องค์ความรู้ที่18


ระบบนิเวศป่าไม้

ระบบนิเวศป่าไม้

ระบบนิเวศป่าไม้

1.ความหมาย

ระบบนิเวศป่าไม้ (forest ecosystems) หมายถึง สังคมของพืชและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในพื้นที่ป่าหนึ่ง ๆ ที่มีการตอบซึ่งกันและกันต่อสภาพแวดล้อมทางกายภาพต่างๆ อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง มีความหลากหลายทางชีวภาพ และมีการไหลเวียนของแร่ธาตุด้วย

2.โครงสร้างของระบบนิเวศ

ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

1. องค์ประกอบที่ไม่มีชีวิต (Abiotic Components) แบ่งได้ 3 ส่วน คือ

1.1 อนินทรียสาร (Inorganic Substance) เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ ออกซิเจน ฯลฯ

1.2 อินทรียสาร (Organic Substance) เช่น โปรตีน ฮิวมัส ไขมัน ฯลฯ

1.3 สภาพแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Environment) เช่น แสง อุณหภูมิ อากาศ เป็นต้น

2. องค์ประกอบที่มีชีวิต(Biotic Components) จำแนกตามหน้าที่ได้ 3 ชนิด คือ

2.1 ผู้ผลิต (Producer) หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่สร้างอาหารได้เอง โดยกระบวนการสังเคราะห์แสง (Photosynthesis) ได้แก่ พืชสีเขียว แพลงตอน แบคทีเรียบางชนิด ฯลฯ ซึ่งจะมีคลอโรฟีลล์ที่เป็นรงควัตถุสีเขียวสามารถสร้างคาร์โบไฮเดรตได้ จึงถืได้ว่าผู้ผลิตมีความสำคัญมากเพราะเป็นส่วนเริ่มต้นที่เชื่อมระหว่างสิ่งไม่มีชีวิต และสิ่งที่มีชีวิตในระบบนิเวศ

2.2 ผู้บริโภค (Consumer) หมายถึงสิ่งมีชีวิตที่สร้างอาหารเองไม่ได้ ได้รับอาหารจากการกินสิ่งมีชีวิตอื่น จำแนกเป็น 3 ชนิด คือ

2.2.1 ผู้บริโภคแบบปฐมภูมิ (Primary Consumer) คือ สัตว์กินแต่พืช

2.2.2 ผู้บริโภคแบบทุติยภูมิ (Secondary Consumer) คือ สัตว์ที่กินสัตว์ด้วยกัน (Carnivores)

2.2.3 ผู้บริโภคแบบตติยภูมิ (Tertiary Consumer) คือ สัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์ (Omnivore)

2.3 ผู้ย่อยสลาย (Decomposer) หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่สร้างอาหารเองไม่ได้ แต่จะได้อาหารโดยการสร้างเอนไซม์มาย่อยสลายซากของสิ่งมีชีวิต ของเสีย กากอาหาร ซึ่งได้แก่ แบคทีเรีย เห็ด รา ฯลฯ

3. ปัจจัยกำหนดลักษณะของระบบนิเวศ

1. อุณหภูมิ อุณหภูมิมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของออกซิเจนในน้ำ การเปลี่ยนแปลงรูปพรรณและสรีระของสิ่งมีชีวิต การอพยพของสัตว์ การแพร่กระจายของพืชและสัตว์

2. น้ำและความชื้น พืชและสัตว์มีการถ่ายเทไอน้ำให้กับอากาศอยู่เสมอ บริเวณที่มีความชื้นต่ำ ร่างกายจะถ่ายเทน้ำให้อากาศมากขึ้น ระบบนิเวศที่มีความชื้นมากมักจะมีพืชและสัตว์อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น

3. แสงสว่าง ส่วนใหญ่เป็นแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เพราะทำให้เกิดการถ่ายเทวัตถุธาตุต่าง ๆ ช่วงแสงมีผลต่อการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ของพืชหลายชนิด และความเข้มแสงมีผลต่อการสังเคราะห์แสง

4. ดิน ถือได้ว่าเป็นที่รวมของธาตุอาหารต่าง ๆ และยังเป็นแหล่งปุ๋ยธรรมชาติ ดินที่สมบูรณ์หรือมีธาตุอาหารแตกต่างกันย่อมมีผลต่อพืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ด้วย

5. ไฟป่า มีทั้งผลดีและผลเสียต่อสิ่งมีชีวิต ผลเสียคือ ทำลายแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย ของสิ่งมีชีวิต ส่วนผลดีคือ ช่วยเพิ่มธาตุอาหารบางชนิดซึ่งทำให้พืชช่วยเร่งการงอกของเมล็ดพืชบางชนิด

6. มลภาวะ การเกิดมลภาวะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศไปในทางเลวร้าย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์

7. การแย่งชิง เป็นการแย่งชิงกันระหว่างสิ่งมีชีวิต เนื่องจากมีความต้องการเหมือนกัน แต่มีไม่เพียงพอที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่เป็นปกติได้

8. การกินซึ่งกันและกัน เป็นการที่สิ่งมีชีวิตหนึ่งกินสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เป็นอาหาร ทำให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศแต่ระบบนิเวศที่ขาดการกินซึ่งกันและกัน ก็จะมีผลทำให้ระบบนิเวศนั้นเสียสมดุลทางธรรมชาติได้

9. ความเป็นกรดเป็นด่าง มีความสำคัญต่อกระบวนการหายใจและระบบการทำงานของเอนไซม์ภายในร่างกาย เพราะตัวความเป็นกรดหรือด่างเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยก็อาจเกิดอันตรายได้ และยังมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชด้วย

 



แหล่งอ้างอิง : ้้http://www.seub.ksc.net/datacenter/ecosystem/forest1amang.html

 


โดย : นางสาว เสาวรส เคลื่อนไธสง, โรงเรียนพนัสพิทยาคาร, วันที่ 14 กันยายน 2545

 

ระบบนิเวศป่าไม้
............................................................

มนุษย์กับธรรมชาติจะต้องอยู่ด้วยกันอย่างมีความสมดุล มนุษย์ต้องมีความสุขพอสมควร ธรรมชาติก็ต้องไม่เสียความสมดุล การที่มนุษย์จะอยู่กับธรรมชาติได้อย่างมีความสุขและเกิดสมดุลธรรมชาติได้นั้น มนุษย์จะต้องเรียนรู้เรื่องธรรมชาติให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ทรัพยากรธรรมชาติ ที่มนุษย์มีชีวิตผูกพันธ์อย่างมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคตสืบไปนั้น คือ ทรัพยากรป่าไม้ นั่นหมายถึง ทุกคนจะต้องเข้าใจอย่างลุ่มลึกในระบบนิเวศป่าไม้ จึงจะอยู่กับธรรมชาติได้อย่างมีความสุข

ระบบนิเวศป่าไม้เป็นระบบนิเวศธรรมชาติที่มีองค์ประกอบของส่วนที่ไม่มีชีวิตและ ส่วนที่มีชีวิต ส่วนที่ไม่มีชีวิต ได้แก่ ดิน น้ำ อากาศ เป็นต้น ส่วนที่มีชีวิต ได้แก่ ต้นไม้ เถาวัลย์ สัตว์ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ และนก เป็นต้น สิ่งที่มีชีวิตเหล่านี้ต้องอาศัยส่วนที่ไม่มีชีวิต เช่น น้ำ อากาศ ดิน เพื่อการดำรงชีวิต และในขณะเดียวกันสิ่งที่มีชีวิตด้วยกันจะอยู่กันแบบพึ่งพาอาศัย เพื่อการดำรงชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน สิ่งที่มีชีวิตในระบบนิเวศป่าไม้ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ขนาดเล็กหรือใหญ่ หรือสัตว์ขนาดเล็กหรือใหญ่ จะมีกฎเกณฑ์และวินัยในการดำรงชีวิตทั้งนั้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นในระบบ จึงเห็นได้ว่า หากมนุษย์ไม่เข้าไปรบกวน ระบบนิเวศป่าไม้จะสามารถปรับ ความสมดุลตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติได้ตลอดไป

เมื่อมนุษย์เข้าไปใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศป่าไม้จะต้องเข้าใจความสมดุลของ ระบบนิเวศว่าเป็นอย่างไร มนุษย์จะต้องใช้ประโยชน์จากป่าโดยการเรียนรู้และลอกแบบธรรมชาติ เช่น จะตัดต้นไม้ต้นไหนไปใช้ประโยชน์ก็ต้องพิจารณาเห็นว่าต้นไม้ตั้นนั้นไม่สามารถเจริญเติบโต ต่อไปได้แล้ว เป็นต้น หากมีการใช้ประโยชน์โดยเรียนรู้จากความเป็นไปของธรรมชาติแล้ว มนุษย์ ก็จะอยู่ได้กับธรรมชาติอย่างมีความสุข และในขณะเดียวกันธรรมชาติก็จะมีความสมดุลตลอดไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 ระบบนิเวศวิทยาป่าไม้

 

 ลักษณะและชนิดสังคมพืช เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงมีพื้นที่ประมาณ 722,068 ไร่ แต่เดิมเป็นป่าดงดิบผืนใหญ่ครอบคลุมอยู่ในหุบคลองแสงอันเป็นต้นน้ำหลักของแม่น้ำตาปี มีสภาพป่าสมบูรณ์มาก เนื่องจากการสร้างเขื่อนรัชชประภาก่อให้เกิดอ่างเก็บน้ำใหญ่ขึ้นเหนือเขื่อน จึงจำเป็นต้องตัดป่าดงดิบที่สมบูรณ์ออกไปถึง 50,432 ไร่ คงเหลือป่าดงดิบแท้อยู่เฉพาะในบางหุบห้วย สลับกับยอดเขาหินปูนและสันเขาที่ปกคลุมด้วยสังคมป่าอย่างอื่นที่ปรากฏเด่นชัดได้แก่ สังคมป่า ดงดิบชื้น (Tropical moist evergreen forest) ป่าดิบแล้ง (Semi evergreen forest) ป่าผสมผลัดใบชื้น (Moist mixed deciduous forest) ป่าบนยอดเขาหินปูน (Limestone forest) และสังคมหน้าผา (Rocky cliff community) นอกจากนี้ยังมีสังคมพืชที่อยู่ในขั้นการทดแทนอีกหลายระดับ เช่น ทุ่งหญ้าคา (Lalang consocies) กลุ่มไม้อินทนิลน้ำ (Lagerstroemia consocies) กลุ่มไม้กระทุ่ม (Anthocephalus consocies) ดงกล้วยป่า (Musa consocies) ป่าไผ่ (Melocanna consocies) และดงหญ้าผสมเฟิร์นริม ลำน้ำ (Drawdown area) สังคมพืชเหล่านี้มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยิ่ง พืชพรรณในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จำแนกตามประเภทป่าได้ดังนี้

 (1) ป่าดงดิบชื้นระดับต่ำ (Lower moist evergreen forest)
  ป่าดงดิบชื้นระดับต่ำเป็นสังคมหลักในพื้นที่กระจายปกคลุมอยู่ในลุ่มห้วยระดับต่ำที่มีดินลึกและบนสันเนินบางตอนที่ดินเก็บความชื้นได้ดี ลักษณะเป็นป่ารกทึบมีเรือนยอดต่อเนื่องจากชั้นบนสุดลงมาถึงพื้นดินไม้เด่นเป็นไม้วงศ์ยาง (Dipterocarpaceae) เป็นส่วนใหญ่ผสมกับไม้ไม่ผลัดใบอื่นๆ ชนิดไม้สำคัญที่พบได้แก่ ยางยูง (Dipterocarpus grandiflorus Blanco) ยางวาด (D. chartaceus syming) ยางเสียน (D. gracilis Bl.) และพบยางนา (D. alatus Roxb.) ปรากฏอยู่ริมห้วยสายใหญ่ขึ้นผสมกับไม้ตะเคียนทอง (Hopea odorata Roxb.) และไข่เขียว (Parashorea stellata Kurz) ไม้ขนาดใหญ่เหล่านี้บางต้นอาจสูงถึง 50 เมตร กระจายกันอยู่ห่างๆ และสอดแทรกด้วยไม้ชนิดอื่นๆ ที่มิใช่ไม้วงศ์ยาง เช่น ตาเสือ (Aphanamixis polystachya Parker) พระเจ้าห้าพระองค์ (Dracontomelum mangiferum Bl.) ทุเรียนผี (Neesia altissima Bl.) ตังหนใบใหญ่ (Calophyllum soualatti Burm.) หว้าเขา (Cleistocalyx operculatus Merr. & Perry) หว้าดง (Eugenia sp.) หว้าหิน (E. claviflora Roxb.) มังตาน (Schima wallichii Korth.) กระท้อน (Sandoricum koetjape Merr.) และท้องบึ้ง (Koompassia malaccensis Bent.) เป็นต้น เรือนยอดในชั้นนี้มีความสูงตั้งแต่ 30 เมตรขึ้นไป ชั้นรองของป่าดงดิบชื้นประกอบด้วยพันธุ์ไม้มากชนิดและแปรผันกว้างขวางขึ้นกับสภาพของท้องที่ บางแห่งมีไผ่ขนาดใหญ่เข้ามาผสมด้วย โดยทั่วไปมีเรือนยอดของหวายเลื้อยพันขึ้นไปอยู่ในระดับนี้ทำให้ป่าดูแน่นทึบยิ่งขึ้น ไม้สำคัญได้แก่ กราตา (Parishia insignis Hk.f) งาไทร (Planchonella obovata Pierre) เมา (Syzygium grande (Wight.) Walp., Repert.) รักเขา (Melanorrhoea laccifera Pierre) ขี้ผึ้ง (Micromelum hirsutum Oliv.) ปริก (Mallotus sp.) ลิ้นควาย (Gelearia fulva Miq.) กล้วยป่า (Horsfieldia macrocoma Warb.) นกนอน (Cleistanthus helferi Hook.f.) บุหง (Dasymaschalon blumei Finet) สั่งทำ (Diospyros buxifolia Bl.ex Hiern) และพลอง (Memecylon spp.) เป็นต้น เรือนยอดชั้นนี้กระจายตั้งแต่ความสูง 15 เมตรขึ้นไปจนจรดเรือนยอดชั้นบน เถาวัลย์ที่ขึ้นเกี่ยวพันอยู่ในชั้นนี้ได้แก่ แสลงพัน (Bauinia bracteata) เถาไฟ (B. integrifolia ) กระไดลิง (B. scandens) คุย (Willughbeia dulcis) สะบ้า (Entada pursaetha) สะบ้าช้าง (E. spiralis) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหวายในสกุล Calamus, Korthalsia และ Daemonorops ขึ้นเกี่ยวพันอยู่ในชั้นนี้ด้วย พืชสกุลปาล์มที่พบได้แก่ หมากพน (Orania sylvicola Moore) หลาวชะโอนเขา (Oncosperma horrida Scheff.) ค้อ (Livistonia speciosa Kurz) และ กะพ้อ (Licuala spp.) กระจายอยู่ทั่วไป
  ในระดับพื้นป่าประกอบด้วยกล้าไม้ เป็นส่วนใหญ่ขึ้นผสมกับพืชล้มลุกชนิดต่างๆ และพืชหัวในกลุ่มขิงข่า เฟิร์น ชนิดสำคัญได้แก่ เปราะป่า (Kaemferia pulchra Ridl.) ปุดขน (Globba malaccensis Ridl.) ปุดใหญ่ (Achasma macrocheilos Griff.) ปุดคางคก (A. megalocheilos Griff.) ข่าป่า (Cantimbium sp.) เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีคลุ้ม (Donax grandis Ridl) ปรากฏในบางพื้นที่ด้วย ระกำหลา (Salacca simensis Mogea) ก่อกลุ่มเป็นก่อใหญ่ทั่วไป จากการสำรวจพืชในป่าดงดิบชื้นโดยใช้แปลงตัวอย่างขนาด 10x10 เมตร จำนวน 12 แปลง พบไม้ทั้งหมด 33 ชนิด

 (2) ป่าดงดิบชื้น (Moist evergreen forest)
  ป่าดงดิบชื้นในภาคใต้ส่วนมากกระจัดกระจายอยู่ตามบริเวณที่มีความชุมชื้นมาก เช่น ตามหุบเขา และตามริมแม่น้ำลำธารต่างๆ รวมทั้งในที่ดินที่สามารถเก็บความชุ่มชื้นไว้ได้นานลักษณะเป็นป่ารกทึบที่เรือนยอดต่อเนื่องจากชั้นบนสุดลงมาถึงพื้นดิน ไม้เด่นที่มีเรือนยอดในชั้นนี้มีความสูงตั้งแต่ 30 เมตรขึ้นไป ได้แก่ ตังหน (Calophyllum pulcherrium Wall.) ทุเรียนนก (Durio griffithii Bakh.) สตอ (Parkia speciosa Hassk) คอแห้ง (Grewia cuspidor-serrata Burret) สังกะโต้ง (Aglaia andamanica Hiern) ชั้นรองของป่าดงดิบชื้นประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิด ได้แก่ ไหม้ (Diospyros tahanensis Bakh.) กราย (Xylopia malayana Mook.f. &Th.) เนียงป่า (Archidendron jiringa Mielsen) สั่งทำ (Diospyros buxifolia Bl. Ex Miern) ดำ (Diospyros brandissiana Kurz) จิกเขา (Barringtonia fusiformis King) กระดูกค่าง (Aporusa aurea Hook.f.) ชั้นของไม้ขนาดเล็ก พันธุ์ไม้สำคัญในชั้นนี้ ได้แก่ แดงเขา (Eugenia sp.) สักเขา คอลั้ง เทิงจาก และแก่นแห้ง
  ป่าดงดิบชื้นเป็นแหล่งสำคัญของสัตว์ที่อาศัยอยู่บนเรือนยอดไม้หลัก เช่น ชะนี ค่าง พญากระรอก พุ่งจาก และ นกหลายชนิด สัตว์ป่าขนาดใหญ่ เช่น ช้าง กระทิง สมเสร็จ อาศัยเป็นที่ซ่อนตัว และพักผ่อน

 

(3) ป่าดงดิบแล้ง (Semi evergreen forest)
  ป่าชนิดนี้จำแนกโดยการปรากฏไม้ผลัดใบและไม่ผลัดใบในสังคมในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน และพิจารณาไม้ดัชนีในชั้นเรือนยอดระดับต่างๆ เป็นแนวในการจำแนก จากรายงานในอดีตไม่กล่าวถึงป่าชนิดนี้ว่ามีปรากฏในภาคใต้ แต่ผลการศึกษาข้อมูลสังคมพืชในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ปรากฏในภาคใต้ แต่ผลการศึกษาข้อมูลสังคมพืชในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติชนิดนี้ปรากฏว่ามีสังคมพืชชนิดนี้ พบในหลายส่วนของพื้นที่ ซึ่งลักษณะสังคมแสดงออกถึงสภาพปัจจัยแวดล้อมที่ชื้นกว่าที่พบในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  ในชั้นเรือนยอดของป่าดงดิบแล้งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง ประกอบด้วย ไม้ตะเคียนหิน (Hopea ferrea Pierre) เป็นไม้เด่นผสมกับไม้ตะแบกแดง (Largerstroemia calyculata Kurz) ตะแบกเปลือกบาง (L. duperreana Pierre) ชุมแสง (Xanthophyllum glaucum Wall.) กะพง (Tetrameles nudiflbra R. Br.) กระบก (Irvingia malayana Oliv.ex A Benn.) ไม้ในชั้นนี้มีความสูงอยู่ในช่วงประมาณ 25-35 เมตร เรือนยอดแยกกันข้างๆ ไม้ชั้นรองส่วนใหญ่เป็นไม้ผลัดใบ ได้แก่ กระเบากลัก (Hydnocarpus ilicifolius King) กระโดงแดง (Bhesa robusta Ding Hou) กะหนาย (Pterospermum littorale Craib) กาแซะ (Millettia atropurpurea Benth.) กล้วยค่าง (Orophea enterocarpa Maing. Ex Hook.f. & Th.) ลางสาดดง (Aglaia domestica Pelleg.) เนียน(Diospyros diepenhorstii Miq.) มะปริง (Bouea oppositolia Meissn.) ไอ้แกรก (Gynotroches axillaries Bl.) และมะขามป้อม (Phyllanthus emblica Linn.) เป็นต้น ชั้นนี้มีความสูงของเรือนยอดตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไปจนถึง 25 เมตร ลักษณะโครงสร้างโดยทั่วไปมีความหนาแน่นน้อยกว่าป่าดงดิบชื้น ในบางพื้นที่มีไม้ไผ่ขึ้นผสมอยู่ด้วย พื้นป่าประกอบด้วยกล้าไม้ของไม้ชั้นบนผสมกับพืชล้มลุกและพุ่มไม้เตี้ยส่วนใหญ่ ชนิดที่สำคัญ เช่น เปล้าน้ำเงิน (Croton cascarilloides Raeusch.) เปล้าน้อย (C. lonhissimus Arry Shaw) เข็มแดง (Ixora lobbii Loud.) กะตังใบ (Leea indica Merr.) ปริก (Mallotus froribundus Muell. Arg.) และพืชล้มลุกในวงศ์ขิง (Zingiberaceae) อีกหลายชนิด โดยเฉพาะกระเจียวมักพบคลุมพื้นที่กว้างขวาง จากการสำรวจพืชในป่าดงดิบแล้งโดยใช้แปลงตัวอย่างขนาด 10x10 เมตร จำนวน 10 แปลง พบไม้ทั้งหมด 41 ชนิด ชนิดพันธุ์ไม้ที่พบและค่าดัชนีความสำคัญของไม้แต่ละชนิด (Important Value Index หรือค่า I.V.I.)

 (4) ป่าผสมผลัดใบชื้น (Moist mixed deciduous forest)
  เป็นป่าที่พบเป็นแถบเล็กๆ ในบางส่วนของพื้นที่ โดยเฉพาะที่ราบข้างลำห้วยสายเล็กๆ ที่ดินเป็นดินทรายจัด ที่เด่นชัดได้แก่ บริเวณริมต้นห้วยคลองแสงเหนือหน่วยพิทักษ์ป่าคลองหยา ในชั้นเรือนยอดเป็นตะแบกแดง (Lagerstroemia calyculta Kurz) อินทนิลน้ำ (L. speciosa Pers.) ตะแบกนา (L. floribunda jack) ผสมกับไม้อื่น เช่น มะขามป้อม (Phyllanthus emblica Linn.) ส้านใบเล็ก (Dillenia ovata Wall.er Hook. F. & Th.) ระดับไม้ชั้นรองมีความสูงประมาณ 15 เมตร ประกอบด้วยไม้ขนาดกลางที่ผลัดใบและไม่ผลัดใบขึ้นผสมกันและมีไม้ไผ่ปรากฏอยู่ด้วย ไม้สำคัญเช่น ส้านใบเล็ก(Dillenia ovata Wall.er Hook. F. & Th.) ไข่เน่า (Vitex glabrata R. Br.) ตีนนก (V. pinnata Linn.) กระโดน (Creya arborea Roxb.) มะเกลือ (Diospyros mollis Griff.) ติ้วขน (Cratoxyum formosum Dyer subsp. Pruniflorum Gogel.) เปล้าใหญ่ (Croton oblonggifolius Roxb.) และมะเม่า (Antidesma sp.) พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ค่อนข้างโล่งเตียน เนื่องจากร่มเงาของไม้ไผ่ปรากฏลูกไม้ขึ้นอยู่ห่างๆ ผสมกับหญ้าและพืชล้มลุกที่กล่าวไว้ในป่าดงดิบแล้ง สังคมพืชนี้อาจเป็นสังคมที่อยู่ในขั้นของการทดแทนที่จะกลับไปเป็นป่าดงดิบแล้งและป่าดงดิบชื้นต่อไป แต่การถูกเผาเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์จึงทำให้คงสภาพอยู่ที่ระดับนี้ จากการสำรวจพืชในป่าผสมผลัดใบชื้นโดยใช้แปลงตัวอย่างขนาด 10 x 10 เมตร จำนวน 10 แปลง ป่าชนิดนี้มีเรือนยอดปกคลุมพื้นที่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ พบไม้ทั้งหมด 29 ชนิดพันธุ์
  สังคมพืชชนิดนี้นับว่ามีความสำคัญต่อสัตว์ป่าขนาดใหญ่อยู่มากเป็นแหล่งอาหารของช้าง กระทิง วัวแดง กวางป่า สมเสร็จ และเก้งหม้อ

 (5) สังคมป่าไม่ถาวร (Successional community)
  สังคมพืชที่อยู่ในขั้นการทดแทนปรากฏให้เห็นได้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณริมลำห้วยที่ถูกทำลายโดยน้ำ พื้นที่ไร่ร้างที่โยกย้ายราษฏรออกในการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่น้ำท่วมรอบอ่างเก็บน้ำที่ระดับสูงบางปี สังคมพืชเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อสัตว์ป่าขนาดใหญ่มาก โดยเฉพาะเป็นแหล่งอาหารของสัตว์กินหญ้าทั่วไป สังคมพืชที่เห็นได้เด่นชัด ได้แก่ ทุ่งหญ้าคา ดงตะแบก ดงกระทุ่ม ดงกล้วยป่า ป่าไผ่ ทุ่งหญ้าในระดับน้ำท่วมถึง ป่าเขาหินปูน และผาหิน

  (5.1) ทุ่งหญ้าคา (Lalang consocies) ) เป็นสังคมที่เกิดขึ้นในท้องนาหรือไร่ร้างที่ถูกทอดทิ้งเนื่องจากการโยกย้ายคนออกจากพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ปรากฏอยู่ไม่มาก พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยหญ้าคา ร่องรอยการทำกินของราษฏรยังคงปรากฏให้เห็นได้เช่น คันนา คูเหมือง ร่องสวน เป็นต้น พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยหญ้าคา (Imperata cylindrical Beauv.) มักมีไฟป่าเผาผลาญทุกปีส่วนใหญ่เกิดจากคนจุดเผาบางตอนที่มีความชื้นสูงและมีน้ำขังในบางฤดูกาลก็เปลี่ยนเป็นลำเทง (Stenochlaena palustris Bedd.) ผักกูดดำ (Asplenium longissimum Bl.) ผักกูดขม (Blechnum indicum Burm.f.) นอกจากนั้นยังมีเถาว์ลิเภา (Lygodium spp.) ปรากฏอยู่ด้วย ส่วนหญ้าและพืชล้มลุกอย่างอื่นที่เห็นได้น้อย ในช่วงฤดูแล้งมักถูกจุดเผาเพื่อก่อให้เกิดหญ้าระบัดและให้สัตว์ป่าขนาดใหญ่เข้ามาใช้เป็นแหล่งอาหาร

 

 

5.2) ดงไม้ตะแบก (Lagerstroemia consocies) เป็นหมู่ไม้ในสกุลไม้ตะแบกโดยเฉพาะอินทนิลน้ำ (Lagerstromia speciosa Pers.) ปรากฏขึ้นรวมกันอย่างหนาแน่น มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางโดยเฉลี่ยประมาณ 5.50 ซม. (ช่วงตั้งแต่ 3.2-8.4 ซม.) ปกคลุมเป็นหย่อมกว้างๆ มีความหนาแน่นในกลุ่ม 68.75 ตันต่อพื้นที่ 0.01 เฮกแตร์ ส่วนใหญ่ พบในพื้นที่ที่ถูกทำลายป่าไม่นาน ภายใต้สังคมนี้ค่อนข้างโล่งเตียนเนื่องจากการขาดแสง นับได้ว่าเป็นแหล่งหลบภัยของสัตว์ป่าที่สำคัญ สังคมนี้ถ้าหากมีน้ำท่วมอยู่นานก็จะหายไป

  (5.3) ดงไม้กระทุ่ม (Anthrocephalus consocies) เป็นไม้กระทุ่มที่ขึ้นหนาแน่น ไม้ชนิดนี้เป็นไม้เบิกนำที่ชอบขึ้นในที่ชื้นจัด โดยเฉพาะริมลำห้วยที่ถูกถางหรือถูกน้ำพัดทำลายพืชเก่าออกไป เมื่อเข้ายึดครองได้แล้วก็เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จากหมู่ไม้ที่ทำการศึกษาพบว่าไม้ส่วนใหญ่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย 1.40 ซม. ( ช่วงแปรผันของข้อมูลจาก 8-20 ซม.) มีความสูงประมาณ 7-8 เมตร ความหนาแน่นเฉลี่ย 10.33 ตันต่อ 0.1 เฮกแตร์ เป็นที่พักของสัตว์ใหญ่ในเวลากลางคืน
  (5.4) ดงกล้วยป่า (Musa consocies) เป็นกลุ่มของกล้วยป่าที่ขึ้นหนาแน่นพบได้สองฝั่งลำห้วยที่ป่าเดิมถูกทำลายและมีไฟป่ามาก่อน ชนิดที่พบได้แก่ กล้วยป่า (Musa acuminate colla) ซึ่งมีความหนาแน่นประมาณ 36.62 ตันต่อ 0.01 เฮกแตร์ เป็นแหล่งอาหารของช้างป่าในช่วงฤดูแล้ง ผลกล้วยเป็นอาหารของสัตว์ป่าหลายชนิด

  (5.5) ป่าไผ่ (Melocanna consocies) ป่าไผ่เป็นสังคมพืชกึ่งดั้งเดิมปกคลุมในส่วนที่มีความลาดชันไม่มากนัก ไม้ใหญ่ที่ขึ้นห่างๆ ถูกตัดออกทำให้ไผ่ขึ้นเด่นเป็นพืชนำในสังคม ในบางส่วนเป็นพื้นที่ที่มีการถางป่าลงเนื่องจากการสร้างอ่างเก็บน้ำ กอเก่าของไผ่ไม่ตายและกลับขึ้นหนาแน่นเช่นเดิมแต่ไม้ใหญ่หมดไป ชนิดที่เด่นได้แก่ ไผ่เกรียบ (Melocanna humilis Kurz) สังคมนี้เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของช้างป่า กระทิง และวัวแดง ที่เข้ามากินหน่อไผ่ในช่วงต้นฤดู

  (5.6) พื้นที่น้ำท่วมถึง (Drawdown area) เป็นพื้นที่ริมอ่างเก็บน้ำหรือชานห้วยตอนปลายของอ่างเก็บน้ำในหลายลำห้วยแยกมีน้ำท่วมถึงเป็นบางปี จึงทำให้ไม้ยืนต้นตายลงและไม่สามารถกลับมายึดพื้นที่ได้ ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยหญ้าเป็นหลักผสมกับพืชล้มลุกอื่นๆ และพืชจำพวกเฟิร์น ชนิดที่สำคัญได้แก่ หญ้านมหนอน (Paspalum conjugatum) หญ้าปล้องอ้อ (Panicum auritum) และผักเป็ดไทย (Alternanthera sessilis DC.) ส่วนเฟิร์นที่พบมากได้แก่ ผักกูดดำ (Asplenium longissimum Bl.) ผักกูดขม (Blechnum indicum Burm.f.) นาคราช (Davallia Denticulata Mett.) ลำเทง (Stenochaena palustris Bedd.)ลิเภา (Lygodium spp.) สังคมพืชนี้มักถูกน้ำท่วมหายไปเมื่อมีการกักเก็บน้ำในระดับสูงแต่ละแห่งในช่วงฤดูแล้ง ในบางครั้งบางช่วงที่มีฝนตกน้อยติดต่อกันหลายปีก็จะเป็นทุ่งหญ้ายั่งยืนอยู่นาน เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ของสัตว์กีบโดยทั่วไป

  (5.7) สังคมผาหิน (Rocky cliff community) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงประกอบด้วยภูเขาสลับซ้อนที่มีหน้าผาตั้งชันเป็นจำนวนมาก บริเวณหน้าผาเหล่านี้มีสังคมพืชที่แปลกเป็นพิเศษขึ้นปกคลุมตามซอกหิน พืชส่วนใหญ่เป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี นอกนั้นยังต้องสามารถต้านลมที่พัดได้ด้วย มักมีรากที่ยึดเกาะกับหินได้อย่างมั่นคง โดยทั่วไปมีลำต้นแคระแกรนพันธุ์ไม้ที่สำคัญอยู่ในกลุ่มไทย เช่น มะเดื่อขี้นก (Ficus chartacea Wail.) ไทรหิน (F. curtipes corner) เลียบ (F. lacor Buch.) ไทรย้อยใบทู่ (F. microcarpa Linn. f.) โพศรีมหาโพ (F. religiosa Linn.) นอกจากนี้ยังมีไม้เนื้อแข็งอื่นๆ อีกหลายชนิด ส่วนไม้ที่จัดว่ามีการปรับตัวกับความแห้งแล้งโดยแท้ได้แก่ สลัดได จันทร์ผ่า เตยเขา (Pandanus monotheca Martelli) และปาล์มราหู เป็นต้น สังคมพืชชนิดนี้ยังมิได้มีการศึกษาถึงขั้นรายละเอียด

  (5.8) สังคมป่าเขาหินปูน (Limestone forest) เป็นสังคมป่าบนเขาหินปูนที่ดินค่อนข้างตื้น ไม้ค่อนข้างแคระแกร็นอยู่บนเขาสูงชนิดพันธุ์ไม้โดยทั่วไปคล้ายคลึงกับป่าผสมผลัดใบชื้นและป่าดงดิบแล้ง แต่มีไม้ผลัดใบผสมอยู่มากสังคมนี้ยังมิได้มีการสำรวจกันอย่างแท้จริง

 

 

 

ระบบนิเวศปาไม้

ระบบนิเวศป่าไม้ เป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญที่สุดของโลก ซึ่งเกื้อกูลการดำรงชีวิตของประชาชนจำนวนมาก อีกทั้งยังช่วยควบคุมสภาพอากาศให้เหมาะสม เนื่องจากเป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอน

การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 4 พ.ศ. 2542 ได้มีการพิจารณาและเห็นชอบโปรแกรมงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศป่าไม้ เพราะเห็นว่าป่าไม้เป็นแหล่งสำคัญของระบบนิเวศบนบก และถูกคุกคามได้ง่ายในหลายลักษณะ อาทิ การใช้ประโยชน์ที่ดิน มลภาวะ ไฟป่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การนำเข้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน ซึ่งก่อให้เกิดการเสียสมดุลของระบบนิเวศ การเปลี่ยนแปลงของระบบ ซึ่งส่งผลต่อการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ

นิยามความหมายของ “ ระบบนิเวศป่าไม้ ” ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ คือ แหล่งรวมของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ที่มาอาศัยอยู่ร่วมกันและก่อให้เกิดความสัมพันธ์ต่อสิ่งมีชีวิตด้วยกันเองในหลายรูปแบบ มีการส่งผ่านพลังงานระหว่างระบบหรือภายในระบบ

ในระบบนิเวศป่าไม้ ประกอบด้วยระบบนิเวศย่อย ได้แก่

  • ระบบนิเวศย่อยป่าผลัดใบ ประกอบด้วย ป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรัง ป่าทุ่ง และทุ่งหญ้าเขตร้อน
  • ระบบนิเวศย่อยป่าไม่ผลัดใบ ประกอบด้วย ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสนเขา

ทั้งนี้ ในแต่ละระบบนิเวศย่อยจะมีลักษณะที่กําหนดโดยปัจจัยที่เกี่ยวกับปัจจัยทางกายภาพ ได้แก่ ลมฟ้าอากาศ ปริมาณน้ำฝน ดิน และความสูงจากระดับน้ำทะเล เป็นต้น และปัจจัยด้านชีวภาพ ได้แก่ โครงสร้างของป่า อง์ประกอบของชนิดพืช ชั้นเรือนยอดของไม้ และดรรชนีพืช เป็นต้น

ประเทศไทยมีเนื้อที่ทั้งประเทศ 517,610 ตารางกิโลเมตร หรือ 323,506,250 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 162,333.83 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 101,458,643.75 ไร่ คิดเป็น 31.36 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ

หมายเลขบันทึก: 447243เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2011 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท