มุกดาหารกับการเป็นประชาคมอาเซียนใน พ.ศ. ๒๕๕๘ ด้านการศึกษา


มุกดาหาร ประชาคมอาเซียน

“มุกดาหารกับการเป็นประชาคมอาเซียนใน พ.ศ. ๒๕๕๘ ด้านการศึกษา

โดย นายต้องการ**

ในกระแสโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วที่ทุกภาคส่วนจะต้องรู้เท่าทันเพื่อปรับตัวให้ทันต่อเหตุการณ์ด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดที่เป็นพื้นที่ชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้และปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของประเทศเพื่อนบ้านด้วย จังหวัดมุกดาหารเป็นจังหวัดหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่มีสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๒ เพื่อเชื่อมต่อไปสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและเวียดนามรวมทั้งสามารถไปสู่จีนและญี่ปุ่นตามลำดับ สำหรับการพัฒนาจังหวัดมุกดาหารได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ของจังหวัด คือ (๑) การพัฒนาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม (๒) การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว (๓) การพัฒนาการค้าชายแดนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (๔) การพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ (๕) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ (๖) การรักษาความมั่นคง จะเห็นว่ายุทธศาสตร์ของจังหวัดมุกดาหารนั้นได้กำหนดให้มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นด้านท่องเที่ยว ด้านการค้า ซึ่งจะเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องที่การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการดังกล่าว โดยสิ่งนั้นคือ การจัดให้มีการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาขึ้นในจังหวัดมุกดาหารเพื่อสามารถผลิตบัณฑิตรองรับตามยุทธศาสตร์ข้างต้น

กล่าวสำหรับจังหวัดมุกดาหารเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ยังไม่มีสถาบันอุดมศึกษาทั้งที่เป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับต่างประเทศในเรื่องการท่องเที่ยวและการค้า ซึ่งตามรายงานผังอนุภาคกลุ่มจังหวัดมุกดาหาร นครพนม สกลนคร และกาฬสินธุ์ โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่ ๒ การเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติในเขตภูมิภาคอินโดจีน (โดยจัดตั้งมหาวิทยาลัยนานาชาติที่จังหวัดมุกดาหาร) จะเห็นว่ารายงานดังกล่าวได้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ (๑) การเพิ่มขีดความสามารถของบัณฑิตในการแข่งขันในเวทีนานาชาติ (๒) การพัฒนาความเข้มแข็งของสถาบันอุดมศึกษาต่อการเกิดประชาคมอาเซียน (๓) การส่งเสริมบทบาทของอุดมศึกษาไทยในประชาคมอาเซียน นอกจากนั้น ยังสอดรับกับมติคณะรัฐมนตรี แนวทางการส่งเสริมอุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๓ ในประเด็น หนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัด (ยุทธศาสตร์ ๑. พัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม ๒. หนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัด ๓. จัดตั้งศูนย์จัดการความรู้เพื่อพัฒนาจังหวัดในทุกสถาบันอุดมศึกษา ๔. การสร้างความเป็นพลเมืองของนิสิตนักศึกษา ๕. การสร้างบรรยากาศเพื่อปรับตัวของสถาบันอุดมศึกษา โดยให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมตามแนวทางดังกล่าว)

สำหรับยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ นั้น เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนที่ประกอบด้วย (๑) ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (๒) ประชาคมด้านเศรษฐกิจอาเซียน และ (๓) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน โดยเฉพาะประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนนั้นเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของอาเซียนที่ยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนข้างต้นจะต้องดำเนินการ โดยเฉพาะอาจจะต้องมีการจัดทำหลักสูตรที่เกี่ยวกับสังคมศิลปวัฒนธรรมอาเซียนในมหาวิทยาลัยที่จังหวัดมุกดาหาร หรือการถ่ายโอนหน่วยกิตในหลักสูตรต่างๆ ในระดับอุดมศึกษาที่จัดการเรียนการสอน ณ จังหวัดมุกดาหาร เช่น หลักสูตรการบัญชี (สากล) หลักสูตรบริหารธุรกิจนานาชาติ หลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น นอกจากนั้น การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสารระหว่างนักศึกษาอาเซียนผ่านสื่อภาษากลางของอาเซียน (อาจจะเป็นภาษาอังกฤษ) ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุด เพื่อให้นักศึกษาของประเทศไทยได้มีศักยภาพด้านดังกล่าวเพื่อสามารถแลกเปลี่ยนถ่ายโอนการศึกษาระหว่างประเทศเพื่อนบ้านได้ ซึ่งภาษาอังกฤษก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จังหวัดมุกดาหารควรจะให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนั้น เนื่องจากจังหวัดมุกดาหารนักศึกษาประเทศเพื่อนบ้านสามารถข้ามเดินทางมาศึกษาได้ค่อนข้างจะสะดวก ดังนั้น การส่งเสริมให้นักศึกษาประเทศเพื่อนบ้านสามารถข้ามมาศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาฝั่งจังหวัดมุกดาหารน่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการเป็นประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้น สำหรับประเด็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาประชาคมอาเซียน จังหวัดมุกดาหารสามารถดำเนินการเพื่อรองรับได้โดยปรับปรุง Website หรือ ระบบสารสนเทศด้านต่างๆ ของจังหวัดมุกดาหารให้เป็นภาษาอาเซียนหรือภาษาอังกฤษ ภาษาเวียดนาม และที่สำคัญคือภาษาจีน ซึ่งจะทำให้นักเรียนนักศึกษาในอาเซียนได้รู้จักจังหวัดมุกดาหารได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจในการเดินทางมาศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร ทั้งนี้เมื่อมีจำนวนนักศึกษาจำนวนมากขึ้นจังหวัดมุกดาหารจะกลายเป็นเมืองการศึกษาของอาเซียนและเมือง ICT ไปพร้อมกัน อันจะสอดรับการยุทธศาสตร์ของจังหวัดในประเด็นการพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับรายงานผังอนุภาคกลุ่มจังหวัด (โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย) การเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติในเขตภูมิภาคอินโดจีน อีกทั้งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๓ และประการสำคัญ คือ เป็นการดำเนินการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.๒๕๕๘

เป็นที่น่าสังเกตว่าจังหวัดมุกดาหารนั้นมีสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่ง คือ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้มาดำเนินการจัดการเรียนสอน ณ จังหวัดมุกดาหาร ภายใต้ ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร” เพื่อเป็นการสร้างโอกาสความเท่าเทียมด้านการศึกษาให้กับประชาชนในประเทศภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๘๐ รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม การสาธารณสุข การศึกษา และ วัฒนธรรม (๓) “ ...พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกระดับและทุกรูปแบบให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม...” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนของจังหวัดมุกดาหารไม่ว่าจะเป็นด้านงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร หรือหน่วยงานอื่นๆ เพื่อทำให้วิทยาเขตมุกดาหารแห่งนี้เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่จะพัฒนารับรองการเป็นประชาคมอาเซียนของจังหวัดมุกดาหาร อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่น่าจะต้องให้ความสำคัญเช่นกัน คือ เมื่อเร็วนี้ (วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดภายใต้โครงการ “จับคู่มหาวิทยาลัยกับจังหวัดร่วมพัฒนาพื้นที่” โดยกำหนดให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครรับผิดชอบจังหวัดมุกดาหาร

ดังนั้น สิ่งที่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนจังหวัดมุกดาหารควรจะต้องร่วมกันคิดร่วมกันผลักดันให้พื้นที่จังหวัดมุกดาหารเป็นแหล่งการเรียนรู้เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนนั้น ทุกคนต้องการอะไรอย่างไรและจะมีส่วนช่วยกันอย่างไรบ้าง หากท่านต้องการให้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร ร่วมเป็นส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องได้รับการสนับสนุนร่วมกันก้าวเดินร่วมกันเพื่อทำให้ จังหวัดมุกดาหาร เป็น “MUKDAHAN” ที่ว่า

          M = Management

U = Unity

K = Knowledge

D = Develop

A = Ability

H = Happy

A = Abroad

N= Natural

มุกดาหาร เป็นเมืองที่มีการจัดการที่ดีสร้างสรรค์สามัคคีพัฒนาองค์ความรู้ความสามารถอันนำมาซึ่งความสุขตามธรรมชาติเพื่อรองรับเพื่อนชาวต่างชาติ ภายใต้ MUK model ที่ว่า

M = Multi person

U = Utility

K = Knowledge

Muk model คือ ตัวแบบที่สร้างสรรค์ความรู้ที่เป็นสารประโยชน์ต่อผู้คนทั้งหลาย

 

**ผศ.ดร.มนูญ ศรีวิรัตน์  ผู้เขียน เขียนภายใต้กรอบความคิดส่วนตัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันใดๆ หากมีสิ่งที่ที่ผิดพลาดขอน้อมรับและกราบอภัยมา ณ โอกาสนี้ ใช้ประกอบการเสวนา “การศึกษากับการเป็นประชาคมอาเซียน” วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ณ โรงแรมมุกดาแกรนด์ จังหวัดมุกดาหาร

หมายเลขบันทึก: 442110เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2011 14:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคการศึกษาเป็นสิ่งที่ท้าทายนักบริหารการศึกษาทั้งประเทศ

ผมรู้สึกยินดีมากที่ได้อ่านพบบทความนี้

ผมเชื่อว่ายังมีีบทเรียนที่ เราต้องเรียนรู้จากมุกดาหาร กลับมาที่อุบลราชธานี

ผมไม่ใช่นักการศึกษา แต่ความรู้สึกของผม ผมเชื่อว่า ขนาดที่เล็กกว่าของมุกดาหารเมื่อเทียบกับอุบล แต่หมุนเร็ว และ หมุนก่อน (อาจเป็นเพราะสะพานเชื่อมไปทางลาวเหนือ ซึงเจริญกว่าลาวใต้ ตลอดจนการเชื่อมไปทางจีน และเวียตนาม) ย่อมทำให้มุกดาหารมีพลวัต สูงกว่าอุบล ความคึกคักสามารถสัมผัสได้ชัดเจนโดยไม่ต้องอ้างอิงตัวเลขนัก

ขนาดที่เล็ก แต่มีคุณภาพ มีความกระชับ ย่อมได้เปรียบกว่า อย่างน้อยก็ในระยะสั้น

ผมเชื่อว่า อุบล ย่อมได้บทเรียน และแรงกระตุ้นจากมุกดาหาร โมเด็ล ได้ไม่มากก็น้อย

อีกประเด็นที่ใคร่เสนอไว้ ก็คือ ทำอย่างไร มุกดาหาร จะสามารถรักษา เสน่ห์ ของตนเอาไว้ได้

มีทางไหมที่จะกันสถานที่บางแห่ง และ/ หรือ วัฒนธรรมบางอย่าง ที่เป็น Slow City ที่อ้อยอิ่งกับแม่น้ำโขงอันสวยงาม คงความน่ารักของผู้คน ไม่ต้องเร่งร้อนไปเสียทุกเรื่อง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท