ท้องถิ่นลับแล


        

(ลานปิยราชเสด็จ ริมฝั่งแม่น้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์)

       … เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์  ข้าพเจ้าได้ไปเที่ยวที่ลับแล  ออกจากที่พักที่อุตรดิตถ์ขี่ม้าไปทางบ้านท่าอิฐ  เดินตามถนนอินใจมีไปเมืองลับแล  พระศรีพนมมาศได้จัดแต่งที่พักไว้ที่ตำบลม่อนชิงช้า  ที่ริมที่พักนี้พระศรีพนมมาศกับข้าราชการและราษฎรได้เรี่ยไรกันสร้างโรงเรียนขึ้นโรงหนึ่ง  ซึ่งขอให้ข้าพเจ้าเปิด  ข้าพเจ้าได้เปิดให้ในเวลาบ่ายวันที่ 15 กุมภาพันธ์นั้น  และให้นามว่า  "โรงเรียนพนมมาศพิทยากร " แล้วได้เลยไปออกที่เขาม่อนจำศีล  บนยอดเขานี้แลดูเห็นที่แผ่นดินโดยรอบได้ไกล  มีทุ่งนาไปจนสุดสายตา  และเห็นเขาเป็นทิวเทือกซ้อนสลับกันเป็นชั้น ๆ รวมกับกำแพงน่าดูหนักหนา (พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จประภาสเมืองอุตรดิตถ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔)                


              อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นเมืองที่มีอายุยืนยาวตั้งแต่สมัยสุโขทัย พ.ศ. 1500 มีกลุ่มคนอพยพมาจากโยนกเชียงแสน (อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน) โดยมีผู้นำ คือ หนานคำลือและหนานคำแสน เนื่องจากต้องการหาที่อยู่ใหม่ที่ปลอดภัยจากโรคต่าง ๆ และเพื่อหนีการสู้รบกัน จึงได้ย้ายผู้คนตามมา 20 ครัวเรือน มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเชียงแสน อำเภอลับแล ในปัจจุบัน โดยมีเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารเป็นผู้ปกครองเมืองคนแรก ต่อมา พ.ศ.1800-1981 เมืองลับแลก็อยู่ในความดูแลของเมืองทุ่งยั้งจนกระทั่งถึงสมัยอยุธยา เมืองลับแลย้ายมาขึ้นตรงกับเมืองพิชัย ในสมัยกรุงธนบุรี พ.ศ.2310-2325 เมืองลับแลมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านของชุมชนเจ้าพระฝาง สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมืองลับแลเป็นเมืองขึ้นของเมืองพิชัย และในปี พ.ศ.2437 สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จประพาสเมืองลับแลทำให้เมือง ลับแลเป็นที่รู้จักของบุคคลภายนอก จนกระทั่งในปี พ.ศ.2463

(อนุเสาวรีย์ พระศรีพนมมาศ อำเภอลับแล)

                  เมืองลับแลได้เปลี่ยนเป็นอำเภอลับแล อยู่ในการปกครองของเมืองอุตรดิตถ์ต่อมาจนถึงปัจจุบัน และมีนายอำเภอปกครองเมืองลับแลคนแรกคือ พระศรีพนมมาศ ท่านได้พัฒนาอาชีพให้แก่คนลับแล โดยให้มีการทอผ้าเสริมรายได้ ซึ่งได้แก่ผ้าซิ่นตีนจกลายต่าง ๆ มีการสอนการทำไม้กวาดจากดอกตองกงที่มีมากตามภูเขาทางตอนเหนือของเมืองลับแล และได้นำเมล็ดพันธุ์ลางสาด-ทุเรียนมาจากการไปราชการทางใต้มาแจกให้ราษฎรนำไปปลูก และบังคับให้ใช้คันกระสุนยิ่งเมล็ดขึ้นไปบนภูเขา จึงทำให้เกิดสวนลางสาด สวนทุเรียนขึ้นในปัจจุบัน

                ชาวเมืองลับแลเคารพบบูชาดวงวิญญาณของพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นนิสัยสืบมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ถ้าพ่อแม่ถึงแก่กรรมไปแล้ว จะต้องเชิญดวงวิญญาณขึ้นไปอยู่บนบ้านทำหิ้งให้อยู่เพื่อปกปักรักษาคุ้มครองลูกหลาน (ไม่นิยมเก็บอัฐิ) เมื่อถึงวันสงกรานต์ก็จัดเอาน้ำอบน้ำหอมมากราบไหว้บูชาตรงที่หิ้งบนบ้านนั้น บางทีลูกหลานเจ็บป่วยก็ห้วยผ้าถามทายไปถูกผีพ่อผีแม่ ผีปู่ผีย่า ผีพ่อขาผีแม่ขาจะเอาตุงเล็ก ตุงใหญ่ หรือจะเอาทองเท่าลูกฟักและจะกินข้าวสาป้อก (สังฆทาน) ลูกหลานก็จัดทำบุญอุทิศส่งไปให้      

         

               มีเรื่องเล่าประจำถิ่นของเมืองลับแลว่า มีชุมชนอยู่กลุ่มหนึ่งเกิดขึ้นในท้องที่ราบชายเขาและปกปิดตนเองไม่ให้ชุมชนกลุ่มอื่นที่อยู่นอกป่าอยู่ตามที่ราบริมน้ำน่านรู้ และมีวัฒนธรรมประเพณีแตกต่างไปจากชุมชนที่อยู่ริมน้ำน่าน  (อาจารย์โสภณ อ้นไชยะ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์)      

         ปัจจุบันเชื่อว่าชุมชนในลับแลซึ่งกลายเป็นเมืองเปิดแล้วนี้ เป็นชาวล้านนาอพยพมาจากแพร่ น่าน บ้างก็เชื่อว่ามาจากเชียงแสน เพราะยังมีหมู่บ้านเชียงแสน อยู่ในอำเภอลับแล ปัจจุบันชาวลับแลยังคงแต่งกายใช้วัฒนธรรม ใช้ภาษาแบบชาวล้านนา ยกตัวอย่างเช่น       

 ภาษาพื้นเมืองของทางลับแล                            ชื่อที่ไทยกลางเรียก                                ต๊กโต                                                                                    ตุ๊กแก                               

ขี้คู้                                                                                          ไส้เดือน                               

ใย้                                                                                           พี่สาว                               

แม่ขา                                                                                      ยาย,ย่า                               

ตุ๊                                                                                             ผู้บวชเป็นพระภิกษุ                               

มะเตด                                                                                    มะละกอ                               

มะแน้                                                                                     น้อยหน่า                               

มะเฮิด                                                                                    มะระ                               

หนามปู่ย่า                                                                             ผักชะเลือด                               

ก้วยลิอ่อง                                                                              กล้วยน้ำว้า                               

ข้าวมัน                                                                                   ข้าวเหนียวมูล                               

เซียขมุ้                                                                                    เสือม่อฮ่อม                               

คุ                                                                                             กระป๋อง                               

ก้อก                                                                                        แก้วน้ำ                               

ฟ่อนเทิ่งบอง                                                                        ฟ้อนรำกลองยาว                

สำเนียงของชาวลับแลห้วนสั้นใกล้เคียงกับภาษาทางแพร่ น่าน ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่าชาวลับแลนั้นก็คือชาวล้านนาจากแพร่ น่าน หรืออาจจะเชียงแสนด้วยที่เคลื่อนตัวลงมาทางช่องเขาพลึง แล้วกระจายชุมชนที่เคลื่อนย้ายลงมาในท้องถิ่นที่บ้านหัวดง บ้านพันแหวนแสนสิทธิ์ เชียงแสน ตลอดจนถึงลับแล               

จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นแดนต่อแดนของวัฒนธรรมภาคกลางและภาคเหนือ โดยมีเทือกเขาเป็นแดนกั้นวัฒนธรรมของภาคกลางจะมาสิ้นสุดที่ประตูสู่เทือกเขานี้ ต่อจากเขตสุดท้ายของพื้นราบขึ้นเทือกเขาข้ามไปสู่ล้านนาแล้วจะเป็นเขตวัฒนธรรมของล้านนา ทั้งนี้นับรวมถึงศิลปในด้านต่าง ๆ ด้วย               

อำเภอลับแลเป็นประวัติที่ประวัติศาสตร์เลื่องชื่อมายาวนาน บางครั้งรู้จักกับเมืองลับแล ก่อนรู้จักเมืองอุตรดิตถ์ เมืองลับแลเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ ผลไม้นานาชนิด เมืองลับแลเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยมนต์ขลัง หลาย ๆ คนที่เคยเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตของคนลับแล ต้องกลับไปเฝ้าฝันถึงว่าสักวันคงจะมีโอกาสได้กลับมาเยือนแหล่งเยือนที่แห่งนี้อีก หลาย ๆ คนหลงไหลกับความงดงามของลับแลจนต้องมาลงหลักปักฐานที่เมืองลับแลแห่งนี้ 

 

ประตูเมืองลับแล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้ามาสัมผัสชุมชนแห่งความเชื่อและวัฒนธรรมที่ไม่แลลับ ซึ่งมีนามว่า

"ลับแล"

คำสำคัญ (Tags): #อุตรดิตถ์#ลับแล
หมายเลขบันทึก: 44327เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2006 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ชอบที่หยิบเรื่องของภาษาพื้นเมืองมาถ่ายทอดสู่กัยฟังครับ อย่าง มะเตด มะละกอ บักหุ่ง มะหุ่ง ( 2 คำหลัง เป็นชื่อที่ทางอีสานใช้เรียกครับ)

  • ขอบคุณเป็นอย่างยิ่งเลยครับนายบอน ที่มาเติมเต็มทางด้านภาษาครับ
  • เพราะตั้งแต่ผมมาอยู่ที่อุบลราชธานีได้เดือนเศษ ก็รู้สึกได้ทันทีเลยว่า ที่แท้จริงคนไทยเราเป็นพี่น้องกันหมดครับ เพราะภาษาต่าง ๆ ถึงว่าจะเรียกว่า ภาษาเหนือ ภาษาอีสาน ภาษากลาง หรือภาษาใต้ แต่พอค้นลงไปจริง ๆ แล้ว มีรากภาษาและความคล้ายคลึง ซึ่งเกิดจากการอพยพย้ายถิ่นฐานของบรรพบุรุษในอดีตครับ
  • ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นภาคไหนทุก ๆ คนก็เป็นคน "ไทย" ที่มีพ่อหลวงเป็นศูนย์รวมใจทุก ๆ คนครับ
  • คำว่า "คุ" กับ "ก๊อก" เนี่ย ในเขตตัวเมือง อ.ต.ก็ใช้เช่นกันค่ะ
  • พี่เม่ยมีบันทึก...ทั้งขอบคุณทั้งยินดี...กับคุณปภังกรกับรางวัลสุดคะนึงไว้ด้วยค่ะ
บ้านพี่เม่ยอยู่ข้างๆวัดท่าถนน สมัยเด็กๆเวลามีรำกลองยาวผ่านหน้าบ้าน  เราก็จะร้องเรียกกันว่า "มาดูรำเทิ่งบ้องกันเร้ว...."
  • ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงเลยครับพี่เม่ย
  • เรื่องคุ กับก๊อก นี่ทำผมงงมาก ๆ เลยครับ โดยเฉพาะตอนแรก ๆ ที่ไปอยู่ที่อุตรดิตถ์ใหม่ ๆ ครับ
  • ตอนนั้นไปหาเพื่อนที่แถว ๆ น้ำริด แล้วเพื่อนฝากซื้อ ก๊อก ผมก็งงครับ ว่าจะซื้อ ก๊อกไปใส่ท่อน้ำตรงไหนครับ พอดีได้รู้ทีหลังว่า ก๊อกแปลว่าแก้วน้ำก็เลยถึงบางอ้อครับ
  • เสียดายจังครับ ตอนผมไปที่อยู่อุตรดิตถ์ไม่มีโอกาสได้เห็น รำเท่งบ้องครับ
  • แต่ได้พบกับสิ่งดี ๆ ที่อุตรดิตถ์เยอะมาก ๆ ครับ
  • ขอขอบพระคุณอีกครั้งครับ
ดีใจที่ได้รู้จักอยู่เหนือเหมือนกันนะคะ อุตรดิตถ์ไปบ่อยเหมือนกันคะ(ในอดีตนะคะ)เพราะอยู่ใกล้บ้าน(จ.แพร่)และมีเพื่อนอยู่ที่นั้น ขอบคุณที่ได้นำภาษาถิ่นมาเผยแพร่ ซึ่งคิดว่าภาษาเหนือกับอีสานจะคล้ายๆกันแทบจะเป็นภาษาเดียวกัน(เพราะไปเรียนที่มอขอ 4 ปี) ผิดแต่สำเนียงเท่านั้น เพราะพูดได้ทั้ง 2 ภาษาจ้า
  • ดีใจมาก ๆ เช่นเดียวกันครับคุณ surg BI
  • ผมไปแพร่บ่อย ๆ ครับ เมื่อก่อนสอน กศ.บป. วันเสาร์อาทิตย์อยู่ที่ โรงเรียนพิริยาลัยครับ ไปเกือบทุกอาทิตย์เลยครับ
  • ยินดีมาก ๆ เลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท