วิทยากรประชุมสัมมนาผู้บริหาร สพม.เขต 13(จ.ตรัง)เพื่อสร้างความเข้มแข็งการนิเทศภายในสถานศึกษา


การนิเทศนั้นเป็นการนิเทศที่ใจคน ผู้บริหาร(ผู้นิเทศ)ต้องทำให้ผู้รับการนิเทศเกิดความตระหนัก ความศรัทธา และอยากจะทำเป็นเบื้องต้นก่อน ถ้าทำเรื่องนี้ไม่สำเร็จ อย่าหวังเลยว่าการนิเทศจะประสบผลสำเร็จ

      17-18 มิย.ที่ผ่านมาผมได้รับเชิญจาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 13(ตรัง,กระบี่) ให้เป็นวิทยากรในการประชุมสัมมนาผู้บริหารและรองผู้บริหารสถานศึกษาเฉพาะจังหวัดตรัง ประมาณ 140 คน ที่โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา จังหวัดตรัง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเข้นแข็งแก่โรงเรียนในเรื่องการนิเทศภายในสถานศึกษา      
    ผู้เข้าสัมมนาส่วนใหญ่ก็เป็นน้องๆผู้บริหารที่คุ้นเคยกันมาก่อน  คงจะเห็นว่าผมเคยเป็นหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา(คนสุดท้าย) ที่คลุกคลีกับการนิเทศระดับมัธยมศึกษามาตลอดชีวิตราชการ  ก็เลยอยากให้มาเล่า มาจุดประกายในเรื่องนี้ที่ไฟเริ่มมอดไหม้กันไปแล้วให้คุโชนขึ้นมาอีก เหมือนสมัยก่อนราว พ.ศ.2525 โรงเรียนในเขตการศึกษา 4 (ภูเก็ต พังงา ตรัง กระบี่) ต่างเฟื่องฟูเรื่องนิเทศภายในกันอย่างมาก จนเป็นเขตการศึกษาตัวอย่างให้กับโรงเรียนต่างๆในกรมสามัญศึกษาสมัยนั้น และปัจจุบันมาตรฐานของ สมศ.ระบุให้ประเมินผู้บริหารในการนิเทศภายในด้วยจึงช่วยกระตุ้นให้ผู้บริหารสนใจเรื่องนี้มากขึ้น
     ดูท่าน ผอ.ถนัด กับ ศน.บุญเรือน จะคาดหวังจากตัวผมมากทีเดียว จึงขอให้ผมมาช่วยเป็นวิทยากรนำการประชุมตลอดทั้ง 2 วัน คงคิดว่าจะได้รูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษาที่ยอดเยี่ยมจากผม  ...แต่ที่ไหนได้ ผมกลับนำการประชุมสัมมนาที่ไม่เป็นพิธีรีตองอะไร เริ่มจากการเล่าประสบการณ์การนิเทศให้ฟัง(ทำนองคนแก่เล่านิทานให้เด็กฟัง) ซึ่งพยายามแฝงให้เห็นถึง ความเป็นมา concept ความสำคัญ จุดมุ่งหมาย หลักการนิเทศภายในสถานศึกษา(ที่ไม่เป็นทฤษฎี) แล้วยกตัวอย่างรูปแบบ เทคนิค กระบวนการ กิจกรรมการนิเทศ หลายๆรูปแบบ เครื่องมือหลายๆเครื่องมือ  และมีข้อตกลงเบื้องต้นกับผู้ฟังว่า นี่คือประสบการณ์ที่ตกตะกอนของผมจากการเป็นผู้นิเทศและผู้บริหารการนิเทศมาร่วม 30 ปี ซึ่งเป็นบริบทของผม จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารแต่ละคนแต่ละโรงเรียนที่จะนำไปคิดพิจารณาเชื่อมโยงแล้วจัดการความรู้นำไปปรับใช้ตามบริบทของตนเองและโรงเรียนของตน โดยการเล่าครั้งนี้ผมก็ไม่ได้ใช้เวลามากนัก       
    ตัวอย่างการเล่าตอนหนึ่งเกี่ยวกับหลักการนิเทศ ผมก็ไม่ได้เอาทฤษฎีของใครมา แต่ผมกลั่นจากทฤษฎีและประสบการณ์ของตนมาเป็นหลักการของผมเอง 5 ข้อ คือ
        1.ยึดหลักการสร้างมนุษยสัมพันธ์  สร้างความตระหนัก ความเชื่อถือศรัทธาและความร่วมมือกับครูและบุคลากรทางการศึกษา ในการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างสร้างสรรค์  โดยคำนึงถึงบริบทของสถานศึกษา ความแตกต่างระหว่างบุคคลและความเป็นประชาธิปไตย 
       2.กระบวนการนิเทศต้องเป็นไปอย่างมีระบบ โดยมีการประเมินความต้องการจำเป็นในการนิเทศ  การวางแผนการนิเทศ  การพัฒนานวัตกรรมในการนิเทศ  การดำเนินการนิเทศ  การติดตามประเมินผล  และการปรับปรุงพัฒนาการนิเทศ   เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 
      3. มุ่งพัฒนาการนิเทศโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน  ด้วยการวิเคราะห์  วิจัย  ส่งเสริมการวิจัย และประยุกต์ผลการวิเคราะห์วิจัยไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา  พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา  ที่มุ่งสร้างวัฒนธรรมคุณภาพให้เกิดขึ้นในองค์กรอย่างยั่งยืน
     4. ใช้เทคนิคการนิเทศที่หลากหลาย และมีความเหมาะสม  สอดคล้องกับปัญหาความต้องการจำเป็น  สภาพแวดล้อม  และกลุ่มเป้าหมาย  เช่น การสอนแนะ(coaching) การพาทำ  การฝังตัว  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้  การร่วมมือ  การนิเทศแบบคลินิก  การนิเทศภายนอกประสานการนิเทศภายใน เป็นต้น  โดยคำนึงถึงการบรรลุมาตรฐานคุณภาพการศึกษา และความเจริญก้าวหน้าของครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นสำคัญ
     5.สร้างเครือข่ายและทีมการนิเทศการศึกษา ให้เกิดการผนึกพลังผสานร่วมของบุคคล องค์กร และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ  ตลอดจนพัฒนาทีมงานนิเทศให้เข้มแข็ง เพื่อขับเคลื่อนกลไกการนิเทศให้ทั่วถึง ครอบคลุม และเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลที่สูงขึ้น
       สิ่งที่น่าจะเป็นแนวคิดพื้นฐานของผมก็คือความเชื่อที่ว่า การนิเทศนั้นเป็นการนิเทศที่ใจคน ผู้บริหาร(ผู้นิเทศ)ต้องทำให้ผู้รับการนิเทศเกิดความตระหนัก ความศรัทธา และอยากจะทำเป็นเบื้องต้นก่อน   ถ้าทำเรื่องนี้ไม่สำเร็จ อย่าหวังเลยว่าการนิเทศจะประสบผลสำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินด้วย A1-A4 นั่นแหละ ที่ผมเชื่อว่า A1 นั้นสำคัญที่สุด ที่ไม่ใช่เพียงการออกคำสั่งให้ทำเรื่องนี้เท่านั้น
      ระหว่างเล่าผมก็จะมี Powerpoint พร้อมฉาย VCD มีคลิปวีดีโอ และมีนิทานแทรกสลับตลอด โดยหวังให้ผู้ฟังได้ซึมซับเทคนิคในการสอน และเกิดความตระหนักในเรื่องที่เล่าไปด้วย
      ภาคบ่ายวันแรก ผมได้แบ่งกลุ่มที่มาจากต่างโรงเรียนกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (แบ่งปันความรู้)เรื่อง “เทคนิคการนิเทศการศึกษาที่ภาคภูมิใจ” โดยใช้เทคนิค Storytelling(เรื่องเล่าเร้าพลัง) และ  Dialogue(สุนทรียสนทนา)  แล้วเลือกเรื่องเล่า(เทคนิคการนิเทศ)ที่กลุ่มโดนใจมากที่สุดมาเล่าแบ่งปันในกลุ่มใหญ่ 
      วันที่สองตอนเช้าผมใช้เวลาปลุกจิตสำนึกของความเป็นครูและผู้นิเทศโดยใช้การเล่าเรื่องประกอบสื่อที่หลากหลายใช้เวลาเพียง 1.30 ชั่วโมง 
แล้วแยกห้องเป็น 2 ห้อง จัดให้มีการสาธิตการสอน สังเกตการสอน และนิเทศการสอนกันจริงๆ โดยมี ศน.บุญเรือนและทีมงานช่วยประสานงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สนุกสนาน และได้แนวปฏิบัติ       
    ภาคบ่ายจัดให้มีการอภิปรายเรื่อง กลยุทธ์การขับเคลื่อนการนิเทศภายในสถานศึกษา ผู้ร่วมอภิปรายก็มี ผอ.สุนีย์  ผอ.มนต์ทิพย์  รอง ผอ.ขจรจิตร และคุณครูพิวันชัย โดยผมทำหน้าที่ผู้ดำเนินการอภิปราย
       จากการอภิปรายได้ทราบถึงปัญหาของการนิเทศภายในโรงเรียนว่ามีหลายประการ เช่น ผู้บริหารไม่มีนโยบายที่ชัดเจน ขาดการสร้างความตระหนัก ขาดทักษะการนิเทศ/การประชุมปรึกษา ยังใช้วิธีการสั่งการ  มีเวลาน้อยที่จะเข้านำนิเทศครู และทำไม่ต่อเนื่อง รูปแบบ/กิจกรรมไม่น่าสนใจ แบบ/ขั้นตอนยุ่งยาก ไม่ยืดหยุ่น  ผู้รับการนิเทศมีทัศนคติในแง่ลบเหมือนถูกจับผิด จึงให้ร่วมมือน้อย คิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก คิดว่าสังเกตการสอนเท่านั้นคือการนิเทศ ขาดความจริงจังปรับปรุงต่อเนื่อง 
    และผู้อภิปรายได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขและเทคนิคการนิเทศอย่างน่าสนใจ โดยชี้ว่าผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดที่จะนำและขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เป็นระบบและต่อเนื่องคือผู้บริหารโรงเรียน ถ้าหัวนำทำจริง มีการวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุของปัญหา และใช้วงจร PDCA ขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบโดยใช้มาตรฐานระบบประกันคุณภาพการศึกษาเป็นฐานในการบูรณาการทุกเรื่อง อย่างเป็นองค์รวม และสพม.ก็จัดระบบเครือข่ายการนิเทศเชื่อมโยงกันทั้งในลักษณะของสหวิทยาเขต และศูนย์พัฒนากลุ่มสาระฯ 
       ผมรู้สึกว่าตลอดทั้ง 2 วัน ผู้เข้าร่วมประชุมต่างให้ความสนใจ เข้าร่วมกิจกรรมและมีอารมณ์ร่วมตลอดการสัมมนา  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็เป็นไปอย่างสนุกและสร้างสรรค์ ตอนท้ายของการประชุมสัมมนา ที่ประชุมต่างยืนยันว่า ต่อไปนี้การนิเทศภายในโรงเรียนที่ สพม.จังหวัดตรังจะต้องเข้มแข็งมากขึ้น และจะต้องส่งผลดีต่อคุณภาพการศึกษาที่ก้าวหน้าชัดเจนมากขึ้น
        ก่อนจะกลับ มีคุณสมใจ  เส็นบัด โรงเรียนคันธพิทยาคาร ได้ออกมาขับขานกาพย์ห่อโคลงขอบคุณวิทยากรไพเราะเพราะพริ้ง ทำให้ผู้เฒ่าอย่างผมรู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้นมากทีเดียว จึงขอขอบคุณทุกๆท่านมา ณ ที่นี้ และขออนุญาตนำกาพย์ห่อโคลงดังกล่าวมาบันทึกต่อท้ายคงไม่ว่ากันนะครับ
       "มาอบรมเพื่อรู้             แตกฉาน  ยิ่งแฮ
        ในเรื่องนิเทศงาน         ทั่วถ้วน
        ธเนศท่านอาจารย์        สอนเก่ง  นักแล
        เสริมส่งสอนหลากล้วน  เพื่อสร้าง  ครูดี
     
         มาอบรมมาเรียนรู้       เติมค่าครูเติมแตกฉาน
       เรียนเรื่องนิเทศงาน      จากอาจารย์ผู้รู้จริง
       นามท่านคือธเนศ         สอนนิเทศหลากหลายยิ่ง
       สอนคิดจิตประวิง          ว่าทุกสิ่งต้องเน้นใจ
       ใจครูต้องเมตตา           กรุณาและผ่องใส
        มุฑิตาและห่วงใย         ทั่วหน้าไซร้ลูกศิษย์ตน
        ต้องมีอุเบกขา             มีศรัทธาที่เปี่ยมล้น
        พากเพียรและอดทน     มุ่งคิดค้นเพื่อศิษย์ดี
        ใจศิษย์ครูเข้าถึง          ต้องคำนึงศิษย์มากมี
        ควรใช้หลากวิธี            สอนตามที่ศิษย์ต่างกัน
        ทำงานเป็นระบบ           ให้ถ้วนครบอย่างสร้างสรรค์
        ปรับปรุงอย่างฉับพลัน    เมื่องานนั้นผิดหลักการ
        ทำตนเป็นแบบอย่าง      ส่งเสริมสร้างมุ่งประสาน
        สุขใจกับทุกงาน            ปณิธานยึดหลักธรรม

         มาขอบคุณ เมื่อรู้          กว้างไกล  ยิ่งแล
      ขอส่งคำอวยชัย               นอบน้อม
      ขอให้ท่านสดใส                เรืองรุ่ง  นานแล
      ขอเทพมาแวดล้อม            ปกป้อง  ดูแล"         
      

 

 

 

 

 

 

         

หมายเลขบันทึก: 444943เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2011 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท