วิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี


แนะนำวิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี (สถาบันเดิม ระดับปริญญาตรี)

แนะนำสถาบันที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีค่ะ

วิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี

ประวัติวิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี
                การจัดตั้งวิทยาลัยนาฏศิลปในภาคตะวันออก เกิดขึ้นจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่  ๕  (พ.ศ. ๒๕๒๕ -๒๕๒๙) และจากการที่ประชาชนชาวจังหวัดจันทบุรี ซึ่งนำโดย นายบุนนาค สายสว่าง ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีในขณะนั้น ได้มีความห่วงใยเยาวชนของจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดใกล้เคียงในภาคตะวันออก ที่อาจหลงใหลไปกับกระแสวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสังคมไทย และเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายเอกลักษณ์ ความมั่นคงของชาติ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ประชาชนในจังหวัดจันทบุรี ได้ร่วมแรงร่วมใจจัดหาที่ดินที่เหมาะสมสำหรับจัดตั้งสถานศึกษาเฉพาะทาง เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์ไทย และดนตรีไทยแก่ บุตรหลานของชาวจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดใกล้เคียงในภาคตะวันออกให้ได้รับการศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนดำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยและของชาวจังหวัดจันทบุรี โดยใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ “ทุ่งพลงเหนือ” เนื้อที่ ๕๐ ไร่ เป็นที่ตั้งของวิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรีในปัจจุบัน
วิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งขึ้นตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ
                เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ โดยสังกัดกองศิลปศึกษา กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ และเปิดสอนตั้งแต่ชั้นประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นต้น ถึงชั้นประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นสูงวิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี เปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรก ในภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๒๗ โดยใช้อาคารเรียนของโรงเรียนเทศบาลเมืองจันทบุรี เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอนชั่วคราว โดยมีผู้บริหารและคณะครู-อาจารย์ ที่ร่วมกันพัฒนาวิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรีในครั้งนั้น รวม ๘ คน อาคารเรียนหลังแรกของวิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี ได้เริ่มทำการก่อสร้างเมื่อวันที่   ๓ สิงหาคม ๒๕๒๗  ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๒   กรกฎาคม ๒๕๒๘  ในที่ดินที่เป็นที่ตั้งในปัจจุบัน และได้ย้ายมาทำการเรียนการสอนในอาคารเรียนของวิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี ตั้งแต่ภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๒๘ เป็นต้นมา
                ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ สำนักนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งที่ ๓๐๖ / ๒๕๔๕ ลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๕  เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการครูซึ่งสังกัดวิทยาลัยนาฏศิลป วิทยาลัยช่างศิลป และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรมศิลปากร   กระทรวงศึกษาธิการ  ไปดำรงตำแหน่งในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม วิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี จึงได้มาอยู่ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมตามพระราชบัญญัติสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พุทธศักราช   ๒๕๕๐  วิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี ได้ย้ายมาขึ้นกับสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์จนถึงปัจจุบัน

 ปรัชญาการศึกษา
สาธุโข สิปฺปกํ นาม อปี ยาทิสกีทิสํ  
"ขึ้นชื่อว่าศิลปะแม้เช่นใด เช่นหนึ่ง ก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้"
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานในโอกาสครบรอบ ๖๐ ปี วิทยาลัยนาฏศิลป  เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๗


วิสัยทัศน์
วิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี  เป็นสถานศึกษาที่มุ่งจัดการศึกษา ด้านนาฏศิลป์ไทย ดุริยางค์ไทยและศิลปะสากลอย่างมีคุณภาพแก่นักเรียน นักศึกษาให้มีความเป็นเลิศในการสืบทอด อนุรักษ์ และสร้างสรรค์ ศิลปวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่คู่สังคมไทยและพัฒนาสู่ความเป็นสากล

พันธกิจ
    ๑. จัดการศึกษาระดับพื้นฐานและระดับปริญญาตรี ด้านนาฏศิลป์ไทย ดุริยางค์ไทยและศิลปะสากล อย่างมีคุณภาพและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
    ๒. พัฒนานักเรียน นักศึกษา ให้เป็นบุคลากรที่สร้างสรรค์ อนุรักษ์ และถ่ายทอดศิลปะ
วัฒนธรรมไทย
    ๓. พัฒนาองค์กร โดยจัดระบบบริหารจัดการ   ที่เปิดโอกาสให้ทุกส่วนมีส่วนร่วม การทำงาน เป็นทีมและใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติงาน
    ๔. ส่งเสริมความเป็นเลิศด้านทักษะปฏิบัตินาฏศิลป์ไทย ดุริยางค์ไทยให้บริการด้านวิชาการและศิลปวัฒนธรรมไทยแก่ชุมชนและองค์กรทั้ง ภาครัฐและเอกชน

หลักสูตรการศึกษา


    วิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรีจัดการเรียนการสอน ๒  ระดับได้แก่  ขั้นพื้นฐานและขั้นอุดมศึกษา  ระดับพื้นฐานเปิดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ – ๖    โดยใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานและหลักสูตรวิชาชีพเฉพาะด้านนาฏศิลป์ ไทย     ดุริยางค์ไทย   และศิลปะสากล ระดับอุดมศึกษา  จัดการศึกษาระดับปริญญาตรี  ๕ ปี  ตามหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต ของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

ข้อมูลติดต่อ
เลขที่   ๖๐   ตำบล วัดใหม่ อำเภอเมือง   จังหวัดจันทบุรี  ๒๒๐๐๐   
โทร. ๐๓-๙๓๑๓-๒๑๔   
เว็บไซต์  http://cdacb.bpi.ac.th/      

 


หมายเลขบันทึก: 446968เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2011 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท