เพลงอีแซว สื่อสาร ตอนที่ 2 งานทำบุญครบรอบการจากไปของพี่ชาย


การศึกษาเรียนรู้จะต้องกระทำต่อไปจนตลอดชีวิตไม่มีวันจบ การพัฒนาทีมงาน การพัฒนาความสามารถรายบุคคล จึงมีความสำคัญต่อการนำเสนอผลงานการแสดงเพลงพื้นบ้านในแต่สถานที่ในแต่ละเวที

เพลงอีแซว สื่อสาร

ตอนที่ 2 งานทำบุญ

ครบรอบการจากไปของพี่ชาย

โดย นายชำเลือง มณีวงษ์

 

          ตามที่ผมได้กล่าวไว้ในตอนที่ 1 เพลงอีแซว สื่อสาร จะเห็นได้ว่าศิลปะการแสดง ประเภทเพลงอีแซวสามารถที่จะส่งสาระความรู้ไปยังท่านผู้ชมผู้ฟังให้รับทราบเรื่องราวเหตุการณ์ปัจจุบันได้ ในงานฌาปนกิจ เพลงอีแซวทำหน้าที่สื่อเรื่องราว ประวัติชีวิต การ ศึกษา ครอบครัว ผลงานของผู้ที่ล่วงลับไปยังท่านผู้ชม แบบปัจจุบันทันด่วน (ด้นกลอนสด) เมื่อวงเพลงแซวสายเลือดสุพรรณฯ ได้รับเชิญไปร่วมในงานกุศล ศิลปินนักแสดงทั้งหมดต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของการแสดงใหม่เพื่อให้สอดรับกับบรรยากาศของงานนั้น ๆ
          ในตอนที่ 2 ของเพลงอีแซว สื่อสาร ผมขอยกเอากิจกรรมอีกครั้งหนึ่งในสังคม โดย เฉพาะชุมชนในท้องถิ่นซึ่งครอบครัว (พี่น้อง) ได้จัดงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลส่งไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ ได้แก่ การทำบุญครอบรอบ 1 ปีของวันจากไป หรือในบางงานก็จัดงานทำบุญครบรอบ 100 วันก็มี แต่สำหรับในงานนี้ผมได้รับการติดต่อจากท่านเจ้าภาพให้นำวงเพลงอีแซวไปแสดงในตอนกลางคืน เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2554 ที่บ้านเลขที่ 11 หมู่ที่ 2 ตำบลหนองผักนาก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ลงไปตรงทางแยกเข้าวัดโป่งแดง (ประมาณ ครึ่งกิโลเมตร) โดยแยกที่ตลาดหนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี
          งานนี้ผมได้เตรียมการวางโครงเรื่องเนื้อหาของการแสดงเป็น 2 รูปแบบ คือ เล่นตามเพลงที่ท่องจำกันมา แต่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตในวันเดือนปีจนถึงวันละสังขาร และด้นกลอนสดตามที่ท่านเจ้าภาพเขียนบันทึกมาให้โดยละเอียด รูปแบบที่ 2 เป็นการแสดงเรื่องทั่ว ๆ ไป แบบสนุกสนานและมีคติสอนใจ ให้สารประโยชน์ต่อผู้ชมได้ แต่จะอิงอยู่ในเรื่องของการแสดงความอาลัยต่อผู้ที่ล่วงลับไป ตลอดจนเรื่องของการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตาย
          วันที่ 21 พฤษภาคม 2554 เป็นวันที่ท้องฟ้าสลัวตั้งแต่ตอนเช้า ผมหวั่นใจอยู่เหมือนกัน เกรงว่าฝนจะตกลงมาทำให้การแสดงไม่สะดวก จนถึงเวลา ประมาณ 16.00 น. ทีมงานการแสดงออกเดินทางจากโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 โดยรถตู้รับจ้างบรรจุนักแสดง 15 คนไปทำหน้าที่ที่บ้านงาน เราใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 30 นาที ไปถึงบ้านงาน ท่านเจ้าภาพมาให้การต้อนรับเป็นอย่างดี บอกให้พวกเราไปรับประทานอาหารซึ่งท่านจัดเตรียมเอาไว้อย่างพร้อมเพรียง

         

         

          เด็ก ๆ ทำหน้าที่เตรียมการที่เวทีการแสดง เวทีของคุณลำไย เป็นเวทีการแสดงที่ไปร่วมงานกับวงเพลงอีแซวของเรามานานเกือบจะ 10 ปีแล้ว และเครื่องไฟขยายเสียงของสุเทพแสงเสียง แห่งบ้านนาป่า อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี นี่ก็ร่วมงานกันมานานกว่า 6 ปี อุปกรณ์ในการแสดงทุกอย่างเตรียมพร้อม เสียงเพลงจากเครื่องขยายเสียงดังพอประมาณ เปิดเพลงพื้นบ้านบ้างเพลงลูกทุ่ง เพลงแหล่สลับกันไป  ที่บนเวทีทีมงานก็แบ่งกันขึ้นฉากหลัง ฉากข้าง ฉากหน้าเวทีและแผ่นตั้งหน้าเครื่องดนตรี ใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมงทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย พร้อมกับฝนโปรยลงมาไม่หนาเม็ดนัก แผนกเครื่องดนตรีต้องเก็บอุปกรณ์หนีฝนหาร่มกำบังกันอย่างเร่งด่วน
          นักแสดงทั้งทีมงานไปรับประทานอาหารเย็น ในขณะที่ฝนก็ตกพรำ ๆ ลงมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าจะไม่ตกแรงมากแต่ฟ้าก็แลบและฟ้าร้องเป็นระยะ ๆ ผมมองขึ้นไปบนท้องฟ้ามีแต่แสงไฟจากฟ้าแลบ ใจหนึ่งก็หวั่น ๆ อยู่เหมือนกันว่าฝนจะไม่หยุด แต่ก็มีคนในทีมงานปลอบใจว่า “อาจารย์เชื่อผมเถอะ คืนนี้ฝนไม่ตกหนอก เมื่อคืนที่ผ่านมาทำท่ายิ่งกว่านี้ยังมาตกเลย” ก็เป็นจริงดังที่เขาบอก เพราะฝนตกไม่หนาเม็ดและหยุดตกเป็นระยะ บางตอนก็ขาดเม็ดไปเลย

         

         

         

           

         

          เวลาประมาณ 20.20 น. นักแสดงเตรียมความพร้อม เริ่มเข้าสู่การแสดงเพลงอีแซวในงานทำบุญครบ 1 ปีในการจากไปของ นายเสน่ห์ ภู่มาลา ท่านเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์คว่ำ อายุได้ 52 ปี  เป็นพี่ชายของ อาจารย์วาสนา พวงมาลี (ผู้ติดต่อวงเพลงไปแสดง) ผู้ล่วงลับเคยรับราชการครู และลาออกมาทำอาชีพส่วนตัวรับเหมาทั่วไป  ในการจากไปครั้งนี้นำมาซึ่งความเสียใจและความอาลัยอาวอนต่อพี่น้องทั้ง 6 คน โดยมี
          นายสุเทพ  นางวาสนา  พวงมาลี,  นายสนั่น  นางเสนอ  พึ่งเจริญ นายอเนก  ภู่มาลา และครอบครัวร่วมกันเป็นเจ้าภาพ จัดงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลส่งไปให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ โดยใช้สถานที่ ที่เป็นที่ว่างข้างบ้านเป็นที่ตั้งเวทีการแสดง ก่อนที่เพลงจะเริ่มแสดงเด็ก ๆ ถามผมด้วยคำถามเดิม “อาจารย์ค่ะ คืนนี้เงียบจัง จะมีคนมาดูเพลงไหมค่ะ ฝนก็ทำท่าจะตกและก็ตกลงมาแล้วด้วย”  ผมไม่กล้าตัดสินใจตอบ เพียงแต่มองเห็นการเตรียมการของท่านเจ้าภาพ พอถึงเวลา 20.30 น. ทางเจ้าภาพ ครอบครัวใกล้ ๆ เขาก็นำเอาเสื่อผืนใหญ่ ผ้ายาง แผ่นพลาสติก รวมทั้งแผ่นรองนั่งมาปูเต็มหน้าเวทีและทยอยกันเข้ามานั่ง ประมาณ 100 คนเศษ (เจ้าภาพไม่ได้บอกใครว่าจะมีเพลงมาเล่น) ตกดึก ประมาณ 22.00 น. เศษก็จะมีผู้ชมขับมอเตอร์ไซด์ มาจอดดูเพลงแสดงเพิ่มมากขึ้น เรียกว่าทีมงานอบอุ่นขึ้นเป็นกอง

          

          

          ในระหว่างที่ทำการแสดง ช่วงที่ผมออกไปร้องหน้าเวทีด้วยกลอนสดบอกประวัติเรื่องราวของผู้จากไป และเด็ก ๆ มาช่วยร้องต่อกับผม ประมาณ 30 นาที ได้รับรางวัลน้ำใจจากท่านผู้ชมหลายท่าน การแสดงต่อเนื่องไปจนถึงเวลาประมาณ 24.15 น. เสียงเพลงลาจบลง เป็นอันว่าจบการแสดงสำหรับคืนนี้ เนื่องจากว่าในวันรุ่งขึ้นทีมงานเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ จะต้องออกเดินทางไปแสดงที่วัดช่องนนทรี กรุงเทพฯ โดยนัดหมายออกเดินทางเวลา 09.00 น. นักแสดงได้รับการดูแลอาหารมื้อดึกด้วยข้าวต้มอร่อยมาก ผมนั่งรับประทานข้าวต้มและพูดคุยกับท่านเจ้าภาพไปด้วย จนเวลาเกือบจะ 01.00 น.จึงขออนุญาตเดินทางกลับ
          ภาระงานของเราเสร็จสิ้นไปอีกครั้งหนึ่งในคืนวันที่ 21 พฤษภาคม 2554 แต่งานที่จะต้องไปทำหน้าที่ต่อในวันรุ่งขึ้นหนักกว่าคืนนี้มาก เพราะทีมงานทั้งวงจะต้องแสดงเพลงอีแซวด้นสด ในคณะฝึกร้องด้นกันได้ทุกคน แต่ถ้าจะให้ผมประเมินว่า เด็ก ๆ เขาด้นสดเก่งไหม ก็ยังไม่เก่งหรอกครับ เป็นแต่เพียงพอไปได้ตามอายุและประสบการณ์ของเขา ที่ร้องได้อย่างลื่นไหลดี ๆ น่าฟังก็มีไม่ถึงครึ่งวง คงจะต้องพัฒนาในเรื่องนี้กันต่อไป ไม่มีการเรียนรู้ใดที่จะจบสิ้นหรือหมด การศึกษาเรียนรู้จะต้องกระทำต่อไปจนตลอดชีวิตไม่มีวันจบ การพัฒนาทีมงาน การพัฒนาความสามารถรายบุคคล จึงมีความสำคัญต่อการนำเสนอผลงานการแสดงเพลงพื้นบ้านในแต่สถานที่ในแต่ละเวทีมาก

 

หมายเลขบันทึก: 442215เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2011 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 15:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท