หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

พลาสติก (๑๒) : รู้จักไดออกซินขึ้นอีกหน่อยเหอะ


แหล่งหนึ่งที่อาจนึกไม่ถึงว่าปล่อยไดออกซินด้วย คือ บุหรี่ คนที่สูบบุหรี่วันละ 20 มวนต่อวันขึ้นไป จะสูดไดออกซินเข้าไปด้วยวันละ 4.3 pg/kg

ที่จริงไดออกซินเป็นชื่อก๊กของสารเคมีก่อมะเร็งก๊กหนึ่ง ซึ่งมีถึงกว่า 3 พันตัว

สมาชิกตัวร้ายในก๊กมีอยู่ 3 ตัว คือ TCDD, PCDFs, PCBs  TCDD เป็นตัวที่ร้ายที่สุด พิษมากที่สุดและจัดเป็นสารก่อมะเร็งในคนประเภทระดับ 1

ที่มาของไดออกซิน นั้นมีอยู่ 3 แหล่งหลักๆ ได้แก่

1. trichlorophenol สารที่ใช้ในการผลิตศัตรูพืช  ฝนเหลืองในสงครามเวียดนาม มีสารตัวนี้อยู่  จึงมีไดออกซินด้วย

ฝนเหลืองเคยถูกลองใช้ในบ้านเรา ก่อนอเมริกาจะนำไปใช้กับเวียดนาม แถมส่วนที่เหลือยังฝังทิ้งไว้ให้เราแก้ปัญหาอีก เหตุเกิดที่บ่อฝ้าย หัวหิน ในยุคจอมพลสฤษฎ์ ธนะรัชน์เป็นผู้ปกครองประเทศไทย เกือบ 40 ปีมาแล้ว

2. การเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีคลอรีนและคาร์บอน ที่อุณหภูมิ 250-350 องศาเซลเซียส ไฟป่า ภูเขาไฟระเบิด เตาเผาขยะโรงพยาบาล บ้านเรือนที่ถูกเผา การเผาขยะอันตราย โรงไฟฟ้าถ่านหิน และการหุงต้มที่ใช้เชื้อเพลิงชนิดนี้ ล้วนเป็นแหล่งปล่อยไดออกซินออกมาสู่สิ่งแวดล้อม โดยมีปริมาณที่ปล่อยออกต่ำ

ไดออกซินที่เกิดขึ้นเกาะติดอนุภาคควันไฟ ล่องลอยไปในอากาศและสิ่งแวดล้อมแล้วค้างอยู่ เพราะความคงตัวของมัน

การเผาขยะแล้วเกิดไดออกซินแพร่ เคยเกิดในบ้านเราที่ขอนแก่น จากโรงงานขยะปล่อยของเสียลงเขื่อนน้ำพอง

แหล่งหนึ่งที่อาจนึกไม่ถึงว่าปล่อยไดออกซินด้วย คือ บุหรี่

คนที่สูบบุหรี่วันละ 20 มวนต่อวันขึ้นไป จะสูดไดออกซินเข้าไปด้วยวันละ 4.3 pg/kg

3. pentatrichlorophenol สารที่ใช้ในการรักษาเนื้อไม้ เสาโทรศัพท์ รั้ว ไม้ในบ้าน และใช้ในฆ่าเชื้อในสี เครื่องสำอาง หมึก สีย้อมผ้า

เจ้าสารตัวนี้เรียกกันสั้นๆว่า Penta เวลาใช้รักษาเนื้อไม้ต้องอัดมันด้วยแรงดัน  คนงานมีโอกาสได้รับพิษได้มาก อาการพิษที่พบ คือ “มีสิวรุนแรงเป็นตะปุ่มตะป่ำเหมือนหนังคางคก (Chloracne) หรือที่เรียกกันว่า สิวหัวช้าง ”

สิวที่เกิดจากพิษไดออกซิน

ไม้ที่ใช้ Penta รักษาเนื้อไม้ จึงไม่ควรใช้สร้างโรงเก็บอาหารสัตว์

ไดออกซินไม่รวมกับน้ำ  ละลายได้ดีในไขมัน เมื่อลงไปปนในแหล่งน้ำจะอยู่ในรูปของตะกอน

การป้องกันในเชิงระบบ จึงไม่ใช่ให้แต่สาธารณสุขไปจัดการ หากแต่เป็นเรื่องของทุกคน ที่ต้องทำงานรอบด้านทั้งเรื่อง ป่าไม้ แม่น้ำ ลำคลอง และการตอบรับอุตสาหกรรม ไม่งั้นรัฐจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องการรักษาพยาบาลก้อนมหาศาลทีเดียว

บทเรียนเรื่องน้ำพอง ที่รัฐมีกฎหมายให้หยิบใช้ได้หลังเกิดเหตุการณ์ที่น้ำพอง เป็นบทเรียนที่คนประสบเหตุคงไม่อยากให้เกิดซ้ำอีกใช่ไหม

“เหตุเกิดที่น้ำพอง เอกชนปล่อยของเสียที่ทำให้แม่น้ำพองมีไดออกซินเกินระดับที่องค์การอนามัยโลก กำหนด ตรวจน้ำโดยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เก็บน้ำส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการสถาบันหลุยส์-ปาสเตอร์ ส่วนเอกชนเก็บน้ำส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการประเทศฟินแลนด์  ข้อพบที่เหมือนกัน คือ พบไดออกซินในน้ำ ข้อต่างที่พบ คือ ระดับไดออกซินมีค่าต่างกันมาก ที่ตรวจในไทยพบสูงเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกรับรอง ที่ตรวจจากฟินแลนด์พบต่ำกว่าที่ตรวจในไทย”

ผลลัพธ์ของเรื่องนี้ ลงเอยที่เอกชนไม่ผิด เพราะ “จะพบไดออกซินเท่าไรก็เหอะ ทิ้งได้ทิ้งไปไม่ผิดกฎหมายไทย เพราะประเทศไทยไม่เคยกำหนดความผิดว่าทิ้งเท่าไรจึงผิดกฎหมายไทย” และ คดีนี้ผู้เป็นโจทย์ไม่ใช่เจ้าของแม่น้ำ….เฮ้อ

หมายเลขบันทึก: 439616เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2011 19:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท