จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

การขับเคลื่อนการประกันคุณภาพ


สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมต้องจัดวันให้กับการเป็นวิทยากรอบรมครูโรงเรียนเอกชนในจังหวัดปัตตานีไปหลายวันครับ อันเนื่องจากทาง สช.ปัตตานีร่วมกับสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจัดโครงการขึ้นเพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านการประกันคุณภาพภายใน ซึ่งก็จัดไปถึงสามรุ่นๆ ละ 2 วัน ที่ รร.บำรุงอิสลาม อ.เมือง จ.ปัตตานี

ก่อนอื่นต้องขอบคุณที่ท่านให้ความไว้วางใจโครงการวิจัยระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ที่มอบหมายให้ผมในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยได้นำผลจากการวิจัยมาขยายต่อในโรงเรียนเอกชนทั้งจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งของโครงการวิจัยนี้ในระยะที่สองที่กำลังดำเนินการอยู่

แต่เนื่องจากประเด็นการอบรมพัฒนาครูชุดนี้มีรายละเอียดต่างจากกรอบงานวิจัยในบางส่วนคือ งานวิจัยเน้นการดำเนินการระดับผู้บริหารโรงเรียนและหัวหน้ากลุ่มสาระ แต่กลุ่มผู้เข้าร่วมครั้งนี้เป็นกลุ่มครูในโรงเรียน การออกแบบการอบรมจึงเป็นการประยุกต์จากเครื่องมือของการวิจัยที่ดำเนินการอยู่ และเน้นหนักประเด็นของการมีจัดทำแผนปฏิบัติงานของโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับการประกันคุณภาพ และแนวทางการจัดเก็บข้อมูลจากการดำเนินงานเพื่อใช้ในการประเมินและจัดทำรายงานเป็นหลัก

 และการที่ทางผู้จัดจัดให้โรงเรียนหนึ่งๆ ส่งผู้เข้าอบรมได้ถึง 8 คนทำให้กิจกรรมผมเห็นเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นครับ แต่ปัญหาจำนวนผู้เข้าอบรมในแต่ละครั้งก็เป็นข้อจำกัดในการออกแบบกิจกรรมเหมือนกัน

ผมเอาข้อมูลจากผลการวิจัยในระยะแรกมาจุดประเด็น นั้นคือ ที่มาของแผน (หมายถึงกระบวนการในการจัดทำแผน) การดำเนินการตามแผน (ซึ่งโรงเรียนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมโครงการตามแผน) และจุดสำคัญคือการนำเอาอัตลักษณ์ไปบรรจุไว้ในแผน ซึ่งอย่างหลังนี้ผมจะถูกถามบ่อยมากจากผู้บริหารโรงเรียนในทุกครั้งที่มีการจัดอบรมของโครงการวิจัย

จุดสำคัญที่นำมาใช้ในการอบรมครูคือ การทำให้ครูรู้จักตัวบ่งชี้ และสามารถนำตัวบ่งชี้เหล่านั้นให้ไปปรากฏในแผนของโรงเรียน การจะให้รู้จักตัวบ่งชี้โดยการอธิบายที่ละตัวบ่งชี้คงเป็นเรื่องที่น่าเบื่อแน่ๆ ครับ ผมจึงใช้วิธีการแบ่งกลุ่มกันศึกษา แล้วผมก็เลือกที่จะไม่ใช้วิธีการให้ตัวแทนนำเสนอ ผมเลือกการลงไปสุ่มถามเป็นรายคนและเน้นการถามซักจนมีความชัดเจนในวิธีการพิจารณาตัวบ่งชี้

วิธีการศึกษาตัวบ่งชี้ ผมกำหนดให้แต่ละกลุ่มลองตอบคำถามที่ผมให้ไว้ โดยให้พยายายามเชื่อมโยงตัวบ่งชี้ภายในและภายนอกว่าตัวใดบ้างที่สอดคล้องต้องกัน หรือเป็นประเด็นเดียวกัน และถามต่อถึงกระบวนการให้ได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าว ตลอดจนผู้ที่ควรเป็นผู้รับผิดชอบตัวบ่งชี้ดังกล่าว ผมประทับใจกิจกรรมตลอดสองวันในทุกรุ่นมากครับ เพราะสังเกตเห็นความตั้งใจของครูทุกท่านที่เข้าร่วมครับ เอกสารที่จัดให้จะถูกผลิกไปผลิกมาตลอดเวลาครับ เพื่อตรวจสอบหาข้อมูล

ช่วงสุดท้ายของการอบรม ผมให้แต่ละโรงเรียนออกแบบกิจกรรมสำหรับฝ่ายประกันของโรงเรียน ซึ่งอันนี้ทำให้หลายคนงง อะไรคือกิจกรรมการประกันคุณภาพภายใน แน่นอนครับ คนที่มีประสบการณ์ทำประกันให้กับโรงเรียนตลอดมาก็ไม่ค่อยจะตอบประเด็นนี้ได้มากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการจัดทำรายงานการประเมินตนเอง (SAR) มากกว่ากระบวนการที่จะต้องมีเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการประกันคุณภาพ

จากกระบวนการที่นำเสนอในการแลกเปลี่ยนระหว่างโรงเรียน ผมได้ฝากทิ้งท้ายไว้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในโรงเรียน และการจัดการความรู้ของโรงเรียน

 

มีคำถาม ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจมากมายครับ แต่ผมไม่สามารถประมวลมาเล่าให้อ่านกันในคืนนี้ครับ จึงหวังว่าโอกาสหน้าคงจะได้มาเล่าต่อครับ

สำหรับโรงเรียนใดต้องการโหลดคู่มือการประกันคุณภาพภายในตามโครงการวิจัยระบบและกลไกการประกันคุณภาพ สามารถโหลดได้ที่น่าครับ

http://www.muallimthai.com/?p=178

คำสำคัญ (Tags): #qa-ips
หมายเลขบันทึก: 441694เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2011 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท