จีน-เชียงรุ่ง : พระพุทธศาสนามุ่งสู่การเปลี่ยนผ่าน


แท้ที่จริงพระพุทธศาสนาได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้เอง (ราว ๆ ๒๐ ปี) เนื่องจากตอนที่ประธานเหมาเข้ามาบริหารประเทศ ได้บังคับให้พระภิกษุสามเณรลาสิกขาให้หมด ส่วนที่ไม่ลาสิกขาก็ไล่ให้ไปทำไร่ไถนา พระพุทธรูปสิ่งบูชาถูกทุบและทำลายลง วิหารและศาลาเป็นฉางข้าวของระบบคอมมูนฯ มีอยู่เพียงแห่งเดียวที่รอดพ้นจากการถูกทำลายคือวัดสวนมอญ เนื่องจากชาวบ้านพากันนำวัวควายและสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ มาผูกไว้ เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐมาถาม ชาวบ้านพากันตอบว่าที่เลี้ยงสัตว์ประจำหมู่บ้าน จึงรอดพ้นวิกฤติการณ์นั้นมาได้

     จากการได้มีโอกาสไปเยือนเมืองจีนถึง ๔ ครั้ง ไล่มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ เป็นต้นมา ไปที่ไหนไม่สุขใจเท่าเมืองเชียงรุ้ง ซึ่งมีเรื่องเล่ามากมาย หลายประเด็น ที่อยากให้คนไทยได้เห็นมุมมองแง่คิด เพื่อการพัฒนาพระพุทธศาสนาในลุ่มน้ำโขงต่อไป

     ในการนี้ผู้เขียนได้พบกับพระคำอ่อน วัย ๒๓ ปี วัดบ้านเชียงคำ อำเภอเชียงรุ้ง เมืองสิบสองปันนา จึงได้โอกาสสอบถามในหลายเรื่อง โดยผู้เขียนตั้งประเด็นเอาไว้ว่า การบวชเรียนประชาชนเมืองเชียงรุ่งให้การยอมรับมากกว่า เมื่อลาสิกขาก็ได้คำนำหน้าที่การันตีว่าเป็นคนมีความรู้ เหมือนไทยล้านนา คือผ่านการบวชเป็นสามเณร เมื่อลาสิกขาออกไปแล้ว ก็จะได้คำว่า "หน้อย" หรือ "น้อย" นำหน้าชื่อ อันหมายความว่าบวชมาน้อยอะไรประมาณนั้น เมื่อผ่านการบวชเป็นพระ เมื่อลาสิกขาออกไปแล้ว ก็จะได้คำว่า "หนาน" หรือ "นาน" นำหน้าชื่อ อันหมายความว่าบวชมานานพอสมควร จึงได้รับการยกย่อง

     หากไม่ได้รับการบวชเรียนมา คนไทยไปมาแล้วก็อาจตกใจได้ เนื่องจาก โยมผู้ชายจะเรียกคำนำหน้าว่า "อ้าย" หรือ "ไอ้" นำหน้าชื่อ ส่วนโยมผู้หญิงจะถูกเรียกว่า "อี" หรือ "อี่" นำหน้าชื่อ เนื่องจากเมืองเชียงรุ้ง ไม่มีการใช้นามสกุล

     เมื่อบวชเรียนแล้ว นอกจากจะได้มีโอกาส และเป็นค่านิยมของคนท้องถิ่นแล้ว ยังได้มีโอกาสเรียนภาษาลื้อด้วย ซึ่งคนเมืองสิบสองปันนา  ส่วนหนึ่งกำลังต่อสู้กับกระแสโลกาภิวัตน์ จึงพยายามปลุกกระแส "วัฒนธรรม" ขึ้นมาสู้ โดยการผูกโยงกับเศรษฐกิจ โดยเรียกวิธีการนี้เสียสวยหรูว่า การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

     เมื่อถามว่าอะไรที่มีส่วนเหมือนเมืองไทย? คำตอบที่ได้คือวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี การเข้าวัดจากคนรุ่นปู่ย่าตายายสืบ ๆ ต่อกันมา แต่ยังไม่เข้าใจลึกซึ้ง เพียงแต่มีกรอบศีล-ธรรมกว้าง ๆ เอาไว้เท่านั้น

     เมื่อถามว่าอะไรที่ไม่เหมือนกันละ? ได้รับคำตอบว่า จำนวนพระภิกษุสามเณรที่น้อยกว่ามาก และวัดชนบทตามหมู่บ้าน ไม่มีครูบาอาจารย์คอยสั่งสอน หลายครั้งที่พระภิกษุสามเณรต้องเดินเข้าไปหาผู้เฒ่าผู้แก่ภายในหมู่บ้านเพื่อรับการถ่ายทอด เทคนิคในการเทศน์ธรรม ระเบียบขั้นตอน การทำพิธีกรรมต่าง ๆ บ้าง

     ในชีวิตเด็กตั้งแต่ ป.๑-ป.๓ เมื่อยังไม่ได้บวชก็เรียนที่โรงเรียนที่บ้านเกิด เมื่อบวชแล้วก็ต้องไปเรียน ป.๔-ป.๖ ในโรงเรียนที่ห่างไกลบ้าน เป็นลักษณะโรงเรียนกินนอน ซึ่งต้องเรียนร่วมกับชาวบ้าน เหมือนเด็กทั่ว ๆ เมื่อมีชั่วโมงกีฬาก็เล่นกีฬา เมื่อมีวิชาดนตรีก็เล่นดนตรี เมื่อถามว่าชาวบ้านรู้สึกอย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่รู้สึกอะไร ก็เหมือนเด็กทั่ว ๆ ไป  มิน่าละรัฐบาลจีนจึงกำหนดให้มีการแข่งขันฟุตบอลพุทธศาสนาโลกขึ้นโดยมีทีมพระภิกษุสามเณรจากมณฑลต่าง ๆ เข้าแข่งขันชิงเหรียญกัน  หลายครั้งที่มีการแข่งขั้นระดับมณฑลยูนานที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพ สมัครเข้ารับการแข่งขัน จึงไม่น่าแปลกว่าทีมจากท้องถิ่นบางทีมที่ประกอบไปด้วยพระเณรถึงกับชนะเลิศในการแข่งขันฟุตบอลประจำปี

     ปัจจุบัน (พฤษภาคม ๒๕๕๔) สถานการณ์ทางพระพุทธศาสนาดีขึ้นมาก เมื่อวัดป่าเซต์ หรือ ป่าเจต์ นำโดยครูบาหลวงจอมเมือง ได้มีกฏระเบียบให้พระภิกษุสามเณรได้ประพฤติปฏิบัติ โดยมีผลจากการที่ลูกศิษย์ลูกหาของท่านที่ส่งเข้ามาเรียนในเมืองไทยที่ได้เปรียญธรรมหลายรูป ได้ปริญญากันหลายใบ เข้าไปช่วยดูแลในการร่างกฏระเบียบ และกำหนดข้อวัตรปฏิบัติ 

     เมื่อถามถึงอนาคตอยากจะให้เวียงเชียงรุ้งเป็นอย่างไร? ได้รับคำตอบว่าอยากให้เหมือนเมืองไทยในแง่การให้ความรู้แก่ประชาชนให้มีการยึดถือในสิ่งที่ถูกต้อง  มีระบบการศึกษาในระดับปริญญาที่หลากหลาย และอยากให้คนสิบสองปันนามีการเรียนการสอนภาษาท้องถิ่น คือ ภาษาไทลื้อให้มากขึ้นกว่านี้

     เมื่อถามว่าจริงหรือไม่ที่คนไทยอพยพมาจากประเทศจีนตอนใต้? ได้รับคำตอบว่าจริง โดยอ้างเหตุผลว่าได้รับการบอกเล่าจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น และเมื่อเมษายน ๕๔ ที่ผ่านมามีโยมผู้หญิงอายุ ๗๐ กว่าปี จากฝั่งไทยได้กลับมาเยี่ยมหาญาติที่เมืองสิบสองปันนา ส่วนเรื่องราวประวัติศาสตร์ของไทยที่ได้ศึกษาเล่าเรียนกันมาว่าถูกรุกรานแล้วไทยล่าถอยมา อยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน ก็น่าจะอนุโลมเข้าไปด้วย

     แท้ที่จริงพระพุทธศาสนาได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้เอง (ราว ๆ ๒๐ ปี) เนื่องจากตอนที่ประธานเหมาเข้ามาบริหารประเทศ ได้บังคับให้พระภิกษุสามเณรลาสิกขาให้หมด ส่วนที่ไม่ลาสิกขาก็ไล่ให้ไปทำไร่ไถนา พระพุทธรูปสิ่งบูชาถูกทุบและทำลายลง วิหารและศาลาเป็นฉางข้าวของระบบคอมมูนฯ มีอยู่เพียงแห่งเดียวที่รอดพ้นจากการถูกทำลายคือวัดสวนมอญ เนื่องจากชาวบ้านพากันนำวัวควายและสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ มาผูกไว้ เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐมาถาม ชาวบ้านพากันตอบว่าที่เลี้ยงสัตว์ประจำหมู่บ้าน จึงรอดพ้นวิกฤติการณ์นั้นมาได้

     ปัจจุบันพระพุทธศาสนาในเวียงเชียงรุ่งได้รับการบูรณะและปรับสภาพ หากพี่น้องไทย เดินทางไปเที่ยวแล้วเห็นสภาพบางอย่างไม่เรียบร้อย ก็อย่าพึ่งทึกทักเอาว่าไม่ดี แต่ต้องมองบริบทและความจำเป็นด้วย ก็ช่วยให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 439433เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2011 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท