มหาวิทยาลัยที่ดีเยี่ยม


การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

             นสพ.สยามรัฐ http://www.siamrath.co.th/web/?q=node/62854  ได้ระบุว่า รศ.พาสน์ศิริ นิสาลักษณ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากการประกาศผลการจัดอันดับ QS Asian Universities Ranking 2011 ล่าสุด ในปี 2011 นี้ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย มีมหาวิทยาลัยของประเทศไทย ติดอันดับใน 100 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 34 มหาวิทยาลัยมหิดล, อันดับที่ 47 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อันดับที่ 67 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, อันดับที่ 88 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอันดับที่ 95 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยที่อยู่ในอันดับที่ 1 ของเอเชีย คือ The Hong Kong University of Science and Technology 

          โดยในปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้วสำหรับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชีย โดย Quacquarelli Symonds Ltd. (QS) ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่ามีมาตรฐานระดับโลก การที่มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงอยู่ในอันดับที่ 1 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยติดต่อกันอีกครั้ง และอยู่ในอันดับที่ 34 ของภูมิภาคเอเชีย เป็นการแสดงถึงผลงานด้านการวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงอยู่ในวารสารระดับโลกซึ่งแสดงถึงความมีคุณภาพของงานวิจัยจนได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงให้ความสำคัญกับงานวิชาการ การจัดการเรียนการสอนระดับนานาชาติ ความพึงพอใจของผู้ใช้งานบัณฑิต และจำนวนสัดส่วนอัตราอาจารย์ต่อนักศึกษา ซึ่งค่าน้ำหนักในการพิจารณาให้คะแนนจากเกณฑ์ดังกล่าวนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถทำคะแนนได้เป็นอย่างดี มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งพัฒนาความเป็นเลิศใน 4 ด้าน คือ ความเป็นเลิศด้านการวิจัย ความเป็นเลิศด้านการเรียนรู้ ความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการให้บริการ และความเป็นนานาชาติ ซึ่งผลงานเหล่านี้จะก่อประโยชน์แก่สังคม ทั้งในระดับประเทศ และในระดับนานาชาติ

            อนึ่ง การจัดอันดับ QS Asian Universities Ranking เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชีย โดยมีเกณฑ์ค่าน้ำหนักในการพิจารณาให้คะแนนจาก 4 หลักเกณฑ์ คือ
1.คุณภาพงานวิจัย
- ประเมินโดยผู้ร่วมวิชาชีพ (peer review) ได้แก่ อาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัยทั่วทั้งเอเชีย ค่าน้ำหนักประเมินร้อยละ 30
- สัดส่วนจำนวนผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ต่ออาจารย์ ค่าน้ำหนักประเมิน ร้อยละ 15
- สัดส่วนจำนวนการอ้างอิงต่อผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ ค่าน้ำหนักประเมินร้อยละ 15
2.คุณภาพการสอน ประเมินจากสัดส่วนจำนวนนักศึกษาต่ออาจารย์ ค่าน้ำหนักประเมินร้อยละ20

3.คุณภาพบัณฑิตที่ได้งาน ประเมินจากผู้จ้างงานในเอเชีย ค่าน้ำหนักประเมินร้อยละ10

4.ความเป็นนานาชาติ
- สัดส่วนของอาจารย์ชาวต่างประเทศ ค่าน้ำหนักประเมินร้อยละ 2.5
- สัดส่วนของนักศึกษาต่างชาติ ค่าน้ำหนักประเมินร้อยละ 2.5
- จำนวนนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากต่างประเทศ ค่าน้ำหนักประเมินร้อยละ 2.5
- จำนวนนักศึกษาแลกเปลี่ยนไปยังต่างประเทศ ค่าน้ำหนักประเมินร้อยละ 2.5

          เป็นข้อมูลในการไปอ้างอิงสำหรับนักวิชาการหรือนักการศึกษาได้ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการศึกษาของชาติ

 

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษาไทย
หมายเลขบันทึก: 440938เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2011 22:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท