พระโรงงานระดับฝีมือต่างๆ ที่พบบ่อยในตลาดพระ


พระโรงงานฝีมือจัด และดีมาก เหล่านี้จะพบบ่อย ในมือของนักสะสมพระที่ไม่ค่อยพัฒนาความรู้ของตัวเอง

หลังจากผมพยายามคัดแยกพระโรงงานออกจากพระแท้ในทุกกลุ่มเนื้อที่ผมมี ทำให้ตู้และกล่องเก็บพระของผมโล่งพอสมควร ไม่เหมือนช่วงแรกๆที่ไปเหมาพระมาจากตามบ้าน ที่มีทั้งพระแท้และพระโรงงานปะปนกันมากพอสมควร

ด้วยสาเหตุมาจากความรู้ และความเข้าใจไม่ชัดเจนพอ ถามใครก็ไม่ค่อยได้ อาจจะเพราะไม่รู้เหมือนกัน หรือกลัวเราจะรู้ทันก็ไม่ทราบ

ดังนั้น อะไรที่ดูแล้วใกล้เคียงก็เก็บไว้ก่อน

แต่พอชัดเจนมากขึ้น

ก็ค่อยๆคัดแยกออกเรื่อยๆ ตามลำดับ ที่เป็นที่มาของบันทึกสรุปบทเรียน ที่ผมพยายามบันทึกมาเป็นระยะๆ

โดยเริ่มจากแยกระดับฝีมือไม่ดีชัดๆออกไปก่อน ที่กลางๆก็เก็บไว้เพื่อพิจารณา ที่มั่นใจค่อยนำเสนอสรุปบทเรียน

ดังนั้น ความแตกต่างของการพัฒนาความรู้ ก็คือความคมชัดของเส้นแบ่งระหว่างพระโรงงาน และพระแท้

วันนี้ขอเป็นบันทึกรวมแบ่งระดับฝีมือ แต่การดูเนื้อจริงๆนั้น ขอให้ย้อนไปดูบันทึกเก่าที่มีรายละเอียดทุกเนื้อ

  • ทั้งเนื้อดิน ของกรุต่างๆ
  • ตะกั่วสนิมแดง
  • ชินเงิน
  • ชินเขียว
  • สำริด
  • เงิน
  • ทองคำ
  • จนกระทั่งเนื้อผง

จุดน่าสนใจก็คือ ผมพบว่า

พระโรงงานฝีมือจัด และฝีมือดีมากเหล่านี้จะพบบ่อยมาก ในมือของนักสะสมพระที่เก็บมานาน แต่ไม่ค่อยพัฒนาความรู้ของตัวเอง

เพราะ เมื่อเราพัฒนาความรู้แล้ว เราก็จะค่อยๆคัดแยก "พระฝีมือจัด" ออกเรื่อยๆ

จนกระทั่งแบ่งเกรด เป็น

  • ระดับฝีมือจัด
  • ฝีมือดีมาก
  • ฝีมือดี 
  • ฝีมือธรรมดา และ
  • แบบฝีมือไม่ดี ในกลุ่มพระเก๊ดูง่าย

หลังจากนั้น ก็พยายามมาพิจารณาว่าแต่ละระดับฝีมือ เขาทำได้ถึงขนาดไหน

ในระดับฝีมือไม่ดีนั้น จะดูง่ายมาก

  • ทั้งเนื้อ ทั้งพิมพ์ไม่มีอะไรใกล้เคียงเลย
  • ทั้งศิลปะที่หยาบ ไม่อ่อนช้อย
  • เนื้อกระด้าง ผิวก็โปะบ้าง ขัดแต่งบ้าง พ่นทรายบ้าง สารเคมีหรือกรดกัดบ้าง
  • แต่งสีแบบหยาบๆแล้วนำมาขายเป็นร้อยละ หรือองค์ละ ๒๐ ถึง ๕๐ บาท และ
  • ขายดีมากที่สุดในตลาดพระ เพราะราคาถูก มีจำนวนมาก

ผู้ที่ซื้อพระเหล่านี้ไป เท่าที่ทราบและเคยเห็น ก็มักเป็นพระที่มาจากวัดต่างๆ ที่นำไปแจกพระเครื่องสมนาคุณคนทีมาทำบุญให้วัด

ผมหลงหยิบในช่วงแรกๆบ้างเล็กน้อย ส่วนใหญ่คืนจ้าของเขาไปหมดแล้ว เก็บไว้ดูไม่กี่องค์

เนื่องจากดูง่าย มีอยู่ทั่วไป และคิดว่าทุกท่านคงเคยเห็นแล้ว จึงขอข้ามไป

ในระดับฝีมือธรรมดา เริ่มจะดูยากสำหรับมือใหม่

  • พิมพ์จะทำได้ใกล้เคียง แต่เนื้อมักไม่ตรงตามมวลสารของแต่ละกรุ
  • ผิวและการกร่อน หรือการเกิดสนิม ไม่ใกล้เคียง ไปไม่ได้เลย
  • ทั้งมีสภาพยังใหม่ แต่พยายามทำให้เก่าด้วยการโปะ การขัดแต่งแบบหยาบๆเละๆ

พระกลุ่มนี้สามารถแยกได้ง่าย เพราะเนื้อไม่ถึง เนื้อผิดกรุ และพิมพ์มักเพี้ยนๆ ตี้นไปหรือผิดเพี้ยน ขนาดเล็กไป ใหญ่ไป

ในระดับฝีมือดี มือใหม่จะหลงง่ายมาก

  • พิมพ์และตำหนิต่างๆจะทำได้ตรงตามตำราที่เขียนโดย "เซียนใหญ่" ที่วางขายในตลาดเป็นส่วนใหญ่
  • มีการพัฒนาฝีมือช่างได้ดี
  • งานค่อนข้างละเอียด ขายแยกเป็นองค์ๆ องค์ละประมาณ ๑๐๐ บาท
  • แผงพระมักใช้ประดับแผง เผื่อให้มือใหม่หลงหยิบ
  • มักจะมีรายละเอียดของศิลปะบางจุดที่ยังไม่ได้ทำ หรือช่างมองข้ามไป
  • บางทีเนื้อก็ทำได้แบบใกล้เคียงมาก
  • แต่ยังมีจุดสังเกตที่ระดับเซียนมักใช้คำว่า "ไม่เป็นธรรมชาติ" หรือ "ไม่ตรงตามตำรา"

ในระดับฝีมือดีมาก นักสะสมทั่วไปจะหลงหยิบเป็นประจำ

  • ระดับนี้ พิมพ์และตำหนิมักจะถูกต้องตามตำราหมดทุกจุด
  • โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ระดับบล็อคคอมพิวเตอร์ โอกาสพลาดน้อยมาก
  • เนื้อก็ทำแนบเนียน ดูยากมาก แต่จะไม่หนึกนุ่มแบบพระแท้
  • เป็นพระระดับทำทีละองค์ และลงรายละเอียดตามตำราที่มี
  • คนที่ไม่เคยเห็นพระแท้ จะคิดว่าแท้ เพราะจะเหมือนตัวหนังสือในตำราทุกรายละเอียด
  • ราคาขายอยู่ที่ประมาณ ๒๐๐ บาท
  • คนที่ศึกษามานานพอสมควรจะมองออกในลักษณะไม่ "สวยงาม" แบบ "ธรรมชาติ" ตรงตามศิลปะ เนื้อหา และหลักการ

ในระดับฝีมือจัด แม้แต่คนเล่นพระเครื่องมานานก็อาจยังพลาด

  • เป็นพระที่ผ่านการผลิตแบบทีละองค์
  • เน้นความละเอียดทั้งพิมพ์และเนื้อ ในทุกมิติ
  • ทั้งความหนา สีของวัสดุและมวลสาร คราบต่างๆ สนิม
  • โดยช่างจะพยายามเลียนแบบธรรมชาติเกือบทุกขั้นตอน
  • แต่เป็นการเร่งปฏิกริยา หรือทำเลียนแบบธรรมชาติ ตามลำดับที่อธิบายไว้ในตำรา
  • รายละเอียดใดๆในตำรา จะมีครบหมดอย่างไม่น่าเชื่อ
  • ช่างฝีมือดี อ่านมาก ศึกษามาก อาจจะมากกว่านักสะสมบางคนด้วยซ้ำ
  • แต่เป็นการทำแบบรวดเร็ว
  • จึงทำให้ "อายุ" ของเนื้อเป็นแบบเดียว ไม่ค่อยหลากหลาย
  • ผิวมักมีแบบเดียว หรือหลายแบบแต่เรียงกันไม่เป็นระบบแบบ "ธรรมชาติ"
  • มีความขัดแย้งในเชิงหลักการพัฒนาการของเนื้อพระ

ฉะนั้น โดยรวม 

  • การดูเนื้อพระ ผิวพระ และวิวัฒนาการที่เห็น จึงสำคัญกว่าการดูพิมพ์ และตำหนิ
  • เพราะ พิมพ์นั้นลอกเลียนแบบได้ง่ายมาก ในยุคคอมพิวเตอร์
  • แต่ก็ต้องดูประกอบกันทั้งสองอย่าง

จึงจะปลอดภัยที่สุด

เมื่อเวลาดูพระ จึง

  • ต้องค่อยๆดู
  • ใช้กล้องกำลังขยายสูง
  • ดูในที่มีแสงมากๆ
  • ดูทีละจุด ทีละประเด็น
  • ค่อยๆอ่านเนื้อ
  • อ่านพิมพ์
  • อ่านอายุ และ
  • อ่านประวัติของพระแต่ละองค์ จากสภาพที่ปรากฏที่เนื้อและผิวพระ
  • อย่าเชื่อนิทานใดๆ
  • ให้ดูและอ่านจากเนื้อพระอย่างเดียว

เมื่อเริ่มเรียนนั้น

  • อย่าดูแบบเซียน
    • ที่หยิบดูแบบรวดเร็ว
    • ด้วยความชำนาญ
    • ดูโดยรวมในเชิงศิลปะ ตำหนิ อายุของเนื้อ ความงาม และธรรมชาติ
    • แบบเบ็ดเสร็จในรอบเดียว
  • มือใหม่ต้องค่อยๆไป ค่อยๆอ่าน ให้เวลาในการอ่านมากๆ
    • วางทันทีเมื่อสังเกตเห็นสิ่งผิดปกติ
    • โอกาสเก๊ มากกว่า แท้
      • แม้จะแท้ก็ไม่สวย อย่าไปอาลัยอาวรณ์
  • ถนอมเนื้อถนอมตัวไว้ จะเจ็บน้อย
  • โอกาสยังมีอีกมาก ตราบใดที่เงินยังอยู่ในกระเป๋า

แล้วท่านจะไม่พลาดไปหยิบพระโรงงานเหล่านี้ครับ

ขอให้โชคดีครับ

หมายเลขบันทึก: 444081เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2011 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท