ใบความรู้ที่ 4 บัตรรายการหนังสือ(ตอนที่1)


วิชาการใช้ห้องสมุด

 

 สาระสำคัญ 

               เครื่องมือที่ช่วยในการสืบค้นสารนิเทศสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือในห้องสมุดซึ่งเป็นที่รู้จัก        กันโดยทั่วไป  คือบัตรรายการหนังสือ  มีขนาด  3" x5" ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยในการค้นหาหนังสือ        ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว   ใช้บันทึกรายละเอียดต่าง ๆเกี่ยวกับหนังสือ  เช่น  เลขเรียกหนังสือ รายการทางบรรณานุกรม  รายการแนวสืบค้น ซึ่งจัดเรียงไว้อย่างเป็นระบบตามชนิดของบัตรรายการนั้นๆ     

   จุดประสงค์การเรียนรู้             

               1.  อธิบายความหมายของบัตรรายการได้อย่างถูกต้อง

               2. บอกประวัติความเป็นมาของบัตรรายการในประเทศไทยได้  

               3.  บอกวัตถุประสงค์ในการทำบัตรรายการได้

               4.  บอกประโยชน์ในการทำบัตรรายการได้

               5.  บอกส่วนต่างๆของบัตรรายการหนังสือได้

               6. จำแนกชนิดบัตรรายการได้                        

               7. อธิบายวิธีการเรียงบัตรรายการได้อย่างถูกต้อง        

 1.ความหมายของบัตรรายการ 

           บัตรรายการ  (Catalog  Card) หมายถึง  บัตรแข็งขนาด  3" x 5" ด้านล่างเจาะรูกลม                 มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  นิ้ว (ไว้สำหรับใช้แกนเหล็กร้อยบัตรไว้กับลิ้นชักของตู้บัตรรายการ       เพื่อไม่ให้บัตรหลุดออกจากลิ้นชักหรือไม่ให้บัตรสลับที่) ใช้บันทึกรายการต่างๆ ที่สำคัญของหนังสือแต่ละเล่ม และวัสดุการศึกษาอื่น ๆ  ที่มีอยู่ในห้องสมุด เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถหาหนังสือ                             และวัสดุอื่นๆ ที่ต้องการได้โดยสะดวกและรวดเร็ว

 2.ประวัติความเป็นมาของบัตรรายการในประเทศไทย 

           ประเทศไทย  หอสมุดแห่งชาติเมื่อครั้งยังเรียกว่า “หอสมุดสำหรับพระนคร”  ได้เริ่มใช้บัตรรายการเป็นแห่งแรก แต่เดิมจดลงในสมุด  ซึ่งทำให้เพิ่มเติมลำบาก จึงเปลี่ยนมาทำเป็นบัตรแข็ง  โดยเขียนลงเรื่องละบัตร และแต่เดิมใช้ชื่อเรื่องเป็นรายการหลัก  ซึ่งไม่สะดวก จึงแก้ไขเสียใหม่       มีรายการสำคัญที่ลงไว้ คือ  ชื่อผู้แต่ง  ชื่อเรื่อง  เมือง และสถานที่พิมพ์  สำหรับหนังสือภาษาอังกฤษ ส่วนหนังสือภาษาไทยสมัยนั้น ทำเป็นสมุดบัญชีแยกเล่มตามประเภทของหนังสือ  เป็นโบราณคดี วรรณคดี  และตำรา และแต่ละหมวดแบ่งเป็นหมวดย่อยอีกทีหนึ่ง

           การทำบัตรรายการสำหรับห้องสมุด เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลาย เมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย      ได้เปิดสอนวิชาการจัดห้องสมุดขึ้นในปี  พ.ศ.  2494 โดยมีบรรณารักษ์ชาวอเมริกัน  5  คน ผลัดกันมาทำการสอน และได้สอนวิชาการจัดหมู่และทำบัตรรายการด้วย แต่เมื่อบรรณารักษ์ที่เข้ารับ        การอบรมแล้วกลับไปปฏิบัติงาน ปรากฏว่ามีปัญหายุ่งยากเกี่ยวกับการลงรายการหลักผู้แต่งชาวไทย ซึ่งมีชื่อแตกต่างกันหลายประเภท  เช่น  เจ้านาย ผู้มีบรรดาศักดิ์  พระสงฆ์  คนธรรมดา เหล่านี้เป็นต้น  ศาสตราจารย์สุทธิลักษณ์  อำพันวงศ์ จึงได้รวบรวมหลักเกณฑ์การทำบัตรรายการหนังสือภาษาไทยฉบับสมบูรณ์และหัวเรื่อง (ฉบับย่อ) ขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำบัตรรายการหนังสือภาษาไทยฉบับสมบูรณ์ และตัวอย่างบัตรขึ้นในปี  พ.ศ.  2509 จัดว่าเป็นตำราวิชาการทำบัตรรายการสำหรับหนังสือภาษาไทยเล่มที่ละเอียดสมบูรณ์ที่สุดสำหรับนักศึกษาวิชาบรรณารักษศาสตร์ในปัจจุบัน

 3.วัตถุประสงค์ของการทำบัตรรายการ 

           3.1 เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถค้นหาหนังสือที่ต้องการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ไม่ว่าผู้ใช้     จะทราบเพียงชื่อผู้แต่ง ชื่อเรื่อง  ชื่อชุด  หัวเรื่อง  หรือข้อมูลใด ๆ ที่ห้องสมุดใช้เป็นหัวบัตร  (Heading) ก็สามารถใช้บัตรรายการประเภทต่าง ๆ ที่ห้องสมุดจัดทำขึ้น ได้แก่  บัตรผู้แต่ง             บัตรชื่อเรื่อง บัตรชื่อชุด  บัตรหัวเรื่อง จากบัตรเหล่านี้ผู้ใช้จะทราบว่า ห้องสมุดมีหนังสือ                 เล่มที่ต้องการหรือไม่

           3.2  เพื่อบอกตำแหน่งที่อยู่ของหนังสือแต่ละเล่มในห้องสมุด รายการเลขเรียกหนังสือ            ในบัตรรายการจะช่วยให้ผู้ใช้ทราบว่าหนังสือเล่มที่ตนต้องการอยู่ที่ใดในห้องสมุด

           3.3 เพื่อใช้เป็นตัวแทนของหนังสือแต่ละเล่มที่มีอยู่ในห้องสมุด รายละเอียดทางบรรณานุกรม  ในบัตรรายการ  ได้แก่ ชื่อผู้แต่ง  ส่วนชื่อเรื่องและการแจ้งความรับผิดชอบ ส่วนครั้งที่พิมพ์             ส่วนการพิมพ์ และการเผยแพร่  ส่วนลักษณะรูปร่าง  ส่วนชุด ส่วนหมายเหตุ ซึ่งแสดงถึงรายละเอียดเฉพาะของหนังสือแต่ละเล่ม จะช่วยให้ผู้ใช้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือก่อนได้เห็นเล่มจริง     และช่วยให้สามารถเลือกหนังสือเล่มที่ตรงกับความต้องการได้

           3.4 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่แสดงถึงหนังสือที่มีในห้องสมุดว่า มีหนังสือชื่อเรื่องอะไรบ้าง       มีหนังสืออะไรบ้างที่เป็นผลงานของผู้แต่งแต่ละคน มีหนังสืออะไรบ้างที่มีเนื้อหานั้น ๆ

           3.5  เพื่อช่วยในการทำงานของบรรณารักษ์  เช่น งานบริการตอบคำถาม งานจัดหา                และเลือกซื้อหนังสือ  การรวบรวมบรรณานุกรมของผู้แต่ง หรือหัวเรื่องต่าง ๆ

 4.ประโยชน์ของบัตรรายการ 

           4.1 ช่วยให้ผู้ใช้สามารถค้นหาวัสดุที่ต้องการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

           4.2  บัตรรายการจะบอกตำแหน่งที่อยู่ของหนังสือแต่ละเล่ม หรือที่อยู่ของวัสดุอื่น ๆ             ในห้องสมุด

           4.3  บัตรรายการหนังสือ  คือ ตัวแทนหนังสือแต่ละเล่มที่อยู่ในห้องสมุด และบัตรรายการ         ของวัสดุก็คือตัวแทนของวัสดุแต่ละรายการที่มีอยู่ในห้องสมุด

           4.4  บรรณารักษ์ใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน เช่น  งานบริการตอบคำถาม  งานจัดหา งานบริการรวบรวมบรรณานุกรม  เป็นต้น

           4.5  บัตรรายการของหนังสือช่วยให้ทราบรายละเอียดต่างๆของหนังสือแต่ละเล่มที่มีอยู่         ในห้องสมุดก่อนเห็นตัวจริง  เช่น  ชื่อผู้แต่ง ชื่อเรื่อง  ครั้งที่พิมพ์  สำนักพิมพ์ ปีที่พิมพ์  จำนวนหน้า         ของหนังสือ  ชื่อชุดหนังสือ เป็นต้น

           4.6  บัตรรายการของหนังสือจะช่วยให้ผู้ใช้ได้ทราบว่า

                   4.6.1 ห้องสมุดมีหนังสือที่แต่ง  แปล  หนังสือรวบรวมโดยุคคลนั้น ๆหรือไม่

                   4.6.2 ห้องสมุดมีหนังสือชื่อเรื่องนั้น ๆ  หรือไม่

                  4.6.3 ห้องสมุดมีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ  หรือไม่ 

 5.บัตรรายการหนังสือ 

           โดยทั่วไปห้องสมุดจัดทำบัตรรายการของทรัพยากรสารนิเทศประเภทต่างๆ ไว้ดังนี้

           บัตรรายการหนังสือ  คือ บัตรแข็งขนาด  3" x 5" ใช้บันทึกรายละเอียดทางบรรณานุกรม      ของหนังสือแต่ละเล่มในห้องสมุด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการค้นหาหนังสือที่ต้องการ                        บันทึกรายการต่างๆ  ดังนี้

           1.  เลขเรียกหนังสือ  (Call  number) เป็นส่วนที่อยู่ทางมุมบนด้านซ้ายของบัตรรายการ ประกอบด้วยเลขหมู่หนังสือ  และอักษรตัวแรกของชื่อผู้แต่ง หรืออักษรตัวแรกของนามสกุล               ผู้แต่ง  (ในกรณีที่ผู้แต่งเป็นชาวต่างประเทศ) อาจมีเลขประจำตัวผู้แต่ง อักษรตัวแรกของชื่อเรื่องประกอบด้วยก็ได้ เลขเรียกหนังสือจะเป็นตัวชี้บอกให้ผู้ใช้ทราบว่า หนังสืออยู่บนชั้น                     หรือตู้หนังสือใดในห้องสมุด

           2.  ผู้แต่ง  (Author)  หมายถึง ผู้ที่เขียนเนื้อหาของหนังสือหรือผู้รับผิดชอบในการจัดทำหนังสือ เช่น  บรรณาธิการ  ผู้รวบรวม  สถาบัน หน่วยงาน  เป็นต้น

           ถ้าเป็นชื่อบุคคลห้องสมุดจะลงรายการเฉพาะชื่อและนามสกุลโดยตัดคำนำหน้านามออก        ยกเว้นคำนำหน้านามที่เป็นบรรดาศักดิ์  ฐานันดรศักดิ์(ผู้แต่งที่มีนามราชศักดิ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมหลวง ขึ้นไปถึงพระองค์เจ้า)จะลงไว้ท้ายชื่อ  โดยใช้เครื่องหมายจุลภาค  ( , ) คั่น ถ้าเป็นผู้แต่ง                       ชาวต่างประเทศห้องสมุดจะลงรายการที่นามสกุล และถ้าเป็นนิติบุคคลจะลงรายการที่ชื่อหน่วยงานตามตัวอย่าง

                              ดำรงราชานุภาพ,  สมเด็จกรมพระยา

                              White,  Frank  M.

                              มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

           3.  ชื่อเรื่อง  (Title)  หมายถึง ชื่อหนังสือที่ปรากฏอยู่ที่หน้าปกใน

           4.  ครั้งที่พิมพ์  (Edition)  หมายถึง การระบุจำนวนครั้งในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนั้น                ซึ่งจะลงไว้เมื่อมีการจัดพิมพ์ตั้งแต่ครั้งที่  2 เป็นต้นไป  ตัวอย่าง  พิมพ์ครั้งที่  3 พิมพ์ครั้งที่  5              แก้ไขเพิ่มเติม

            5.  พิมพลักษณ์  (Imprint)  คือ รายละเอียดเกี่ยวกับการพิมพ์  ได้แก่

                5.1  สถานที่พิมพ์  (Place of  Publication)  หมายถึง  ชื่อเมือง ชื่อรัฐ หรือชื่อจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของโรงพิมพ์หนังสือเล่มนั้น เช่น  กรุงเทพมหานคร  ขอนแก่น  New  York London  Tokyo  เป็นต้นถ้าไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์จะใช้คำว่า  ม.ป.ท. (มาจากคำว่าไม่ปรากฏที่พิมพ์)  แทนสำหรับหนังสือภาษาไทย และใช้  n.p.  (มาจากคำว่า  no  place) แทนสำหรับหนังสือภาษาต่างประเทศ        ในตำแหน่งของสถานที่พิมพ์

                5.2  สำนักพิมพ์ หรือโรงพิมพ์  (Publisher)  หมายถึง ชื่อของสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์           หนังสือเล่มนั้น หรือถ้าเป็นโรงพิมพ์ให้ใส่คำว่าโรงพิมพ์กำกับไว้ข้างหน้าด้วย เช่น  ซีเอ็ดยูเคชั่น                โอเดียนสโตร์ โรงพิมพ์ท่าพระจันทร์  Chapman & Hall,  Addison Wesley  John  Wiley  &  Sons เป็นต้น  ถ้าไม่ปรากฏสำนักพิมพ์หรือโรงพิมพ์จะใช้คำว่า ม.ป.ท.  (มาจากคำว่าไม่ปรากฏที่พิมพ์)  แทน ถ้าไม่ปรากฏทั้งสถานที่พิมพ์  และสำนักพิมพ์ให้ลงรายการว่า ม.ป.ท.  แทนเพียงครั้งเดียว

                5.3  ปีที่พิมพ์  (Date of  Publication)  หมายถึง ปีที่จัดพิมพ์หนังสือเล่มนั้น ถ้าไม่ปรากฏ       ปีที่พิมพ์จะใช้คำว่า  ม.ป.ป. (มาจากคำว่าไม่ปรากฏปีที่พิมพ์)  แทนสำหรับหนังสือภาษาไทย             และใช้ n.d.  (มาจากคำว่า  no  date) แทนสำหรับหนังสือภาษาต่างประเทศ

           6.  บรรณลักษณ์  (Collation)  คือ รายการซึ่งบอกลักษณะรูปเล่มของหนังสือ  ได้แก่ จำนวนหน้า  หรือจำนวนเล่ม  (ลงอย่างใดอย่างหนึ่ง) ภาพประกอบ  ตาราง  แผนที่  แผนภูมิ  ขนาด เป็นต้น

           7.  ชื่อชุดหนังสือ  (Series)  หมายถึง หนังสือที่จัดพิมพ์ออกมามีลักษณะคล้ายคลึงกัน  เช่น         ปกคล้ายกันหรือเหมือนกัน หรือมีเนื้อเรื่องเป็นไปในลักษณะเดียวกันจะระบุรายการชื่อชุดไว้           ในเครื่องหมายวงเล็บต่อจากรายการบรรณลักษณ์เพื่อแจ้งให้ทราบชื่อชุดของหนังสือ

           8.  หมายเหตุ  (Notes) เป็นรายการที่ห้องสมุดเห็นว่ามีความสำคัญ มีประโยชน์ควรแก่การบันทึก  เช่น  บรรณานุกรม สารบัญเรื่อง  เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ  ภาคผนวก อภิธานศัพท์  เป็นต้น

           9.  แนวสืบค้น  (Tracing)  คือ ส่วนที่เป็นแนวเพื่อบอกให้ทราบว่า ห้องสมุดทำบัตรรายการประเภทใดเพิ่มขึ้นไว้อีกบ้าง ประกอบด้วย

                9.1  หัวเรื่อง  (Subject Heading)  เป็นเนื้อหาโดยสรุปของหนังสือ หรือเป็นใจความสำคัญของเรื่อง  อาจมีหัวเรื่องเดียว หรือหลายหัวเรื่องก็ได้

                9.2  ชื่อเรื่อง  (Title) จะใส่คำว่า  “ชื่อเรื่อง”  ไว้ต่อจากหัวเรื่อง

                9.3  รายการเพิ่มอื่น ๆ (Added  Entry)  เช่น  ผู้แต่งร่วม  ผู้แปล ชื่อชุดหนังสือ  เป็นต้น 

โครงร่างบัตรรายการหนังสือ

เลขเรียก                ชื่อผู้แต่ง..................................................

หนังสือ                    ชื่อเรื่อง.....................................ครั้งที่พิมพ์................

                               พิมพลักษณ์..............................................

                                   บรรณลักษณ์........................(ชื่อชุด......................)

                                    หมายเหตุ

                                   แนวสืบค้น..................................................

 

 

 ตัวอย่างรายละเอียดที่ปรากฏในบัตรรายการหนังสือ

 

 

796.325                จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ.                             

จ216ส                      สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชนุภาพ        

                           กับกระทรวงมหาดไทย.  พิมพ์ครั้งที่  2.  กรุงเทพฯ:           

                           โอเดียนสโตร์,2537.                                                                  

                                 604 หน้า. ภาพประกอบ.(ชุดไทยศึกษา)                             

                                 เลขมาตรฐานหนังสือสากล 974-275-396-4

                                 1. การบริหารรัฐกิจ-ส่วนกลาง.  2.  ชื่อเรื่อง.  3. ชื่อชุด.          

 

 

            1. เลขเรียกหนังสือ               2. ชื่อผู้แต่ง                         3.  ชื่อหนังสือ

           4. ครั้งที่พิมพ์                         5. สถานที่พิมพ์                 6.  สำนักพิมพ์  หรือโรงพิมพ์

           7. ปีที่พิมพ์                             8.  ลักษณะของหนังสือ     9. เลขมาตรฐานหนังสือสากล

           10.  แนวสืบค้น

 6. ชนิดของบัตรรายการ 

           บัตรรายการมีทั้งหมด  6  ชนิด  คือ บัตรผู้แต่ง  บัตรชื่อเรื่อง  บัตรหัวเรื่อง บัตรแจ้งหมู่หนังสือ  บัตรโยง  (ดูที่ และดูเพิ่มเติม)  และบัตรเพิ่ม  (บัตรผู้แต่งร่วม, บัตรผู้แปล  และบัตรชื่อชุด)

           หนังสือแต่ละเล่มในห้องสมุดมีบัตรรายการอย่างน้อยที่สุดเล่มละ 4  บัตร  เรียกว่าบัตรครบชุด  ได้แก่ บัตรผู้แต่ง  บัตรชื่อเรื่อง  บัตรหัวเรื่อง และบัตรแจ้งหมู่  นอกจากนี้ห้องสมุดอาจทำบัตรโยง หรือบัตรเพิ่มอื่น ๆ  ให้กับหนังสือเล่มนั้น ๆ ขึ้นอีกก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสมและความจำเป็น         ในการใช้งาน  ดังต่อไปนี้

           1.  บัตรหลักหรือบัตรผู้แต่ง  (Main  card or  Author  card)  บางทีเรียกว่า บัตรหลัก           หรือบัตรยืนพื้น เพราะในการทำบัตรรายการของหนังสือแต่ละเล่มนั้นห้องสมุดจะทำบัตรผู้แต่งขึ้น       เป็นบัตรแรก  แล้วใช้บัตรนี้เป็นหลักในการทำบัตรรายการชนิดอื่นๆ  บรรทัดแรกของบัตรรายการชนิดนี้จะเป็นชื่อผู้แต่ง ซึ่งอาจเป็นบุคคลหรือหน่วยงานก็ได้ ถ้าเป็นชาวต่างประเทศจะใช้นามสกุลขึ้นก่อนคั่นด้วยเครื่องหมายจุลภาค (, )  แล้วตามด้วยชื่อตัว  ดังตัวอย่าง 

 

796.325                จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ.                             

จ216ส                      สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชนุภาพ        

                           กับกระทรวงมหาดไทย.  พิมพ์ครั้งที่  2.  กรุงเทพฯ:            

                          โอเดียนสโตร์,2537.                                                                   

                                604 หน้า. ภาพประกอบ.(ชุดไทยศึกษา)                              

                                ISBN 974-275-396-4

                                1. การบริหารรัฐกิจ-ส่วนกลาง.  2.  ชื่อเรื่อง.  3. ชื่อชุด.          

 

 

 ตัวอย่าง  บัตรผู้แต่งหนังสือภาษาไทย 

 

808.0426             Shaw,  Harry, 1905-                                    

S845e                       Errors  in  English and  ways  to  correct  them /

Harry  Shaw.  3 rd  ed.  New York,  NY :  Harper & Row,

                               1986.                                                                   

                                    288  p.  : index.                                         

                                    ISBN  0-06-097047-2.

                                    1.  ENGLISH LANGUAGE—GRAMMAR.  1.Title.          

 

 

 ตัวอย่าง  บัตรผู้แต่งหนังสือภาษาต่างประเทศ

 

           2.  บัตรชื่อเรื่อง  (Title Card) เป็นบัตรที่มีชื่อเรื่องอยู่ในบรรทัดแรกของบัตร ผู้ใช้จะใช้บัตรนี้เมื่อทราบชื่อหนังสือ เพราะบัตรจะตอบคำถามผู้ใช้ว่าห้องสมุดมีหนังสือชื่อที่ต้องการหรือไม่ ถ้ามีอยู่ที่ตำแหน่งใดในห้องสมุด  บัตรนี้จะไม่มีแนวสืบค้น

                                   สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

                               กับกระทรวงมหาดไทย.

796.325                จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ.                             

จ216ส                      สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชนุภาพ        

กับกระทรวงมหาดไทย.  พิมพ์ครั้งที่  2.  กรุงเทพฯ:            

                  โอเดียนสโตร์,2537.                                                                   

                                    604  หน้า. ภาพประกอบ.(ชุดไทยศึกษา)                              

                                    ISBN  974-275-396-4

                               

 ตัวอย่าง  บัตรชื่อเรื่องภาษาไทย 

                                    Errors  in  English and  ways  to  correct  them .

808.0426             Shaw,  Harry, 1905-                                    

S845e                       Errors  in  English and  ways  to  correct  them /

Harry  Shaw.  3 rd  ed.  New York,  NY :  Harper & Row,

                               1986.                                                                   

                                    288  p.  : index.                                         

                                    ISBN  0-06-097047-2.

                                

 

 

 ตัวอย่าง  บัตรชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ

           3.  บัตรหัวเรื่อง  หรือบัตรเรื่อง (Subject  Card) เป็นบัตรที่มีหัวเรื่องอยู่บนบรรทัดแรก       ของบัตร  คำที่เป็นหัวเรื่อง ถ้าเป็นภาษาไทยจะพิมพ์ด้วยอักษรสีแดง  หรือพิมพ์ตัวหนา                    หรือขีดเส้นใต้ ถ้าเป็นภาษาต่างประเทศ จะพิมพ์หัวเรื่องด้วยตัวอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ บัตรนี้                  จะตอบคำถามผู้ใช้ว่ามีหนังสือที่มีเนื้อหาตรงตามที่ต้องการ หรือมีเนื้อหาเกี่ยวข้องหรือไม่                     ถ้ามีอยู่ที่ตำแหน่งใดในห้องสมุด

                                    การบริหารรัฐกิจ- - ส่วนกลาง.

796.325                จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ.                             

จ216ส                      สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชนุภาพ        

กับกระทรวงมหาดไทย.  พิมพ์ครั้งที่  2.  กรุงเทพฯ:            

                  โอเดียนสโตร์,2537.                                                                   

                                    604  หน้า. ภาพประกอบ.(ชุดไทยศึกษา)                              

                                    ISBN  974-275-396-4

                               

 ตัวอย่าง  บัตรหัวเรื่องภาษาไทย 

                                    ENGLISH  LANGUAGE—GRAMMAR. 

808.0426             Shaw,  Harry, 1905-                                    

S845e                       Errors  in  English and  ways  to  correct  them /

Harry  Shaw.  3 rd  ed.  New York,  NY :  Harper & Row,

                               1986.                                                                   

                                    288  p.  : index.                                         

                                    ISBN  0-06-097047-2.

                               

 ตัวอย่าง  บัตรหัวเรื่องภาษาอังกฤษ

  

   

หมายเลขบันทึก: 440939เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2011 22:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2018 12:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กำลังจะนำใบความรู้มาเพิ่มให้นักเรียนนะคะ

ประเภทของ บัตรรายการมี 3ประเภทใช่ไหมครับ มมันมีอะไรบ้าง่ออครับ


ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท