รวมทีมพัฒนายา “วิสัญญี”


ระบบการจัดการด้านยา(MMS) จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน), 2551

วันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมาได้มีการประชุมทีมพัฒนาระบบยาของทีมงานวิสัญญี รพ.ศรีนครินทร์ มข ขอนแก่น ซึ่งมีหลายท่านจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมหารือแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กัน

  สมาชิกทีมงานประกอบด้วย  

- อ.ศรินญา  จันทะวงศ์ (ทีมบริหารความเสี่ยงด้านยา)

- อ.อุ้มจิต  วิทยาไพโรจน์ (ทีมประสานเภสัชกรรม)

- กฤษณา สำเร็จ (งานพัฒนาคุณภาพและบริหารความเสี่ยงด้านยา) ... ผู้นำกลุ่ม

- พุ่มพวง สาระพาณิชย์ (ผู้บริหารพยาบาลและหัวหน้าทีม LEAN)

- ดวงธิดา นนท์เหล่าพล (หัวหน้ากลุ่ม Intra-op)

- พิกุล มะลาไสย์ (หัวหน้ากลุ่ม Supply)

- วัฒนา ตันทนะเทวินทร์ (ทีมประสานเภสัชกรรมและหัวหน้ากลุ่ม PACU)

- รุ่งทิวา วาชัยยง (ทีมบริหารความเสี่ยงด้านยา) และ

- นที มณีวรรณ์ (ทีมบริหารความเสี่ยงด้านยา) ... note taker

โดยมี อ.วราภรณ์ เชื้ออินทร์ หัวหน้าภาควิชาฯเป็นที่ปรึกษา

 วัตถุประสงค์ เพื่อดูแลและพัฒนาระบบยาในงานบริการวิสัญญีให้มีคุณภาพเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ผู้เขียนเริ่มด้วยการนำเสนอความคิดเห็นเรื่องของการขาดการทำ gap analysis ในเรื่องระบบยาภายในงานบริการวิสัญญี จึงนำเกณฑ์ ระบบการจัดการด้านยา (MMS) ในตอนที่ II-6 ตามมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล หรือที่เรียกว่าสถาบันรับรองคุณภาพสถานโรงพยาบาล ในปัจจุบัน

เราประเมินตนเองเพื่อหาช่องว่างและวางแผนเติมเต็มในส่วนที่ขาดหรือยังไม่เป็นระบบในทุกกระบวนการ นับตั้งแต่

II-6.1 การวางแผน การจัดการ การเก็บและสำรองยา

ก.    การวางแผน การจัดการ

ข.   การเก็บและสำรองยา

II-6.2 การใช้ยา (MMS.2)

ก.    การสั่งใช้ยาและถ่ายทอดคำสั่ง

ข.   การเตรียม การจัดจ่าย และการให้ยา

 คุณพุ่มพวงเริ่มด้วยการบอกเล่าสิ่งที่ทำอยู่ เพื่อนๆในทีมแลกเปลี่ยนและตั้งคำถามที่กระตุ้นให้ได้ช่วยกันคิดและต่อยอด

ผลงานการพูดคุยครั้งนี้ได้รับการบันทึกโดยน้องนที และคงมีการติดตามผลงานกันต่อๆไป

รอบนี้อาจารย์ติดภารกิจไม่ได้เข้าร่วม และเสียดายที่คุณวัฒนาไม่ได้เข้าร่วมด้วยเช่นกันเพราะไม่สบาย... ส่วนคุณพิกุลติดงานอื่นแต่มาทันถ่ายภาพร่วมกันพอดี...

หวังว่ารอบหน้าคงได้ร่วมแชร์พร้อมหน้าพร้อมตากันนะคะ

นำสาระมาฝากดังนี้ค่ะ

ตอนที่ II ระบบงานสำคัญของโรงพยาบาล 

II-6 ระบบการจัดการด้านยา(MMS)

 

II-6.1 การวางแผน การจัดการ การเก็บและสำรองยา (MMS.1)

องค์กรสร้างความมั่นใจในระบบการจัดการด้านยาที่ปลอดภัย เหมาะสม และได้ผล พร้อมทั้งการมียาที่มีคุณภาพสูงพร้อมใช้สำหรับผู้ป่วย.

 

. การวางแผนและการจัดการ

(1) มีคณะกรรมการหรือกลุ่มบุคคลที่มาจากสหสาขาวิชาชีพ ทำหน้าที่กำหนดทิศทางและส่งเสริมให้เกิดระบบการจัดการด้านยาที่มีประสิทธิภาพ.

(2) มีการจัดทำบัญชียาโรงพยาบาลเพื่อจำกัดให้มีรายการยาเท่าที่จำเป็น94 มีการทบทวนบัญชียาอย่างน้อยปีละครั้ง95 มีการกำหนดมาตรการความปลอดภัยสำหรับยาใหม่ที่มีโอกาสเกิดความคลาดเคลื่อนสูง96 รวมทั้งมีแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในการขอใช้ยาที่อยู่นอกบัญชียาเมื่อจำเป็น97

(3) การจัดหายาเป็นไปตามบัญชียาที่ผ่านการรับรอง. มีกระบวนการในการจัดการกับปัญหายาขาดแคลน98 และยาที่จำเป็นเร่งด่วน99

(4) องค์กรระบุยาซึ่งมีความเสี่ยงสูงหรือต้องมีความระมัดระวังในการใช้สูง100, ออกแบบกระบวนการที่เหมาะสมปลอดภัยในการจัดหา เก็บรักษา สั่งใช้ ถ่ายทอดคำสั่ง จัดเตรียม จ่าย ให้ และติดตามกำกับยา เพื่อลดความเสี่ยงในการใช้ยาเหล่านี้.

……………………………………………………………………………………………………….

94 การจำกัดให้มีรายการยาเท่าที่จำเป็น ทำโดยใช้เกณฑ์คัดเลือกซึ่งประกอบด้วยข้อบ่งชี้ ประสิทธิผล ข้อมูลความปลอดภัย ความเสี่ยง และต้นทุน 

95 ข้อมูลที่ใช้ทบทวนบัญชียา เช่น ข้อมูลความปลอดภัยจากการทบทวนอุบัติการณ์ ประสิทธิภาพของยา ยาที่มีโอกาสเกิดความคลาดเคลื่อนสูงครอบคลุมรายการยาที่ชื่อพ้อง มองคล้าย หรือปัจจัยที่มีผลกระทบ

96 มาตรการความปลอดภัย เช่น แบบฟอร์มสั่งยามาตรฐาน แนวทางการสั่งใช้ยา ระบบตรวจสอบ ระบบเตือนใจข้อจำกัดในการใช้ การบริหารยา และการเก็บรักษายา ตลอดจนการติดตามอุบัติการณ์ไม่พึงประสงค์สำหรับยาที่ต้องติดตามความปลอดภัย (Safety monitoring program)

97 กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาที่อยู่นอกบัญชียา มีกระบวนการในการอนุญาตและจัดหาโดยพิจารณา ความจำเป็นผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ความเสี่ยง และความสามารถในการติดตามผล

98 การจัดการกับปัญหายาขาดแคลน ได้แก่ การจัดหา การสื่อสารกับผู้สั่งใช้ยาและเจ้าหน้าที่ การจัดทำแนวทางการใช้หรือจ่ายยาทดแทน การให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติ

99 การจัดหายาที่จำเป็นเร่งด่วน เช่น ยาช่วยชีวิต ยาฉุกเฉิน วัคซีน เซรุ่ม หรือยาอื่นๆ ที่องค์กรกำหนดให้เป็นยาสำคัญ รวมทั้งการจัดหาในสถานการณ์ภัยพิบัติ

100 เป็นยาที่มีโอกาสเกิดความเสี่ยงต่อการใช้ผิดวัตถุประสงค์ มีโอกาสเกิดคลาดเคลื่อนทางยาหรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากยาสูง อาจรวมถึงยาที่อยู่ระหว่างการศึกษาทดลอง ยาที่ต้องควบคุม ยาที่ไม่อยู่ในบัญชียาโรงพยาบาล ยาที่มีพิสัยการบำบัดแคบ (narrow therapeutic range) ยาทางจิตเวช ยาที่มีชื่อคล้ายกันหรือออกเสียงคล้ายกัน__

………………………………………………………………………………………………………….

(5) องค์กรกำหนดนโยบายการป้องกันความคลาดเคลื่อนทางยาและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากยา101และนำสู่การปฏิบัติ. มีการตอบสนองอย่างเหมาะสมต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากยาและความคลาดเคลื่อนทางยาที่เกิดขึ้นหรือที่มีโอกาสเกิดขึ้น.

(6) ผู้ประกอบวิชาชีพได้รับการประเมินและเพิ่มความรู้ความสามารถเกี่ยวกับระบบยา102 และการใช้ยาที่เหมาะสม ปลอดภัยก่อนเริ่มต้นปฏิบัติงานและเป็นประจำทุกปี.

(7) องค์กรประเมินและปรับปรุงระบบบริหารจัดการด้านยาเปรียบเทียบกับเป้าประสงค์ของระบบ103มีการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จและเทคโนโลยีใหม่ๆ เกี่ยวกับระบบจัดการด้านยาอย่างสม่ำเสมอ.

 

. การเก็บสำรองยา

(1) ยาทุกรายการได้รับการเก็บสำรองอย่างเหมาะสมและปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะมียาใช้อย่างเพียงพอ, มีคุณภาพและความคงตัว104, พร้อมใช้, ป้องกันการเข้าถึงโดยผู้ไม่มีอำนาจหน้าที่, ป้องกันความคลาดเคลื่อนทางยาและผลไม่พึงประสงค์จากยา105, สามารถทวนกลับถึงแหล่งที่มา, มีการตรวจสอบ

บริเวณที่เก็บยาอย่างสม่ำเสมอ, โดยมีการปฏิบัติเพื่อเป้าหมายดังกล่าวทั่วทั้งองค์กร.

(2) มีการจัดให้มียา และ / หรือ เวชภัณฑ์ฉุกเฉินที่จำเป็นในหน่วยดูแลผู้ป่วยต่างๆ อยู่ตลอดเวลา, มีระบบควบคุม106และดูแลให้เกิดความปลอดภัย, และมีการจัดทดแทนโดยทันทีหลังจากที่ใช้ไป.

(3) มีระบบที่จะจ่ายยาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยอย่างปลอดภัยในเวลาที่ห้องยาปิด.

(4) มีการจัดการกับยาที่ส่งคืนมาที่ห้องยาอย่างเหมาะสม เช่น ยาที่แพทย์สั่งหยุดใช้.

……………………………………………………………………………………………………………

101 นโยบายการป้องกันความคลาดเคลื่อนทางยาและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากยาที่ควรมี ได้แก่การป้องกันการสั่งใช้คู่ยาที่มีอันตรกิริยารุนแรง ส่งเสริมการใช้ชื่อสามัญทางยา มาตรการเพื่อป้องกันคำสั่งใช้ยาที่มีโอกาสเกิดปัญหา (เช่น การใช้คำสั่ง PRN การใช้คำสั่งยืน การใช้คำสั่งหยุดยาอัตโนมัติ การใช้คำสั่งเดิมต่อการใช้คำสั่งที่ปรับขนาดยา การใช้คำสั่งลดยา การใช้คำสั่งที่ระบุพิสัย การสั่งยาผสมซึ่งไม่มีจำหน่าย การสั่งใช้อุปกรณ์สำหรับใช้ยา การสั่งยาที่อยู่ระหว่างการศึกษาทดลอง การสั่งยาสมุนไพร การสั่งยาเมื่อจำหน่าย)

102 ความรู้ความสามารถเกี่ยวกับระบบยา เช่น ระบบยาของโรงพยาบาล ความปลอดภัยผู้ป่วย การดำเนินการเพื่อลดความคลาดเคลื่อน และบทบาทหน้าที่ของบุคลากรการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

103 เป้าประสงค์ของระบบยา เช่น ความปลอดภัย ความเหมาะสม ประสิทธิภาพ

104 การสร้างความมั่นใจว่ายามีความคงตัว ได้แก่ การแยกหมดอายุ หรือ ยาเสื่อมสภาพออกไว้ต่างหากอย่างชัดเจน, การดูแลสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในด้านอุณหภูมิ แสงสว่าง ความชื้น การถ่ายเทอากาศ สำหรับยาที่มีความไวต่ออุณหภูมิ และ แสง

105 การป้องกันความคลาดเคลื่อนทางยาและผลไม่พึงประสงค์จากยา เช่น มีการแยกเก็บยาที่มีโอกาสสับสนได้ง่ายออกจากกัน (ยาที่มีชื่อพ้อง มองคล้าย), มีการจำกัดการสำรองยาไว้ที่หน่วยดูแลผู้ป่วย, ไม่มีการเก็บอิเล็กโตรไลท์เข้มข้นไว้ในหน่วยดูแลผู้ป่วยยกเว้นในหน่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้อย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าวต้องมีมาตรการเป็นพิเศษเพื่อป้องกันการให้ยาโดยพลั้งเผลอ

106 ระบบควบคุมยาฉุกเฉิน เช่น มีการจัดเก็บยาฉุกเฉินในลักษณะที่สามารถระบุได้ว่ายาที่บรรจุในภาชนะนั้นยังมีครบถ้วนและไม่หมดอายุ__

………………………………………………………………………………………………………………

II-6.2 การใช้ยา (MMS.2)

 

องค์กรสร้างความมั่นใจว่ามีการสั่งใช้ยาและการให้ยาที่ปลอดภัย ถูกต้อง เหมาะสม และได้ผล.

. การสั่งใช้ยาและถ่ายทอดคำสั่ง

(1) ผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบยาสามารถเข้าถึงข้อมูลเฉพาะของผู้ป่วยแต่ละราย ได้แก่ ข้อมูลทั่วไป107, การวินิจฉัยโรคหรือข้อบ่งชี้ในการใช้ยา, และข้อมูลทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น 108

(2) มีข้อมูลยาที่จำเป็นในรูปแบบที่ใช้ง่าย ในขณะสั่งใช้ จัด และให้ยาแก่ผู้ป่วย.

(3) องค์กรจัดทำนโยบายเพื่อป้องกันความผิดพลั้ง / คลาดเคลื่อน และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการสั่งใช้ยาและการถ่ายทอดคำสั่ง พร้อมทั้งนำสู่การปฏิบัติ, ครอบคลุมการระบุรายละเอียดที่จำเป็นในคำสั่งใช้ยา109,การระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับยาที่ดูคล้ายกันหรือชื่อเรียกคล้ายกัน, มาตรการเพื่อป้องกันคำสั่งใช้ยาที่มีโอกาสเกิดปัญหา110 และการป้องกันการใช้คู่ยาที่มีอันตรกิริยารุนแรง.

(4) มีการเขียนคำสั่งใช้ยาอย่างชัดเจนและถ่ายทอดคำสั่งอย่างถูกต้อง. มีการกำหนดมาตรฐานการสื่อสารคำสั่งใช้ยาเพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อความคลาดเคลื่อน111มีการทบทวนและปรับปรุงคำสั่งใช้ยาที่จัดพิมพ์ไว้ล่วงหน้าให้ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ.

(5) มีกระบวนการในการระบุบัญชีรายการยาที่ผู้ป่วยได้รับ112อย่างถูกต้องแม่นยำ และใช้บัญชีรายการนี้ในการให้ยาที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วยในทุกจุดของการให้บริการ. มีการเปรียบเทียบบัญชีรายการยาที่ผู้ป่วยกำลังใช้กับคำสั่งแพทย์ทุกครั้งเมื่อมีการรับไว้ ย้ายหอผู้ป่วย และ / หรือ จำหน่าย.

……………………………………………………………………………………………………………….

107 ข้อมูลทั่วไปที่สำคัญ เช่น การแพ้ยา การตั้งครรภ์ น้ำหนักตัว พื้นที่ผิวเมื่อต้องใช้คำนวณขนาดยา

108 ข้อมูลทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น เช่น การทำหน้าที่ของตับและไต ในกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ยาที่ต้องระมัดระวังสูง

109 นโยบายการระบุรายละเอียดที่จำเป็นในคำสั่งใช้ยา เช่น เงื่อนไขการระบุชื่อการค้าหรือชื่อทั่วไป, เงื่อนไขที่ต้องระบุข้อบ่งชี้ในการใช้ยา

110 มาตรการเพื่อป้องกันคำสั่งการใช้ยาที่มีโอกาสเกิดปัญหา เช่น การใช้คำสั่ง PRN, การใช้คำสั่งยืน, การใช้คำสั่งหยุดยาอัตโนมัติ, การใช้คำสั่งเดิมต่อ, การใช้คำสั่งที่ปรับขนาดยา, การใช้คำสั่งลดยา, การใช้คำสั่งที่ระบุพิสัย, การสั่งยาผสมซึ่งไม่มีจำหน่าย, การสั่งใช้อุปกรณ์สำหรับใช้ยา, การสั่งยาที่อยู่ระหว่างการศึกษาทดลอง, การสั่งยาสมุนไพร,การสั่งยาเมื่อจำหน่าย

111 มาตรฐานการสื่อสารคำสั่งใช้ยาเพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อความคลาดเคลื่อน เช่น การสั่งโดยวาจา ตัวย่อที่ไม่ควรใช้

112 การระบุบัญชีรายการยาที่ผู้ป่วยได้รับ ได้แก่ ชื่อยา ขนาดยา ความถี่ และวิธีการบริหารยา

……………………………………………………………………………………………………………….

. การเตรียม การจัดจ่าย และการให้ยา

(1) มีการทบทวนคำสั่งใช้ยาทุกรายการเพื่อความมั่นใจในความเหมาะสมและความปลอดภัย.

(2) มีการจัดเตรียมยาอย่างเหมาะสมและปลอดภัย113แผนกเภสัชกรรมเป็นผู้เตรียมยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย 114หรือยาที่ไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด โดยใช้วิธีการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน115

(3) ยาได้รับการติดฉลากอย่างเหมาะสม ชัดเจนและอ่านง่ายติดที่ภาชนะบรรจุยาทุกประเภท116และมีฉลากยาติดจนถึงจุดที่ให้ยาแก่ผู้ป่วย โดยระบุชื่อผู้ป่วย ชื่อยา ความเข้มข้น และขนาดยา.

(4) มีการส่งมอบยาให้หน่วยดูแลผู้ป่วยในลักษณะที่ปลอดภัย รัดกุม และพร้อมให้ใช้ ในเวลาที่ทันความต้องการของผู้ป่วย

…………………………………………………………………………………………………………..

113 การเตรียมยาที่เหมาะสมและปลอดภัย มีการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ปลอดภัย ใช้เทคนิคเพื่อให้มั่นใจในความถูกต้องและใช้เทคนิคป้องกันการปนเปื้อนที่เหมาะสมสำหรับการเตรียมยาในทุกจุด

114 การเตรียมยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย (extemporaneous preparation) คือเภสัชภัณฑ์ที่เตรียมขึ้นใช้ในทันทีหรือมิได้เตรียมล่วงหน้า โดยอาศัยศาสตร์และศิลป์ในการเตรียมยา อาจเนื่องมาจากไม่มีรูปแบบหรือขนาดดังกล่าวจำหน่าย ตอบสนองความต้องการของแพทย์สำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย เฉพาะโรคหรือกลุ่มที่มีความสำคัญเช่นเด็กเล็กทารก รวมทั้งยาเตรียมปราศจากเชื้อ เช่น ยาฉีด IV adm, TPN, Cytotoxic prep, ยาหยอดตา หรือยาที่มุ่งหมายอื่นๆที่ต้องเตรียมโดยวิธีปราศจากเชื้อ เช่น dilution ของ heparin

115 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันการปนเปื้อนจากเชื้อโรค ซึ่งจะต้องใช้ความระมัดระวังในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเก็บ เตรียม และบรรจุ

116 การติดฉลากที่ภาชนะบรรจุยา รวมทั้งไซริงก์สำหรับฉีดยาและ flush สายน้ำเกลือที่เตรียมนอกห้องผู้ป่วยหรือไกลจากเตียงผู้ป่วยทั้งหมด

…………………………………………………………………………………………………………..

 

(5) การส่งมอบยาให้แก่ผู้ป่วยทำโดยเภสัชกรหรือบุคลากรที่ได้รับมอบหมายและได้รับการฝึกอบรม มีการตรวจสอบความถูกต้องของยาก่อนที่จะส่งมอบ และมีการให้คำแนะนำการใช้ยาอย่างเหมาะสม117

(6) การสั่งใช้ คัดลอกคำสั่ง จัดเตรียม จัดจ่าย และให้ยา กระทำในสิ่งแวดล้อมทางกายภาพซึ่งมีความสะอาด มีพื้นที่และแสงสว่างพอเพียง และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบวิชาชีพมีสมาธิกับการใช้ยาโดยไม่มีการรบกวน.

(7) มีการให้ยาแก่ผู้ป่วยอย่างปลอดภัยและถูกต้องโดยบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมและอุปกรณ์การให้ยาที่ได้มาตรฐาน118, โดยมีการตรวจสอบความถูกต้องของยา คุณภาพยา ข้อห้ามในการใช้ และเวลา / ขนาดยา /วิธีการให้ยา ที่เหมาะสม119 ผู้สั่งใช้ยาได้รับการรายงานเมื่อมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากยาหรือความคลาดเคลื่อนทางยา.

 (8) ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับความรู้เกี่ยวกับยาที่ตนได้รับ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดูแล เพื่อเป้าหมายความถูกต้อง ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในการใช้ยา120

(9) ผู้ป่วยได้รับการติดตามผลการบำบัดรักษาด้วยยาและบันทึกไว้ในเวชระเบียน เพื่อสร้างความมั่นใจในความเหมาะสมของเภสัชบำบัดและลดโอกาสเกิดผลที่ไม่พึงประสงค์121

(10) มีการจัดการกับยาที่ผู้ป่วยและครอบครัวนำติดตัวมา เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและสอดคล้องกับแผนการดูแลผู้ป่วยที่เป็นปัจจุบัน.

……………………………………………………………………………………………………………….

118 อุปกรณ์การให้ยา เช่น infusion pump

119 เมื่อมีข้อสงสัยหรือความห่วงกังวลในการใช้ยา ควรมีการปรึกษากับแพทย์ผู้สั่งใช้หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง                                                                                                     120 ความรู้ที่ผู้ป่วยควรได้รับ เช่น การป้องกันความคลาดเคลื่อนทางยา ข้อบ่งชี้เมื่อควรขอคำปรึกษาจากเภสัชกร                                                                                                

121 การติดตามผลการบำบัดรักษาด้วยยา ควรระบุถึงการตอบสนองยาที่ผู้ป่วยได้รับ ปัญหาที่เกิดขึ้นหรือมีโอกาสเกิดขึ้น รวมทั้งมีกระบวนการเฝ้าระวังการตอบสนองต่อยาใหม่ที่ผู้ป่วยได้รับเป็นครั้งแรก

 

 

ที่มา  : มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี, 2551 (หน้า 100-110).

 

 

ขอขอบคุณ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ที่มีความมุ่งมั่นสร้างงานอันเป็นประโยชน์ในการนำมาใช้เพื่อคุณภาพการดูแลผู้ป่วยที่ดีขึ้นอันส่งผลให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ

 

 

หมายเลขบันทึก: 440021เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2011 16:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ที่ OR รพ.เรณูนคร มีปัญหาเรื่องฝุ่นจากฝ้าเพดาน และสีทาผนัง ไม่มีงบติดตั้งระบบดูดอากาศ อยากเรียนปรึกษาว่าใช้ Wall Paper ติดที่ผนังได้ไหม และเพดาน จะถูกหลัก IC หรือไม่ อยากขอให้พี่ติ๋วช่วยนำปัญหานี้ปรึกษาอ.เล้งให้หน่อยค่ะ กรุณาตอบกลับที่ E.mail ของนิด้วยนะคะ ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

อยากทราบว่าในปี54 นี้มีที่ไหนเปิดอบรม APN วิสัญญีบ้างคะ นอกจากเชียงใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท