๑๑๒.วัฒนธรรมประชาธิปไตย ถึงเวลาที่คนไทยต้องเปลี่ยนแปลง


ปัญหาการเมืองการปกครองไทย 4 อย่าง คือการใช้เงิน-การแย่งชิงอำนาจ-การฉ้อราษฎร์-การแสดงอำนาจบาตรใหญ่ ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนแปลง

    

     วันนี้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา ได้จัดโครงการดี ๆ ขึ้นโดยให้ชื่อว่า "เสริมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยและการเสริมสร้างคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต" โดยขอใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา

     ท่านวัฒนธรรมจังหวัด (มงคล สิทธิหล่อ) ได้รายงานว่า การจัดโครงการนี้ขึ้นมีวัตถุประสงค์ก็เพื่อให้เด็ก เยาวชนกลุ่มเป้าหมายมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมประชาธิปไตยและเพื่อเป็นการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ในกระบวนการประชาธิปไตยแก่เด็ก เยาวชนในการนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

     งานนี้มีครูและนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมจากสถานศึกษาหลายแห่งในจังหวัดพะเยา ซึ่งโครงการนี้ได้มีการจัดประกวด จำนวน ๔ กิจกรรมหลักได้แก่

     ๑.กิจกรรมการประกวดวาดภาพระบายสี โดยกำหนดหัวข้อ "วัฒนธรรมประชาธิปไตย ในความคิดของฉัน"

     ๒.กิจกรรมการประกวดการเขียนเรื่องสั้น โดยกำหนดหัวข้อ "วัฒนธรรมประชาธิปไตย สร้างชาติให้มั่นคง"

     ๓.กิจกรรมการประกวดเรียงความ โดยกำหนดหัวข้อ "การเสริมสร้างคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต"

     ๔.กิจกรรมการประกวดกล่าวสุนทรพจน์ โดยกำหนดหัวข้อ "การเสริมสร้างคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต"

     หากดูตามโครงการแล้วน่าสนใจยิ่ง เนื่องจากคำหลักคือ "วัฒนธรรมประชาธิปไตย"

     จากเอกสารทางโครงการทำให้ทราบว่า "วัฒนธรรมประชาธิปไตย" ก็คือวิถีชีวิตของคนที่อยู่ร่วมกันและช่วยกันจัดสรรความเป็นอยู่ให้ดี เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข ตัวแท้ของประชาธิปไตยอยู่ที่การช่วยกันคิดช่วยกันทำ นำเอาสติปัญญาความสามารถของแต่ละคนออกมาร่วมกันแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ความเป็นอยู่ร่วมกัน ให้เป็นสุขและเจริญงอกงาม ถ้าไม่มีตัวแท้หรือเนื้อแท้ของประชาธิปไตยนี้ รูปแบบต่าง ๆ ที่ว่าเป็นเครื่องมือทั้งหลายก็หมดความหมาย ดังนั้นการเสริมสร้างวัฒนธรรประชาธิปไตย จึงเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้คนในสังคมหรือชุมชนนำเอาหลักการประชาธิปไตยมาประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิต เช่น มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีคุณธรรม มีวินัย ให้เกียรติและเคารพรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เป็นต้น

     แต่ผู้เขียนกลับเห็นว่าเพราะคำว่าวัฒนธรรมประชาธิปไตยไทย จึงทำให้ ประเทศชาติไม่พัฒนาเท่าที่ควร 

     หากเราดูความหมายตามรูปศัพท์แล้ว จะได้ว่า วัฒนะ แปลว่าความเจริญ รุ่งเรือง งอกงามขึ้นไป แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ (พิมพ์ ๒๕๔๖) ให้คำนิยามว่า "วัฒนธรรม" เป็นคำนาม แปลว่าสิ่งที่ทำให้ความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมในการแต่กาย วิถีชีวิตของหมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมชาวเขา เป็นต้น

     ดังนั้น ผู้เขียนจึงให้คำนิยามใหม่ของคำว่า "วัฒนธรรมประชาธิปไตยไทย" จึงหมายถึงวิถีชีวิตของคนไทยในเรื่องประชาธิปไตยในปัจจุบันนี้ ไม่เป็นที่พอใจเท่าที่ควร...

     ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ได้เขียนหนังสือเรื่อง วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย และได้วิเคราะห์ปัญหาที่ถึงก้นบึ้งของคนไทยไว้  ๔ ประการ คือ

     ๑.ปัญหาการใช้เงินซื้อเสียง

     ๒.ปัญหาเรื่องการแย่งตำแหน่ง-อำนาจ

     ๓.ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงขนานใหญ่

     ๔.ปัญหาการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ของนักการเมือง

     ปัญหาทางการเมืองการปกครองของไทยทั้ง ๔ ประเด็นสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของนักการเมืองไทยและคนไทยอย่างชัดเจนยิ่ง

     ประเด็นแรก ปัญหาเรื่องการใช้เงินชื้อเสียง เมื่อวานผู้เขียนคุยกับประชาชนท่านหนึ่งในประเด็นการเลือกตั้ง คำตอบที่ได้รับคือทัศนะคติที่ว่ารับเงินเขามาแล้วต้องเลือกให้เขา โดยอ้างหลักศาสนาว่า เหมือนไปโกงคนซื้อสิทธิ์มา เมื่อถามต่อไปว่าแล้วรู้ใหมว่าเขาชื้อเราไปแล้วเขาจะไปฉ้อราษฎร์บังหลวงต่อ คำตอบคือรู้-และเข้าใจสามารถยอมรับได้-เป็นเรื่องของเขา  ซึ่งคำตอบในลักษณะเช่นนี้ทำให้ผู้เขียน งง+ อยู่ไม่น้อย

     ประเด็นก็คือชาวบ้านไม่โง่ แต่หลักการคิดหรือวัฒนธรรม ความเชื่อหลายอย่างต้องปรับเปลี่ยนแปลง

     ประเด็นที่สอง ปัญหาเรื่องการแย่งอำนาจ เพื่อเข้าสู่ตำแหน่ง ปัญหานี้ ไม่ทราบว่าคนไทย ยอมรับพฤติกรรมเหล่านี้ได้อย่างไร? เท่าที่ผ่านมานักการเมืองไทย โฆษณาหาเสียง ๑๐๘ พันประการ แต่สัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ตามหลักแล้วคือสัญญาประชาคม แต่นักการเมืองไทยและคนไทยโดยมาก-ลืมประเด็นเหล่านี้เสียเอง ประมาณว่าธุระไม่ใช่ น่าอนาถใจยิ่งนัก

     ประเด็นที่สาม การฉ้อราษฎร์บังหลวงขนานใหญ่ เรื่องนี้คนไทยรู้ดี รัฐก็รู้ดี แต่ทำไมประชาชนบางกลุ่มนำรายชื่อผู้สมัครมาเรียงลำดับว่าใครให้มากกว่ากัน?  โดยไม่คิดถึงผลกระทบใดใด ที่จะติดตามมาภายหลัง โดยสนใจแต่เพียงว่าใครให้มากน้อยอย่างไร? และใครไม่ให้? ในเรื่องผลประโยชน์  บางครั้งถึงกับมีการพนันขันต่อเป็นเรื่องสนุกสนานกันไป  อะไรกำลังเกิดขึ้นกับสังคมไทย?

     ประเด็นก็คือ คนไทยคิดว่า สส.เป็นผู้เอื้อผลประโยชน์ ตอบสนองประโยชน์ จะทำอย่างไรให้เขาคิดว่า สส.สว.สท.สจ.ฯลฯ เป็นผู้ไปออกกฏระเบียบ นโยบาย เพื่อให้สังคมมีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่ไปเอาประโยชน์เสียเอง

     ประเด็นที่สี่ การแสดงอำนาจบาตรใหญ่ของนักการเมือง ประเด็นนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาทุกข้อเกี่ยวพันกันหมด จึงทำให้ สส.สว.ฯลฯ ที่เป็นพ่อ-แม่-ผัว-เมีย-ลูก-พี่เขย-น้องเมีย-ฯลฯ มากมาย หลายจังหวัด บางตระกูลที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับบ้านเมืองเป็นสิ่งที่ดี  แต่อีกหลาย ๆ จังหวัดกลับเป็นตระกูลไม่เอื้อประโยชน์ต่อบ้านต่อเมืองเท่าที่ควร-ซึ่งเป็นตัวอย่างไม่ดีแน่นอน

     ประเด็นปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา ผู้เขียนเห็นจุดที่ควรแก้ไข อยู่ ๓ ประเด็น กล่าวคือ

     ๑.ต้องปรับเปลี่ยนทัศนะคติของประชาชนใหม่โดยไวว่า แท้ที่จริง บทบาท สส.สว.ฯลฯ คืออะไร? กันแน่

     -ด้านตัว สส.สว.ฯลฯ  และครอบครัว-เผ่าพันธุ์และวงศาคณาญาติ ก็ไม่ควรเป็นผู้รับเหมา หรือมีผลประโยชน์เสียเอง

     -ด้านตัวประชาชน ก็ต้องกำกับดูแลบทบาทของท่านผู้แทนฯ เหล่านี้ให้ดูแลผลประโยชน์ชาติบ้านเมืองเป็นใหญ่ ตนเองทำผิด เช่น ลืมต่อทะเบียนรถ ไม่สวมหมวกกันน็อค ฯลฯ ก็ไม่ควรไปโทษตำรวจ-แล้ววิ่งเต้นกับท่านผู้แทนฯ จึงทำให้บทบาทผู้แทนเปลี่ยนไป ต้องโทษตนเองที่ไม่เคารพกฏหมาย ต้องแก้ที่ตนเองก่อน-ที่จะไปแก้ระบบ

     ๒.ประชาชนต้องตระหนักรู้-มองเห็นโทษภัย-และห่วงใยอนาคตลูกหลาน เท่าที่ผ่านมาประชาชนไม่โง่ แต่ไม่คิดจะลงโทษ นั้นก็หมายความว่าประชาชนระดับรากหญ้าเขารู้และเข้าใจดี ว่าอะไรเป็นอย่างไร? แต่ขาดการตระหนักและสำนึกรู้กับสังคมเท่านั้นเอง องค์กรศาสนาและวัฒนธรรมต้องทำงานมากขึ้น องค์กรระดับชาติต้องสร้างสื่อกระแสหลัก ให้หนักขึ้นกว่านี้

     ๓.คนไทยต้องมีอุดมการณ์ "ธรรมาธิปไตย" เท่าที่ผ่านมาอุดมการณ์นี้มีแต่ชื่อ ไม่มีแนวทางปฏิบัติและไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจน  ผู้เป็นตัวแทนก็ดี ประชาชนผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์ก็ดี ต่างละทิ้งอุดมการณ์นี้ไป หรือไม่ก็ใช้อุดมการณ์นี้เป็นเพียงเสือกระดาษที่พูดออกมาจากปาก โดยไม่เก็บเข้ามาไว้ในใจ

     ดังนั้น วัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ถึงเวลาแล้วที่คนภายในประเทศต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่วัฒนธรรมประชาธิปไตยไทยที่ดีงาม สามารถจับต้องได้ โดยคนไทยช่วยกันขับเคลื่อน เริ่มตอนเลือกตั้งวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ นี้ดีไหม?

 

หมายเลขบันทึก: 444128เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2011 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการครับ

'...กิจกรรมการประกวด... โดยกำหนดหัวข้อ "วัฒนธรรมประชาธิปไตย...'

We have these cultural promotion in term of competitions judged by "a few people behind closed doors". This is how we promote 'democracy' by using 'privilege few' -- how ironic! ;-)

เจริญพรคุณโยม อาตมาเห็นด้วยในเหตุผลที่เสนอแนะมาและเย้ยหยันในวิธีคิดของภาครัฐ แต่ทำอย่างไรได้ เมื่อรัฐจะทำการปลูกฝังเรื่อง "วัฒนธรรมประชาธิปไตยฯ"ทั้งที ก็ต้องมาลงที่เด็ก โดยการใช้การแข่งขันเป็นตัวล่อ และเด็กเหล่านี้ก็เป็นคนจำนวนน้อยที่แทบจะไม่สะเทือนถึงสังคมส่วนรวมได้ ถึงเวลาแล้วที่รัฐ-ประชาชนคนไทยต้องเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม !

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท