๕๘.เมื่อ ว.วชิรเมธี แนะกลวิธีในการเผยแผ่


ถ้าเราอยากจะรู้ว่าสิ่งที่เราประยุกต์นี้มันมั่วหรือใช้ได้หรือไม่ต้องนำไปใช้กับโลกจริง ๆ ถ้ามันใช้ได้จริงก็ถือว่ามันถูกต้อง พุทธศาสนาสุดท้ายต้องไปจบอยู่ที่ประจักษ์นิยมคือเอาลงไปทำงานจริงให้ได้ เมื่อใช้ได้ผลจริงนั้นก็หมายความว่าสิ่งที่คุณคิดถูกต้องแล้ว

 

 

เนื้อหาตอนที่แล้ว (มีคนบ่นว่ายาวเกินไป จึงตัด มาอีกตอนหนึ่ง)

-------------------------------

 

มหาศรีบรรดร      :การทำงานในลักษณะนี้อะไรเป็นจุดเปลี่ยนกระบวนการคิดของท่านอาจารย์

 

ว.วชิรเมธี              :ผมเห็นว่าการอธิบายพุทธศาสนา เป็นแบบจารีตนิยม คือไม่หวังผลในการเปลี่ยนแปลงคือเทศน์ไปอย่างนั้น สอนไปอย่างนั้น เป็นเหตุให้ชาวบ้านไม่เกิดความซาบซึ่งและไม่ส่งผลไปสู่การประพฤติจริง ๆ ไม่ร่วมยุคร่วมสมัย ไม่ตอบโจทย์ของสังคม ทำให้ผมคิดขึ้นมาว่าในเมื่อธรรมะมันดีที่สุด แล้วทำไมคนจึงไม่ตอบรับ ถ้าจะให้คนตอบรับ เราจำเป็นต้องหาวิธีสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ให้ได้ นั้นคือโจทย์ที่ตั้งเอาไว้ แล้วเพียรพยายามหาวิธีการสื่อสารกับคนร่วมยุคร่วมสมัย

     สิ่งสำคัญที่ทำให้เราสามารถอธิบายพุทธศาสนาให้ร่วมสมัยได้ เพราะผมเปิดตัวเองให้กับการเรียนรู้ศาสตร์ร่วมสมัยที่เรียกว่า Modern Science ต่าง ๆ นานา คือไม่ได้เรียนรู้เฉพาะพุทธศาสนา แต่เปิดตัวเองเรียนรู้กับรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เป็นต้น ทั้งหมด เพื่อเอาศาสตร์เหล่านั้นมาเป็นเครื่องมือในการประยุกต์พุทธธรรมเพื่อให้เชื่อมโยง หรือเอาศาสตร์ต่าง ๆ ประยุกต์เข้ากับพุทธศาสนา ก็ได้ชุดคำสอนออกมาเชิงประยุกต์สื่อสารกับคนร่วมยุคร่วมสมัยได้

     ถ้าเราอยากจะรู้ว่าสิ่งที่เราประยุกต์นี้มันมั่วหรือใช้ได้หรือไม่ต้องนำไปใช้กับโลกจริง ๆ ถ้ามันใช้ได้จริงก็ถือว่ามันถูกต้อง พุทธศาสนาสุดท้ายต้องไปจบอยู่ที่ประจักษ์นิยมคือเอาลงไปทำงานจริงให้ได้ เมื่อใช้ได้ผลจริงนั้นก็หมายความว่าสิ่งที่คุณคิดถูกต้องแล้ว

 

ผู้สัมภาษณ์            :เมื่อเราต้องการสร้างพระนักเผยแผ่ที่มีศักยภาพ ควรสร้างอย่างไร?

 

ว.วชิรเมธี              :ควรจะกลับไปหาหลักของการเป็นชาวพุทธที่ดี พูดง่าย ๆ ว่ามาตรฐานการเป็นชาวพุทธ สรุปมาจากคัมภีร์ในพระไตรปิฎกมหาปรินิพพานสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ 10  ถ้าคุณจะเป็นพระนักเผยแผ่ในระดับที่เรียกว่ามืออาชีพ หรือเป็นธรรมทายาทจริง ๆ จะต้องดำเนินตามแนวทางตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตร กล่าวคือพัฒนาตนให้มีคุณสมบัติ  5  ประการ ถ้าสังฆะของพระองค์ไม่มีคุณสมบัติ 5  ประการนี้ พระองค์จะไม่ปรินิพพาน แสดงว่ามันเป็นเงื่อนไขต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา คือ ศึกษา ปฏิบัติ สัมผัสผล  เผยแผ่  แก้ไข โดยมีรายละเอียด ดังนี้

     1.ศึกษาอะไร คือศึกษาคำสอนของพระพุทธศาสนาให้มีความรอบรู้ ลึกซึ้ง แม่ยำ เชี่ยวชาญ และศึกษาศาสตร์ร่วมสมัยเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการประยุกต์พุทธศาสนา

     2.ปฏิบัติ คือการนำเอาไปปฏิบัติจริง ๆ ไม่ใช่นำมาศึกษาเป็นนกแก้วนกขุนทองเท่านั้น ศึกษาศีล สมาธิ ปัญญา ให้มาเป็นศีลสมาธิปัญญาที่เป็นวิถีชีวิตของเรา

     3.สัมผัสผล คือได้รับผลของการศึกษานั้น ๆ จนได้รับความงอกงาม...ของตนเอง เป็นแบบอย่างให้กับคนทั่วไปเห็นได้อย่างชัดเจน พูดง่าย ๆ ว่า จนงอกเงยด้วยธรรม งอกงามด้วยศีล ทำอะไรหรือเดินไปไหนให้เขาเห็นว่าเป็นตัวแทน อยู่ในเนื้อในตัวของเราจริง ๆ

     4.เผยแผ่ เมื่อคุณผ่านปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธแล้ว คุณต้องเผยแผ่ออกไป เพราะข้อ 1-2-3  เป็นคุณสมบัติภายในเรียกว่าอัตสมบัติ พอข้อ 4-5  นั้นเป็นปรมัตถสมบัติ คือปฏิบัติเพื่อคนอื่น ๆ...การเผยแผ่ความรู้ที่ได้ปฏิบัตินั้นออกไป  เหมือนดังฝนที่ล้นออกจากสันเขื่อน เมื่อมีฝนตกลงไปมันก็ล้นออกจากสันเขื่อนอย่างนั้น อย่างไรเสียก็ไม่เก็บไว้ เหมือนดอกบัวที่พอเจอแสงแดดแรก อย่างไรก็ต้องบาน พระที่เรียนมา ประพฤติมาก็จะมีกรุณาความเกิดที่อยากจะเผยแผ่โดยอัตโนมัติ เราก็เผยแผ่ไปตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงวางเอาไว้ จรถ ภิกขเว...และก็เมื่อเกิดการเข้าใจผิด เกิดการจาบจ้วง เกิดการให้ร้ายสถาบันพระพุทธศาสนา เราก็ลุกขึ้นมาทำความเข้าใจชี้แนะ ลุกมาปกป้อง เหมือนอย่างพระมหาเถระชื่อว่ากัสสปะ ลุกขึ้นมาเป็นประธานในการทำสังคายนา ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามพระของเรามีคุณสมบัติทั้ง 5  ประการ ก็ได้ชื่อว่าพระธรรมทูต หรือพระธรรมทายาทที่สมบูรณ์แบบที่สุด ที่พร้อมแล้วสำหรับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งเชิงรุกและเชิงรับต่อไป

     5.แก้ไข ปรับปรุง เพื่อทำงานต่อไป

 

ผู้สัมภาษณ์            :หมายความว่าท่านอาจารย์ต้องอ่านและสรุปประเด็นก่อนจึงมาสังเคราะห์ที่หลังใช่หรือไม่?

 

ว.วชิรเมธี              :ผมอ่านเรื่องหนึ่งเกิน 10  รอบแล้วสรุปประเด็น เรียกว่าต้องสังเคราะห์ ได้แล้วต้องวิเคราะห์ ต้องอ่านหลายครั้ง เป็นพระสูตรที่ชอบ ต้องสรุปเป็นแก่น เช่น ข้อ 1-5  ต่อให้ใช้ภาษาร่วมสมัยอย่างไรก็ตาม ต้องโยงกลับเข้าหาพระไตรปิฎกได้ทั้งหมด พระนักเผยแผ่ต้องมีหลัก เพราะหลักลอยก็ถอยหลัง ...เราถูกตอบโต้ เราก็จะเซ ถ้าเซแล้วจะพลาด ย่อมนำความเสื่อมเสียมาสู่สังฆมณฑลได้ ฉะนั้นหลักต้องสำคัญที่สุด เวลาที่รับนิมนต์ให้เทศน์ ต้องมาดูว่า

     1.หัวข้อเรื่องที่รับมา เขาอยากให้เราเทศน์เรื่องอะไร วิเคราะห์ก่อนว่าเขาอยากฟังอะไร พูดง่าย ๆ ว่าวิเคราะห์วัตถุประสงค์ก่อนว่า เขาต้องการฟังอะไร

     2.นำมาเชื่อมโยงว่ามีพุทธธรรมหมวดใดบ้าง ที่สอดคล้องที่เขาอยากจะฟัง

     3.หาตัวอย่างมาสนับสนุน หรือมาบูรณาการ เพื่อที่จะอธิบายให้มันร่วมสมัย

     4.พิจารณาดูว่ามีสื่อใด ๆ ที่จะพูดประกอบได้บ้าง

     5.จะใช้เวลาพูด หรือบรรยาย มาใช้ขั้นตอนอะไรบ้าง

     6.ลงมือปฏิบัติ

     7.ประเมินผล

     8.ถ้ามีค่าพอ ส่งต่อให้ทำเป็น CD ออกมา หรือไม่ก็ทำหนังสือเป็นรูปเล่มออกมา

     9.ส่งข้อมูลทั้งหมด เขาสู่กระบวนการจัดเก็บในหมวดหมู่ของระบบฐานข้อมูลของ ว.วชิรเมธี เพื่อการศึกษาและวิจัยต่อไป หมายความว่าทำงานหนึ่งครั้งได้เก้าขั้นตอน

 

ผู้สัมภาษณ์            :อาจารย์มองดูพุทธศาสนาในหลวงพระบางว่าอย่างไร?

 

ว.วชิรเมธี              :หลวงพระบางเคยไปสัมผัส รู้ผิวเผิน ยังไม่มีความรู้ในด้านการเผยแผ่เท่าไหร่ แต่พอจะรู้ข้อจำกัดอยู่เพราะเป็นสังคมคอมิวนิสต์ โอกาสในการเผยแผ่อย่าง 100% ยังไม่มีเหมือนในบ้านในเมืองของเรา เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับบรรยากาศทางการเมืองและสังคมว่าจะเปิดกว้างมากน้อยแค่ไหน ถ้าตรงนั้นไม่เปิดกว้าง เราไปทำอาจได้ผลไม่ 100% ฉะนั้น การเผยแผ่ไม่เพียงแต่มีใจรักเท่านั้นต้องดูว่าบรรยากาศสภาพแวดล้อมเอื้อหรือไม่ ที่จะทำการเผยแผ่ ไม่ใช่ว่าเราพร้อมเท่านั้น ต้องดูว่ามีคนเขาอยากจะรู้ในเรื่องของเราหรือไม่  ความสามารถในการเผยแผ่เป็นเรื่องของเรา แต่ความสนใจ เป็นเรื่องของคนอื่น เราต้องดู 2 อย่างนี้...ไม่ใช่ว่าเป็นพระนักเผยแผ่ เจอใครก็เผยแผ่ไปทั่วไม่ได้ ต้องดูด้วยว่าเขาต้องการหรือเปล่า ถ้าเขาไม่ต้องการจะกลายเป็นความยัดเหยียด 

 

ผู้สัมภาษณ์            :แล้วการเผยแผ่ในเชียงรายละครับ

 

ว.วชิรเมธี              :เชียงราย ต้องบอกว่ามีโอกาสมากที่จะทำงานด้านการเผยแผ่ได้อย่างรุ่งโรจน์โชติชนา เพราะเชียงรายนั้นการคณะสงฆ์เข้มแข็ง ความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาก็หนาแน่น และ ณ  เวลานี้เชียงรายเป็นเมืองแห่งการศึกษา มีมหาวิทยาลัยเกิน 5  มหาวิทยาลัย เป็นชุมชนแห่งการศึกษา ทุกมหาวิทยาลัยมีคณะที่ศึกษาเกี่ยวกับพุทธศาสนาทั้งนั้น และขณะเดียวกันเชียงรายก็มีอาณาเขตติดต่อทั้งจีน พม่า ลาว สามารถทำให้เราทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแถบลุ่มแม่น้ำโขงนี้ได้เป็นอย่างดี นี้คือโอกาสที่รออยู่

 

ผู้สัมภาษณ์            :ที่ผมถามเชียงราย เพราะผมคิดว่าพะเยากับเชียงคงมีบริบทที่เหมือนกัน ไม่ต่างกันมากนัก

 

ว.วชิรเมธี              :เชียงราย-พะเยาไม่ต่างกัน  ถ้าพระสงฆ์ที่พะเยามีศักยภาพทำได้เลยและเต็มที่ เพราะพะเยา-เชียงรายคืออันเดียวกันจังหวัดเดียวกันมาก่อน พูดในแง่เทศะ หรือพื้นที่เดียวกันมาก่อน...สามารถมาทำที่พะเยาได้เลย หรือเชียงรายได้ทันที ดีกว่าหลวงพระบางมากทีเดียว ยิ่งพะเยามีพระนักเผยแผ่ที่เป็นเลิศทางวิชาการแล้ว ยิ่งเป็นโอกาสของพระนักเผยแผ่ เพราะที่นี้มีเวลาที่จะทำให้คุณทำงานด้านวิชาการได้เป็นอย่างดี

 

ผู้สัมภาษณ์            :การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นอย่างไรบ้างครับ

 

ว.วชิรเมธี              :การมีส่วนร่วมดีขึ้นเป็นยุคที่ประชาชนตื่นตัวทางพุทธศาสนาสูงขึ้นมาก ถือว่า...โดยปัจจัยสำคัญคือสังคมไทยเจอวิกฤติมาก หลวงพ่อพุทธทาสกล่าวว่าเมื่อโลกวิกฤติย่อมเป็นยุคทองของฝ่ายธรรม ถือว่ามาถึงแล้ว  สอง มีสื่อสารมวลชน ที่มีปาฏิหาริย์มาก มีพลังมาก เมื่อเสื่อมาช่วยในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาย่อมเกิดการตื่นตัวในทั่วทุกสังคม นี้เรียกว่าถ้าเรามีพระนักเผยแผ่ที่ดีนะ ยุคนี้เป็นยุคทองของพระพุทธศาสนาก็ว่าได้ เพราะทั้งคนไทยและฝรั่งในยุคนี้หันมาสนใจพระพุทธศาสนาจำนวนมาก คำสำคัญ ๆ ที่เป็นคำสำคัญทางจิตวิญญาณ เช่น กูรูก็ดี  สมาธิก็ดี  วิปัสสนาก็ดี  maidfullness  สปา  โยคะ พูดขึ้นมาฝรั่งรู้หมด ใช้ทับศัพท์ยังได้เลย  เป็นคำที่บ่งบอกถึงยุคสมัยของจิตวิญญาณ

       เดียวนี้คนสนใจในเรื่องของสุขภาพกันมาก จิตวิญญาณกันมาก จึงนำเอาคำสองคำมารวมกัน เดียวนี้มีสปา ก็มีโยคะ ๆ ก็คือรูปแบบหนึ่งของสมาธิ ในรีสอทร์ใหญ่ ๆ ในโรงแรมดี ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีสปา มีโยคะ มี..ห้องสวดมนต์ การจัดสอนกัมมัฏฐาน เดียวนี้จัดสอนกันในโรงแรมทั่วไป

 

ผู้สัมภาษณ์            :ขอบคุณครับท่านอาจารย์ที่ได้ให้คำชี้แนะดี ๆ อันอาจจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่องานของผมและประชาชนทั่วไปที่ได้อ่านบทสัมภาษณ์นี้ และขอให้ท่านอาจารย์มีสุขภาพดีพร้อมจะเป็นผู้นำด้านการเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงรุกต่อไป

 

ว.วชิรเมธี              :ด้วยความยินดีครับ ถ้าท่านอาจารย์ต้องการอะไรเพิ่มเติม ก็ติดต่อมาได้นะครับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 442812เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2011 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

rapid development of todays virtual Jewellery Show will bring guests the

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท