"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

"กรรม" ที่ต้องขออโหสิ


การบวชครองประเพณีเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ๗ วัน ๑๕ วัน หรืออย่างมาก ๓ เดือน แล้วก็ “สึกหาลาเพศ” กันไป จะชดใช้ “การทำชั่ว”(อกุศลกรรม) จากช่องทางดังกล่าวมาได้สักเท่าไหร่

๒๕/๐๕/๒๕๕๔

***********

             ช่วงระยะต้นปีที่ผ่านมาจนถึงเดือนพฤษภาคมนี้ (๒๕๕๔) ผมได้รับการ์ดงานบวชเป็นจำนวนมาก สิ่งที่ผมสังเกตในการ์ดงานบวชอยู่อย่างหนึ่ง  คือข้อความที่ว่า

 

“กรรมใดที่ผู้อุปสมบทได้เคยล่วงเกินท่านด้วย กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม โปรดอโหสิกรรมนั้นให้แก่ผู้อุปสมบทด้วย”

 

             ต่อท้ายด้วยคำว่า ขออภัยหากมิได้มาเรียนเชิญด้วยตนเอง (ดูตัวอย่างภาพจากอินเทอร์เน็ต)

 

             และในวันที่ทำพิธี “ปลงผม” หรือ “โกนผม” ผู้จะอุปสมบท ก่อนที่จะทำการตัดผม “ปู่จารย์” (เรียกผู้ที่ทำหน้าที่ทางศาสนพิธีทางภาคเหนือ) ก็จะได้นำ “ขโยม” หรือ “ผู้ที่จะอุปสมบท”  กล่าวคำขอขมา ต่อแม่ พ่อ ญาติพี่น้องที่มาร่วมงานว่า

 

“กายกรรม ๓  วจีกรรม ๔   มโนกรรม ๓  ที่ข้าพเจ้านาย...ได้เคยประมาทล่วงเกินท่านต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี  ตั้งใจก็ดี มิได้ตั้งใจก็ดี  ใคร่ครวญก็ดี ไม่ได้ใคร่ครวญก็ดี  ขอให้แม่และพ่อ และญาติพี่น้องทั้งหลาย  จงโปรดอโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้าด้วย นับแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนตราบเท่านิพพานเทอญ"

 

             ฝ่ายแม่กับพ่อ และญาติผู้ใหญ่ก็จะรับว่า “อโหสิกรรมให้”   “ขอให้ตั้งใจบวชเอาบุญเอากุศลนะลูก(หลาน)” พร้อมกับลูบผมโอบไหล่ลูก หลาน

              ผู้ที่จะอุปสมบทและญาติพี่น้องผู้รับไหว้และรับการขออโหสิกรรม จะเข้าใจความหมายหรือเนื้อความของ “กายกรรม ๓  วจีกรรม ๔  มโนกรรม ๓” ที่ถึงกับต้อง “ขออโหสิกรรม” กันนั้นบ้างหรือเปล่า?

              เมื่อพิจารณาดูข้อความดังกล่าวจากการ์ดและคำขอขมาแล้ว  ก็แสดงว่า เป็น “กรรมที่ไม่ดี” หรือเป็นกรรมข้างฝ่ายไม่ดีเป็นแน่   ถ้าเป็น “กรรมดี” ก็คงไม่ต้องขออโหสิกรรมหรอก

             “กรรม” แปลว่า “การกระทำ” เป็นคำกลาง ๆ คล้ายกับคำว่า “ทิฏฐิ” (ความเห็น)  การกระทำดีก็เรียกว่า “กุศลกรรม” หรือ “บุญ”  หากกระทำชั่ว ก็เรียกว่า “อกุศลกรรม” หรือ “บาป”   โดยส่วนใหญ่คนไทยทั่วไปเข้าใจกันไปในทางไม่ดี หรือใช้คำนี้กันผิด ๆ เช่นคำว่า “เรามันเกิดมามีกรรม”  “บุญนำกรรมแต่ง”  “มันเป็นกรรมของเขา” “แล้วแต่เวรแต่กรรมเถอะ”  “ไปทำเวรทำกรรมอะไรมานะ ถึงเป็นอย่างนี้”  “เจ้ากรรมนายเวร” เป็นต้น มองความหมายของกรรมผิดไปจากความเป็นจริงกันหมด

             กรรมข้างฝ่ายไม่ดีทั้ง ๓ อย่างนี้ พระพุทธองค์เรียกว่า “อกุศลกรรมบถ ๑๐” (ช่องทางแห่งการกระทำไม่ดี ๑๐)  ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงคำนี้ไว้หลายแห่ง  บางแห่งเรียกว่า “อธรรมจริยา” (ความไม่ประพฤติธรรม หรือ ธรรมที่ไม่ควรประพฤติ) ก็มี (อรติสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ข้อที่ ๓๘๔)  ที่เป็นตัวหลักการจริง ๆ ประกอบด้วยภาษาบาลีและแปลเป็นภาษาไทยใส่วงเล็บเอาไว้ให้ด้วย (หาอ่านได้ในเล่มที่ ๑๑ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ข้อที่ ๓๕๙ หน้าที่ ๒๔๐)   

             ส่วนที่เป็นเนื้อความอธิบายหลักแต่ละข้อนั้น  ขอยกเนื้อหาที่พระพุทธองค์แสดงแก่ พรามหณ์และคฤหบดี มาประกอบหลักกรรมทั้ง ๓ ดังนี้

 

             “...ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรม ทางกาย มี ๓ อย่าง ทางวาจามี ๔ อย่าง ทางใจมี ๓ อย่าง

            ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ

ความไม่ประพฤติธรรม  ทางกาย ๓ อย่าง เป็นไฉน? บุคคลบางคนใน

โลกนี้

            เป็นผู้ฆ่าสัตว์(ปาณาติบาต) คือ เป็นคนเหี้ยมโหดมีมือเปื้อนเลือด พอใจในการประหารและการฆ่าไม่มีความละอาย ไม่ถึงความเอ็นดูในสัตว์ ทั้งปวง

            เป็นผู้ถือเอาทรัพย์ที่เขามิได้ให้(อทินนาทาน) คือ ลักทรัพย์เป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของบุคคลอื่นที่อยู่ในบ้าน หรือที่อยู่ในป่า ที่เจ้าของมิได้ให้ ซึ่งนับว่าเป็นขโมย 

            เป็นผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย(กาเมสุ มิจฉาจาร) คือ ถึงความสมสู่ในพวกหญิงที่มารดารักษา ที่บิดา รักษา ที่มารดาและบิดารักษา ที่พี่ชายรักษา ที่พี่สาวรักษา ที่ญาติรักษา ที่มีสามี ที่อิสรชนหวงห้าม ที่สุดแม้หญิงที่เขาคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย (หญิงที่เขาหมั้นไว้) ...

            ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรม  ทางวาจา ๔ อย่าง เป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้

            เป็นผู้กล่าวเท็จ (มุสาวาท)คือ ไปในที่ประชุม  หรือไปในหมู่ชน หรือไปในท่ามกลางญาติ หรือไปในท่ามกลางขุนนาง หรือไปในท่ามกลาง ราชสกุล หรือถูกนำไปเป็นพยาน ถูกถามว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ เชิญเถิด ท่านรู้เรื่องใด ก็จงบอก เรื่องนั้น เขาเมื่อไม่รู้ก็บอกว่า รู้บ้าง เมื่อรู้บอกว่า ไม่รู้บ้าง เมื่อไม่เห็น ก็บอกว่าเห็นบ้าง เมื่อเห็นก็บอกว่า   ไม่เห็นบ้าง เป็นผู้กล่าวคำเท็จทั้งรู้อยู่ เพราะเหตุตนบ้าง เพราะเหตุผู้อื่นบ้าง  เพราะเหตุเห็นแก่สิ่งเล็กน้อยบ้าง

           เป็นผู้ส่อเสียด(ปิสุณวาจา) คือ ได้ฟังข้างนี้แล้ว นำไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายพวกข้างนี้บ้างหรือฟังข้างโน้นแล้ว นำไปบอกข้างนี้ เพื่อทำลายพวกข้างโน้นบ้าง ยุพวกที่พร้อมเพรียงกันให้แตกกันไปบ้าง ส่งเสริมพวกที่แตกกันบ้าง ส่งเสริมพวกที่แตกกันแล้วบ้าง ชอบใจในคนที่แตกกัน  เป็นพวกยินดีในความแตกกัน  เป็นพวก ชื่นชมในพวกที่แตกกัน และกล่าววาจาที่ทำให้แตกกันเป็นพวก

           เป็นผู้มีวาจาหยาบ(ผรุสวาจา) คือ กล่าววาจาที่เป็นโทษหยาบ อันเผ็ดร้อนแก่ผู้อื่น อันขัดใจผู้อื่น อันใกล้ต่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบจิต

           เป็นผู้กล่าวคำเพ้อเจ้อ(สัมผัปปลาปะ) คือ พูดในเวลาไม่ควรพูด พูดเรื่องที่ไม่เป็นจริง พูดไม่เป็น ประโยชน์ พูดไม่เป็นธรรม พูดไม่เป็นวินัย กล่าววาจาไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้าง ไม่มีที่สุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลไม่สมควร ...

           ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรม  ทางใจ ๓ อย่าง เป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้

           เป็นผู้มีความโลภมาก(อภิชฌา) คือ เพ่งเล็ง  ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ขอของผู้อื่นพึงเป็นของเราเถิด ดังนี้

           เป็นผู้มีจิตพยาบาท(พยาบาท) คือ มีความดำริในใจอันชั่วช้าว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่าบ้าง จงถูกทำลายบ้าง จงขาดสูญบ้าง อย่าได้มีแล้วบ้าง ดังนี้ 

           เป็นผู้มีความเห็นผิด(มิจฉาทิฏฐิ) คือ มีความเห็นวิปริตว่า ผลแห่งทานที่ให้แล้วไม่มี  ผลแห่งการบูชาไม่มี  ผลแห่งการเซ่นสรวงไม่มี  ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มีโลกนี้  ไม่มีโลกหน้า  ไม่มีมารดา  ไม่มีบิดา  ไม่มีสัตว์ทั้งหลายที่เป็นอุปปาติกะ  ไม่มีสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย  ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสั่งสอนให้ผู้อื่นรู้ไม่มีอยู่ในโลก ดังนี้...”

(พระไตรปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๔๘๔ หน้าที่ ๓๓๙-๓๔๐)

 

             หากผู้ที่จะอุปสมบท ได้ทำกรรมไม่ดีทั้ง ๑๐ ดังกล่าวมาทุกประการแล้ว  การที่จะ “อโหสิกรรม” ให้นั้น ก็น่าพิจารณาอยู่เหมือนกัน  ถึงแม้ว่าเราจะ “อโหสิกรรม” ให้   แต่ว่า “ผลแห่งการกระทำ” หรือ “วิบากกรรม” ของผู้จะอุปสมบทนั้น จะได้รับการอโหสิกรรมหรือเปล่า?

             การบวชครองประเพณีเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ๗ วัน ๑๕ วัน หรืออย่างมาก ๓ เดือน แล้วก็ “สึกหาลาเพศ” กันไป  จะชดใช้ “การทำชั่ว”(อกุศลกรรม) จากช่องทางดังกล่าวมาได้สักเท่าไหร่   ถ้าตราบใดที่ผู้อุปสมบทไม่ปฏิบัติเพื่อมุ่งไปพระนิพพานแล้ว   ผมว่าการอโหสิกรรมให้ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร.

 

หมายเลขบันทึก: 440758เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2011 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2013 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • สวัสดีครับ
  • การอโหสิกรรมดีทั้งสองฝ่าย ทำให้ปล่อยวาง ไม่ผูกพยาบาท อาฆาตจองเวรกัน จิตใจจะเบาสบาย หลุดจากความคิดอกุศล
  • เป็นคนต้องสร้างกรรมยากเลี่ยงได้ การให้ซึ่งกันนั่นแหล่ะดีครับ

สวัสดีค่ะ

ทุกวันนี้คิดว่าตัวเองทำบุญทุกวัน ไม่ได้ไปวัดหรอกค่ะ แต่คิดดี ทำดีทุกวัน และที่สำคัญที่สุดสำหรับอาชีพครู

รักและเมตตาเด็กค่ะ

ยอมือสาธุ  คุรุอาจ๋ารย์  ผู้สืบปณิธาน  สมปานแก่กล้า

ฟังเทศน์ฟังธรรม  น้อมนำใจกล้า  เป๋นฮ่อมพัฒนา  ชีวิต

หากทำสิ่งใด  โดยใฝ่ฝังจิ๊ต  กุศลจั๊กติ๊ด  ตั๋วไป

กรรมดีเที่ยงแต๊  แน่วแน่แก้ไข  กรรมชั่วหายไป  สุขใจ๋หายกลุ้ม

สุขใจ๋หายกลุ้ม

                              ๒๖ พ.ค. ๒๕๕๔

สวัสดีครับคุณประทีป วัฒนสิทธิ์

ที่เข้ามาอ่านแม้จะไม่แสดงความคิดเห็นก็ตาม

สวัสดีครับคุณชำนาญ เขื่อนแก้ว

ที่เข้ามาอ่านและร่วมแสดงความคิดเห็น

ก็จริงครับการให้อภัยคือทานอันยิ่งใหญ่

ยากหาผู้ใดทำได้

สวัสดีครับครูชาภา

การคิดดี พูดดี ทำดี ได้ก็ถือว่าครอบคลุม

หลักการไม่ทำกรรมทั้ง ๓ เบื้องต้นแล้วครับ

อนุโมทนาบุญด้วยครับ

สวัสดีครับ "ปู่จ๋ารย์" สนั่น

แต่งค่าวแต่งกลอนเก่งนะครับ

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านและให้กำลังใจครับ

สอนวิธีแต่งค่าวให้บ้างสิครับ

ผมก็คนเมืองเหมือนกัน..

เห็นว่า การอโหสิกรรม ทำอย่างไรก็ได้ให้จิตใจสงบลง ก็เป็นการให้อโหสิกรรมกันแล้ว กล่าวคือ หากจิตใจยังคิดเป็นโน่นนี่อยู่อย่างนี้จะเป็นอโหสิกรรมได้อย่างไร???

สวัสดีครับคุณpak

ขอบคุณนะครับที่เข้ามาอ่านและร่วมแสดงความคิดเห็น

ครับเป็นการถ่ายทอดหลักธรรมผ่านแนวความคิดเห็นของผู้เขียน

มิได้เจตนาจะกล่าวว่า "การอโหสิกรรม" ไม่ดีนะครับ

เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าหากผู้ที่จะบวชเคยสร้างกรรมมาทั้ง๑๐ประการดังกล่าวมา

คือกรรมชั่วมันมากหนะครับ ผู้ที่บวชจะต้องมุ่งหวัง "พระอรหันต์" เท่านั้น

กรรมชั่วถึงจะระงับได้ ลำพังญาติพี่น้อง ก็อโหสิและอนุโมทนาบุญอยู่แล้วครับ

ขอบคุณอีกครั้งนะครับ

ผมอ่านข้อความทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ..หากข้าพเจ้ามีใจไม่อยากปลงผมสละเวลาอันมีอยู่เพื่อสะสมกรรมดีไว้ในภายหน้าและหยุดอกุศลกรรมที่ได้เกิดขึ้นในปัจจุบัน..ตัวผู้ตั้งกระทู้มีผลต่อกรรมนั้นหรือไมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท