๑๒๒.พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ : ผญาในฐานะเป็นแบบอย่างแห่งความประพฤติปฏิบัติ ๒


นยุค ๔๐ กว่าปีที่แล้ว ท่านได้ออกวารสาร “พะเยาเพื่อนใจ” ในนามศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ โดยออกทุกเดือนถือว่าทันสมัยมาก มีการออกรายการสถานีวิทยุกระจายเสียง กวส.๔ พะเยา ระบบ AM โดยออกรายการธรรมะทุกวันอาทิตย์ นอกจากนั้นแล้วยังจัดรายการทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๘ ลำปาง โดยทางสถานีให้เวลาเดือนละ ๒ ครั้ง โดยมีหลายครั้งที่มีเด็กนักเรียนร่วมออกอากาศด้วย

……………………………………………………………………………..

๕.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) พูล พัฒใหม่

………………………………………………………………………..

      ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) พูล พัฒใหม่ (ป.ธ.๕) เป็นผู้เข้ามาจำพรรษาที่วัดศรีโคมคำ ๒ ครั้ง ๆ แรกเมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีแล้ว ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๘ – ๒๕๒๐ ซึ่งเคยรับใช้พระเดชพระคุณหลวงปู่ใหญ่โดยเป็นเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดรูปแรกของจังหวัดพะเยา  และหลังจากจบการศึกษาในระดับปริญญาโทแล้วกลับมาทำงานในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๕ จึงลาสิกขา ไปเป็นครูสอนที่โรงเรียนพินิตประสาธน์ และต่อมาผันตัวเองเข้าเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วิทยาเขตพะเยา ตอนนี้ได้เกษียณอายุแล้ว แต่ยังอยู่ช่วยภาระด้านการสอนให้กับมหาวิทยาลัยอยู่ ให้สัมภาษณ์ว่า

            ๑.ท่านใส่ใจในเรื่องกิจการคณะสงฆ์เป็นอย่างมาก โดยการทำวัตรสวดมนต์ และการลงอุโบสถ ไม่เคยขาด

     ๒.ท่านได้ออกตรวจเยี่ยมวัดในจังหวัดพะเยาทุกอาทิตย์ ไปดูความเรียบร้อย และดูวัตถุโบราณที่ถูกทิ้งละเลยเสียหาย

     ๓.ท่านใส่ใจต่อการศึกษาเป็นอย่างมาก ท่านกลับมาอยู่ที่จังหวัดพะเยาก็ด้วยจุดประสงค์นี้

     ๔.ท่านใส่ใจความประพฤติปฏิบัติ การเป็นอยู่ ตลอดถึงการประชุมพระสังฆาธิการเป็นอย่างมาก

     ๕.ท่านไม่เคยนอนกลางวัน

     ๖.ท่านนอนดึกมาก ประมาณตีหนึ่ง ตีสองแทบทุกคืน เนื่องจากมีงานเขียน งานปริวรรต หรือหนังสือเข้าออก ในประเด็นนี้ผู้เขียนถามว่า แล้วเลขานุการมีหน้าที่อะไร ได้รับคำตอบว่าเป็นแต่เพียงผู้ช่วยการทำงานเท่านั้น

     ๗.ท่านได้ทำงานเตรียมแยกจังหวัดพะเยา ออกจากเชียงราย โดยเป็นที่ปรึกษาหน่วยราชการในแทบทุกส่วนงาน

     ๘.ท่านสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ล้านนาและจังหวัดพะเยา

     ๙.เริ่มแรกคณะสงฆ์วัดเบญจมบพิตร อยากให้ท่านได้กลับมาเปิดสำนักเรียนบาลี ที่พะเยา โดยครั้งแรกท่านเปิดสำนักเรียนตามอุดมการณ์ของท่านที่วัดเมืองชุม ซึ่งในประเด็นนี้คงจะมีความเป็นมาที่ว่าตอนท่านไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพมหานคร คงหาวัดอยู่ลำบาก ทราบว่าครั้งแรกท่านต้องไปอยู่วัดไผ่เงินโชตินาราม ก่อนที่จะเข้าไปอยู่วัดเบญจฯ จึงทำให้ท่านคิดสร้างสำนักเรียนในต่างจังหวัด

     ๑๐.ลักษณะของท่านอีกอย่างคือการเอาจริงเอาจัง ทำอะไรใจร้อนอยากจะให้จบโดยพลัน ไม่หยุดหย่อนในการทำงาน ชนิดที่ว่าปีนหลังคาวิหารเมื่อช่างทำแล้วไม่ถูกใจ

     ๑๑.เมื่อจะทำงานท่านจะเป็นคนนำทำงาน ไม่ร้องขอ หรือสั่งการ แต่จะทำเป็นตัวอย่างก่อนเสมอ

     ๑๒.การต้อนรับประชาชนทุกชั้นวรรณะ ไม่ถือรวย ไม่ถือจน

     ๑๓.เวลาทำงานมี Plan มีแผนการทำงาน มีความรอบครอบ ละเอียด พิถีพิถันอย่างยิ่ง

     ๑๔.เป็นผู้ที่มีทัศนคติในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของล้านนา เป็นนักค้นคว้า เป็นนักอ่านบันทึก เป็นนักปริวรรต ที่สามารถรวบรวม ค้นหา ไปดูถึงสถานที่จริง เช่น ดอยด้วนท่านขึ้นไปดูแหล่งหินทราย เป็นนักอ่านศิลาจารึก ซึ่งเป็นภาพที่ท่านนำศรีศักดิ์ , เสน่ห์ ฯลฯ ซึ่งจากกรมศิลปากรอ่านและเทียบเคียงอักษรขอม-ล้านนา-ภาษาบาลี จากฉบับต่าง ๆ เพื่อดูว่าสอดคล้องหรือขัดแย้งกันอย่างไรบ้าง?

     ๑๕.ท่านมักจะปรารภเกรงว่าศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นจะสูญหาย และนึกถึงคนรุ่นหลังเสมอ จนเกิดผลงานต่าง ๆ ตามมามากมาย

     ๑๖.คิดว่าในใจลึก ๆ ของท่านอยากจะปฏิวัติรูปแบบหรือวัตรปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรพะเยาในยุคสมัยนั้นที่ยังปฏิบัติไม่เคร่งครัดเท่าที่ควร แต่หลักที่ท่านใช้นับว่าเป็นจิตวิทยาในการพูดที่สูงมาก ท่านจะออกไปตรวจเยี่ยมวัดต่าง ๆ ในช่วงหัวค่ำ ประมาณ ๔-๕ โมงเย็นจะออกไปตามท้องที่ต่าง ๆ

     ๑๗.ในส่วนตัว คิดว่าถ้าเป็นพระมหาเถระรูปอื่น ๆ ภายในวัดศรีโคมคำ คงไม่มีที่จะให้สร้างอาคาร เนื่องจากมีคนมาเสนอ และปวารณากับท่านเป็นจำนวนมาก แต่ท่านไม่เอ่ยปากขอโยม ไม่เหมือนยุคปัจจุบันที่ท่านเห็นมีแต่พระขี้ขอ และที่ร้ายกว่านั้นคือไม่สงเคราะห์กลับไปสู่สังคม ชุมชนอีก

     ๑๘.เป็นคนรักษาระเบียบ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น ระเบียบวิธีการรับผ้าพระกฐินพระราชทาน การนั่ง การห่ม ปฏิปทา การพูดจา การปฏิสันฐาน ตลอดจนถึงพิธีกรรม พิธีการต่าง ๆ

     ๑๙.การสงเคราะห์ญาติโยม สิ่งที่ท่านได้มา เช่น สังฆทาน เครื่องใช้ เมื่อรวบรวมได้พอสมควรแล้ว ท่านจะนำไปแจกให้กับผู้ยากไร้ในชุมชนและท้องที่ต่าง ๆ

     ๒๐.ตอนที่ท่านย้ายจากวัดศรีอุโมงค์คำ (วัดสูง) มาอยู่วัดศรีโคมคำ (วัดพระเจ้าตนหลวง) มีการตั้งค่าหัวของท่าน ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ (๔๒ปีมาแล้ว) จำนวน ๒๐๐ บาท เนื่องจากไปขัดผลประโยชน์ของคนที่อาศัยวัดหาผลประโยชน์อย่างมาก

     ๒๑.ท่านให้ความเคารพพระผู้ใหญ่ ๓ ท่านคือ ครูบาแก้ว  ครูบาปัญญา และครูบาอินโต หรือแม้แต่พระเถระที่ไม่มีชื่อเสียง แต่ถ้ามีอายุกาลพรรษามากกว่าท่านก็จะให้ความเคารพเช่นกัน เช่น ครูบาหม่น ฯลฯ ซึ่งการเข้าหาครูบาทั้งหลายท่านจะได้รับการปลูกฝัง ได้แง่คิด และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานภายในวัด

     ๒๒.เรื่องเงิน รายรับ-รายจ่าย เรื่องนี้ตั้งแต่อยู่กับท่านมา กล้ารับประกันได้เลยว่าเป็นพระที่มีความเคร่งครัด ใจซื่อ มือสะอาดยิ่ง ส่วนไหนเป็นของส่วนตัว ส่วนไหนเป็นของวัด ส่วนไหนเป็นของสงฆ์ ท่านจะชัดเจนมาก

     ๒๓.ท่านออกอบรมศีลธรรมทุกคืน โดยใช้หน่วยอบรมประชาชนวัดศรีโคมคำ ร่วมกับหน่วยเผยแผ่ธรรมอันประเสริฐ ของหลวงพ่อพุทธทาสส่งมา ทำให้การอบรมแต่ละครั้งได้ผลดีมาก เนื่องจากพระท้องถิ่นได้มีโอกาสฝึกฝนไปในตัวด้วย

     ๒๔.สิ่งที่เห็นคือท่านสร้างสถาบันการศึกษาให้กับเมืองพะเยา เช่น สร้างสำนักเรียนบาลี-นักธรรม, สร้างโรงเรียนพินิตประสาธน์, สร้างศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดศรีโคมคำ, สร้างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา, สร้างหอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ เป็นต้น

    ๒๕.เรื่องที่น่าสนใจคือการเทศน์ ๒ ธรรมาสน์ ในยุคสมัยประชาชนทั้งหลายพากันไม่เชื่อถือ และถือว่าพระกลุ่มนี้เป็นคอมมิวนิสต์ พระอะไรเวลาเทศนาไม่มีคัมภีร์ใบลาน ถือว่าผิดจารีต ผิดธรรมเนียมปฏิบัติอย่างยิ่ง เนื่องจากชาวบ้านไม่เคยเห็นมาก่อน

     ๒๖.ในยุค ๔๐ กว่าปีที่แล้ว ท่านได้ออกวารสาร “พะเยาเพื่อนใจ” ในนามศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ โดยออกทุกเดือนถือว่าทันสมัยมาก มีการออกรายการสถานีวิทยุกระจายเสียง กวส.๔ พะเยา ระบบ AM  โดยออกรายการธรรมะทุกวันอาทิตย์  นอกจากนั้นแล้วยังจัดรายการทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๘ ลำปาง โดยทางสถานีให้เวลาเดือนละ ๒ ครั้ง โดยมีหลายครั้งที่มีเด็กนักเรียนร่วมออกอากาศด้วย

     ๒๗.ท่านจะเดินทางไปรายงานผลการปฏิบัติงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบต่อเจ้าคณะจังหวัดเชียงรายแทบทุกอาทิตย์

     ๒๘.เมื่อท่านได้รับทราบข่าวว่ามีวัตถุโบราณ ณ วัด หรือตำบลไหน ท่านต้องรีบออกไปดู และเสนอวิธีการจัดเก็บดูแลรักษา

     ๒๙.ท่านทำงานด้วยใจ เสียสละ อดทนสูงมาก มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง

     ๓๐.ยุคสมัยนั้น เขตอำเภอปง อำเภอเชียงม่วน อำเภอเชียงคำ เป็นพื้นที่สีชมพู เป็นถิ่นคอมมิวนิสต์ เมื่อเดินทางไปเผยแผ่ หรือติดต่อประสานงานในท้องที่มักเห็นคนบาดเจ็บ ทั้งทหาร ชาวบ้าน ผ่าตัด เป็นจำนวนมาก แม้อันตรายแค่ไหนท่านก็ไม่หวั่นไหว

............................................................

๖.วิมล  ปิงเมืองเหล็ก

………………………………………

     อาจารย์วิมล ปิงเมืองเหล็ก อดีตอาจารย์ประจำคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ถือว่าเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิอีกท่านหนึ่งที่มีการคลุกคลีคุ้นเคยกับพระเดชพระคุณหลวงปู่ใหญ่ตั้งแต่เป็นนักเรียนอยู่ที่โรงเรียนพินิตประสาธน์ (วัดสูง) จนถึงย้ายไปอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ ก็ได้อาศัยบารมีหลวงปู่ใหญ่ในการเข้าไปศึกษาเล่าเรียนถึงในเมืองกรุง

     ได้ให้สัมภาษณ์ ซึ่งผู้เขียนขอเสนอ วิถีชีวิตของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์  เป็น ๖ ช่วงอายุ คือ ช่วงวัยเรียน  ช่วงอยู่วัดเบญจมบพิตร  ช่วงกลับพะเยาอยู่วัดเมืองชุม  ช่วงอยู่วัดสูง  ช่วงอยู่วัดหลวงนอก  ช่วงเข้าสู่วัย ๙๐ ปี  รายละเอียด ดังนี้

ช่วงวัยเรียน 

     ชีวิตในวัยเรียนของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ถือว่าเป็นเด็กที่ใฝ่เรียน มีความมุ่งมั่นสูงมาก ในยุคนั้นการเดินทางที่แสนลำบากมาก ถนนหนทางลำบาก การจะเดินทางไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ แทบไม่ต้องพูดถึง การเดินทางไปในแต่ละครั้งต้องสมบุกสมบัน ท่านเล่าให้ฟังว่าท่านตัดสินใจเก็บสัมภาระเพื่อออกเดินทางไปเรียนหนังสือ จากบ้านสางต้องเดินลัดเลาะไปตามคันนาและป่าละเมาะ เจอควายไล่ขวิดท่านต้องวิ่งหนีควายไปตามทุ่งนา ผ้าจีวรสบงเปื้อนโคลนกว่าจะได้เข้าตัวเมืองพะเยาต้องใช้ความอดทนสูง นอกจากนั้นแล้วท่านต้องรอรถคอกหมู จากจังหวัดพะเยาไปจังหวัดลำปางก่อน แล้วจึงนั่งรถไฟจากลำปาง เข้าสู่กรุงเทพฯ อีกทีหนึ่ง  ความมุ่งมั่นของท่านในวัยหนุ่มนั้นไม่สูญเปล่าไปโดยไร้ประโยชน์แต่อย่างใด  ความมุ่งมั่นในวันนั้นทำให้ท่านเป็นมหาเปรียญธรรมรูปแรกของจังหวัดพะเยา

 

ช่วงอยู่วัดเบญจมบพิตร 

     จากการเป็นพระบ้านนอกเข้าไปเรียนที่กรุงเทพฯ การหาวัดอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นเรื่องที่ยากมากในยุคสมัยนั้น เนื่องจากศูนย์กลางทุกอย่างคือกรุงเทพฯ เริ่มแรกท่านไปอยู่ที่วัดไผ่เงินฯ ก่อน ต่อมาจึงมีเพื่อนฝูงดึงให้เข้าไปอยู่วัดเบญจฯ เพื่อเรียนนักธรรมบาลี ท่านเรียนบาลีจนแตกฉานได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค พร้อมกับนักธรรมชั้นโท

     การศึกษาครั้งนั้นพระเดชพระคุณท่านคงจะมีความใฝ่ฝันอยากเรียนให้ได้มากที่สุด แต่ด้วยสภานการณ์ที่ประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒  จึงทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรนำโดยสหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดลงมาโจมตีกรุงเทพฯ หลายละลอก จนสมเด็จฯ (กิตติโสภโณ) ได้สั่งให้พระภิกษุสามเณรว่า การอยู่ในกรุงเทพฯนี้เป็นการไม่ปลอดภัย เพราะฉะนั้นขอให้แต่ละรูปกลับไปจังหวัดใครจังหวัดมันก่อน เมื่อสงครามยุติก็ให้กลับมาใหม่ได้ จึงเป็นเหตุให้ท่านเดินทางกลับสู่มาตุภูมิ ณ ช่วงเวลานั้น

 

ช่วงกลับพะเยาอยู่วัดเมืองชุม 

     เมื่อกลับมาพะเยาแล้ว ท่านได้ทุ่มเทให้กับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา จากความรู้ที่ท่านได้มาจึงเข้าไปจัดระบบ ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ตลอดไปจนถึงงานด้านการศึกษาสงฆ์  สิ่งที่ท่านทำแล้วเป็นสิ่งที่น่าสนใจและโดดเด่นที่สุดคือ การที่ท่านได้คิดว่าการพัฒนาคนเป็นการพัฒนาที่ดีที่สุด ท่านจึงมีนโยบายออกตามหาพระภิกษุสามเณรที่สอบได้นักธรรมชั้นโทของจังหวัดพะเยา เพื่อส่งเข้าไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ โดยท่านได้นำพระภิกษุสามเณรดังกล่าวเข้าไปฝากตามวัดต่าง ๆ ที่ท่านรู้จักคุ้นเคย

     สามเณรในยุคนั้น ที่ประสบความสำเร็จและได้เปรียญธรรม คือ

     สามเณรธงชัย  พัววัลยลัดด์ เปรียญธรรม  ๕  ประโยค  ต่อมาเป็นพระราชวิริยสุนทร เจ้าคณะจังหวัดพะเยา รูปที่ ๒ วัดราชคฤห์

     สามเณรสะอาด  ปริปุณณากร  เปรียญธรรม ๔ ประโยค ต่อมาเป็นศึกษานิเทศก์อำเภอเมือง  จังหวัดพะเยา

     สามเณรคนิต  ลือเรือง  เปรียญธรรม ๓ ประโยค ต่อมาเข้ารับราชการเป็นตำรวจยศ ร้อยตำรวจเอก

     สามเณรอุดม  ไชยศรี เปรีญยธรรม ๖ ประโยค ต่อมาเป็นศึกษานิเทศก์อำเภอแม่สาย  จังหวัดเชียงราย

 

ช่วงอยู่วัดศรีอุโมงค์คำ (วัดสูง)

     มุ่งการศึกษา โดยไปศึกษาดูงานที่จังหวัดลำพูน ได้แนวคิดจากโรงเรียนวุฒิกร มาตั้งโรงเรียนพินิตประสาธน์ เริ่มมีความคิดว่าน่าจะศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นให้ดีกว่านี้ สาเหตุเนื่องมาจากคุณหมอสมบัติ อินทรลาวัลย์ จะทำการเปิดโรงพยาบาลพะเยา โดยการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกและได้เข้าไปกราบอาราธนาพระเดชพระคุณหลวงปู่ ซึ่งขณะนั้นเป็นพระโสภณธรรมมุนี เจ้าคณะอำเภอเมืองพะเยา ไปเขียน

     จากประเด็นปัญหาและภารงานที่ได้รับมอบหมาย ทำให้พระเดชพระคุณท่านได้คิดหนักในหลายเรื่อง จนเป็นที่มาของการศึกษาค้นคว้า ปริวรรตอักษรล้านนา การเก็บรวบรวมวัตถุโบราณ และสิ่งที่เป็นเรื่องราวของท้องถิ่นอย่างมาก

 

ช่วงอยู่วัดศรีโคมคำ (วัดหลวงนอก)

     ในช่วงนี้เป็นการสืบสานร่องรอยของ ๒ ครูบา คือครูบาเจ้าศรีวิชัย และครูบาเจ้าศรีวิราชวชิรปัญญา โดยผ่านครูบาแก้ว และครูบาปัญญา (ครูบาแก้วเป็นลูกศิษย์ของครูบาศรีวิชัย และเป็นตัวแทนที่อยู่ดูแลวัดศรีโคมคำ  ส่วนครูบาปัญญาเป็นลูกศิษย์ของครูบาศรีวิราชวชิรปัญญา เป็นตัวแทนอยู่ที่วัดศรีโคมคำเช่นกัน-อยู่กุฏิใต้บริเวณอาคารธรรมราชานุวัตรปัจจุบัน) ด้วยเหตุนี้กระมัง สมัยต่อมาจึงเรียกเป็นเชิงล้อกันว่า “วัดเหนือ วัดใต้”

     หลายปีก่อนเมื่อผู้เขียนเข้ามาอยู่วัดศรีโคมคำใหม่ ๆ มักจะได้ยินท่านพูดเสมอ ๆ ว่า ครูบาแก้ว และครูบาปัญญา กล่าวว่าถ้าครูบาทั้งสองมรณภาพ ขอให้เจ้าคุณ (หมายถึงพระอุบาลีฯ) ได้เข้ามาอยู่วัด (เป็นเจ้าอาวาส) เพราะวัดใหญ่ ต้องให้ผู้ใหญ่มาดูแล อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งหรือไม่ที่ท่านใช้อ้างความชอบธรรมในการเข้ามาอยู่วัดศรีโคมคำ เนื่องจากเมื่อท่านย้ายมาใหม่ ๆ มีการต่อต้านและท้าทายท่านในหลายเรื่อง ทั้งข่มขู่ คุกคามสารพัดปัญหา

     จากกรณีดังกล่าวท่านได้ต่อยอดกิจการงานของวัดจากครูบาทั้ง ๔ รูปนั้น โดยการสร้างสำนักเรียนบาลี-นักธรรม  สร้างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา และสร้างหอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำตามลำดับ

 

ช่วงเข้าสู่วัย ๙๐ ปี

     เป็นวัยที่ผ่อนคลาย สงบ จิตใจสูงส่ง จะสังเกตดูว่าอารมณ์ร้อน ๆ ในวัยหนุ่มของท่านจะหายไป ยิ่งเป็นยุคก่อนหน้านี้ท่านจะทำอะไรให้ได้ทันใจ มีระเบียบกฏเกณฑ์ที่ชัดเจน เร่งรีบให้สำเร็จโดยไว แต่ปัจจุบันด้วยวัย ๙๐-๙๕ มองดูท่านสงบเยือกเย็นมากขึ้น มองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมดา ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้เขียนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่งสำหรับวิถีแห่งสมณะที่ควรสงบเย็นและปล่อยวาง

หมายเลขบันทึก: 445203เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2011 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท