ความรู้และความจริง


ความรู้ที่เกิดขึ้นมีมากมาย แต่ทว่าจะเป็นความจริงที่ค้นพบหล่ะมีมากน้อยแค่ไหน...

ความรู้และความจริง 


          ความรู้และความจริงนั้นเกี่ยวข้องกันอย่างไร  เหมือนหรือต่างกันตรงไหน  และเราจะค้นพบมันได้อย่างไร  นักปรัชญาหลาย ๆ ท่านพยายามค้นหาคำตอบที่เกี่ยวข้องกับความรู้และความจริงเหล่านั้น  ซึ่งจากการศึกษาพบว่า  สาขาของปรัชญาสามารถแบ่งได้เป็น 5 สาขา คือ ญาณวิทยา  อภิปรัชญา  จริยศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ และตรรกวิทยา  ซึ่งในแต่ละสาขาก็มีความแตกต่างกันในระบบการคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ความจริง ที่สามารถสรุปได้ดังนี้

  1. ญาณวิทยา หรือเรียกอีกอย่างว่า ทฤษฎีความรู้ (Theory of Knowledge) บัญญัติขึ้นเพื่อใช้เป็นคำแปลของคำภาษาอังกฤษว่า Epistemology ซึ่งมาจากภาษากรีกว่า Episteme (ความรู้) และ Logos (วิชา) มีความหมายว่า ทฤษฎีแห่งความรู้ ซึ่งญาณวิทยาจะอธิบายถึงปัญหาเกี่ยวกับที่มาของความรู้ แหล่งเกิดของความรู้ ธรรมชาติของความรู้ และเหตุแห่งความรู้ที่แท้จริง  ซึ่งญาณวิทยานี้ถือได้ว่าเป็นต้นกำเนินของปรัชญาที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบันเลยก็ว่าได้
  2. อภิปรัชญาเป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า Metaphysics หมายถึงศาสตร์ที่ว่าด้วยความแท้จริงหรือสารัตถะ (Reality Essence) มีปรัชญาอีกสาขาหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ Metaphysics คือ Ontology แปลว่า ภววิทยา ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความมี (being) ศาสตร์ทั้งสองนี้มีความเกี่ยวข้องกันเพราะว่า Metaphysics คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยความแท้จริงหรือสารัตถะว่ามีจริงหรือไม่ Ontology ก็ศึกษาเรื่องความมีอยู่ของความแท้จริง หรือสารัตถะนั้นเป็นจริงอย่างไรโดยทั่วไปถือว่าศาสตร์ทั้งสองนี้ศึกษาเรื่องเดียวกัน คือ ความมีอยู่ของความแท้จริง หรือความแท้จริงที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นจึงถือว่าศาสตร์ทั้งสองเป็นเรื่องเดียวกัน อภิปรัชญาเป็นการศึกษาปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากการเห็นทั่ว ๆ ไป หรือความรู้ที่อยู่นอกเหนือการรู้เห็นใด ๆ แต่สามารถรู้และเข้าใจด้วยเหตุผล  ดังนั้นอภิปรัชญาจึงเน้นการศึกษาเรื่องจิตเป็นสำคัญ  การฝึกจิตที่แข็งแกร่งและมั่นคงจะสามารถค้นพบความรู้ความจริงที่เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอนได้  การฝึกจิตให้มีสมาธิจะสามารถบรรลุจุดประสงค์ที่ตั้งใจไว้ได้เป็นอย่างดี
  3. จริยศาสตร์ (Ethics) มีที่มาจากรากศัพท์ภาษาละตินคำว่า (Ethos) ที่หมายถึง อุปนิสัย หรือหลักของความประพฤติ ขนบธรรมเนียมที่เป็นความเคยชิน จริยศาสตร์ เป็นการศึกษาถึงเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์เราว่าคืออะไร อะไรควรทำหรือไม่ควรทำเพื่อจะได้ไปถึงเป้าหมายสูงสุดนั้น และจะใช้เกณฑ์อะไรมาตัดสินว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนี้ไม่ดี ดังนั้น เป้าหมายของชีวิต คือ ตัวที่จะกำหนดการกระทำของมนุษย์ว่าจะเป็นไปในแนวทางใด และเป้าหมายชีวิตของมนุษย์แต่ละคนนั้นก็แตกต่างกันออกไปหลายแนวคิด เป็นการตัดสินความดี ความชั่ว  สิ่งที่ควรทำ และสิ่งที่ไม่ควรทำ  เป็นพฤติกรรมของมนุษย์ที่สะท้อนออกมาให้สังคมรับรู้  ปรัชญาสาขานี้จึงเน้นในเรื่องความดีและการพัฒนาชีวิตให้สูงขั้นด้วยการประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นคนดี
  4. สุนทรียศาสตร์เป็นศัพท์คำใหม่ ที่บัญญัติขึ้นโดย โบมการ์เด็น (Alexander Gottieb Baumgarte) ซึ่งก่อนหน้าที่เป็นเวลา 2000 กว่าปี นักปราชญ์สมัยกรีก เช่น เพลโต อริสโตเติล กล่าวถึงแต่เรื่องความงาม ความสะเทือนใจ ซึ่งเป็นความรู้สึกทางการรับรู้ (Sense Perception) ของมนุษย์ ปัญหาที่พวกเขาโต้เถียงกันได้แก่ ความงามคืออะไร ค่าของความงามนั้นเป็นจริงมีอยู่โดยตัวของมันเองหรือไม่ หรือว่าค่าของความงามเป็นเพียงความข้อความที่เราใช้กับสิ่งที่เราชอบ ความงามกับสิ่งที่งามสัมพันธ์กันอย่างไร มีมาตรการตายตัวอะไรหรือไม่ที่ทำให้เราตัดสินใจได้ว่าสิ่งนั้นงามหรือไม่งาม สุนทรียศาสตร์นับว่าเป็นแขนงหนึ่งของปรัชญาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาคุณค่า (Axiology) ในสมัยก่อนวิชานี้เป็นที่รู้จักกันในรูปของวิชา “ทฤษฎีแห่งความงาม” (Theory of Beauty)  จะเห็นได้ว่าสุนทรียศาสตร์นั้นเห็นได้อย่างชัดเจนเรื่องความงามทั้งรูป รส กลิ่น เสียง ที่แสดงถึงความสุนทรี  จินตนาการที่ลึกซึ้ง ซึ่งในบางครั้งคนธรรมดาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ อาจจะต้องอาศัยจิตนาการร่วมไปด้วยจึงจะเข้าใจในสาขาปรัชญานี้
  5. ตรรกวิทยา (logic) มาจากรากศัพท์ ในภาษากรีกว่า “Logos” และความหมายของคำว่า logos ตามรากศัพท์เดิมในภาษากรีก หมายถึง คำพูด การพูด เหตุผล สมมุติฐาน สุนทรพจน์ คำกรีกที่มีรากศัพท์มาจาก logos เช่น logistikon มีความหมายถึง การอธิบาย การให้รายละเอียด นอกจากนี้ยังมีความหมาย หมายถึง คำสัญญา แต่อย่างไรก็ตามความหมาย ที่ซ่อนอยู่ของคำว่า Logic คือ การคิด นั่นเอง ตรรกวิทยามิใช่เรื่องราวของปรัชญาโดยตรง แต่มีความสำคัญในฐานะเป็นเครื่องมือในการคิดทางปรัชญา เพื่อค้นหาเหตุผลและความถูกผิดในการโต้แย้งที่ต่างกัน  จะเห็นได้ว่าการค้นหาความรู้และความจริงเชิงตรรกะจะเข้ากับบริบทความเป็นอยู่ในปัจจุบันมากที่สุด  ซึ่งการตัดสินเรื่องราวหลายสิ่งหลายอย่างในโลกนี้ย่อมอาศัยเหตุผลเข้ามามีส่วนประกอบในการเลือกและตัดสินใจ  ซึ่งแนวทางของการศึกษาในสาขาตรรกวิทยานั้นสามารถสนองตอบการกระทำเชิงเหตุผลได้เป็นอย่างดี

อ้างอิงข้อมูล http://th.wikipedia.org/wiki/ปรัชญา

การเรียนการสอนในรายวิชา advance  research ของ รศ.ดร.อรุณี อ่อนสวัสดิ์

หมายเลขบันทึก: 444214เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2011 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 10:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท