พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว(2) : การขอความช่วยเหลือต่อโครงการที่ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย


ปัญหาที่เคสประสบ ทั้งในเรื่องสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว และสิทธิในการเดินทาง

            เนื่องด้วยนางสาวพร บุคคลไร้สัญชาติ ไม่สามารถทราบได้ว่าเกิดที่ใด บิดามารดาคือใคร ได้เข้ารับการสำรวจกลุ่มคนไม่มีสถานะทางทะเบียนโดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลบ้านแพรก อำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2553 ได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 0-1xxx-89xxx-xx-x ภายใต้พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร 2534 ม.38 วรรค 2 และยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 ซึ่งมีหลักการสำคัญคือการสำรวจกลุ่มเป้าหมายเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตน และตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. 2548 ภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว ได้กำหนดว่าบุคคลที่เข้ารับการสำรวจกลุ่ม “บุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน” แล้วนั้นจะได้รับการจัดทำบัตรประจำตัวคนไม่มีสถานะทางทะเบียนเพื่อใช้เป็นเอกสารแสดงตน และตามข้อเท็จจริงนางสาวพรทิพย์ ได้รับการถ่ายรูปสำหรับจัดทำบัตรและรับเอกสารหลักฐานเพื่อนำมาในวันถ่ายรูปและทำบัตรประจำตัวคนไม่มีสถานะทางทะเบียนแล้ว แต่เมื่อไปติดต่อขอรับบัตรประจำตัวกลับได้รับการปฏิเสธ ด้วยทางเทศบาลให้เหตุผลว่าบัตรที่ใช้สำหรับจัดทำบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนหมด และยังไม่ได้รับจากส่วนกลาง จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาเกิน 1 ปีแล้ว ทำให้นางสาวพรทิพย์ประสบปัญหาเสมือนบุคคลที่ไม่มีเอกสารประจำตัวแสดงตน เพราะในคราวติดต่อหน่วยงานราชการจะมีเพียง แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ทร.38ข เพื่อใช้ในการแสดงตน แต่หน่วยงานมักจะเรียกให้แสดงบัตรประจำตัวประชาชน มิฉะนั้นจะไม่สามารถรับดำเนินการใดๆ

ปัจจุบันนางสาวพร อยู่กินฉันสามีภรรยากับนายทาเคะ คนสัญชาติญี่ปุ่น และมีบุตรสาวด้วยกัน คือ เด็กหญิงยูนิได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 7-xxxx-00xxx-xx-x แต่ยังคงประสบปัญหาความไร้สัญชาติเช่นเดียวกับมารดา และตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 15 ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีนั้น มีหลักการว่า “ทุกคนมีสิทธิในการถือสัญชาติ” ดังนั้นประเทศไทยจึงมีหน้าที่ที่จะขจัดความไร้สัญชาติของทั้งสอง โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงและบทบัญญัติของกฎหมายเป็นหลัก

นางสาวพร และนายทาเคะ ประสงค์ที่จะจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.1457 เพื่อให้เด็กหญิงยูนิ เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาตาม ม.1547 และเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาตามกฎหมายญี่ปุ่น เพื่อนำไปสู่สิทธิในสัญชาติญี่ปุ่นตามหลักสืบสายโลหิต ท้ายที่สุดทั้งสามคนประสงค์จะเดินทางไปอยู่อาศัยและก่อตั้งครอบครัว ณ ประเทศญี่ปุ่น ตามสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว ซึ่งมนุษย์ทุกคนย่อมได้รับการรับรองคุ้มครองตามสิทธิดังกล่าวภายใต้ หลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กล่าวคือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 16 ซึ่งมีหลักการว่า “ชายและหญิงที่มีอายุเต็มบริบูรณ์ มิสิทธิที่จะทำการสมรส และจะก่อตั้งครอบครัว โดยปราศจากการจำกัดใด อันเนื่องจากเชื้อชาติ สัญชาติ หรือศาสนา ต่างมีสิทธิเท่าเทียมกันในเรื่องการสมรส ระหว่างการสมรส และการขาดจากการสมรส” ประกอบกับทั้งนางสาวพรทิพย์ ม่วงทอง และนายยูกิฮิโร่ คูโดะ มีคุณสมบัติที่จะสมรสได้ตามเงื่อนไขแห่งการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย คือ เป็นคนที่ไม่เคยมีคู่สมรส ไม่วิกลจริต ไม่ใช่ผู้สืบสายโลหิต และมีความยินยอมที่จะสมรส  

                โดยนางสาวพร และนายทาเคะได้ร้องขอความช่วยเหลือมายังโครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษาด้านสถานะและสิทธิบุคคล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งรับการร้องขอให้ความช่วยเหลือทางวาจาจากนางสาวพร และให้ความช่วยเหลือกับนางสาวพรทิพย์ และครอบครัวเบื้องต้นในประเด็นดังต่อไปนี้

  1. ดำเนินการแก้ปัญหาเพื่อให้พรมีเอกสารประจำตัว
  2. ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเรื่องการจดทะเบียนสมรสระหว่างนางสาวพร และนายทาเคาะ และการเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา ของเด็กหญิงยูนิ
  3. ดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่นางสาวพร และเด็กหญิงยูนิ ในการเดินทางไปอยู่ร่วมกับครอบครัว ณ ประเทศญี่ปุ่น

ปล.กรณีศึกษานี้อยู่ในความดูแลช่วยเหลือของโครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษาด้านสถานะและสิทธิบุคคลภายใต้กองทุนศาสตราจารย์คนึง ฦาไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และและโครงการ Stateless Watch network (เครือข่ายคนทำงานเพื่อคนไร้สัญชาติในประเทศญี่ปุ่น)

หมายเลขบันทึก: 445910เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2011 22:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 19:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท