"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

หมู่บ้านของผม2 (ประวัติบ้านแพะ2)


การเรียนรู้ประวัติศาสตร์หมู่บ้านจะทำให้เราเข้าใจอดีต ปัจจุบันและอนาคตของหมู่บ้านได้ดี

18/06/2554

*********       

    พอถึงบ้าน เดินเข้าประตูบ้านไปก็เห็นมีรองเท้าวางอยู่หน้าห้อง 2 คู่  ท่านก็เปิดประตูเข้าไป พบว่าภรรยานอนกอดกับชายชู้อยู่  ท่านเสียใจมากจะชักดาบฟันก็ยังอาลัยเมียรักอยู่จึงหักห้ามใจไว้  พอดีชายชู้รู้สึกตัวก็กระโดดออกทางหน้าต่างหนีไป  ท่านจึงได้หาสุรามาผสมกับยาพิษเพื่อเอาไว้ดื่มกิน  จากนั้นก็ลงบันไดบ้านจับม้าคู่ชีพมา แล้วขึ้นขี่ควบตะบึงไปที่บ้านหนองลวก ด้วยความเสียใจเรื่องภรรยามากจึงหยิบสุราผสมยาพิษออกมาดื่ม เวลาขณะนั้นประมาณตีสองกว่า แล้วท่านก็ตัดสินใจกระโดดลงน้ำแล้วไปติดอยู่กับรูหลาว(โพรง)ใต้น้ำ เวลาประมาณ ตีสามเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่รู้จักพากันมางมศพก็ไม่พบ วันรุ่งขึ้นจึงพากันงมศพอีกครั้ง  ตอนสาย ๆ จึงได้พบศพของท่านและนำศพขึ้นมาจากน้ำและหัวหน้าได้ทำการตั้งชื่อให้ท่านใหม่ว่า "เจ้าพ่อปากพาน" เพราะท่านเสียชีวิตที่ "ปากพาน" (ประวัตินี้ยังไม่ได้รับการสืบค้นยืนยันเป็นที่แน่นอนอาจมีความผิดพลาดทางด้านข้อมูลได้ : ผู้เขียน)

        

ปู่ปากพาน อีกคติหนึ่ง (เล่าต่อกันมา) 

            เมื่อท่าน(ร้อยตรีอิน)เสียชีวิตแล้ว ได้อาศัยล้อหรือเกวียนประมาณ 6-7 เล่มที่เดินทางลากไม้ผ่านมาทางบ้านแพะ เมื่อมาถึงยังสถานที่ศาลในอดีต คือบริเวณหลังบ้านของ นายดี นางท้าย  สกุลชอบธรรม ในปัจจุบัน ล้อหรือเกวียนทั้งหมดก็เกิดการติดหล่มขึ้นจากหล่มไม่ได้  เพราะว่าท่านชอบสถานที่ตรงนี้และอยากจะอยู่ประจำที่จุดนี้  หัวหน้ากองเกวียนเลยปรึกษากันและคิดบนบานศาลกล่าวว่า “หากเกวียนขึ้นจากหล่มได้จะทำพิธีตั้งศาลให้”  ปรากฏว่าขึ้นจากหล่มได้จริง ๆ  จากนั้นคณะกองเกวียนก็ได้สร้างศาลใหม่ขึ้น 1 ศาล เป็นศาลเพียงตาเล็ก ๆ  ท่านก็ได้ที่อยู่แห่งใหม่ตามความต้องการ  (ปัจจุบันเป็นที่สาธารณประโยชน์เนื้อที่ประมาณ  1 ไร่ เป็นสถานที่เพาะพันธุ์เห็ดของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ที่ดำเนินการเผยแผ่คริสต์ศาสนาผ่านรูปแบบการให้ความช่วยเหลือเด็กและผู้ยากไร้ผ่านมูลนิธิหรือโครงการต่าง ๆ   เป็นที่ตั้งของป้อมตำรวจหรือจุดตรวจบ้านแพะ และที่สำคัญเป็นสถานที่ตั้งศาลเจ้าพ่อปากพานแห่งใหม่ติดกับถนนและติดป้อมตำรวจอีกด้วย)

            ด้วยความที่ท่านเป็นคนดี เป็นข้าราชการทหารผ่านศึกสงครามมาอย่างโชกโชน มีประวัติการสร้างคุณงามความดีมาโดยตลอดและไม่ทำอะไรตามอำเภอใจ รู้จักข่มใจตนเองไม่ทำร้ายผู้อื่น  ทำให้ชาวบ้านที่ทราบข่าวการเสียชีวิตของท่านเกิดความศรัทธา เคารพนับถือ เวลามีปัญหาในเรื่องใดที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ก็มักจะไปบนบานศาลกล่าวขอให้ท่านช่วยเหลือ และก็มักจะได้ตามปรารถนากันทุกประการ

            ต่อมาในภายหลัง กิตติศัพท์ด้านความศักดิ์สิทธิ์ ความช่วยเหลือใครต่อใครก็ขจรขจายไปทั่วเขตแม่น้ำปากพาน  เขตอำเภอวัดโบสถ์ อำเภอชาติตระการ และอำเภอทองแสนขัน บ้านแพะ น้ำลอก ปางค้อ ต่างก็มีศาลพ่อปู่ปากพานตั้งอยู่ทุกหมู่บ้าน   

            โดยเฉพาะชาวบ้านแพะนั้น ต่างให้ความเคารพ นับถือ เชื่อในการให้ความช่วยเหลือของท่าน จึงเกิด “ประเพณีคล้องช้าง” ขึ้นมา โดยมีคติให้มีคนทรงที่เป็นหญิง เรียกว่า “คนทรงผีปู่ย่า” แต่งตัวสวยงามประดับดอกไม้ ฟ้อนรำ นำหน้าขบวนแห่แหน รูปปั้น ช้าง ม้า และดาบ ที่ทำจากไม้งิ้ว (นุ่น) ตกแต่งสีสันต่าง ๆ  เพื่อนำไปบูชากับเจ้าพ่อที่ศาล มีการตีฆ้อง กลองยาว ฉิ่ง ฉาบ กันอย่างสนุกสนาน  บางคนก็ถือด้ายสายสิญจน์ทำลักษณะท่าทางเหมือนกับจะผูกคอช้าง  บางคนก็อุ้มช้างไม้คอยหลบหลีกการคล้องอย่างแคล่วคล่องว่องไวและทำเสียงเหมือนช้างร้อง “เป๊บ ๆ”  บางคนก็อุ้มม้า บางคนก็สะพายดาบหรือรำดาบ หยอกล้อกันเป็นที่สนุกสนาน  พอไปถึงศาลเจ้าพ่อก็จะนำเอาสายสิญจน์คล้องหรือผูกกับสิ่งของที่นำมาบูชาขึ้นสู่หิ้งบูชาเจ้าพ่อหรือศาลเจ้าพ่อ จุดธูปให้หมดหนึ่งก้าน ทำการวาไม้ด้วยแขนว่าพ่อปู่นั้นโปรดปรานหรือเปล่า  หากยอมรับและโปรดปรานไม้ที่ใช้วาวัดครั้งแรกนั้นก็จะยาวออกอีกประมาณ  3-4 ข้อนิ้วมือ ก็ถือกันได้ว่าท่านโปรดปรานอย่างมาก เป็นอันเสร็จพิธี

            ประเพณีการคล้องช้างนี้เดิมจัดกันในวันปากปี หลังสงกรานต์ ประมาณวันที่ 16-19 เมษายน ของทุกปี ภายหลังมาประมาณปี พ.ศ. 2518  ถึง 2519  จึงได้เลือนหายไป  เพราะขาดผู้ที่เป็นหญิงในการทำพิธี  แต่ที่บ้านน้ำลอกยังคงรักษาประเพณีนี้อยู่ มาจนถึงปัจจุบัน 

            คนทรงผีปู่ย่าคนสำคัญของบ้านแพะในครั้งก่อนนั้น ประกอบด้วย (เขียนชื่อตามสำเนียงของผู้ให้สัมภาษณ์)

            1.   แม่ใหญ่คำ               วิสูทุต

            2.  แม่ใหญ่หวัน              ชิดชม

            3.  แม่ใหญ่ปิ๋ว                กะสันต์

            4.  แม่ใหญ่ก๋วน              ชุ่มเย็น

            5.  แม่ใหญ่พัน               ชอบธรรม

            6.  แม่ใหญ่ปี๋                  คงเพชร

            7.  แม่ใหญ่พลอย           เพชรบูรณ์

            ผู้ทรงผีปู่ย่าคนสำคัญดังกล่าวจะเป็นเสมือนตัวแทนผีปู่ย่า (ผีในหมู่บ้าน) เพื่อนหรือบริวารของเจ้าพ่อปากพาน โดยผีปู่ย่าและบริวารที่มีชื่อโดดเด่น ประกอบด้วย

1. เจ้าพ่อพญาแก้ว และเจ้าพ่อพญาอ้าย (บ้านแพะ)

2. เจ้าพ่อขุนโป่ง

3. จ้าพ่อโก่งกัญชา

4. จ้าพ่อปู(ภู)เมี่ยงสามแหลม

5. เจ้าพ่อเขาธนูทอง

6. เจ้าพ่อจ้องกั๊บ(ช่องคับหรือช่องแคบที่ “ตาดหมาไห้”)

7. เจ้าพ่อน้ำมืด

8. เจ้าพ่อน้ำหมี

9. เจ้าพ่อน้ำปี้ (น้ำพี้)

10. เจ้าพ่อแสนขัน (เจ้าพ่อทิดน้อย เป็นเพื่อนรุ่นพี่กับเจ้าพ่อปากพานมาจากพิชัยเหมือนกัน ชื่อจริงชื่อว่า “นายเขียว  ขิงหอม”)

           

ประวัติด้านความศักดิ์สิทธิ์ 

            การให้ความช่วยเหลือนั้นหลากหลายแล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละท่าน แต่ละคนจะพบเจอ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เท่าที่รับฟังมา เช่น

            -  แม่ทำงานอยู่กรุงเทพฯ ลูกอยู่บ้านคิดถึงแม่มากอยากให้กลับบ้าน  บอกพ่อปู่ขอให้พ่อปู่ช่วยดลใจแม่  แม่อยู่กรุงเทพฯได้ยินเสียงเหมือนคนร้องเรียกถามใครก็บอกว่าไม่รู้ไม่ได้ยิน ไม่ได้เรียก ก็ต้องรีบกลับมาบ้านในทันทีเพราะกลัวว่าลูกจะได้รับความเดือดร้อน หรืออันตราย

            -  หมูที่ชาวบ้านซื้อมาเลี้ยงใหม่ ๆ ยังไม่คุ้นเคยกับสถานที่ หายไป  2 วัน บอกพ่อปู่ขอให้พ่อปู่ช่วย  วันรุ่งขึ้นหมูก็กลับมาบ้านเองทั้ง ๆ  ที่พึ่งซื้อมาใหม่ไม่น่าจะจำบ้านได้

           -  ชาวบ้านแพะที่ไปแรมควายช่วงฤดูทำนา (ปางควายในอดีตอยู่ตรงข้ามสวนรุกขชาติบ้านแพะและหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อต.8 ในปัจจุบัน)  ก่อนนำควายกลับบ้านทำพิธีเซ่นไหว้ไก่ไม่ครบอยู่หนึ่งตัวทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้  ผลตอบแทนด้วยคนที่ไม่ให้ไก่เซ่นไหว้นั้น  ควายหายไป 1 ตัว วันรุ่งขึ้นต้องออกปากขอขมาพ่อปู่และจะเซ่นไหว้ใหม่จึงได้ควายคืนมา

           -  บางกลุ่มไปทำมาค้าขาย หากินต่างบ้านต่างจังหวัด (โดยเฉพาะร้านปะยาง) บอกพ่อปู่ให้ช่วย ก็ประสบความสำเร็จและไม่ได้รับอันตรายกลับมากันทุกคน (กลุ่มนี้จะทำการเซ่นบวงสรวงช่วงสงกรานต์เดือนเมษายนของทุกปี)

           -  บางคนไปสอบเข้างานเอกชน งานราชการ บอกพ่อปู่ให้ช่วย ก็มักได้อย่างที่ตั้งใจกันทุกคน

           หากมีการลบหลู่ดูหมิ่นหรือบิดพลิ้วไม่ทำตามคำที่พูดไว้ก็มักจะเกิดโทษต่อผู้นั้นในด้านต่าง ๆ  เช่น  ไฟไหม้  น้ำท่วม  พายุพัดสังกะสีบ้านพัง  มีสัตว์มาทำลายข้าวของในบริเวณบ้านให้ได้รับความเสียหาย เช่น ช้างป่าเข้าบ้าน เป็นต้น

           สิ่งที่พ่อปู่ปากพานโปรดปรานหรือชอบมากก็คือ กองผ้าป่า หรือผ้าเหลืองผ้าไตรที่คนจะนำไปเข้าพิธีบรรพชาอุปสมบท และหนังตะลุงที่อยากดูมากสักครั้งหนึ่ง ส่วนที่ไม่ชอบคือ การบนไม่ให้ได้เป็นทหาร (อาจเป็นเพราะท่านเคยเป็นทหารมาก่อน) 

           สิ่งของสำคัญที่ต้องนำไปเมื่อมีพิธีขอพรหรือบนบานต่อพ่อปู่ปากพาน  คือ ธูป 9 ดอก  ดอกไม้สีขาวจำนวนหนึ่ง   หมากหนึ่งคำ  และพลูหนึ่งใบ

 

1.6    ขนบธรรมเนียม ประเพณีท้องถิ่น 

            ทางด้านขนบธรรมเนียม ประเพณีของท้องถิ่นหรือของหมู่บ้านที่สำคัญนั้น ได้มีการถ่ายทอดสืบสานวัฒนธรรมต่อ ๆ กันมา สรุปความโดยย่อ เช่น 

            ประเพณีการตานขันข้าว  (การถวายอาหารพระเพื่ออุทิศให้ผู้ตายโดยพระจะเป็นผู้กล่าวว่า ใคร นำอะไรมาถวาย  อุทิศให้ใคร ได้รับแล้วควรจะทำอย่างไร เป็นต้น เป็นภาษาท้องถิ่น(เมือง) ดั้งเดิม ฟังไพเราะเพราะพริ้งมาก นิยมตานขันข้าวในวันพระขึ้น 15 ค่ำ ของวันสำคัญทุกโอกาส เช่น วันมาฆบูชา  วันสงกรานต์  วันวิสาขบูชา  วันอาสาฬหบูชา  วันเข้าพรรษา  และวันออกพรรษา เป็นต้น)

            ประเพณีการกิ๋นข้าวสลาก  (หรือประเพณีการถวายสลากภัตต์นั่นเอง มีการจับสลากทั้งของพระและของฆราวาส การจัดทำคล้ายกันกับทางภาคกลางมาก เพราะมีตำนานมาจากคัมภีร์ทางพุทธศาสนาเหมือนกัน นิยมจัดกันในเดือน 8 เหนือ ประมาณเดือนมิถุนายนของทุกปี)

            ประเพณีการเทศน์มหาชาติ (ยี่เป็ง) (ตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 วันลอยกระทงของทางภาคกลางพอดี มีการจัดเตรียมสถานที่ ตกแต่งธรรมาสน์ที่วัดให้ดูเหมือนกับเป็นป่าหิมพานต์ มีไม้ผลไม้ประดับหลายอย่างด้วยกัน  ในหมู่บ้านมีการตกแต่งกัณฑ์เทศน์ให้สวยงาม ใหญ่โต และแห่แหนกันไปถวายพระที่วัด เพื่อนำเครื่องใช้ เครื่องครัว มาไว้ที่วัดเพื่อใช้เป็นของส่วนรวมและแทนของเก่าที่ชำรุดเสียหายไปแล้ว) 

            ประเพณีตานข้าวเปลือก ข้าวสารใหม่  (การนำข้าวเปลือกและข้าวสารคนละนิด คนละหน่อยมาเทกองรวมกันที่บนศาลาวัด โดยในกองนั้นจะมีบาตรวางอยู่หนึ่งลูกเหมือนเป็นการใส่บาตร ข้าวสาร ข้าวเปลือก จนล้นมองไม่เห็นบาตร ซึ่งจะได้กองที่ใหญ่มาก มีการโยงด้ายสายสิญจน์ถวายให้กับพระด้วย  จัดกันประมาณปีใหม่ประมาณ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 1 ของทุกปี)

            ประเพณีการบวชพระ  (ต้องมีการเข้าโรงครัว คือเตรียมสถานที่ทำพิธีต่าง ๆ เช่น ที่วางผ้าไตร หมอน ที่นอน ที่ทำพิธีตัดและโกนผม ที่ทำกับข้าว ที่รับแขกเลี้ยงแขก อย่างน้อย 1 วัน  จากนั้นก็มีพิธีตัดผมนาค ทำขวัญนาค บวชเสร็จฉลองพระใหม่และมีการให้พระใหม่อยู่กรรมถือศีลเคร่งครัดอีกอย่างน้อย 3 วัน  การบวชพระนิยมบวชกันตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคมของทุกปี ไม่นิยมบวชแล้วเข้าจำพรรษาเลย)  

            ประเพณีการแต่งงาน  (มีการเข้าโรงครัวก่อนวันแต่งจริงหนึ่งวัน  มีการกินเลี้ยงร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน  มีการแห่ขันหมากเจ้าบ่าวไปบ้านเจ้าสาว  มีการทำขวัญเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาว มีการขึ้นผีดังกล่าวมา มีการผูกข้อมือ และนิยมมัดมือเจ้าบ่าวกับเจ้าสาวติดกัน   ชาวบ้านแต่เดิมมา ไม่นิยมนิมนต์พระมาประกอบพิธีในงานแต่งงาน)  

            ประเพณีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ (การรดน้ำดำหัวขอพร ขอขมาผู้สูงอายุ  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  เป็นต้น  มีการมอบของขวัญให้  สู่ขวัญ ผู้ข้อผูกแขนให้ด้วย  ส่วนใหญ่จะจัดกันประมาณวันปากปี คือ หลังสงกรานต์ไม่กี่วัน) 

           ประเพณีสงกรานต์  (มีการเก็บกวาดทำความสะอาดบ้านเรือน 1 วัน มีการเลี้ยงผีปู่ย่าในบ้าน  นำพระพุทธรูปและพระเครื่องในบ้านมาสรงน้ำ  มีการขนทรายเข้าวัดในวันที่สอง  มีการทำบุญตักบาตรเช้า สรงน้ำพระ อาบน้ำผู้สูงอายุ มีการไปขอพรขอขมาต่อผู้สูงอายุในหมู่บ้านและต่างหมู่บ้านที่รู้จักมักคุ้น โดยใช้น้ำที่ใส่ผิวมะกรูด ฝักส้มป่อย และน้ำอบนิดหน่อย  มีการจัดแข่งขันบั้งไฟกันอย่างสนุกสนาน  มีการละเล่นพื้นบ้าน ได้แก่ การชักกะเย่อ  สะบ้า  เตะปี๊บ  กระโดดยาง  หมากเก็บ  ขี่ม้าข้ามฟาก  วิ่งกระสอบ  เดินกะลา และได้มีการเพิ่มการเล่นกีฬาเปตองเข้ามาในงานเพิ่มขึ้นอีก จัดกันในวันที่สาม)

            ประเพณีเกี่ยวกับการตายหรืองานศพ  โดยทั่ว ๆ ไปแล้วก็มีความคล้ายกับภาคกลาง คือ มีการสวดพระอภิธรรม การทำบุญตักบาตรหน้าศพตอนเช้า เมื่อยังไม่นำไปทำการฌาปนกิจที่ป่าช้า ความแตกต่างคงอยู่ที่ ความสามัคคี พร้อมเพรียงช่วยกันจัดเตรียมสถานที่ต้อนรับแขกและการเก็บจัดส่งคืน  การฆ่าสัตว์แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย หรือสับลาบเพื่อเตรียมให้ผู้หญิงทำกับข้าวเลี้ยงแขก   การทำโต๊ะ การสร้างบ้านหลังเล็กเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตาย  โดยผู้ชายฉกรรจ์ในหมู่บ้าน    การจัดเตรียมถ้วยชาม เครื่องครัวเพื่อทำอาหาร  การทำกับข้าว การเลี้ยงแขก และจัดเก็บกวาดดูแลสถานที่  โดยผู้หญิงในหมู่บ้าน  การมาร่วมบริจาคทำบุญแก่เจ้าภาพ  การช่วยงานศิลป์ตัดกระดาษเป็นรูปต่าง ๆ   การกรอด้ายดิบเอาไว้ใช้ลากศพไปป่าช้า  การมาร่วมเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมโดยผู้เป็นเจ้าภาพจะเตรียมซองปัจจัย(เงิน)ของตนเองมา  5 ซอง หรือให้เจ้าภาพจัดให้ก็ได้ เพื่อถวายพระโดยเฉพาะ มีกี่เจ้าภาพก็จัดถวายพระทั้งหมด (ทางภาคกลางพระจะได้รับปัจจัยเพียงซองเดียว)

            ตอนกลางวันจะมีผู้คนทั้งที่เป็นญาติและไม่ใช่ญาติ หมู่บ้านเดียวกันและต่างหมู่บ้าน มาร่วมพูดคุยเป็นเพื่อนเจ้าภาพไม่ขาด บ้านงานศพจะไม่เงียบเหงาไร้ผู้คนอย่างวัดในเมืองหรือกรุงเทพที่มีแต่เจ้าภาพเฝ้าศพอยู่ไม่กี่คน บางงานปิดศาลาไว้ให้พระดูแลแทนก็มี

หมายเลขบันทึก: 444551เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2011 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2014 16:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท