วรรณกรรมและวรรณคดี


วรรณคดี และ วรรณกรรม

ร่วมส่งเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ คลิกที่นี่ บทความของท่านมีประโยชน์กับผู้ไม่รู้อีกมากมาย
   

ความหมายของวรรณคดี
        เนื่องจากมีการเข้าใจสับสนระหว่างคำว่า วรรณคดี กับวรรณกรรม อยู่เสมอ เนื่องจากทั้งสองคำ มาจากภาษาอังกฤษว่า Literature เช่นเดียวกัน สำหรับในภาษาไทยนั้นมีการใช้คำว่า "วรรณคดี" ก่อนภายหลังจึงได้เกิดมีคำว่า "วรรณกรรม" ขึ้น และจริง ๆ แล้ว ในอดีตก่อนปี พ.ศ. 2457 ไทยเรายังไม่มีคำว่า "วรรณคดี" ใช้ เราเรียกหนังสือวรรณคดีว่า "หนังสือ" (เช่นเรียกเรื่องท้าวบาเจืองหรือท้าวฮุ่งท้าวเจืองที่ทางเวียงจันทร์ส่งมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกว่า "หนังสือเจียง" หรือเรียกเรื่องมหาภารตะว่า "หนังสือมหาภารตะ" เป็นต้น) หรือเรียกโดยใช้ชื่อผู้แต่งกับชื่อลักษณะคำประพันธ์และประเภทของเนื้อหา (เช่น นิราศนรินทร์คำโคลงหรือนิราศพระยาตรัง เป็นต้น) หรือเรียกโดยใช้ชื่อลักษณะคำประพันธ์และเหตุการณ์หรือโอกาสที่ทำให้เกิดเรื่องนั้น ๆ ขึ้น (เช่น เพลงยางหรือกลอนนิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง หรือโคลงนิราศเวียงจันทร์         พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเดชาดิศร เป็นต้น) (ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. 2541 : 15) และคำว่า "วรรณคดี" นี้รู้จักกันอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2450 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในโอกาสที่ทรงตั้ง "โบราณคดีสโมสร" ขึ้น วัตถุประสงค์ของสโมสรนี้ก็เพื่อส่งเสริมการประพันธ์ การศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี งานที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับวรรณคดีคือ การพิมพ์เผยแพร่วรรณคดีโบราณ เช่น ลิลิตยวนพ่าย ทวาทศมาส และนิราศพระยาตรัง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการตรวจคัดหนังสือที่แต่งดี เพื่อรับพระบรมราชานุญาตประทับพระราชลัญจกรมังกรคาบแก้ว หนังสือใดที่โบราณคดีสโมสรนี้ประทับพระราชลัญจกรมังกรคาบแก้วก็ได้ชื่อว่าเป็น "วรรณคดี" ซึ่งในขณะนั้นถือว่าเป็น "หนังสือดี"
        ต่อมาใน พ.ศ. 2457 คำว่า "วรรณคดี" จึงได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งวรรณคดีสโมสร เพื่อส่งเสริมการแต่งหนังสือ เช่นเดียวกับกิจการของโบราณคดีสโมสร และงานที่สำคัญของวรรณคดีสโมสรนี้ก็คือการพิจารณายกย่องหนังสือสำคัญของชาติว่าเรื่องใดเป็นยอดทางไหน (สิทธา พินิจภูวดล และนิตยา กาญจนะวรรณ. 2520 : 1-3)สำหรับคำว่า "วรรณคดี" ได้มีผู้ให้คำจำกัดความไว้หลากหลายดังนี้ คือ
      คำว่า "วรรณคดี" ตามตัวอักษร หมายความว่า "แนวทางแห่งหนังสือ" คำว่าวรรณคดี เป็นคำสมาส ประกอบด้วยคำ "วรรณ" จากรากศัพท์สันสกฤต วรณ แปลว่า หนังสือ กับคำว่า "คดี" จากรากศัพท์บาลี คติ แปลว่า การดำเนิน การไป ความเป็นไป แบบกว้าง ทาง ลักษณะ ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 (2539 : 754) ได้ให้ความหมายว่า หนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี
สิทธา พินิจภูวดล , รื่นฤทัย สัจจพันธ์ และเสาวลักษณ์ อนันตศานต์ (2524 : 1) ได้อธิบายเพิ่มเติมความหมายของวรรณคดีที่ว่าเป็นหนังสือแต่งดี นั้นได้แก่ บทประพันธ์ทุกชนิดที่ผู้แต่งมีวิธีเขียนที่ดีมีศิลปะ ก่อให้เกิดความประทับใจแก่ผู้อ่านสร้างความสนุกเพลิดเพลินให้แก่ผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านมีมโนภาพไปตามจินตนาการของผู้แต่ง เร้าให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจไปตามความรู้สึกของผู้แต่ง บางครั้งผู้แต่งจะสอดแทรกความรู้และทัศนคติในเรื่องต่าง ๆ ลงในงานของเขา แต่ก็มิได้หมายความว่าผู้แต่งมุ่งให้ความรู้หรือมุ่งสอนปรัชญา ศีลธรรม หรือเรื่องของชีวิต ทั้งนี้เพราะวรรณคดีไม่ใช่ตำราซึ่งมุ่งสอนความรู้เป็นสำคัญ ถ้าตำราเล่มใดมีลักษณะเป็นวรรณคดีก็จะได้รับการยกย่อง เช่น ไตรภูมิพระร่วง ปฐมสมโพธิกถา เป็นต้น วรรณคดีเป็นที่รวมความรู้สึกนึกคิด ความรอบรู้ ความฉลาด และสติปัญญาอันลึกซึ้ง คนที่อ่านวรรณคดีก็จะได้รับถ่ายทอดความฉลาดรอบรู้ไว้ด้วยมากบ้างน้อยบ้าง

คำสำคัญ (Tags): #จุฑาภรณ์
หมายเลขบันทึก: 446672เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2011 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท