Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

อ.แหววและ สสสส.๓ : ภารกิจที่กำลังจะเริ่มต้นในไม่ช้า


โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เขียนเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ ปรับปรุงล่าสุดวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔

ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า มีประกาศ ณ วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ เพื่อแต่งตั้ง อ.แหววให้ทำหน้าที่อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ ๓ ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ.๒๕๔๑

โดยในประกาศนี้ อ.แหววรับผิดชอบกลุ่มวิชาที่ ๒ ประเด็นความขัดแย้งหลักในชาติ ซึ่งประกาศนี้ แบ่งออกเป็น ๔ เรื่อง กล่าวคือ (๑) ความขัดแย้งเชิงอัตลักษณ์และแนวทางสันติวิธีในการจัดการปัญหาความรุนแรง : กรณีความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้  (๒) ความขัดแย้งในสังคมพหุวัฒนธรรม (๓) ความขัดแย้งทางการเมืองและการสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ และ (๔) ความขัดแย้งและแนวทางในการจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

ประกาศระบุให้ อ.แหววรับผิดชอบการศึกษาความขัดแย้งในสังคมพหุวัฒนธรรม โดยรับผิดชอบร่วมกับ ศ.ดร.สุภางค์ จันทวานิช 

โดยสรุป ก็คือ  อ.แหววก็ยังมีภารกิจในหลักสูตร การเสริมสร้างสังคมสันติสุขของสถาบันพระปกเกล้า ต่อไปอีกเป็นปีที่ ๓

แต่อย่างไรก็ตาม ปีนี้ อ.แหววก็มีเพื่อนคู่คิดที่ชื่อ "อ.พี่แหวว (ศ.ดร.สุภางค์ จันทวานิช)" .... และก็คงมีลุงเอกของเราเป็น "ครูใหญ่" ที่คอยช่วยสนับสนุนมังนะคะ ... อีกทั้งยังมี โอปอ ..โอ๊ต .. ตุ๊เมธัส ..และเมย์ ที่จะมาเป็นทั้งคู่คิดและคู่มือ .... โลกแห่งวิชาการที่ไม่ตั้งใจจะทำ แต่ก็ทำมา ๓ ปีแล้วซิ เรื่องนี้คงจะลืมอีกชื่อมิได้ ก็คือ "พี่แจ๋ จิราพร บุนนาค" ซึ่งบังคับด้วยรอยยิ้มให้เรียนและมาสอน

หัวข้อวิชามีจำนวน ๖ วิชา กล่าวคือ (๑)  ภาพรวมการจัดการความขัดแย้งในสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งจะศึกษาถึงภาพรวมและสาระสำคัญของสถานการณ์ความขัดแย้งทางสังคมพหุวัฒนธรรมในสังคมไทย ตลอดจนแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต  (๒) สังคมพหุวัฒนธรรมและปัญหาความขัดแย้ง  ซึ่งจะศึกษาถึงแนวโน้ม อุปสรรค รูปธรรมของการใช้สันติวิธีในการจัดการความขัดแย้งเรื่องสังคมพหุวัฒนธรรม  (๓.) ความขัดแย้งชาวเขา - ชาวเรา ซึ่งจะศึกษาถึงความแตกต่างระหว่างชาวเขากับคนพื้นราบ รวมถึงปัจจัยที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกัน (๔) วัฒนธรรมหลวง VS. วัฒนธรรมราษฎร์ ซึ่งจะศึกษาถึงความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมหลวงและวัฒนธรรมราษฎร์ รวมถึงปัจจัยที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกัน  (๕) ปัญหาการจัดการประชากรในสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งจะศึกษาถึงปัญหาการจัดการประชากรในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมถึงแนวทางการแก้ไข  และ (๖) จินตนาการความเป็นไทย ซึ่งจะศึกษาถึงนิยามความเป็นไทยแบบดั้งเดิมและจินตนาการใหม่ความเป็นไทย ตลอดจนนัยสำคัญต่อการสร้างสันติสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม 

คำว่า "การจัดการประชากร (People Management) " ดูเหมือนจะหายไปจากชื่อหัวข้อสอน   อ.แหววสงสัยเสียจริงว่า ในยุคที่ "ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community)" จะมาผูกพันประเทศไทยโดย "กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Chapter)" อย่างปฏิเสธมิได้ใน ค.ศ.๒๐๑๕/พ.ศ.๒๕๕๘  และประเทศไทย รวมถึงอีกหลายประเทศเพื่อนบ้านยังจัดการประชากรให้เป็นระบบมิได้ ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความไม่เป็นธรรมในสังคมก็มาจาก (๑) ปัญหาความไร้รัฐ และ (๒) ปัญหาความไร้สัญชาติ และปัญหาทั้งสองนี้ก็สร้างอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวอย่างเสรีของคน สินค้า บริการ และทุน คนรวยก็พอจัดการอุปสรรคเหล่านี้ได้ไม่ยาก คนจนก็จะหมดปัญญาทีเดียวที่จะจัดอุปสรรคที่เกิดจากปัญหาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Right to recognition of legal personality) แล้วมันจะหนีการเน้นการศึกษาในจุดนี้ได้อย่างไร เพราะมันคือ "เรื่องจริง (true story)" เอามือปิดตา มองไม่เห็นมัน มันก็ยังปรากฏตัวอยู่ เป็นอุปสรรคของความเป็นไปได้ของความเท่าเทียมกันระหว่างคนต่างวัฒนธรรม

เข้าใจทีเดียวว่า ทำไมในหลวงรัชกาลที่ ๕ จึงทรงพยายามเลิกทาสให้ได้ก่อน พ.ศ.๒๔๔๘/ค.ศ.๑๙๐๕  และสร้างกฎหมายการทะเบียนราษฎรใน พ.ศ.๒๔๕๒/ค.ศ.๑๙๐๙ ตลอดจนผลักดันกฎหมายแพ่งขึ้นมาแบบตะวันตกเพื่อรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชน จนกลายเป็นมาตรา ๑๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใน พ.ศ.๒๔๖๘/ค.ศ.๑๙๒๕ เพื่อรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชน 

แต่ความมีกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย ไม่หมายความว่า ความมีประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นในการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเต็มบริบูรณ์  ซึ่งผลก็คือ ความไม่เป็นธรรมหรือความอยุติธรรม

และกลุ่มที่จะมีปัญหาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย ก็มักจะเป็นกลุ่มมนุษย์ที่มีความต่างวัฒนธรรมไปจากชนกลุ่มใหญ่ในชาติ .....

เมื่ออ่านประกาศแต่งตั้งให้ทำงานแล้ว ... ก็สารภาพว่า หนักใจเหมือนกัน ไม่ใช่อยากอยากจะพูดแต่เรื่องการจัดการประชากร เบื่อจนไม่รู้จะเบื่ออย่างไรที่จะพูดเรื่องนี้ แต่สิ่งที่เราตระหนักได้ หากเราเชื่อในลัทธิสัจจนิยม (realism) ก็คือ ปัญหาการจัดการประชากรเป็นสาเหตุหลักที่ก่อปัญหาให้แก่คนต่างวัฒนธรรมในประเทศไทย แม้รัฐไทยจะยอมรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ อันตามมาด้วยอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอีกหลายฉบับ

อีก ๗ นาที ก็เที่ยงคืนแล้ว ....ประกาศของสถาบันพระปกเกล้าฉบับนี้สร้างแรงบันดาลใจทางวิชาการได้เหมือนกันค่ะ

แล้วเราค่อยว่ากัน.......

ลุงเอกเรียกประชุมอาจารย์ประจำกลุ่มวิชาที่ ๒ ประเด็นความขัดแย้งในสังคมพหุวัฒนธรรมในวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. ณ ห้องประชุมย่อย ๑-๒ (ห้องฝั่งอบรม) อาคารจอดรถชั้น ๕ สถาบันพระปกเกล้า

คงมีอะไรมาเล่าสู่กันต่อค่ะ คงมีอะไรให้ต้องคิดอีกมากมายที่จะปรับหลักสูตรออกมาเป็นรูปธรรม จะบรรยายอย่างไร ? จะลงพื้นที่อย่างไร ? นักศึกษาจะต้องมีผลงานที่เป็นรูปธรรมจากการศึกษา ๑๘ ชั่วโมงนี้ไหม ? อย่างไร ? ต้องมีรายงานไหม ? แล้วหัวข้อรายงานของนักศึกษาจะออกมาในรูปไหน ? วิธีการค้นคว้าจะเป็นอย่างไร ? ....... ต้องคิดอีกมาก แต่ปีนี้ มีคนมาช่วยคิดอีกหนึ่งคน เธอชื่อ “แหวว” เหมือนกัน เรียกว่า เป็นแหววคูณสองทีเดียว

หมายเลขบันทึก: 442019เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2011 00:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 15:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ.แหวว ครับ

ลองคุยกับลุงเอกดู แต่ผมว่าเขา ไม่ใช่ไม่อยากให้ อ.แหววพูดเรื่องการจัดการประชากรนะครับ เพียงว่าวางหัวข้อให้กว้างขึ้นเพื่อให้นักศึกษามีความคิดแตกประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งในพหุวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งการจัดการประชากรเป็นส่วนหนึ่งในนั้น อ.แหววก็พูดในเรื่องการจัดการประชากรไปครับ การที่เขาวางอย่างนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากนักศึกษารุ่นสองด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท