๗๙.สภาพทางสังคมและการเมืองการปกครองในอาณาจักรภูกามยาว


ในการเริ่มต้นของรัฐพะเยา (ภูกามยาว) นี้ถือว่าเป็นเมืองสำคัญอันดับสองรองมาจากรัฐหิรัญเงินยางอันเป็นรัฐแม่ที่แยกตัวมาด้วยเหตุที่รัฐพะเยา (ภูกามยาว) นี้เป็นรัฐหรือเมืองลูกที่ได้รับการแบ่งสมบัติจากขุนเงินผู้เป็นพระราชบิดาที่ถือว่าเป็นรัฐมหาอำนาจอยู่ในแถบถิ่นนี้ และปัจจัยที่สำคัญคือการมีรัฐขึ้นที่แต่เดิมคือรัฐเก่าอย่างหิรัญเงินยางไว้เป็นฐานรองรับอยู่แล้ว จึงทำให้รัฐพะเยาโดดเด่นกว่ารัฐอื่น ๆ ซึ่งต่อมามีเขตแดนมากถึง ๓๖ พันนาซึ่งเป็นรองแต่เฉพาะรัฐหิรัญเงินยางที่มีถึง ๖๕ พันนา ในขณะที่รัฐเชียงรายมีแค่ ๓๒ พันนา และรัฐฝางมี ๕ พันนา เท่านั้น

สภาพทางสังคมและการเมืองการปกครอง

 

.๑.สภาพทางการเมือง

                ในยุคนี้  รัฐพะเยาใช้ระบอบการปกครองเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชโดยมีพ่อขุนเป็นทั้งศูนย์กลางทางอำนาจการบริหาร, นิติบัญญัติ และตุลาการด้วยพระองค์เอง  แม้ว่าการแบ่งการปกครองแบบนี้จะสามารถแบ่งออกได้เป็น  ๓  รูปแบบย่อย กล่าวคือ  รูปแบบที่หนึ่ง สมบูรณาญาสิทธิราชแบบพ่อปกครองลูก รูปแบบที่สอง สมบูรณาญาสิทธิราชแบบธรรมราชา รูปแบบที่สาม สมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบเทวราชา  [1]  ซึ่งในการปกครองแบบนี้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นทั้ง เจ้าชีวิต เหนือหัวที่สามารถชี้เป็นชี้ตายแก่คนในรัฐได้,  เป็นทั้ง เจ้าแผ่นดิน ทั้งประเทศ, เป็นทั้ง กษัตริย์หรือเจ้าแห่งเกษตรหรือผลผลิตทั้งหลาย, พระองค์ทรงเป็นทั้ง ราชา ผู้ทำให้ปวงชนได้ชื่นชมอิ่มใจ และที่สำคัญพระองค์ทรงเป็น ธรรมราชา คือพระราชาผู้ทรงธรรมนั้นเอง [2]  ทั้งนี้ศูนย์รวมของพระราชอำนาจทั้งทางด้านการเมืองการปกครองจึงผูกขาดอยู่ที่พระองค์ผู้เดียว  แต่กระนั้นก็ตามพระองค์ทรงเอนเอียงมาทางแบบธรรมราชา คือตามคติของพระพุทธศาสนามากกว่า  การปกครองในรูปแบบอื่น ๆ

                แม้ตลอดรัฐสมัยของขุนจอมธรรมเองจะไม่มีศึกสงครามเกิดขึ้นบ้านเมืองมีความสงบร่มเย็นไพร่ฟ้าประชาชนอยู่ดีกินดี  พระองค์ไม่มีความเสื่อมเสียในเรื่องของการหมกหมุ่นในกามคุณดังปรากฏในตำนานและเรื่องราวของกษัตริย์รุ่นลูกหลานของพระองค์อย่างขุนเจืองธรรมิกราช และขุนงำเมือง  เป็นต้น

 

.๓.สภาพทางการปกครองของรัฐ

                ในการดังกล่าวนี้พระองค์ยังได้จัดระบบการปกครองออกเป็นหมวดหมู่ เรียกว่าพันนา คำว่า พันนา หมายถึงตำบล โดยมีหน่วยนับว่า ๕ หลังคา เป็น ๑ เส้นฏีการ และ ๑,๐๐๐ เส้นฏีการ (ซึ่งเท่ากับ ๕,๐๐๐ หลังคา) เป็นหนึ่งพันนา [3] เพื่อสะดวกต่อการบัญชาการและให้ขึ้นอยู่กับการปกครองเดิมคือมีจำนวนเท่ากับรัชสมัยของพระเจ้าสุทธสมและพระเจ้ายาอนุราช ที่มี  ๑๒  พันนา  ประกอบไปด้วย [4]

                ๑) พันนาเชียงดี   มีบ้านที่อยู่ภายใต้การปกครองประกอบด้วย บ้านถ้ำ, บ้านน้อย, บ้านสวนหลวง, บ้านจามควาย, บ้านเทิง, บ้านหลอด, บ้านพร้าว, บ้านแช่ตาก, บ้านปากโท่งร้าวานยาง และบ้านแรง

                ๒) พันนาลิน       มีบ้านที่อยู่ภายใต้การปกครองประกอบด้วย  บ้านปอ, บ้านกว้าน, บ้านทุ่ง, บ้านม่วงคำ, บ้านเคน, บ้านเรียน เป็นต้น

     ๓)พันนาเคง        มีบ้านที่อยู่ภายใต้การปกครอง ประกอบด้วย  บ้านถีคำ, บ้านกอง, บ้านชะนาศ, บ้านดัง, บ้านไก่เถื่อน, บ้านปิน, บ้านตากกล้า  เป็นต้น

     ๔) พันนาโคกหลวง           มีบ้านที่อยู่ภายใต้การปกครองประกอบด้วย  บ้านร่องช้าง, บ้านฝายยาย, บ้านน้อย, บ้านสวนหลวง, บ้านหมก, บ้านคำใต้, บ้านจ่านา  เป็นต้น

     ๕) พันนาฟืม (ปืม)             มีบ้านที่อยู่ภายใต้การปกครองประกอบด้วย  บ้านลุง, บ้านท้ง, บ้านได, บ้านคา, บ้านมุด, บ้านหม้วย, บ้านปงท่าไชย  เป็นต้น

     ๖,๗) พันนาเลา-พันนาม่วง              มีบ้านที่อยู่ภายใต้การปกครองประกอบด้วย  บ้านถีลอบ, บ้านโป่ง, บ้านเอื่อน(เหยี่ยน), บ้านคอน, บ้านเหม้า, บ้านแม่ไชย (แม่ใจ). บ้านซาย  เป็นต้น

     ๘) พันนาจัน (ชัน)             มีบ้านที่อยู่ภายใต้การปกครองประกอบด้วย  บ้านงิ้ว, บ้านสาง, บ้านตุ่น, บ้านเลิง, บ้านสวนหลวง, บ้านสันดอนมูล  เป็นต้น

     ๙) พันนาแปง (แป้น)          มีบ้านที่อยู่ภายใต้การปกครองประกอบด้วย  บ้านรอด, บ้านโซ้, บ้านร่องคำ, บ้านโท่ง, บ้านป่าจ่ำ, บ้านสันช้างหิน, บ้านแม่ใส  เป็นต้น

     ๑๐) พันนาคม      มีบ้านที่อยู่ภายใต้การปกครองประกอบด้วย  บ้านนาปอย, บ้านแม่กา, บ้านต้นหนุน, บ้านท่า, บ้านจำป่าหวาย, บ้านจำตาเหิน, บ้านร่องขิว(ร่องขุย)  เป็นต้น

     ๑๑) พันนางืม (คืม)            มีบ้านที่อยู่ภายใต้การปกครองประกอบด้วย บ้านชำหมากชุมพู, บ้านห้วยหมิ้ว, บ้านสรีกอเคล้า, บ้านท่าเหล่า, บ้านหาดได, บ้านร่องแหยง, บ้านหนอง  เป็นต้น และมีการตั้งหน่วยการปกครองที่เล็กกว่าพันนาลงไปอีก หรือที่เรียกว่า ต่อ เพิ่มขึ้นมาอีกจำนวน  ๔  ต่อคือ

     ๑๒) ต่อ  ทั้ง  ๔  ประกอบไปด้วย

     ต่อแขก                 มีบ้านที่อยู่ภายใต้การปกครองประกอบด้วย  บ้านกอง, บ้านแหวน, บ้านออย,  บ้านพง, บ้านฟ้าช้ำ, บ้านอำเภอ, บ้านโลงช้าง   โดยมีนายสุดทีป  เป็นแก่ (แก่ คือ ผู้ใหญ่บ้าน)

     ต่อหวาย                มีบ้านที่อยู่ภายใต้การปกครองประกอบด้วย  บ้านเขียน, บ้านห้วย

คมคำ, บ้านท่งปง, บ้านงิ้วงาม, บ้านขาม, บ้านดง, บ้านเอี้ยง  โดย

มีนายพายสาร (ไพรศาล)  เป็นแก่ (แก่ คือผู้ใหญ่บ้าน)

     ต่อนาหลัง            มีบ้านที่อยู่ภายใต้การปกครองประกอบด้วย  บ้านพูยาง, บ้านสีไข่มด, บ้านสรีชีเชิง, บ้านตาลถ้อย, บ้านพูแกงน้อย, บ้านพูแกงหลวง, บ้านแช่พาน  โดยมีนายพาน  เป็นแก่ (แก่ คือผู้ใหญ่บ้าน)

      ต่อนาริน               มีบ้านที่อยู่ภายใต้การปกครองประกอบด้วย  บ้านดอนชัย, บ้านหรือนาเรือน           แม่คาว, บ้านป่าหุ่ง, บ้านผาแดง, บ้านเหมี้ยง, บ้านปอ, บ้านสะลา(บ้านศาลา)  โดยมีนายบาละ  เป็นแก่ (แก่ คือผู้ใหญ่บ้าน)

                การจัดระบบแบบพันนานี้ พระธรรมวิมลโมลี เจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ  ตำบลเวียง  อำเภอเมืองพะเยา  ท่านได้ปริวรรตมาจากคัมภีร์ใบลานล้านนา  ซึ่งคัมภีร์ใบลานล้านนานี้เองโดยมากจะบันทึกเป็นตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาและมีเนื้อหาไม่ประติดประต่อกัน เช่น เมื่อเดินเรื่องโดยบรรยายถึงขุนจอมธรรม  ก็มีเรื่องของขุนเจืองบ้าง  ขุนงำเมืองบ้างเข้ามาแทรก   แล้วกับมาเล่าเรื่องของขุนจอมธรรมใหม่  อย่างนี้เป็นต้น

                ในเรื่องเดียวกันนี้ พระธรรมวิมลโมลีได้อ้างชื่อพันนาที่ปรากฏในพงศาวดารโยนกเพิ่มขึ้นมาอีก  ๒๖  พันนาซึ่งเมื่อรวมกับของเดิมอีก ๑๐ พันนา (อ้าง  ๑๒  แต่มีปรากฏ  ๑๑ และมีไม่ซ้ำกับพันนาเดิมอีก  ๒๖  พันนาเดิมที่ปรากฏในพงศาวดารไม่ปรากฏอีก  ๑ ) จึงเป็น  ๓๖  พันนา  ซึ่งพันนาที่เพิ่มเข้ามาอีกคือ  พันนาแช่ตาก, พันนาแลง, พันนาทุ่งหลวง, พันนาลอใต้, พันนาเชียงเคี่ยน, พันนาทน, พันนาครัว, พันนาสาน, พันนาชะนาค, พันนาแหน, พันนาเชียงเคิ่น, พันนาเลิง, พันนาแก้ว, พันนาฉาลหลวง, พันนามูล, พันนาแควน้อย, พันนาท่าไคร้, พันนาแช่หาด, พันนาชัย, พันนากิม, พันนาเชาว์, พันนาช่วย, พันนาเชียงชี, พันนาช้าง, พันนาแช่โหว้, พันนาแช่ห่ม [5]

                ในการเริ่มต้นของรัฐพะเยา (ภูกามยาว) นี้ถือว่าเป็นเมืองสำคัญอันดับสองรองมาจากรัฐหิรัญเงินยางอันเป็นรัฐแม่ที่แยกตัวมาด้วยเหตุที่รัฐพะเยา (ภูกามยาว) นี้เป็นรัฐหรือเมืองลูกที่ได้รับการแบ่งสมบัติจากขุนเงินผู้เป็นพระราชบิดาที่ถือว่าเป็นรัฐมหาอำนาจอยู่ในแถบถิ่นนี้ และปัจจัยที่สำคัญคือการมีรัฐขึ้นที่แต่เดิมคือรัฐเก่าอย่างหิรัญเงินยางไว้เป็นฐานรองรับอยู่แล้ว จึงทำให้รัฐพะเยาโดดเด่นกว่ารัฐอื่น ๆ ซึ่งต่อมามีเขตแดนมากถึง  ๓๖  พันนาซึ่งเป็นรองแต่เฉพาะรัฐหิรัญเงินยางที่มีถึง  ๖๕  พันนา  ในขณะที่รัฐเชียงรายมีแค่  ๓๒  พันนา และรัฐฝางมี  ๕  พันนา เท่านั้น [6]  สำหรับเหตุผลที่จัดระบบแบบพันนานี้ก็มีจุดประสงค์หลักอยู่ที่เป็นการสะสมเสบียง, การจัดการในเรื่องของส่วยและการเกณฑ์แรงงานให้กับเมืองที่ตนได้สังกัดอยู่  การที่จะทราบว่ารัฐไหนใหญ่หรือเล็กนั้นก็ดูจากจำนวนพันนาที่ขึ้นอยู่กับเมืองนั้น ๆ [7]  เช่น  พะเยามี  ๓๖  พันนา  ผู้ปกครองพันนาจะมียศเป็น  “หมื่น”    พะเยามีเจ้าหมื่นดอนแปลนกันพันนาดอนแปลน  ภานในพันนาจะมีขุนนางตำแหน่งต่าง ๆ ช่วยเหลือการปกครอง  เช่น  หมื่นนา, ล่ามนา, พันนาหลัก  และแสนนา  ส่วนหน่วยการปกครองที่เล็กกว่าพันนา  คือ  “ปาก-นา”  ผู้ปกครองปากนาจะมียศเป็น  “พัน”  ควบคุมขุนนางที่มียศเป็น “ปาก”   เช่น  ปากมงคล, ปากเทพ เป็นต้น  ส่วนหน่วยการปกครองที่เล็กกว่าปากนา ซึ่งถือเป็นระดับล่างสุด คือ  “หมู่บ้าน”  มีแก่บ้านเป็นผู้ปกครอง  [8]


[1] เปรมวิทย์  ท่อแก้ว. ประวัติศาสตร์ไทย : ไทยศึกษา. (กรุงเทพฯ : โอ. เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์, ๒๕๔๓). หน้า  ๙๐.

[2] พระมหาศรีบรรดร  ถิรธมโม.  มรรคาแห่งชีวิต. ( พะเยา : กอบคำการพิมพ์, ๒๕๔๗).  หน้า  ๑๐๓–๑๐๔.

[3] พระธรรมวิมลโมลี. พะเยา  ความเป็นมาในอดีต. งานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี  ๒๕๔๑      

ณ  วัดศรีโคมคำ  อำเภอเมือง  จังหวัดพะเยา ถวายโดยบริษัท พงษ์จิตต์ จำกัด. (มปท. ๒๕๔๑). หน้า  ๑๘.

[4] พระธรรมวิมลโมลี.  ประวัติศาสตร์  สังคมและวัฒนธรรมเมืองพะเยา (กรุงเทพฯ : บริษัทมติชน, ๒๕๓๙).  หน้า  ๓๕๔–๓๕๕.

[5] เรื่องเดียวกัน  หน้า  ๓๖๒–๓๖๓.

[6]  สรัสวดี  อ๋องสกุล.  ประวัติศาสตร์ล้านนา.  (กรุงเทพฯ  :  บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๓๙ ).  หน้า  ๒๒.

[7] สุเทพ  สุนทรเภสัช. มานุษยวิทยากับประวัติศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ ๒  (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ๒๕๔๘).  หน้า  ๘๗.

[8] คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. วัฒนธรรม  พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดพะเยา. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๔).  หน้า  ๑๘.

หมายเลขบันทึก: 443284เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2011 13:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท