การเมืองการปกครองตามแนวพระพุทธศาสนา


นักบริหาร คือ ผู้ทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยคนอื่น บริหารงานด้วยธรรมาธิปไตย ที่ถือหลักการและความสำเร็จของงานเป็นใหญ่จึงเป็นผู้นำที่นั่งอยู่ในหัวใจของคนร่วมงาน ทั้งนี้เพราะนักบริหารมีธรรมเป็นพลังในการบริหาร ๔ ประการคือ ปัญญาพละ วิริยะพละ อนวัชชพละ และสังคหพละ นักบริหารผู้มีธรรมอยู่ในหัวใจ ย่อมเป็นศูนย์รวมใจของคนร่วมงาน และสามารถจัดการให้งานในหน้าที่ลุล่วงไปด้วยดี

บทที่  ๙

 

การเมืองการปกครองตามแนวพระพุทธศาสนา 

ของนักวิชาการสมัยใหม่  

 

๙.๑ การเมืองการปกครองตามแนวพระพุทธศาสนาของพุทธทาสภิกขุ 

 

          ท่านพุทธทาส เป็นที่ยอมรับว่าท่านเป็น “ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา” ท่านวิเคราะห์หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาและเผยแผ่หลักคำสอนในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้ผู้ที่ฟังหรืออ่านผลงานของท่านเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและวงวิชาการได้อย่างกว้างขวาง ผลงานทางการเมืองการปกครองของท่านนั้นที่โดดเด่นได้แก่ งานเขียนเรื่อง “ธัมมิกสังคมนิยม” แนวคิดทางการเมืองของท่าน มีพื้นฐานแนวความคิดอิงหลักทางพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ โดยการประยุกต์ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นด้านหลักแนวคิดทางการเมืองแบบ “ธัมมิกสังคมนิยม” มีดังนี้คือ[๑]

 

๙.๑.๑ ว่าด้วยการก่อรูปอุดมคติทางการเมือง

 

                    ท่านกล่าวว่า[๒] หลักธรรมะที่จะใช้เป็นที่พึ่งแก่โลกในทางการเมืองได้นั้น สามารถนำมาจากหัวใจของทุก ๆ ศาสนา ทุกศาสนามีหัวใจเป็นสังคมนิยม ทุกศาสนาสอนสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ทุกคน ๆ ไม่ใช่เพื่อคนเดียว หัวใจของศาสนาจึงเป็นลักษณะของสังคมนิยม ไม่ใช่ปัจเจกนิยม

                             ธัมมิกะ แปลว่า “ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ” ธรรมะคือความถูกต้อง ถูกต้องอย่างที่ไม่มีทางที่จะผิด สังคมนิยมที่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะนี่ เป็นหัวใจของทุกศาสนาอยู่แล้วโดยไม่รู้สึกตัว จะต้องนำออกมาใช้หมดทุก ๆ ศาสนา มารวมกันเป็นระบบธัมมิกสังคมนิยมของโลก ใช้กับคนทั้งโลก ระบบธัมมิกสังคมนิยมจะเป็นที่พึ่งในโลก แล้วในที่สุดจะมองเห็นกันได้ว่า เราเป็นสหธรรมิกกันได้ การก่อรูปว่าด้วยอุดมคติทางการเมือง แยกประเด็นได้ดังนี้


                        ๑) การเมืองและอุดมคติทางการเมือง

                        คำว่า “การเมือง” มาจากคำว่า politics ทำให้มองเห็นความหมายได้ง่าย เพราะ คำว่า politics นี้มีความหมาย “เกี่ยวกับคนมาก” หรือเกี่ยวกับเรื่องที่มาก ๆ และจะต้องนึกไปถึงความจริงอันหนึ่งว่า พออะไรมีเพิ่มมากขึ้นละก็เป็นเกิดปัญหาทันที poli แปลว่า “มาก” นี้ หมายถึงอะไรก็ได้ บัดนี้เอามาใช้ประกอบขึ้นเป็นคำสำหรับอุดมคติอันหนึ่ง ที่จะใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการที่มีคนมาก ดังนั้นก็ต้องมีระบบทางศีลธรรม หรือทางศาสนา เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ถ้าคำว่า “การเมือง” หมายความอย่างนี้ก็นับว่าดี คือว่าเป็นกลาง วางไว้สำหรับจะแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับคนมาก

                   ส่วนคำว่า “อุดมคติทางการเมือง” มีคนกล่าวถึงอุดมคติเป็นจำนวนมาก จนเกิดขึ้นหลายๆ ระบบเป็นอุดมคติทางการเมืองที่แข่งขันกันขึ้นมาเสนอตัวเป็นผู้จัดสันติภาพโลก จนกระทั่งเราไม่รู้จะเอาระบบไหนดี จึงมีปัญหา

                   อุดมคติทางการเมืองจะต้องเกี่ยวข้องกับศีลธรรม ระบบการเมืองที่แท้ก็คือ ศีลธรรม ถ้าระบบการเมืองนั้นถูกต้อง นั่นก็คือศีลธรรมที่มีแล้วอย่างถูกต้อง ระบบสังคมนิยมนี้ คือ ระบบที่ประกอบด้วยศีลธรรมยิ่งกว่าระบบใด[๓]

                        ๒) การเมืองตามแนวทางศาสนา

                    สิ่งที่เรียกว่า การเมือง มีความหมายตามแนวทางของศาสนาว่า การเมือง คือ การจัดอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เพื่อคนมากจะอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก[๔] สิ่งที่เรียกว่าการเมือง คือ ระบบศีลธรรมอันเร้นลับ การดูอย่างนี้มีประโยชน์และเป็นสิ่งที่จำเป็น ถ้านำมาทำให้ถูกต้องก็จะมีประโยชน์ ถึงอย่างนั้นก็ยังจะต้องแยกออกให้ง่าย ให้เห็นได้ง่าย ให้ง่ายแก่การที่จะศึกษาหรือปฏิบัติศีลธรรมในรูปแห่งการเมือง และหากให้ดีกว่านั้นอีกก็ให้การเมืองมาอยู่ในรูปของศาสนาเสียเลย เพราะว่าคำว่า “ศาสนา” ก็คือ ภาวะสมบูรณ์ของสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรม ความเต็มรูปของสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมคือ ศาสนา

 

            ๙.๑.๒ ธัมมิกสังคมนิยม

 

                    ๑) ความหมายของธัมมิกสังคมนิยม ธัมมิกสังคมนิยมเป็นระบบการปกครองที่ไม่เห็นแก่ตัวบุคคล และจะต้องประกอบไปด้วยธรรมะ ระบอบการปกครองของโลกที่ไม่เห็นแก่ตัวบุคคล จะเปิดโอกาสให้ระบบการปกครองนั้นประกอบด้วยธรรมะ กล่าวโดยสรุป ธัมมิกสังคมนิยม เป็นระบอบที่ถือเอาประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก และประกอบด้วยธรรมะ

                    ๒) สังคมนิยมในพระพุทธศาสนา ท่านพุทธทาส ได้กล่าวถึงสังคมนิยมในพระพุทธศาสนา ดังนี้คือ

                        คำว่า สังฆะ แปลว่า หมู่ หรือ พวก ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติระบบวินัย เป็นระบบที่ผูกพันกันไว้เป็นหมู่เป็นพวกไม่แยกออกจากกัน โดยมีเครื่องยึดเหนี่ยวให้อยู่ร่วมกัน เช่น หลักธรรม เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้หมู่สงฆ์อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

                        ๒.๒) การปฏิบัติตนให้สันโดษเป็นรากฐานของสังคมนิยม ระเบียบวินัยทางพระพุทธศาสนามุ่งให้พระสงฆ์ปฏิบัติตนอย่างสันโดษ พอดี รู้จักพอดีในการเป็นอยู่ เช่น จะต้องมีจีวร ๓ ผืน มีมากก็อาบัติ เป็นต้น การปฏิบัติตนให้สันโดษ พอดี ซึ่งจะก่อให้เกิดส่วนที่เหลือ และสามารถจุนเจือหรือช่วยเหลือบุคคลอื่นที่ยากจนกว่าได้ดีมาก จึงเป็นรากฐานของสังคมนิยมในที่สุด

                        ๒.๓) การอยู่กันเป็นสังคม การช่วยเหลือหรือเสียสละเพื่อผู้อื่น ระเบียบวินัยทางพระพุทธศาสนากล่าวไว้ชัดเจนว่า จะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เสียสละเพื่อผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว แต่เห็นแก่สังคม นั่นก็คือมีเจตนาของสังคมนิยมมากในทุกด้าน การอยู่กันเป็นสังคมนี้เป็นความต้องการของธรรมชาติ เพื่อช่วยเหลือหรือพึ่งพิงซึ่งกันและกันได้

                        ๒.๔) ระบบสังคมนิยมแบบธรรมราชา ระบบสังคมนิยมแบบธรรมราชา ก็คือ หลักทศพิธราชธรรม ที่ประกอบด้วย ทาน ศีล บริจาค ความซื่อสัตย์ ความอ่อนโยน การควบคุมตนเอง ความไม่โกรธ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ความอดทน และการปฏิบัติตามธรรม

 

            ๙.๑.๓ แนวทางสู่ธัมมิกสังคมนิยม

 

                    ๑) ธัมมิกสังคมนิยมที่ถูกต้อง ประกอบด้วย

                        ๑.๑) ต้องไม่เป็นทาสของวัตถุ

                        ๑.๒) เจตนารมณ์ของการเมืองต้องเป็นศีลธรรม

                        ๑.๓) อุดมคติทางการเมืองจะต้องประกอบไปด้วยธรรม

                    ๒) การแก้ไขปัญหาสันติภาพสองระดับ

                        ๒.๑) การแก้ไขปัญหาในระดับบุคคล บุคคล คือหน่วยสังคมแต่ละหน่วย แต่ละคนนั้นควรจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

                             (๑) มีการศึกษาดี ถูกต้อง

                             (๒) มีสุขภาพอนามัยดีทั้งทางกาย ทางจิต และทางวิญญาณ

                             (๓) มีครอบครัว มีความเป็นอยู่อย่างครอบครัวที่ถูกต้องทั้ง ๖ ทิศ

                             (๔) มีเศรษฐกิจดี กินอยู่พอดี เหลือทำประโยชน์เพื่อนมนุษย์

                             (๕) มีธรรมเป็นหน้าที่ ทำงานด้วยความสนุก

                             (๖) รักเพื่อนมนุษย์

                             (๗) มีสัมมาทิฏฐิ ความคิด ความเห็น ความเชื่อ ความรู้ที่ถูกต้อง

                             (๘) เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจเยือกเย็น

                    บุคคลแต่ละคนที่ประกอบด้วยคุณธรรมเหล่านี้ เป็นส่วนประกอบที่ดีที่สมบูรณ์ สำหรับจะสร้างโลก สร้างสันติภาพได้

                        ๒.๒) การแก้ไขปัญหาในระดับสังคม จะต้องเป็นระบบสังคมที่มีความถูกต้อง นั่นคือ ระบบการปกครอง และระบบการควบคุมมนุษย์จะต้องถูกต้องเป็นไปโดยธรรม ประกอบด้วย

                             (๑) มีเศรษฐกิจที่ถูกต้องในสังคมนั้น

                             (๒) มีระบบการอยู่ร่วมกันระหว่างคนด้วยกับคนเด่น

                             (๓) มีระบบการเมืองที่ถูกต้อง

                             (๔) ระบบการปกครองที่มีธรรมะเป็นหลัก

                             (๕) ระบบศีลธรรมเป็นไปตามหลักศาสนา

                             (๖) มีระบบการศึกษาถูกต้อง (การศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์)

                             (๗) มีระบบนิเวศวิทยาที่ดี

                    กล่าวโดยสรุป แนวคิดทางการเมืองของท่านพุทธทาส แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ แนวคิดที่ให้คุณค่าทางด้านจิตใจ ที่มุ่งเน้นการเมืองที่ประกอบไปด้วยธรรม และแนวคิดที่ให้คุณค่าด้านการปกครอง ที่มุ่งเน้นการปกครองโดยใช้หลักของศีลธรรมที่เป็นไปตามหลักของศาสนา เช่น หลักทศพิธราชธรรม เป็นต้น

 

๙.๒ การเมืองการปกครองตามแนวพระพุทธศาสนาของพระพรหมคุณาภรณ์

 

          แนวคิดทางการเมืองการปกครองตามแนวพระพุทธศาสนา ตามแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ท่านได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ “ประชาธิปไตย” ซึ่ง ดร.สุรพล        สุยะพรหม ได้กล่าวถึงพรหมคุณาภรณ์ ที่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมปิฎก ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้[๕]

         พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) เป็นพระนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา ที่มีมุมมองต่อการแก้ไขปัญหาสังคม โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน พระธรรมปิฎกได้ให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างใกล้ชิด เห็นได้จากผลงานทางวิชาการทั้งในรูปแบบของงานนิพนธ์ การแสดงปาฐกถา และบรรยายธรรม ในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมานั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการผสมผสานแนวความคิดทางพระพุทธศาสนา ที่จะนำมาประยุกต์กับศาสตร์สมัยใหม่ในการนำผลแก้ไขปัญหาสังคมไทยที่เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา พระธรรมปิฎก ได้เสนอแนวคิด “ประชาธิปไตย” ไว้ดังนี้

 

๙.๒.๑ นิยมของประชาธิปไตย

 

                    พระธรรมปิฎกได้นิยามคำว่า ประชาธิปไตยไว้อย่างน่าฟังยิ่งว่า เมื่อพูดถึงประชาธิปไตย ถ้ากล่าวถึงความหมาย มีวิธีพูดง่ายๆ อย่างหนึ่งคือ ยกเอาวาทะของประธานาธิบดี ลินคอล์น มาอ้าง เพราะคนชอบ และรู้จักกันมาก คือวาทะที่ว่า "ประชาธิปไตยเป็นการ ปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน" วาทะนี้คนจำได้แม่น เวลาพูดกัน คนมักมองความหมายในแง่ของความรู้สึกตื่นเต้นว่า ตนเองจะได้ เช่น จะได้สิทธิ ได้อำนาจ หรือ ได้ความเป็นใหญ่ในการที่จะเป็นผู้ปกครอง แต่อีกแง่หนึ่งที่ไม่ค่อยได้มองคือ "ความรับผิดชอบ"

                             ดังนั้น จากวาทะลินคอล์นนั้น พระธรรมปิฎกมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ที่ว่า ประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนนั้น เป็นการเตือนให้รู้สึกตัวด้วยว่า คุณภาพของประชาธิปไตยอยู่ที่คุณภาพของประชาชน เพราะว่า โดยปกติ คุณภาพของการปกครองย่อมขึ้นต่อคุณของผู้ปกครองเป็นสำคัญ ด้วยว่าในสมัยก่อนการปกครองอยู่ในกำมือของผู้ปกครองโดยตรง คุณภาพของประชาธิปไตย ก็วัดได้จากผู้ปกครองนั่นเอง แต่ในสมัยนี้ ในเมื่อประชาชนมาเป็นผู้ปกครอง บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ประชาธิปไตยจะมีคุณภาพแค่ไหน ก็อยู่ที่คุณภาพของประชาชนเป็นสำคัญ       

จึงกล่าวสรุปได้ว่า พระธรรมปิฎกได้นิยามประชาธิปไตยโดยให้ความสำคัญในแง่ คุณภาพของประชาธิปไตยเป็นหลัก โดยเน้นว่า "ถ้าประชาชนมีคุณภาพดี ประชาธิปไตยก็มีคุณภาพดีด้วย ถ้าประชาชนมีคุณภาพต่ำ ประชาธิปไตยก็จะเป็นประชาธิปไตยอย่างเลวด้วย เพราะว่า คุณภาพของประชาธิปไตย ขึ้นต่อคุณภาพของประชาชน แล้วคุณภาพของประชาชนขึ้นต่ออะไร ก็ขึ้นต่อการศึกษา"

 

๙.๒.๒ เสียงข้างมากในประชาธิปไตย

 

ความเข้าใจของคนไทยทั่วไปที่มีต่อภาพลักษณ์ของประชาธิปไตยนั้น ก็คือ ในสังคมของคนหมู่มาก ต่างคนก็ต่างมีความต้องการที่แตกต่างกันออกไป เกณฑ์ตัดสินอำนาจสูงสุดของความต้องการหรือความประสงค์ของคนในระบอบนี้ก็คือ เสียงข้างมากของประชาชนนั่นเอง พระธรรมปิฎกเห็นว่า การตัดสินใจเช่นว่านี้ เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากตัดสินถูกก็ดีไป ถ้าตัดสินผิดก็อาจเกิดความเสื่อมความพินาศทุกอย่างทุกประการ การที่จะตัดสินใจผิดหรือตัดสินใจถูก ก็อยู่ที่ความเป็นคนดี มีปัญญา คือ มีคุณธรรม และมีความรู้ความเข้าใจ เฉลียวฉลาด สามารถในการคิด เป็นต้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ประชาชนควรจะมี ถ้าประชาชน เป็นคนดี ตั้งใจดี มีความรู้ความเข้าใจ มีปัญญาชัดเจน คิดเป็น มองเห็นความจริง ก็ตัดสินใจได้ถูกต้อง

                   ดังนั้น จากแนวคิดเรื่องดังกล่าวนี้ ทำให้เห็นได้ว่า ประชาธิปไตยจะดี ก็อยู่ที่ประชาชน ที่เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจนั้นว่า จะต้องเป็นคนดีและมีปัญญา โดยที่ว่า ประชาชนเป็นใหญ่ มีอำนาจตัดสินใจนี้ การตัดสินใจที่ว่านั้น วินิจฉัยด้วยเสียงข้างมากเป็นใหญ่ ในเรื่องนี้พระธรรมปิฎกให้ข้อสังเกตไว้ ๒ ประการด้วยกันคือ

                   ๑. ถ้าคนส่วนใหญ่เป็นคนโง่ เสียงข้างมากที่วินิจฉัยก็จะเป็นการตัดสินใจเลือกอย่าง โง่ๆ หรือแม้แต่เลือกไปตามที่ถูกเขาหลอกล่อ ทำให้ผิดพลาดเสียหาย แต่ถ้าคนส่วนใหญ่เป็นคนดี มีปัญญา ก็จะได้เสียงข้างมากที่ตัดสินใจเลือกได้ถูกต้อง บังเกิดผลดี จึงต้องให้ประชาชนมีการศึกษา หรือจะได้เสียงข้างมากที่ตัดสินใจอย่างผู้มีปัญญา

                   ๒. ความจริงของสิ่งทั้งหลายย่อมเป็นอย่างที่มันเป็น มันย่อมไม่เป็นไปตามการบอก การสั่ง การลงคะแนนเสียง หรือตามความต้องการของคน ดังนั้น คนจะไปตัดสินความจริง ไม่ได้ แต่เป็นหน้าที่ของคนเองที่จะต้องตัดสินใจเลือกสิ่งที่เป็นจริง จึงต้องให้ประชาชนมี การศึกษา เพื่อจะได้เสียงข้างมากที่ตัดสินใจเลือกเอาสิ่งที่ถูกต้องเป็นจริง

                   พระธรรมปิฎกย้ำว่า เสียงข้างมากตัดสินความจริงไม่ได้ อันนี้เป็นหลักธรรมดา เราตัดสินใจ ไม่ใช่ตัดสินความจริง ถ้าเอาเสียงข้างมากมาตัดสินความจริง ก็เป็นไปไม่ได้

                   เพราะฉะนั้น ตามหลักการแล้วไม่สามารถเอาเสียงข้างมากมาตัดสินความจริงได้ ถ้าอย่างนั้น จะเอาเสียงข้างมากตัดสินอะไร ประเด็นนี้ พระธรรมปิฎก ให้ความเห็นว่า เราเอาเสียงข้างมากมาตัดสินความต้องการ คือบอกว่าจะเอาอย่างไร ในแง่นี้สามารถบอกได้ว่า ประชาชนต้องการอะไร จะเอาอย่างไร แล้วมีมติเป็นที่ตกลงกันว่าจะเอาอย่างนี้ ซึ่งรวมความ ปัญหาอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะให้ความต้องการที่ว่าจะเอาอย่างไรนั้น ไปประสานกับความมุ่งหมายที่ดี โดยมีสติปัญญาที่รู้เข้าใจว่า อะไรเป็นความจริง ความถูกต้อง แล้วตัวประโยชน์แท้ที่ควรจะเอา คือ ต้องให้ความต้องการนั้น ไปตรงกับความจริง ความถูกต้องและความเป็นประโยชน์ที่แท้จริง มิฉะนั้นความต้องการนั้นก็ผิด

                   เมื่อคนตัดสินใจด้วยความต้องการที่ผิด การตัดสินใจนั้นก็ผิด จะเลือกผิด เอาผิด และก่อให้เกิดผลร้าย เพราะฉะนั้น จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องทำให้คนมีความรู้ มีสติปัญญา จึงต้องเน้นกันว่า คนจะต้องมีวิจารณญาณ หรือจะใช้คำศัพท์ให้ลึกลงไปกว่านั้น ก็คือ ต้องมีโยนิโสมนสิการ ด้วยเหตุนี้ การใช้เสียงข้างมากมาตัดสิน จึงต้องเป็นเสียงแห่งสติปัญญา ที่แสดงถึงความต้องการอันฉลาดที่จะเลือกเอาสิ่งที่ดีงามถูกต้องเป็นประโยชน์แท้จริง

                   พระธรรมปิฎกสรุปว่า การศึกษาจำเป็นต่อประชาธิปไตย หรือพัฒนาประชาชนให้ ทำหน้าที่หรือใช้อำนาจตัดสินใจอย่างได้ผลดีใน ๒ ประการ คือ

                   ๑. ให้เสียงข้างมากที่จะใช้วินิจฉัย เกิดจากการตัดสินใจของคนที่เป็นบัณฑิต คือ คนดีมีสติปัญญา

                   ๒. ให้การตัดสินใจของคนที่เกิดจากความต้องการที่มาประสานกับปัญญาที่รู้ และให้เลือกเอาสิ่งที่ถูกต้องดีงามจริงแท้ และเป็นประโยชน์แท้จริง

                   เมื่อพิจารณาจากแนวคิดเรื่องเสียงข้างมาก ในประชาธิปไตยตามแนวของพระธรรมปิฎก จึงเห็นได้ชัดว่า สังคมไทยเป็นสังคมแห่งวิถีพุทธ ดังนั้น ระบอบประชาธิปไตยของไทยจึงควร ที่นำแนวคิดในเรื่องของการตัดสินใจด้วยเสียงข้างมาก ตามแนวของพระธรรมปิฎกมาประยุกต์ใช้ ก็จะทำให้ระบบการเมืองไทย ได้เสียงข้างมากที่เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของระบอบประชาธิปไตย ที่แน่นอน กล่าวคือ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของสังคมไทยโดยรวมนั่นเอง

 

๙.๒.๓ รัฐในระบอบประชาธิปไตยกับพระพุทธศาสนา

 

                   ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ บัญญัติไว้ว่า รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ส่งเสริมความเข้าใจ อันดี และความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งการสนับสนุกการนำหลักธรรมของศาสนามา ใช้เพื่อส่งเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต๑๔ เรื่องดังกล่าวนี้ พระธรรมปิฎกได้แสดงทัศนะให้เห็นว่า โดยหลักการแล้ว การที่รัฐสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนานั้น สรุปได้ ๒ ลักษณะด้วยกันคือ

                   ๑. เป็นความสัมพันธ์เชิงหน้าที่เกี่ยวกับธรรม หรือหน้าที่ต่อธรรม คือ รัฐโดยเฉพาะผู้ปกครองที่ดี ย่อมเป็นผู้ใฝ่ธรรม แสวงหาธรรม และเป็นผู้เชิดชูธรรม พระสงฆ์ หรือทางฝ่ายศาสนานั้น เป็นผู้ดำรงไว้ซึ่งธรรม เป็นผู้เผยแผ่ และสืบต่อ สืบทอดธรรมให้ดำรงอยู่ ในโลก ในสังคม เพราะฉะนั้น รัฐก็ทำหน้าที่ในการที่จะช่วยผู้ดำรงรักษาสืบทอดธรรม เผยแผ่ธรรมนี้ ให้ทำหน้าที่นั้นด้วยดี การกระทำอย่างนั้น ก็เท่ากับรัฐได้เชิดชูคุณธรรมด้วย

                   สืบเนื่องจากหน้าที่ที่เกี่ยวกับธรรมเช่นนี้ พระธรรมปิฎกให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หน้าที่เกี่ยวกับธรรมของรัฐนั้น ก็ทำให้พระมหากษัตริย์หรือทางรัฐมีหน้าที่ต่อไปอีก คือ จะต้องพยายามให้ศาสนาบริสุทธิ์ เพื่อให้มีธรรมดำรงอยู่สืบต่อไปในสังคม หรือในโลกนี้ การทำ สังคายนาก็ดี การกำจัดชำระล้างมลทินของศาสนาในบางสมัยก็ดี เป็นเรื่องที่จัดได้ว่า อยู่ในหน้าที่ข้อนี้

                   เมื่อมีเหตุการณ์ไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นในวงการศาสนา รัฐก็เข้ามาอุปถัมภ์คณะสงฆ์ ในการทำสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัย เพื่อรักษาธรรมที่บริสุทธิ์ไว้ สังคายนาต่างๆ โดยมาก ก็มีพระเจ้าแผ่นดิน หรือทางรัฐเข้ามาเป็นผู้อุปถัมภ์ ทั้งในประเทศอินเดีย ในศรีลังกา ตลอดจนกระทั่งในประเทศไทยหลายครั้ง หลายสมัย

                   นอกจากนี้ ในกรณีปลีกย่อย เมื่อปรากฏว่ามีคนของรัฐ หรือพลเมืองคือ คนของ บ้านเมืองที่เป็นคนร้าย คนไม่ดีเข้าไปซุกซ่อนตัวแอบแฝงอยู่ เข้าไปบวช เข้าไปเบียดเบียนทำลายศาสนา ซึ่งเท่ากับทำลายผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนด้วย ทางรัฐหรือทางพระเจ้า แผ่นดิน ก็ช่วยรักษาความบริสุทธิ์ของพระศาสนาด้วยการเอาคนของรัฐ หรือพลเมืองของตนเองที่เป็นคนไม่ดีที่เข้าไปทำลายศาสนานั้นออกมา ข้อนี้ถือว่าเป็นการชำระล้างพระศาสนาด้วยการเอาคนร้าย พลเมืองไม่ดีของตนเองกลับออกมาเสีย ไม่ให้เข้าไปหรืออยู่ทำลายพระศาสนาอีกต่อไป

                   ๒. เป็นความสัมพันธ์เชิงหน้าที่ในฐานะที่ผู้ปกครองหรือรัฐ เป็นตัวแทนของประชาชน ควรแสดงน้ำใจตอบแทนต่อทางฝ่ายสงฆ์ หรือทางศาสนา โดยนัยนี้ พระธรรมปิฎกเห็นว่า ตามปกติพระภิกษุสงฆ์ หรือทางฝ่ายศาสนาเป็นผู้แนะนำสั่งสอนประชาชนให้ดำรงอยู่ในศีลธรรม ให้ประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีงาม ให้พัฒนาทางจิตใจ ทางปัญญา ให้พระสงฆ์ทำ เช่นนี้ ประชาชนก็จะมีการศึกษาดี มีความรู้ ประพฤติดี มีจิตใจที่มีคุณภาพดี ก็จะเป็น พลเมืองที่ดี ผลประโยชน์ก็ตกแก่รัฐด้วย ช่วยให้รัฐนั้นเจริญรุ่งเรือง มีความสงบสุข รัฐสำนึกในพระคุณฝ่ายสงฆ์ หรือทางศาสนานั้น เป็นการตอบแทนคุณความดี หรือบูชาคุณของฝ่ายศาสนา หรือฝ่ายสงฆ์นั่นเอง และทำหน้าที่ดังกล่าวแทนประชาชน คือ อุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา แทนประชาชน

                   ดังนั้น จากการที่รัฐจำจะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อฝ่ายพระสงฆ์ หรือฝ่ายพุทธจักร และในขณะเดียวกัน ฝ่ายของพระสงฆ์หรือฝ่ายพุทธจักรเองก็ต้องมีปฏิสัมพันธ์ตามหน้าที่ของตน ต่อฝ่ายรัฐหรือฝ่ายอาณาจักร เพราะโดยที่สุดแล้ว พระธรรมปิฎกสรุปว่า ก็ล้วนแต่เพื่อประโยชน์สุขของพหูชนทั้งสิ้นนั่นเอง

 

            ๙.๒.๔ สิทธิและเสรีภาพในประชาธิปไตย

 

          พระธรรมปิฎกมองว่า ประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ช่วยประสานประโยชน์ระหว่างบุคคลและสังคม หลักการนี้ยังหาผู้ปฏิบัติได้ผลจริงได้ยาก จะเห็นได้ว่า ระบบสังคม  ต่างๆ มักมีปัญหาในเรื่องที่ว่า ถ้าให้สังคมได้ บุคคลก็ต้องยอมสละ ทำอย่างไรจึงจะประสานประโยชน์กันได้ อุดมคติอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยก็คือ การช่วยประสานประโยชน์ระหว่างบุคคลกับสังคม

                   อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะก้าวไปสู่การประสานประโยชน์ระหว่างบุคคลกับสังคมให้มาเสริมกันนั้น มีบททดสอบพื้นฐานหนึ่งที่จะให้เห็นว่า ประชาชนในสังคมนั้นๆ มีคุณภาพเพียงพอ ที่จะทำให้คุณค่าของประชาธิปไตยข้อนี้บรรลุผลได้หรือไม่ บททดสอบนี้ก็คือ ความประสานสมดุลในการปฏิบัติตามหลักแห่ง ๑) สิทธิกับหน้าที่ ๒) เสรีภาพกับความรับผิดชอบ

                   มุมมองต่อ สิทธิกับหน้าที่ นั้น พระธรรมปิฎกชี้ว่า คู่กับการมีสิทธิที่จะได้และเรียกร้องเอาสิ่งที่ตนพึงได้นั้น บุคคลก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำ เพื่อเป็นส่วนร่วมที่จะธำรงรักษาและสร้างสรรค์พัฒนาสังคมประชาธิปไตยนั้นด้วย ถ้าอยากใช้สิทธิก็ควรปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดี และเมื่อมีการทำหน้าที่ด้วยดี สังคมประชาธิปไตย ก็จะได้รับการรักษาไว้ เพื่อให้คนมีโอกาสที่จะใช้สิทธิได้ต่อไป

                   ส่วนเรื่องของ เสรีภาพกับความรับผิดชอบ นั้น พระธรรมปิฎกมองเห็นว่า คู่กับเสรีภาพที่จะกระทำต่างๆ ตามความปรารถนาของตน บุคคลจะต้องรู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำและผลการกระทำของตน และใช้เสรีภาพนั้นอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่ตน มีส่วนร่วมอยู่ด้วย เพื่อความชัดเจนขึ้นในเรื่องของเสรีภาพนั้น พระธรรมปิฎกได้ยกตัวอย่างเรื่องเสรีภาพที่เป็นหลักการของประชาธิปไตย ที่เน้นความหมายในแง่ของการที่บุคคลมีโอกาสที่จะนำเอาศักยภาพ เช่น สติปัญญา ความสามารถของตนออกไปเป็นส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สังคม ซึ่งเป็นความหมายเชิงความร่วมมือและเอื้อเฟื้อต่อกัน แต่ภายใต้อิทธิพลของทุนนิยม เสรีภาพเน้นความหมายในแง่ของการที่จะได้ผลประโยชน์ตามที่ตนปรารถนา ซึ่งเป็นไปในทางแบ่งแยกและแก่งแย่ง

 

            ๙.๒.๕ การศึกษากับประชาธิปไตย

 

          จากการที่ประเทศไทยเข้าสู่ยุคปฏิรูปการศึกษา โดยกำหนดให้มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งระบุให้กระบวนการเรียนรู้ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย ความเสมอภาค และ ศักดิ์ศรี ของความเป็นมนุษย์

                   จากประเด็นดังกล่าวนี้ พระธรรมปิฎกมีมุมมองที่ชี้ให้เห็นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตย จำเป็นต้องอาศัยการศึกษา เพื่อทำให้คนมีคุณภาพ เพราะคุณภาพของประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชน และ ในเวลาที่มองประชาธิปไตย ก็อย่ามองแค่การปกครอง อย่ามองแค่ว่า นี่เราเป็นประชาธิปไตยแล้ว ประชาชนได้ขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง แล้วก็หยุดแค่นั้น โดยนึกว่า นี่เราเก่ง เราได้เป็นใหญ่แล้ว สิ่งที่สำคัญก็คือ ต้องมองว่า เราปกครองเพื่ออะไร เราควรจะมองไปให้ถึงจุดหมายของการปกครอง

                   การปกครองนั้น ก็คือการที่มาร่วมกันจัดสรรสังคม เพื่อสร้างสรรค์สังคมให้เจริญ มั่นคง มีสันติสุข และให้แต่ละคนมีโอกาสพัฒนาศักยภาพเพื่อให้ชีวิตเจริญงอกงาม บรรลุประโยชน์สุขที่สูง ประเสริฐ และมาร่วมกันสร้างสรรค์สังคมกันต่อไปอีก นี่แหละเป็นจุดหมายของการปกครอง

                   พระธรรมปิฎกให้ความสำคัญต่อการศึกษาอย่างยิ่ง โดยเน้นว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น จะต้องอาศัยการศึกษา อย่างน้อยก็เป็นการนำเอาการศึกษามาช่วยเตรียมคนให้พร้อม ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการปกครองของสังคมประชาธิปไตย นี่คือ สาระที่สำคัญที่สุด คือการเตรียมคนให้พร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคมประชาธิปไตย หรือในกระบวนการประชาธิปไตยทั้งหมด ถ้าไม่เตรียมการคนอย่างนี้ กระบวนการประชาธิปไตยก็จะกลายเป็นกระบวนการที่ล้มเหลว เพราะว่าบุคคลที่เป็นส่วนร่วมซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนนั้น ไม่มีคุณภาพ ไม่มีความพร้อม

                   การศึกษาทำให้คนได้เข้าถึงโอกาสในสังคมประชาธิปไตย เราบอกกันเสมอว่า ประชาธิปไตยจัดสรรสังคมให้เกิดมีโอกาสแก่บุคคลแต่ละคนแล้ว แต่คนที่ไม่มีการศึกษา ก็ไม่สามารถเข้าถึงหรือใช้โอกาสนั้น คือไม่สามารถได้รับประโยชน์จากสังคมประชาธิปไตย เช่น ถ้าบุคคลใดไม่รู้หนังสือ โอกาสที่มีอยู่มากมายในสังคมประชาธิปไตย ก็ไม่เป็นประโยชน์แก่เขา ดังนั้น ในขั้นที่หนึ่งนี้ พระธรรมปิฎกจึงเห็นว่า การศึกษาช่วยให้คนเข้าถึงโอกาสและสามารถได้ประโยชน์จากสังคมประชาธิปไตยนั้น

                   ในขั้นต่อไป เมื่อคนมีการศึกษาดี ก็สามารถนำศักยภาพของตนออกมาร่วมสร้างสรรค์สังคม ดังนั้น การศึกษาช่วยให้คนสามารถใช้โอกาสที่จะทำประโยชน์แก่สังคมประชาธิปไตย และในที่สุดเมื่อกล่าวโดยรวม การศึกษาเข้ามาช่วยให้การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยมีคุณภาพที่แท้จริง และสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ของประชาธิปไตย มิเช่นนั้นประชาธิปไตยก็อาจจะเป็นเพียงชื่อ เป็นเพียงแต่ระบบในอุดมคติที่ไม่สามารถบรรลุผลได้เลย จึงกล่าวในประเด็นนี้ได้ว่า ปัจจัยที่จะให้สังคมประชาธิปไตยบรรลุผลสำเร็จก็คือ การศึกษา

                   ในทางกลับกัน ประชาธิปไตยก็ให้โอกาสแก่ทุกคนที่จะเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาคด้วย หมายความว่า เมื่อมีการปกครองแบบประชาธิปไตย ตัวระบบของประชาธิปไตยก็เปิดโอกาสให้กับคนที่จะเข้าถึงการศึกษาได้ โดยนัยนี

หมายเลขบันทึก: 442693เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2011 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2012 18:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ถ้าเราปฏิบัติตามคำสอนของหรือแนวความคิดของท่านพุทธทาสได้และทำความเข้าใจ ประเทศไทยจะสงบขึ้นอีกเยอะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท