คุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมืองในสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน


การเป็นนักการเมืองการปกครองที่ดีจะต้องอาศัยหลักของธรรมาภิบาล คือยึดถือความถูกต้อง โดยเฉพาะหลักของสัมมัตตะ ๑๐ ประการดังกล่าว ทั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสันติสุขให้กับสังคมโดยรวม

คุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมืองในสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน

                       

ในการศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดทฤษฎีคุณธรรมจริยธรรมทางการเมือง จะต้องศึกษาถึงความหมายของคุณธรรมและจริยธรรม ทฤษฎีจริยธรรม คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมือง  ดังรายละเอียดดังนี้

 ความหมายของคุณธรรมและจริยธรรม

                   ๑) ความหมายของคุณธรรม คุณธรรม ตามความหมายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕[๑] หมายถึง คุณงามความดี ซึ่งสอดคล้องกับ เธียรชัย        เอี่ยมวรเมธ[๒]  ได้ให้ความหมายไว้ว่า คุณธรรมหมายถึงคุณงามความดี, ธรรมแห่งความดี หรือเพรียบพร้อมด้วยความสามารถและคุณธรรม ส่วน กีรติ บุญเจือ[๓] กล่าวถึงความหมายของคุณธรรมไว้ว่า หมายถึง ความเคยชินในการประพฤติดีอย่างใดอย่างหนึ่ง ตรงกันข้ามกับกิเลส ซึ่งได้แก่ ความเคยชินในการประพฤติผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง

                    กล่าวโดยสรุป คุณธรรม คือคุณงามความดีหรือความประพฤติดีของมนุษย์ที่มีต่อสรรพสิ่งทั้งหลาย 

                    ๒) ความหมายของจริยธรรม ในพจนานุกรม ฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕[๔] ได้ให้ความหมายของคำว่า จริยธรรม ไว้ว่า หมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม ส่วน บุญมี แท่นแก้ว[๕]  ได้ให้ความหมายของจริยธรรมไว้ว่า หมายถึง ธรรมชาติหรือหลักธรรมที่บุคคลควรประพฤติ และถือว่า จริยธรรม เป็นคุณธรรมที่แสดงออกทางร่างกายในลักษณะที่ดีงามถูกต้อง อันเป็นสิ่งที่ประสงค์ของสังคม และจริยธรรมจะมีได้ต้องอาศัยหลักคำสอนทางศาสนา อันได้แก่ ศีล ซึ่งสอดคล้องกับ ลำดวน ศรีมณี[๖]. ได้กล่าวไว้ว่า หมายถึง การปฏิบัติตามคำสอนในศาสนาหรือการประพฤติตามกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง สถิต     วงศ์สวรรค์[๗] กล่าวถึงความหมายของจริยธรรมในแง่ของจิตวิทยา ไว้ว่า หมายถึงลักษณะทางสังคมหลายลักษณะของมนุษย์ และมีขอบเขตรวมถึงการกระทำของมนุษย์ หรือพฤติกรรมทางสังคมประเภทต่าง ๆ ด้วยลักษณะ และพฤติกรรม (การกระทำ) ที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม จะมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๒ ประเภท ต่อไปนี้คือ

                    ประการแรก เป็นลักษณะที่สังคมต้องการให้มีอยู่ในสมาชิกในสังคมนั้น มีลักษณะที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนอื่นเป็นสำคัญ เป็นพฤติกรรมที่สังคมนิยมชมชอบ ให้การส่งเสริมสนับสนุน และผู้กระทำส่วนมากเกิดความพอใจ รู้สึกว่าสิ่งที่ตนกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเหมาะสม ผู้มีจริยธรรมสูงจะมีลักษณะและการกระทำที่กล่าวมานี้มาก

                    ประการที่สอง คือลักษณะที่สังคมไม่ต้องการให้มีอยู่ในสมาชิกในสังคมนั้น  เป็นการกระทำที่สังคมลงโทษ หรือพยายามกำจัดหลีกเลี่ยงหรืองดเว้นที่จะกระทำการอันจะก่อให้เกิดโทษ เป็นลักษณะที่สังคมรังเกียจ และลงโทษเมื่อมีผู้กระทำเช่นนั้น และผู้ที่กระทำพฤติกรรมนั้น ส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ผิด เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ดีงาม ไม่สมควร มีความอับอาย หรือละอาย ฉะนั้นผู้มีจริยธรรมสูง คือผู้ที่มีลักษณะและพฤติกรรมประเภทแรกมาก และประเภทหลังน้อย

                    ดังนั้น ผู้มีจริยธรรมก็คือ ผู้ที่แสดงแต่พฤติกรรมในทางที่ดี ประพฤติปฏิบัติแต่ในสิ่งที่ดีงาม เป็นที่ยอมรับในสังคม เช่น มีสัมมาคารวะ เมตตา กรุณา ซื่อสัตย์ เสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักรับผิดชอบ รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตน ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น

                    ) ทฤษฎีจริยธรรม ทฤษฎีทางจริยธรรมที่สำคัญ ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาวิเคราะห์ ดังนี้

                        .๑) ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของเพียเจท์  (Piaget’s three stages of moral development)[๘] หรือพัฒนาการทางศีลธรรม ๓ ขั้น ของเพียเจท์ เพียเจท์ได้แบ่งขั้นของการพัฒนาการทางจริยธรรมของมนุษย์ไว้เป็นลำดับขั้น โดยเริ่มตันจากขั้นต่ำสุดไปจนถึงขั้นสูงสุด โดยไม่มีการข้ามขั้น ดังนี้

                             (๑) ขั้นก่อนมีจริยธรรม (Pre-moral Stage) เป็นขั้นการพัฒนาการทางศีลธรรมของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ ๑ ขวบ โดย เพียเจท์ เชื่อว่าเด็กวัยนี้ไม่มีความรู้ถึงศีลธรรมและจรรยามารยาทใด ๆ คือไม่มีประสบการณ์หรือความรู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น เด็กในวัยนี้จะมีความเห็นแก่ตัว เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentric)

                             (๒) ขั้นเริ่มมีจริยธรรม (Heteromomous Stage) เป็นขั้นที่ยึดหลักการของกฎเกณฑ์ (เด็กวัย ๑-๕ ขวบ) เด็กในวัยนี้เริ่มให้ความสนใจสิ่งแวดล้อม เข้าใจกฎเกณฑ์ของสังคม และยอมรับกฎเกณฑ์นั้น ๆ แต่ไม่รู้ว่ากฎเกณฑ์เหล่านี้มีไว้เพื่อประโยชน์อย่างไร แต่ทำตามเพราะไม่ต้องการให้ถูกลงโทษ เพียเจท์ กล่าวว่า เด็กในวัยนี้มีความคิดเกี่ยวกับเรื่องศีลธรรม ในลักษณะที่ไม่มีเหตุผล แต่มีลักษณะเป็นจริงเป็นจัง คือ ผิดก็ว่าไปตามผิด ไม่มีการยืดหยุ่น วัยนี้ไม่มีศีลธรรมของตัวเอง ยังตัดสินใจไม่ถูก เด็กจะมีความคิดเกี่ยวกับกฎเกณฑ์หรือระเบียบต่าง ๆ ด้วยความเชื่อมั่น ๓ ประการคือ กฎเกณฑ์นั้นมีอยู่และละเมิดไม่ได้  เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

                             () ขั้นมีจริยธรรม (Autonomous Stage) เด็กอายุตั้งแต่ ๕ ขวบขึ้นไป เด็กจะเริ่มมีพัฒนาการทางจริยธรรม เริ่มมีจริยธรรมเกิดขึ้นในตนเอง จะมีความคิดเห็นเป็นของตนเอง รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล รู้จักตัดสินใจด้วยตนเอง รู้จักคำนึงถึงความเกี่ยวข้องของสิ่งต่าง ๆ เริ่มใช้หลักความยุติธรรมความเท่าเทียมกัน และความเสมอภาคกับบุคคลอื่น ๆ ที่มาเกี่ยวข้อง เริ่มมองเห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ตนเองเห็น และความตั้งใจหรือเจตนาที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าได้ เด็กเริ่มตัดสินใจจริยธรรมได้อย่างถูกต้องและใช้เหตุผลจากความตั้งใจ หรือเจตนาที่อยู่ภายในใจเป็นเกณฑ์ตัดสินได้ เด็กในวัยนี้จะรู้จักเหตุผล เด็กจึงมีพัฒนาการทางจริยธรรมไปได้อย่างถูกต้อง คิดถึงการเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน รู้จักนับถือซึ่งกันและกันรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เคารพในสิทธิของผู้อื่น มีความซาบซึ้งและยอมรับกฎเกณฑ์ของสังคม และปฏิบัติตามเพราะเห็นว่าทำให้สังคมเรียบร้อย โดยไม่มีใครข่มขู่บังคับ เข้าใจดีว่ากฎเกณฑ์กติกาต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นนั้นอาจเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ที่เหมาะสมได้

                        .๒) ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์ก (Kohlberg’s six stages of moral development)[๙] หรือ ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรม ๖ ขั้นของโคลเบิร์ก   โคลเบิร์ก ได้แบ่งพัฒนาการทางจริยธรรมออกเป็น ๓ ระดับ แต่ละระดับแยกออกเป็น ๒ ขั้น ตามลักษณะการใช้เหตุผลทางจริยธรรม โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นต่ำสุดถึงขั้นสูงสุด ดังนี้

                             ระดับที่ ๑ ระดับก่อนเกณฑ์ หรือก่อนมีจริยธรรม เป็นระดับต่ำสุด จริยธรรมของเด็กระดับนี้จะถูกควบคุมด้วยการลงโทษหรือรางวัล แบ่งเป็น ๒ ขั้นดังนี้

                             ขั้นที่ ๑ ขั้นหลบหลีกการถูกลงโทษ เป็นขั้นของการกระทำตามเพื่อหนีการถูกทำโทษ (ตั้งแต่แรกเกิด - ๗ ขวบ) เด็กที่อยู่ในช่วงนี้จะมีแรงกระตุ้นทำให้เกิดพฤติกรรม หรือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ

                             ขั้นที่ ๒ ขั้นหลักการแสวงหารางวัล (๑๐-๗ ปี) เป็นขั้นที่เด็กมีแรงกระตุ้นที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อให้เป็นที่ถูกใจและพอใจแก่ตนเอง เลือกกระทำพฤติกรรม จริยธรรมในส่วนที่จะนำความสุข ความพอใจ ผลประโยชน์มาสู่ตน มุ่งความพึงพอใจของตนเองเป็นสำคัญ ดังนี้พฤติกรรมทางจริยธรรมก็ต้องการให้ได้ประโยชน์ ทำเพื่อต้องการรางวัล เช่น คำชมเชย สิ่งตอบแทน เห็นความสำคัญของรางวัลมากกว่าการถูกลงโทษ

                             ระดับที่ ๒ ระดับตามกฎเกณฑ์ คือการคล้อยตามกฎเกณฑ์ของสังคม เป็นการกระทำตามระเบียบประเพณีที่สังคมกำหนดขึ้น และถือปฏิบัติร่วมกัน  แต่ก็ต้องอาศัยการควบคุมจากภายนอกในการที่จะประพฤติดี แบ่งออกเป็น ๒ ขั้นคือ

                             ขั้นที่ ๓ ขั้นหลักการทำตามที่คนอื่นเห็นว่าดี (๑๐-๑๓ ปี) เป็นขั้นของการเป็นเด็กดี มีแรงกระตุ้นให้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ไม่กระทำพฤติกรรมซึ่งคาดหวังว่าคนอื่นจะเห็นว่าไม่ดี น่าติเตียน และมีจิตสำนึกว่าจะต้องทำในสิ่งที่คนอื่นเห็นว่า ต้องการเป็นที่ยกย่องของคนอื่น

                             ขั้นที่ ๔ หลักการทำตามหน้าที่ (๑๐-๑๖ ปี) เป็นขั้นของการปฏิบัติตามหน้าที่เป็นสำคัญ เป็นการกระทำเพื่อหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบ เช่น นักเรียนมีหน้าที่ในการเรียนหนังสือ เป็นต้น

                             ระดับที่ ๓ ระดับเหนือกฎเกณฑ์ คือการมีจริยธรรมเกิดขึ้นภายในตน เป็นระดับจริยธรรมสูงสุด ผู้มีจริยธรรมขั้นนี้ถือว่าเป็นผู้มีความคิดสูงและจริยธรรมสูง แบ่งออกเป็น ๒ ขั้นคือ

                             ขั้นที่ ๕ หลักการทำตามคำมั่นสัญญา (อายุ ๑๖ ปีขึ้นไป) เป็นขั้นของการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็นขั้นของการมีเหตุผลและเคารพตนเอง

                             ขั้นที่ ๖ หลักการทำตามอุดมคติสากล คือขั้นของการกระทำเพื่อชีวิต เป็นขั้นยึดอุดมคติ ผู้มีจริยธรรมในขั้นนี้ถือว่าเป็นผู้ใหญ่โดยสมบูรณ์เป็นจริยธรรมขั้นสูงสุด

                        ๓.๓) คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมือง บุคคลผู้มีพฤติกรรมทางการเมืองที่ดีจะต้องประกอบไปด้วยคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งจะต้องประพฤติตน ๒ ลักษณะควบคู่กัน กล่าวคือ

                              ๑) ประพฤติเป็นธรรม คือ มีความเที่ยงธรรม และยุติธรรม เช่น ประพฤติตามหลักของทศพิธราชธรรม อคติ พละ เป็นต้น

                              ๒) ประพฤติตามธรรม คือ การประพฤติตามธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เช่น การปฏิบัติตามหลักกุศลกรรมบถ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อิทธิบาท ๔ สังคหวัตถุ ๔ เป็นต้น

                            นอกจากดำรงตำแหน่งหรือเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองแล้ว ก็ต้องเป็นบุคคลที่มีความซื่อสัตย์ เสียสละ อุทิศตนบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เหล่านี้ถือว่าเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมือง

              การศึกษาถึงคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมือง เป็นการศึกษาที่เกี่ยวเนื่องกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งพระธรรมปิฎก[๑๐] ได้กล่าวไว้ในธรรมนูญชีวิตเกี่ยวกับ คนกับสังคม คนมีคุณแก่ส่วนรวม คนมีส่วนร่วมที่ดีของชุมชน และคนผู้นำรัฐ ดังนี้คือ

                คนกับสังคม คนมีศีลธรรม หรือมีมนุษยธรรม ที่เรียกได้ว่าเป็นอารยชน มีธรรมคือ คุณสมบัติดังนี้

   ก. มีสุจริตทั้งสาม คือ มีความประพฤติดีประพฤติชอบ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ                    

   . ประพฤติตามอารยธรรม โดยปฏิบัติถูกต้องตามทางแห่งกุศลกรรม ๑๐ ประการ คือ

๑) ทางกาย  ๓  ละเว้นการฆ่า การสังหาร  ละเว้นการแย่งชิงลักขโมย และการเอารัดเอาเปรียบ เคารพสิทธิ์ในทรัพย์สินของกันและกัน  ละเว้นการประพฤติผิดล่วงละเมิดในของรักของหวงแหนของผู้อื่น ไม่ข่มเหงจิตใจ ทำลายลบหลู่เกียรติและวงศ์ตระกูลของกัน

๒) ทางวาจา  ๔  ละเว้นการพูดเท็จ โกหกหลอกลวง กล่าวแต่คำสัตย์ ไม่จงใจพูดให้ผิดจากความจริงเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ใดๆ  ละเว้นการพูดส่อเสียด ยุยง สร้างความแตกแยก พูดแต่คำที่เหมาะสมส่งเสริมสามัคคี  ละเว้นการพูดคำหยาบคาย สกปรกเสียหาย พูดแต่คำสุภาพนุ่มนวลควรฟัง  ละเว้นการพูดเหลวไหลเพ้อเจ้อ พูดแต่คำจริง มีเหตุผล มีสาระ ประโยชน์ ถูกกาลเทศะ

              ๓) ทางใจ ๓ ไม่ละโมบ ไม่เพ่งเล็งคิดหาทางเอาแต่จะได้ คิดให้ คิดเสียสละ ทำใจให้เผื่อแผ่กว้างขวาง  ไม่คิดร้ายมุ่งเบียดเบียน หรือเพ่งมองในแง่ที่จะทำลาย ตั้งความปรารถนาดี แผ่ไมตรี มุ่งให้เกิดประโยชน์สุขแก่กัน  มีความเห็นถูกต้อง เป็นสัมมาทิฎฐิ เข้าใจในหลักกรรมว่า ทำดีมีผลดี ทำชั่วมีผลชั่ว รู้เท่าทันความจริงที่เป็นธรรมดาของโลกและชีวิต มองเห็นความเป็นไปตามเหตุปัจจัย

    ธรรม ๑๐ ข้อนี้ เรียกว่า กุศลกรรมบถ (ทางแห่งกรรมดี) บ้าง ธรรมจริยาบ้าง อารยธรรมบ้าง เป็นรายละเอียดขยายความสุจริต ๓ ข้อ ข้างต้นด้วย คือ ข้อ ๑-๓ เป็น กายสุจริต ข้อ ๔-๗ เป็น วจีสุจริต ข้อ ๘-๑๐ เป็น มโนสุจริต

    ค. อย่างต่ำมีศีล ๕ หลักความประพฤติ ๑๐ ข้อต้นนั้น เป็นธรรมจริยาและเป็นอารยธรรมที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทำคนให้เจริญขึ้นพร้อมทั้ง ทางกาย ทางวาจา และทางใจ แต่ผู้ใดยังไม่มั่นคงในอารยธรรม ท่านสอนว่าผู้นั้นพึงควบคุมตนให้ได้ทางกายและวาจาก่อนเป็นอย่างน้อย ด้วยการประพฤติตามหลักศีล ๕ ที่เป็นส่วนเบื้องต้นของธรรมจริยา  ๑๐ ประการนั้น ก็ยังจะได้ชื่อว่าเป็นคนมีศีลธรรม

    คนมีคุณแก่ส่วนรวม สมาชิกที่ดีผู้ช่วยสร้างสรรค์สังคม มีธรรม คือ หลักความประพฤติ ดังนี้

    ก. มีพรหมวิหาร คือ ธรรมประจำใจของผู้ประเสริฐหรือผู้มีจิตใจยิ่งใหญ่  กว้างขวางดุจพระพรหม ๔ อย่าง คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

    ข. บำเพ็ญการสงเคราะห์ คือปฏิบัติตามหลักการสงเคราะห์หรือธรรม เครื่องยึดเหนี่ยวใจคน และประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี ที่เรียกว่า สังคหวัตถุ ๔ อย่าง

    คนผู้เป็นส่วนร่วมที่ดีของชุมชน คนผู้เป็นส่วนร่วมที่ดีของหมู่ชน ซึ่งจะช่วยให้หมู่ชนอยู่ร่วมกันด้วยดี  มีธรรม  คือหลักความประพฤติดังนี้

    ก.พึ่งตนเองได้ คือทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนได้ พร้อมที่จะรับผิดชอบตนเองไม่ทำตัวให้เป็นปัญหาหรือเป็นภาระถ่วงหมู่คณะ หรือหมู่ญาติ ด้วยการประพฤติธรรม สำหรับสร้างที่พึ่งแก่ตนเอง (เรียกว่า นาถกรณธรรม) ๑๐ ประการ คือ

    ๑) ศีล ประพฤติดีมีวินัย คือ ดำเนินชีวิตโดยสุจริตทั้งทางกาย ทางวาจา มีวินัย และประกอบสัมมาชีพ

    ๒) พาหุสัจจะ ได้ศึกษาสดับมาก คือ ศึกษาเล่าเรียนสดับตรับฟังมากอันใดเป็นสายวิชาของตน หรือตนศึกษาศิลปะวิทยาใด ก็ศึกษาให้ช่ำชอง มีความเข้าใจกว้างขวางลึกซึ้ง รู้ชัดเจนและใช้ได้จริง

    ๓) กัลยาณมิตตตา รู้จักคบคนดี คือ มีกัลยาณมิตร รู้จักเลือกเสวนาเข้าที่ปรึกษาหรือผู้แนะนำสั่งสอนที่ดี เลือกสัมพันธ์เกี่ยวข้องและถือเยี่ยงอย่างสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี ซึ่งจะทำให้ชีวิตเจริญงอกงาม

    ๔) โสวจัสสตา เป็นคนที่พูดกันง่าย คือ ไม่ดื้อรั้นกระด้าง รู้จักรับฟังเหตุผลและข้อเท็จจริง พร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุงตน

    ๕) กิงกรณีเยสุ ทักขตา ขวนขวายกิจของหมู่ คือเอาใจใส่ช่วยเหลือธุระและกิจการของชนร่วมหมู่คณะ ญาติ เพื่อนพ้องและของชุมชน รู้จักใช้ปัญญาไตร่ตรองหาวิธีดำเนินการที่เหมาะสม ทำได้ จัดได้ ให้สำเร็จเรียบร้อยด้วยดี

    ๖) ธรรมกามตา เป็นผู้ใคร่ธรรม คือ รักธรรม ชอบศึกษา ค้นคว้าสอบถามหาความรู้ความจริง รู้จักพูด รู้จักรับฟัง สร้างความรู้สึกสนิทสนมสบายใจ ช่วยให้ผู้อื่นอยากเข้ามาปรึกษาและร่วมสนทนา

    ๗) วิริยารัมภะ มีความเพียรขยัน คือ ขยันหมั่นเพียรพยายามหลีก ละความชั่ว ประกอบความดี บากบั่น ก้าวหน้าไม่ย่อท้อ ไม่ละเลยทอดทิ้งธุระหน้าที่

    ๘) สันตุฏฐี มีสันโดษรู้พอดี คือ ยินดี พึงพอใจแต่ในลาภผล ผลงานและผู้สำเร็จต่างๆ ที่ตนสร้างหรือแสวงหามาได้ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของตนเองโดยทางชอบธรรม และไม่มัวเมาเห็นแก่ความสุขทางวัตถุ

    ๙) สติ มีสติคงมั่น คือ รู้จักกำหนดจดจำ ระลึกการที่ทำ คำที่พูดกิจที่ทำแล้ว และที่จะต้องทำต่อไปได้ จะทำอะไรก็รอบคอบ รู้จักยับยั้งชั่งใจ ไม่ผลีผลาม ไม่เลินเล่อไม่เลื่อนลอย ไม่ประมาท ไม่ยอมถลำลงในทางผิดพลาดไม่ปล่อยปละละเลยทิ้งโอกาสสำหรับความดีงาม

    ๑๐) ปัญญา มีปัญญาเหนืออารมณ์ คือ มีปัญญาหยั่งรู้เหตุผล รู้ดีรู้ชั่ว คุณโทษ   ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ มองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้จักพิจารณาวินิจฉัยด้วยใจเป็นอิสระ ทำการต่างๆ ด้วยความคิดและมีวิจารณญาณ

    ข. อยู่ร่วมในหมู่ด้วยดี ในด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่นที่เป็นเพื่อนร่วมกิจการ  หรือ ร่วมชุมชน ตลอดจนพี่น้องร่วมครอบครัว พึงปฏิบัติตามหลักการอยู่ร่วมกันที่เรียกว่า สาราณียธรรม (ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน) ๖ ประการ

    คนมีส่วนร่วมในการปกครองที่ดี  สมาชิกของรัฐผู้มีส่วนร่วมให้เกิดการปกครองที่ดี โดยเฉพาะคนในสังคมประชาธิปไตย พึงรู้หลักและปฏิบัติดังนี้

    ก. รู้หลักอธิปไตย คือ รู้หลักความเป็นใหญ่ที่เรียกว่าอธิปไตย 3 ประการ

    ข. มีส่วนร่วมในการปกครอง โดยปฏิบัติตามหลักการร่วมรับผิดชอบที่จะช่วยองกันความเสี่ยง นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองโดยส่วนเดียวที่เรียกว่า อปริหานิยธรรม ๗ประการ

    คนผู้นำรัฐ ท่านเป็นผู้ใหญ่ในแผ่นดิน ผู้นำ และผู้ปกครองรัฐตั้งต้นแต่ พระเจ้าจักรพรรดิ พระมหากษัตริย์ ตลอดจนนักปกครองโดยทั่วไป มีลักษณะที่เป็นคุณสมบัติ และข้อปฏิบัติดังนี้

    ก. ทรงทศพิศราชธรรม คือ มีคุณสมบัติของผู้ปกครองหรือ ราชธรรม (ธรรมของพระราชา) ๑๐ ประการ ดังได้กล่าวไว้แล้ว

    ข. บำเพ็ญกรณีย์ของจักรพรรดิ  คือ ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปกครองผู้ยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า จักรวรรดิวัตร(ธรรมเนียมหรือหน้าที่ประจำของจักรพรรดิ) ๕ ประการคือ

    ค. ประกอบราชสังคหะ คือ ทำนุบำรุงประชาราษฎร์ ด้วยหลักธรรมที่เรียกว่าราชสังคหวัตถุ (หลักการสงเคราะห์ประชาชนของพระราชา) ๔ ประการ

    ง. ละเว้นอัคติ  นักปกครองเมื่อปฏิบัติหน้าที่ พึงเว้นความลำเอียงหรือความประพฤติที่คลาดเคลื่อนจากธรรม ๔ ประการ ดังได้กล่าวไว้แล้ว

                       นอกจากนั้น การศึกษาถึงคุณธรรมจริยธรรมทางการเมืองจะต้องศึกษาหลักของการปกครองที่ดีที่เรียกว่า หลักธรรมาภิบาล

 

          ๑๐.๔.๒ หลักธรรมาภิบาล

 

                        ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๒ กล่าวถึงธรรมาภิบาลไว้ว่า ธรรมาภิบาลหมายถึง การบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีเป็นแนวทางสำคัญในการจัดระเบียบให้สังคมทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาชน ซึ่งครอบคลุมถึงฝ่ายวิชาการ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายราชการและฝ่ายธุรกิจ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความรู้สึกรักสามัคคีและร่วมกันเป็นพลังก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนเสริมความเข้มแข็งหรือสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประเทศเพื่อบรรเทาป้องกัน หรือแก้ไขเยียวยาภาวะวิกฤติภยันตรายที่หากจะมีมาในอนาคต เพราะสังคมจะรู้สึกถึงความยุติธรรม ความโปร่งใส และความมีส่วนร่วมอันเป็นคุณลักษณะของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สอดคล้องกับความเป็นไทย รัฐธรรมนูญ และกระแสโลกยุคปัจจุบัน

                    หากจะให้ความหมายตามคำ คำว่า ธรรมาภิบาล คือ การรักษาความถูกต้อง เพราะว่าธรรมะ คือความถูกต้อง ดังนั้นการดำเนินชีวิตของคนเราในทุก ๆ เรื่อง ต้องอยู่บนความถูกต้อง หลักของพระพุทธศาสนาคือหลักสัมมัตตะ คือความถูกต้อง ๑๐ ประการ ได้แก่ มีความคิดเห็นที่ถูกต้อง มีความคิดเห็นที่ถูกต้อง เจรจาในทางที่ดีที่ถูกต้อง การงานสุจริต ประกอบอาชีพสุจริต มีความพยายามในทางที่ถูกต้อง มีสติระลึกในทางที่ดีที่ถูกต้อง มีจิตใจแน่วแน่ตั้งมั่น รู้ในสิ่งที่ถูกต้อง และมีความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง

                    ดังนั้นการเป็นนักการเมืองการปกครองที่ดีจะต้องอาศัยหลักของธรรมาภิบาล คือยึดถือความถูกต้อง โดยเฉพาะหลักของสัมมัตตะ ๑๐ ประการดังกล่าว ทั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสันติสุขให้กับสังคมโดยรวม

 

 

 

 



[๑] พจนานุกรม ฉบับราชบัญฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕, พิมพ์ครั้งที่ ๖, หน้า ๑๘๙.

[๒]เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ, พจนานุกรมไทย ฉบับใหม่, หน้า ๒๐๕.

[๓] กีรติ บุญเจือ, จริยศาสตร์สำหรับผู้เริ่มเรียน, พิมพ์ครั้งที่ ๗, (กรุงเทพมหานคร: ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๓๘), หน้า ๗๙.

[๔]พจนานุกรม ฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕, พิมพ์ครั้งที่ ๖, หน้า ๒๑๖.

[๕]บุญมี แท่นแก้ว, จริยธรรมกับชีวิต, พิมพ์ครั้งที่ ๖, (กรุงเทพมหานคร: โอเดียนสโตร์, ๒๕๔๑), หน้า ๑.

[๖]ลำดวน ศรีมณี, พ.ต.ท., จริยธรรมและจริยศาสตร์ตะวันออก, (กรุงเทพมหานคร: ดวงแก้ว, ม.ป.ป.), หน้า ๑.

[๗]สถิต วงศ์สวรรค์, จิตวิทยาสังคม, (กรุงเทพมหานคร: บำรุงสาส์น, ๒๕๒๙), หน้า ๙๒.

[๘]เรื่องเดียวกัน. หน้า ๙๘ -๙๙.

[๙]เรื่องเดียวกัน. หน้า ๑๐๐ -๑๐๙.

[๑๐]พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), ธรรมนูญชีวิต, พิมพ์ครั้งที่ ๓, หน้า ๑๗ -๓๐.

หมายเลขบันทึก: 443015เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2011 13:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท