ระบบนิเวศป่าไม้


ระบบนิเวศป่าไม้

ระบบนิเวศป่าไม้

1.ความหมาย

ระบบนิเวศป่าไม้ (forest ecosystems) หมายถึง สังคมของพืชและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในพื้นที่ป่าหนึ่ง ๆ ที่มีการตอบซึ่งกันและกันต่อสภาพแวดล้อมทางกายภาพต่างๆ อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง มีความหลากหลายทางชีวภาพ และมีการไหลเวียนของแร่ธาตุด้วย

2.โครงสร้างของระบบนิเวศ

ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

1. องค์ประกอบที่ไม่มีชีวิต (Abiotic Components) แบ่งได้ 3 ส่วน คือ

1.1 อนินทรียสาร (Inorganic Substance) เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ ออกซิเจน ฯลฯ

1.2 อินทรียสาร (Organic Substance) เช่น โปรตีน ฮิวมัส ไขมัน ฯลฯ

1.3 สภาพแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Environment) เช่น แสง อุณหภูมิ อากาศ เป็นต้น

2. องค์ประกอบที่มีชีวิต(Biotic Components) จำแนกตามหน้าที่ได้ 3 ชนิด คือ

2.1 ผู้ผลิต (Producer) หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่สร้างอาหารได้เอง โดยกระบวนการสังเคราะห์แสง (Photosynthesis) ได้แก่ พืชสีเขียว แพลงตอน แบคทีเรียบางชนิด ฯลฯ ซึ่งจะมีคลอโรฟีลล์ที่เป็นรงควัตถุสีเขียวสามารถสร้างคาร์โบไฮเดรตได้ จึงถืได้ว่าผู้ผลิตมีความสำคัญมากเพราะเป็นส่วนเริ่มต้นที่เชื่อมระหว่างสิ่งไม่มีชีวิต และสิ่งที่มีชีวิตในระบบนิเวศ

2.2 ผู้บริโภค (Consumer) หมายถึงสิ่งมีชีวิตที่สร้างอาหารเองไม่ได้ ได้รับอาหารจากการกินสิ่งมีชีวิตอื่น จำแนกเป็น 3 ชนิด คือ

2.2.1 ผู้บริโภคแบบปฐมภูมิ (Primary Consumer) คือ สัตว์กินแต่พืช

2.2.2 ผู้บริโภคแบบทุติยภูมิ (Secondary Consumer) คือ สัตว์ที่กินสัตว์ด้วยกัน (Carnivores)

2.2.3 ผู้บริโภคแบบตติยภูมิ (Tertiary Consumer) คือ สัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์ (Omnivore)

2.3 ผู้ย่อยสลาย (Decomposer) หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่สร้างอาหารเองไม่ได้ แต่จะได้อาหารโดยการสร้างเอนไซม์มาย่อยสลายซากของสิ่งมีชีวิต ของเสีย กากอาหาร ซึ่งได้แก่ แบคทีเรีย เห็ด รา ฯลฯ

3. ปัจจัยกำหนดลักษณะของระบบนิเวศ

1. อุณหภูมิ อุณหภูมิมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของออกซิเจนในน้ำ การเปลี่ยนแปลงรูปพรรณและสรีระของสิ่งมีชีวิต การอพยพของสัตว์ การแพร่กระจายของพืชและสัตว์

2. น้ำและความชื้น พืชและสัตว์มีการถ่ายเทไอน้ำให้กับอากาศอยู่เสมอ บริเวณที่มีความชื้นต่ำ ร่างกายจะถ่ายเทน้ำให้อากาศมากขึ้น ระบบนิเวศที่มีความชื้นมากมักจะมีพืชและสัตว์อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น

3. แสงสว่าง ส่วนใหญ่เป็นแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เพราะทำให้เกิดการถ่ายเทวัตถุธาตุต่าง ๆ ช่วงแสงมีผลต่อการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ของพืชหลายชนิด และความเข้มแสงมีผลต่อการสังเคราะห์แสง

4. ดิน ถือได้ว่าเป็นที่รวมของธาตุอาหารต่าง ๆ และยังเป็นแหล่งปุ๋ยธรรมชาติ ดินที่สมบูรณ์หรือมีธาตุอาหารแตกต่างกันย่อมมีผลต่อพืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ด้วย

5. ไฟป่า มีทั้งผลดีและผลเสียต่อสิ่งมีชีวิต ผลเสียคือ ทำลายแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย ของสิ่งมีชีวิต ส่วนผลดีคือ ช่วยเพิ่มธาตุอาหารบางชนิดซึ่งทำให้พืชช่วยเร่งการงอกของเมล็ดพืชบางชนิด

6. มลภาวะ การเกิดมลภาวะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศไปในทางเลวร้าย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์

7. การแย่งชิง เป็นการแย่งชิงกันระหว่างสิ่งมีชีวิต เนื่องจากมีความต้องการเหมือนกัน แต่มีไม่เพียงพอที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่เป็นปกติได้

8. การกินซึ่งกันและกัน เป็นการที่สิ่งมีชีวิตหนึ่งกินสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เป็นอาหาร ทำให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศแต่ระบบนิเวศที่ขาดการกินซึ่งกันและกัน ก็จะมีผลทำให้ระบบนิเวศนั้นเสียสมดุลทางธรรมชาติได้

9. ความเป็นกรดเป็นด่าง มีความสำคัญต่อกระบวนการหายใจและระบบการทำงานของเอนไซม์ภายในร่างกาย เพราะตัวความเป็นกรดหรือด่างเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยก็อาจเกิดอันตรายได้ และยังมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชด้วย

 

 

หมายเลขบันทึก: 447240เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2011 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 11:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท