการจัดการศึกษา  การพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง(กระทรวงศึกษาธิการ. 2546 : 5-6)

                    โรงเรียนวัดบ้านดาบ  เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก  ผู้ปกครองของนักเรียนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม  รับจ้างและเป็นพนักงานตามโรงงานอุตสาหกรรม  ส่วนใหญ่มีฐานะยากจนทำให้นักเรียนขาดโอกาสในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น  ทางโรงเรียนจึงมีแนวคิดที่จะให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้อาชีพเสริมควบคู่กับหลักวิชาการ  เพื่อจะได้นำความรู้ไปประกอบอาชีพและหารายได้เสริมในระหว่างเรียน   ซึ่งเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองอีกทางหนึ่งด้วย โรงเรียนจึงได้กำหนดไว้ในแผนกลยุทธ์ของโรงเรียนวัดบ้านดาบ โดยได้กำหนดให้มีการสอนอาชีพเสริมให้กับนักเรียนในระดับช่วงชั้นที่ 2 ในกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี ประกอบกับในปีการศึกษา  2550  โรงเรียนได้รับประเมินภายนอกจาก สมศ. ซึ่งผลการประเมินคุณภาพนักเรียนในมาตรฐานที่ 4 ด้านความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ 

                   การเรียนรู้ด้วยโครงงาน  จัดเป็นวิธีการที่เสริมสร้างและพัฒนาทักษะกระบวนการคิด  ทั้งนี้เพราะ การเรียนรู้แบบนี้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ประยุกต์ใช้ทักษะการเรียนรู้ของตนเองเต็มที่  เน้นพลังความอยากรู้อยากพิสูจน์ของผู้เรียน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของผู้เรียน โครงงานเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญของทุกรายวิชา นักเรียนได้ศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างลุ่มลึก             ด้วยกระบวนการคิดและแก้ปัญหาเรื่องที่ศึกษามาจากความสนใจของเด็กเอง โดยกำหนดประเด็นหรือคำถามที่อยากรู้ขึ้นมาเอง  ครูไม่ใช่ผู้ถ่ายทอดหรือกำหนดกิจกรรมให้เด็กทำครูทำหน้าที่        เป็นเพียงที่ปรึกษาสำหรับเด็ก  ส่วนเด็กเล็กครูจะเป็นที่ปรึกษาและผู้ชี้แนะอย่างใกล้ชิดเป็นการส่งเสริมให้เด็กฝึกฝนการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิผล ส่งเสริมให้นักเรียนเป็นนักวางแผน               นักแก้ปัญหาที่ใจเย็นและมีเหตุผล  นักเรียนสร้างองค์ความรู้ขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์การค้นคว้า ปรึกษาหารือ อภิปราย ทดลอง ประเด็นสำคัญคือเด็กมีโอกาสได้พบทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวจากกระบวนการเรียนรู้ของเขาเอง(หน่วยศึกษานิเทศก์  กรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา 10.  2544 : 4)

                   จากความต้องการแนวคิดการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  สภาพปัญหาของชุมชนและผลการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. รอบสอง ดังกล่าวข้างต้น  ผู้วิจัยในฐานะครูที่รับผิดชอบการจัดกิจกรรม  การเรียนรู้สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  5 ได้ดำเนินการศึกษาเพื่อหาแนวทางสำหรับการพัฒนานักเรียน โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน  กับกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี   ซึ่งเป็นสาระการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนานักเรียนให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับงานอาชีพและเทคโนโลยี มีทักษะการทำงานทักษะการจัดการ  สามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในการทำงานอย่างถูกต้องเหมาะสมคุ้มค่ามีคุณธรรม  สร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือวิธีการใหม่  สามารถทำงานเป็นหมู่คณะ  มีนิสัยรักการทำงานเห็นคุณค่าและมีเจตคติที่ดีต่องานตลอดจนมีคุณธรรมจริยธรรมและค่านิยมที่เป็นพื้นฐาน  ผู้วิจัยจึงมีแนวคิดที่จะศึกษาความสามารถในการคิดวิเคราะห์และทักษะการปฏิบัติงาน กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ชั้นประถมศึกษาปีที่  5  เรื่อง การแปรรูปอาหาร โดยใช้วิธีการเรียนรู้แบบโครงงาน  ซึ่งมีการเผยแพร่ความรู้ที่ได้จากการศึกษาของผู้เรียนต่อชุมชนและเพื่อเป็นการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด รู้จักอนุรักษ์สภาพแวดล้อมที่มนุษย์อาศัยอยู่ร่วมกันเพื่อส่งผลต่อการดำรงชีวิตในอนาคตต่อไป

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย 

                1.  เพื่อศึกษาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ของนักเรียนที่เรียนรู้ด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน

                2.  เพื่อศึกษาทักษะการปฏิบัติงาน  ของนักเรียนที่เรียนรู้ด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน

         

ขอบเขตการวิจัย

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง 

   ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้  เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  5  ปีการศึกษา

2553  กลุ่มโรงเรียนศรีทักษิณ  ประกอบด้วยนักเรียนโรงเรียนวัดบ้านดาบ  โรงเรียนวัดมาบ  พระจันทร์ โรงเรียนวัดราษฎร์บำเพ็ญ โรงเรียนวัดโพธิ์ทองและโรงเรียนวัดเสด็จ  จำนวน 120 คน

                       กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้  เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  โรงเรียน

วัดบ้านดาบ  ปีการศึกษา  2553  จำนวน  22  คน  โดยใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง

ตัวแปรที่ศึกษา 

       ตัวแปรต้น  คือ  การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน

       ตัวแปรตาม  คือ

1)   ความสามารถในการคิดวิเคราะห์

2)      ทักษะการปฏิบัติงาน

คำจำกัดความที่ใช้ในการวิจัย

                   การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน  หมายถึง  การดำเนินการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง  โดยให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง  เริ่มจากความสนใจใคร่รู้ของนักเรียนที่อยากจะศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  ทำให้เกิดการสืบเสาะหาความรู้และวิธีการแก้ปัญหาด้วยตัวของนักเรียนเอง  อันจะนำไปสู่ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ แสวงหาความรู้และแนวทางในการแก้ปัญหาแล้วนำเสนอผลการศึกษาตามวิธีการของตนเองอย่างเป็นขั้นตอน  โดยมีครูเป็นผู้ให้คำปรึกษา

                   ความสามารถในการคิดวิเคราะห์  หมายถึง  ความสามารถของนักเรียน ในการพิจารณา ค้นหาใคร่ครวญ ประเมินค่าโดยใช้เหตุผลเป็นหลักในการหาความสัมพันธ์เชื่อมโยง หล่อหลอมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้อย่างสมบูรณ์แบบ อย่างสมเหตุสมผลก่อนที่จะตัดสินใจ  ซึ่งวัดได้จากคะแนนตอบแบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์  แบบปรนัย 4 ตัวเลือก  ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น  ตามเนื้อหา และจุดประสงค์การเรียนรู้   กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  สาระที่  1  หน่วยที่  1  เรื่อง  การแปรรูปอาหาร  โดยใช้วิธีการเรียนรู้แบบโครงงาน

ทักษะการปฏิบัติงาน  หมายถึง  ความสามารถในการทำงานด้วยตนเอง  โดยมุ่งเน้นการฝึกวิธีการทำงานอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการทำงานเป็นรายบุคคล และการทำงานเป็นกลุ่ม เพื่อให้สามารถทำงานได้บรรลุเป้าหมาย  ได้แก่  การวิเคราะห์งาน  การวางแผนในการทำงาน  การปฏิบัติงานตามลำดับขั้นตอน  และการประเมินผลการทำงาน ซึ่งผู้วิจัยได้สร้างเครื่องมือวัดทักษะการปฏิบัติงานโครงงานของนักเรียน  โดยใช้แบบสังเกตที่สร้างขึ้น

กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  หมายถึง  กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่

ช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจ  มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการทำงานอย่างมีความคิดสร้างสรรค์  เห็นแนวทางในการประกอบอาชีพ รักการทำงาน มีเจตคติที่ดีต่อการทำงาน  สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างพอเพียงและมีความสุข

                นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  หมายถึง  นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  5  ของโรงเรียนวัดบ้านดาบ  ตำบลบ่อโพง  อำเภอนครหลวง  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ประจำปีการศึกษา  2553  จำนวน  22  คน

 

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ 

                1.  ได้วิธีการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน  กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ               ที่เหมาะสมกับการจัดการเรียนรู้

                2.  ได้แนวทางในการพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์  ของนักเรียนที่เรียนรู้ด้วยวิธีการเรียนรู้แบบโครงงาน

                3.  ได้แนวทางในการพัฒนาทักษะกระบวนการทำงาน  ของนักเรียนที่เรียนรู้ด้วยวิธีการเรียนรู้แบบโครงงาน

                4.  ได้แนวทางสำหรับครูผู้สอน  ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้  ที่มีประสิทธิภาพ

 

เครื่องมือที่ใชในการวิจัย 

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลและเครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง

1. เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล  ได้แก่  แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  และแบบวัดทักษะการปฏิบัติงาน

2. เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง  ได้แก่  วิธีการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน

 

การดําเนินการทดลอง

1.  กำหนดกลุ่มตัวอย่าง นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  5  โรงเรียนวัดบ้านดาบ                 ปีการศึกษา  2553  จำนวน  22  คน โดยการเลือกแบบเจาะจง

              2. กอนการทดลอง  ทำการทดสอบนักเรียนกลุมตัวอยางกอนเรียน ดวยแบบทดสอบก่อนเรียนด้วยกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน  แลวนําผลการทดสอบมาตรวจใหคะแนน

 

3. ชี้แจงกระบวนการจัดการเรียนรู  พรอมแนะนําเกี่ยวกับชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ

โครงงาน  เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจและสามารถปฏิบัติกิจกรรมได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

4. ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน  โดยผู้วิจัยเป็นผู้ดำเนินการจัดการเรียนรู้เอง  ใช้เวลาเรียน  8  ชั่วโมง  ซึ่งในระหว่างดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  ผู้วิจัยได้ดำเนินการวัดทักษะการทำงานของนักเรียนควบคู่ไปด้วย

                5. เมื่อสิ้นสุดการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน  ทำการทดสอบหลังเรียน  โดยใช้แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์

  6. ตรวจผลการทดสอบของนักเรียน  แล้วนำคะแนนที่ได้มาวิเคราะห์  โดยใช้วิธีทางสถิติเพื่อทดสอบสมมติฐาน 

 

การวิเคราะห์ข้อมูล

                1.  เปรียบเทียบความสามารถในการคิดวิเคราะห์   ภายในกลุ่มทดลอง ใช้ t-test แบบ Dependent Samples  โดยใช้สถิติพื้นฐานคือ คะแนนเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)

2.  สังเกตการปฏิบัติงานของนักเรียน  โดยใช้แบบสังเกตที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น

สรุปผลการวิจัย

การวิจัยเรื่อง  การพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์และทักษะการปฏิบัติงาน  ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวัดบ้านดาบ  โดยใช้วิธีการเรียนรู้แบบโครงงาน สรุปผลการวิจัยได้ ดังนี้

1.  นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนโดยใช้วิธีการเรียนรู้แบบโครงงาน  มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์  สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ .05

2.  นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนการสอน  โดยใช้วิธีการเรียนรู้แบบโครงงาน  มีทักษะการปฏิบัติงาน  หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ .05

 

อภิปรายผล

              1. ความสามารถในการคิดวิเคราะห์  พบว่านักเรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

แบบโครงงาน  มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์สูงขึ้น เนื่องจาก การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน เป็นการใช้กระบวนการทำงานเป็นกลุ่ม  ได้มีปฏิสัมพันธ์ทำให้นักเรียนได้พัฒนากระบวนการทางสมองระดับสูง  สามารถพิจารณาสถานการณ์  คิดหาเหตุผล  การจำแนกและการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้  สอดคล้องกับ  วนิช  สุธารัตน์ (2547 : 125-128) ที่กล่าวว่า  การคิดวิเคราะห์เป็นกระบวนการที่ใช้ปัญญา  หรือใช้ความคิดนำพฤติกรรม  ผู้ที่คิดวิเคราะห์เป็นจึงสามารถใช้ปัญญานำชีวิตได้ในทุก ๆ สถานการณ์ เป็นบุคคลที่ไม่โลภไม่เห็นแก่ตัว ไม่ยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง  มีเหตุผลไม่มีอคติ  มีความยุติธรรมและพร้อมที่จะสร้างสันติสุขในทุกโอกาส  การคิดวิเคราะห์จะต้องอาศัยองค์ประกอบที่สำคัญสองเรื่อง  คือ  ความสามารถในการให้เหตุผลอย่างถูกต้องกับเทคนิคการตั้งคำถามเพื่อใช้ในการคิดวิเคราะห์  ซึ่งทั้งสองเรื่องมีความสำคัญต่อการคิดวิเคราะห์เป็นอย่าง สอดคล้องกับคราจซิค (Krajcik. 1994 : 483-497) ได้ศึกษารูปแบบการให้ความช่วยเหลือของครูในการทำโครงงานของนักเรียน  พบว่า  การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานเป็นการเรียนแบบร่วมมือ  ผลที่ได้จากโครงงานเป็นการพัฒนาความคิดรวบยอดและสร้างมนุษย์สัมพันธ์ทางวิชาการของนักเรียน

          2.  ทักษะการปฏิบัติงาน  ของนักเรียนที่เรียนรู้ด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ

โครงงาน  มีทักษะการปฏิบัติงานหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนเนื่องมาจาก  แผนจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน  ที่ผู้วิจัยจัดทำขึ้นประกอบด้วยส่วนที่เป็นการให้ความรู้พื้นฐานและความรู้ที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น ตามด้วยกิจกรรมที่ใช้สำหรับการฝึกทักษะการจัดทำโครงงานตามลำดับขั้นจากง่ายไปยาก  การมีตัวอย่างหรือสถานการณ์ประกอบทุกขั้นตอน ทำให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการจัดทำโครงงาน  การได้ฝึกทักษะช่วยให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเพื่อน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างทั้งความรู้และทักษะในการจัดทำโครงงานมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การเปลี่ยนบทบาทของครูผู้สอนจากผู้ถ่ายทอดมาเป็นการเป็นที่ปรึกษา  คอยดูแลช่วยเหลือและสนับสนุนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้  การเรียนรู้ไปกับผู้เรียนรวมทั้งกิจกรรมการเรียนรู้มาจากความสนใจของนักเรียนเป็นหลัก จึงส่งผลโดยตรงให้นักเรียนมีความสามารถในการจัดทำโครงงานตามเป้าหมายที่สถานศึกษากำหนดได้ สอดคล้องกับ  สุจิตรา  ขุนคำ (2553 : บทคัดย่อ) ได้ทำการศึกษาการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการปฏิบัติงาน  รายวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี  งานธุรกิจ  ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนแม่แตง  จังหวัดเชียงใหม่  พบว่า  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในรายวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี งานธุรกิจ นักเรียนได้รับคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนในทุกแผนการจัดการเรียนรู้  รวมถึงนักเรียนมีทักษะการปฏิบัติงานในภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก

                           จากการสังเกตของผู้วิจัยพบว่า  นักเรียนที่เรียนรู้ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน มีความกระตือรือร้น  ร่วมมือในการทำกิจกรรมการเรียนรู้เป็นอย่างดี  ในการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล  การทำงานร่วมกับเพื่อน  การแสดงความคิดเห็น  การสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง  การแสดงผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับนักเรียน  บรรยากาศสนุกสนาน  นักเรียนกล้าแสดงความคิดเห็นและรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันทั้งภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม  โดยเฉพาะเมื่อมีการรายงานผลงานของแต่ละกลุ่ม  อันเป็นการแลกเปลี่ยนกระบวนการคิด  กระบวนการทำงาน  การะบวนการสร้างความรู้ด้วยตนเอง  การวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้และการประยุกต์ใช้ความรู้อันเป็นทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตและเป็นเป้าหมายหลักของการจัดการเรียนรู้ในปัจจุบัน  จึงเป็นผลให้การจัดการเรียนรู้แบบโครงงานสามารถพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และทักษะการปฏิบัติงานของนักเรียนได้เป็นอย่างดี            

ข้อเสนอแนะจากงานวิจัย

              1. ควรนำการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน  ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อหาวิชาอื่น  เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้  ส่งเสริมให้การเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมกลุ่มอย่างทั่วถึงกัน  การเรียนรู้ที่ผู้เรียน ได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง  จะทำให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้  สามารถปรับตัวและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

                2. ควรมีการเปรียบเทียบผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน กับกิจกรรมการเรียนรู้แบบอื่น เช่น การจัดกิจกรรมเรียนรู้แบบ 4 MAT การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Story line

                      

 

 

                  

 

 

 

 

เอกสารอ้างอิง 

 

กระทรวงศึกษาธิการ. (2546). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

   (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 พร้อมกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และพระราชบัญญัติการศึกษา

   ภาคบังคับ พ.ศ. 2545.  กรุงเทพมหานคร : องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์

   (ร.ส.พ.). 

วนิช  สุธารัตน์. (2547). ความคิดและความคิดสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น.

สุจิตรา  ขุนคำ. (2553). การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการปฏิบัติงาน รายวิชาการงานอาชีพ 

                และเทคโนโลยี งานธุรกิจ. ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต. เชียงใหม่ : บัณฑิตวิทยาลัย.  

  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ถ่ายเอกสาร.

หน่วยศึกษานิเทศก์  กรมสามัญศึกษา  เขตการศึกษา 10. (2544). การเรียนการสอน แบบโครงงาน   

                เอกสารประกอบการอบรมเชิงปฏิบัติการ.  อุบลราชธานี : หน่วยศึกษานิเทศก์  

                กรมสามัญศึกษา  เขตการศึกษา  10. 

Krajcik. J.S; Blumenfeld, P.C.; Marx, R.W.;& Soloway, E. (1994). A collaborative model for

  helping middie-grade science teachers learn preject-besed instruction.

  The Elementary School Journal, 94, 483-497.

 

 

 

 

 

 

 

Ico64_dscn2116

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #งานวิจัย
หมายเลขบันทึก: 447438เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2011 19:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท