ชีวิตที่พอเพียง : ๑๒๗๔. เรียนรู้เรื่องธนาคาร


 

          นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ ฉบับวันที่ ๑๔ – ๒๐ พ.ค. ๕๔ มีรายงานพิเศษเรื่อง international banking   และที่หน้า ๑๗ มีบทบรรณาธิการเรื่อง Fixing international banking. Unfinished business. Banking is a lot safer than it was. Sadly more still needs to be done   ทำให้ผมหวนนึกถึงวิวัฒนาการของธนาคารไทยในช่วง ๒๐ ปีที่ผมพอรู้เรื่องงูๆ ปลาๆ   ว่าดูเหมือนเราจะเดินมาไกลกว่าธนาคารในยุโรปและอเมริกา

          วิกฤตการเงินในอเมริกา และในยุโรป ช่วง ๒ – ๓ ปีที่ผ่านมา   สะท้อนภาพการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ย่อหย่อน   ปล่อยให้ธนาคารดำเนินกิจการแบบเสี่ยงเกินไป   โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงินขนาดใหญ่   เพราะรู้ว่าตนอยู่ในสถานะ “ล้มไม่ได้”   คืออย่างไรเสียรัฐก็ต้องเข้ามาค้ำหรือปลดหนี้หากเกิดขาดสภาพคล่อง 

          แตกต่างจากการกำกับธนาคารไทย ที่ ธปท. ดำเนินการอยู่ ที่ผมเข้าไปรับรู้ ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา   เป็นการกำกับที่ทำให้เกิดการดำเนินการธุรกิจธนาคารอย่างมีวินัย 

          Special Report ใช้ชื่อว่า Chained but untamed   ประกอบด้วยบทย่อย ๙ บท คือ

• Reregulation. A dangerous embrace
• Japanese bank. Don’t sit on your hands
• Capital. How much is enough?
• Investment banks. Where angels fear to trade
• Renumeration. Fantasy paypackets
• Retail banks. In vogue
• The problem of size. Survival of the fattest
• Small banks. Better be big
• After the reform. Safer, but not yet safe enough

          จะเห็นว่า ในปี ๒๕๔๐ เมื่อเราเพลี่ยงพล้ำในตลาดการเงิน เกิดภาวะฟองสบู่แตก   มีฝรั่งเข้ามาสั่งสอนเรามากมาย   ว่าประเทศของเราขาดวินัยทางการเงิน   สิบปีให้หลัง ฝรั่งเองทำผิดไม่ต่างจากที่เราเคยช้ำ   คือปล่อยให้ระบบการกำกับดูแลสถาบันการเงินหย่อนยาน   ด้วยเหตุผลว่า จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโต

          ข้อสรุปของผม (ไม่ทราบว่าสรุปอย่างเขลาหรือไม่) คือ   เมื่อไรก็ตามความโลภเข้าครอบงำระบบใดก็ตาม   ความหลงก็ตามมา คู่กับความประมาท   แล้วในไม่ช้าหายนะก็เกิดขึ้น  แล้วมนุษย์ก็เอาบทเรียนอันเจ็บปวดมาสร้างกติกาใหม่ เพื่อป้องกันความประมาท   แต่นานเข้าความโลภก็คืบคลานเข้ามาอีก   เป็นวัฏฏจักรแห่งความเจริญและความเสื่อม วนเวียนเรื่อยไป

          ที่น่ากลัวคือ เจ้าวัฏฏจักร นี้มันหมุนเอาผลประโยชน์ไปให้แก่คนรวยที่มักเป็นผู้ตั้งกติกา   แล้วคนจนก็ยิ่งสูญเสียหรือเสียเปรียบมากยิ่งขึ้น   การล้มบนฟูกดูจะเป็นปรากฏการณ์ปกติทั่วโลก   โดยที่ต้องล้มแบบที่สร้างความปั่นป่วนรุนแรง ส่งแรงกระเพื่อมไปทั่ว   ก็จะมีฟูกมารองรับ

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๑ พ.ค. ๕๔
 
        
        
        
        

หมายเลขบันทึก: 445445เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2011 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท